นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

บทความธรรมะ

Wednesday, October 27, 2010

ดอกบัวสามเหล่ากับบุคคลสี่จำพวก



ดอกบัวสามเหล่ากับบุคคลสี่จำพวก


มีคนมาถามว่าการที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบบุคคลกับดอกบัวสี่เหล่านั้น มาจากพระไตรปิฎกเล่มไหน คำถามนี้ดูเหมือนกับว่าผู้ถามจะเชื่ออย่างสนิทใจว่าพระพุทธเจ้าทรงเปรียบ เทียบบุคคลกับดอกบัวสี่เหล่าจริง ความเชื่อนี้ส่วนหนึ่งคงได้มาจากหลักสูตรนักธรรมชั้นโทเป็นแน่ เมื่อตอบไปว่าดอกบัวมีเพียงสามเหล่า คนถามแสดงอาการว่าเริ่มจะไม่เห็นด้วยกับคำตอบที่ได้รับ  

เมื่อเห็นอาการจึงได้เปิดพระไตรปิฎกมาอ้างว่าที่มาของดอกบัวสามเหล่านั้นมาจากพระ วินัยไตรปิฎก มหาวรรค(4/9/11)ความว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆนั้น ทรงเกิดปริวิตกว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นมีความลึกซึ้งยากที่คนจะเข้าใจ จนกระทั่งท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมยังมีอยู่  

ในตอนนั้นพระพุทธเจ้าได้ ทรงพิจารณาสัตวโลกเปรียบด้วยดอกบัว ความว่า พระผู้มีพระภาค ทรงทราบคำทูลอาราธนาของพรหม และทรงอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์ จึงทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ เมื่อตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีคือกิเลส ในจักษุน้อยก็มี ที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุมากก็มี ที่มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี ที่มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่มีอาการดีก็มี ที่มีอาการทรามก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ยากก็มี ที่มีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยอยู่ก็มี  มีอุปมาเหมือนดอกอุบลในกออุบล ดอกปทุมในกอปทุม หรือดอกบุณฑริกในกอบุณฑริก ที่เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ งอกงามแล้วในน้ำ บางเหล่ายังจมในน้ำ อันน้ำเลี้ยงไว้ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่พ้นน้ำ อันน้ำไม่ติดแล้วจึงได้รับอาราธนาสหัมบดีพรหมเพื่อที่จะแสดงธรรมแก่สรรพ สัตว์  

ข้อความที่ปรากฎในพระวินัยตอนนี้ทรงเปรียบบุคคลด้วยดอกบัวสามเหล่าคือบางเหล่า จมน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่พ้นน้ำ แต่คนส่วนมากมักจะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าทรงเปรียบ เทียบบุคคลเหมือนกับดอกบัวสี่เหล่า เพราะในหลักสูตรนักธรรมชั้นโทได้แสดงว่าบุคคลสี่ประเภทไว้ซึ่งเป็นข้อความ ที่มาจากอังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต (2/133/183) ความว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลสี่จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลกคือ(1) อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมแต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง (2) วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น (3) เนยยะ ผู้พอแนะนำได้ (4) ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง  ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลสี่จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก” 

ในอุคฆฏิตัญญุสูตร  อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต (21/133/350) ก็ได้แสดงว่าด้วยบุคคลสี่จำพวกความว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลสี่จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลกคืออุคฆปฏิตัญญู บุคคล วิปจิตัญญูบุคคล เนยยบุคคล ปทปรมบุคคล"  

ต้องแยกประเด็นกันระหว่างดอกบัวกับบุคคล เนื้อหาในพระไตรปิฎกไม่ได้เปรียบเทียบกันแต่อย่างใด แยกกันแสดงคนละครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกัน ส่วนการเปรียบเทียบกันนั้นมีปรากฎในอรรถกถาหลายครั้ง หลายหน ดังที่แสดงในอรรถกถาพระ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 1 หน้าที่ 148 ได้เปรียบเทียบบุคคลสี่จำพวกกับดอกบัวสี่เหล่าความว่าบุคคลสี่จำพวกคืออุคฆฏิตัญญู  วิปจิตัญญู  เนยยะ   ปทปรมะ ก็เปรียบเหมือนดอกบัวสี่เหล่านั้นแล  ในบุคคลสี่จำพวกนั้น  (1) อุคฆฏิตัญญู  ได้แก่บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลาที่ท่านยกขึ้นแสดง   (2) วิปจิตัญญู ได้แก่บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกความแห่งคำย่อโดยพิสดาร  (3) เนยยะ ได้แก่บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมโดยลำดับด้วยความพากเพียรท่องจำ ด้วยการไต่ถาม ด้วยทำไว้ในใจโดยแยบคาย  ด้วยคบหาสมาคมกับกัลยาณมิตร   (4) ปทปรมะ ได้แก่บุคคลที่ไม่ตรัสรู้ธรรมได้ในชาตินั้นแม้เรียนมาก ทรงไว้มาก สอนเขามาก

 อรรถกถาได้อธิบายต่อไปว่า ในบทนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุเช่นกับ ดอกบัว ได้ทรงเห็นแล้วว่าบุคคลจำพวกอุคฆฏิตัญญู ดุจดอกบัวจะบานในวันนี้  บุคคลจำพวกวิปจิตัญญู ดุจดอกบัวจักบานในวันพรุ่งนี้  บุคคลจำพวกเนยยะดุจดอกบัวจักบานในวันที่สาม และบุคคลจำพวกปทปรมะดุจดอกบัวอันเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า

พระ ผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงตรวจดูได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงอย่างนี้ว่าสัตว์มี กิเลสเพียงดังธุลีในจักษุน้อย มีประมาณเท่านี้  สัตว์มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุมากมีประมาณเท่านี้ แม้ในสัตว์เหล่านั้นจำพวกที่เป็น อุคฆฏิตัญญู มีประมาณเท่านี้ ในสัตว์สี่จำพวกนั้น การแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่บุคคลสามจำพวกใน อัตภาพนี้แล พวกปทปรมะจะมีวาสนาเพื่อประโยชน์ในอนาคต" 

อีกแห่งหนึ่งมีคำอธิบายใน อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 2 หน้าที่ 452  ความว่า ในดอกอุบลเหล่านี้ เหล่าใดขึ้นพ้นน้ำรออยู่เหล่านั้น  คอยรับสัมผัสแสงอาทิตย์จะบานในวันนี้ เหล่าใดตั้งอยู่เสมอน้ำ เหล่านั้นก็จะ บานในวันพรุ่งนี้ เหล่าใดจมเหล่านั้นก็จักเป็นภักษาของปลาและเต่าอย่าง เดียว ดอกบัวเหล่านั้นท่านแสดงไว้ยังไม่ขึ้นสู่บาลีก็พึงแสดง    เหมือนอย่างว่า   ดอกไม้สี่อย่างเหล่านั้นฉันใด บุคคลสี่จำพวกคืออุคฆฏิตัญญู วิปัจจิตัญญู  เนยยะ  ปทปรมะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในบุคคล ๔ เหล่านั้น บุคคลใดตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลายกหัวข้อธรรม  บุคคลนี้ท่านเรียกว่า  อุคฆฏิตัญญู  บุคคลใดตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกอรรถแห่งภาษิตสังเขปได้โดยพิสดาร บุคคลนี้ท่านเรียกว่า  วิปัจจิตัญญู  บุคคลใดใส่ใจโดยแยบคายทั้งโดยอุเทศทั้งโดยปริปุจฉา ซ่องเสพคบหาเข้าใกล้กัลยาณมิตรจึงตรัสรู้ธรรมบุคคลนี้ท่านเรียกว่า เนยยะ บุคคลใด  ฟังมากก็ดี  กล่าวมากก็ดี ทรงจำมากก็ดี  สอนมากก็ดี  ก็ยังไม่ตรัสรู้ธรรมในชาตินั้น บุคคลนี้ท่านเรียกว่า  ปทปรมะ

บรรดาบุคคลเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุ   ซึ่งเป็นเสมือนดอกบัวเป็นต้น   ก็ได้ทรงเห็นว่าอุคฆฏิตัญญู เปรียบเหมือนดอกไม้บานในวันนี้  วิปัจจิตัญญู เปรียบดอกไม้บานในวันพรุ่งนี้ เนยยะเปรียบเหมือนดอกไม้บานในวันที่สาม ปทปร มะ เปรียบเหมือนดอกไม้ที่เป็นภักษาของปลาและเต่า  ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงเห็น ก็ทรงเห็นโดยอาการทุกอย่างอย่างนี้ว่า สัตว์มีประมาณเท่านี้ มีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุน้อย เหล่านี้มีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุมาก บรรดาสัตว์เหล่านั้น พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมให้สำเร็จประโยชน์ในอัตภาพนี้เท่า นั้นแก่บุคคลสามประเภท ในจำนวนบุคคลเหล่านั้นปทปมะ มีวาสนาเพื่อประโยชน์ในอนาคตกาล

ในอรรถกถาพระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย เอกนิบาตเล่ม 1 ภาค 1 หน้าที่ 373   พระโสณโกฬวิสเถระกระทำความเพียรอย่างหนักแต่ก็ยังไม่บรรลุธรรมะจึงได้คิดว่า เราไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคล หรือไม่ใช่วิปจิตัญญูบุคคล ไม่ไช่ไนยบุคคล  เราพึงเป็นปทปรมบุคคลแน่แท้  เราจะประโยชน์อะไรด้วยบรรพชา เราจะสึกออกไปบริโภคโภคะและกระทำบุญ    ในที่สุดพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสบอกกัมมัฏฐานแก่พระเถระเพื่อให้ประกอบความ เพียรเพลา ๆ ลงบ้าง  ฝ่ายพระโสณเถระได้พระโอวาทในที่ต่อพระพักตร์ของพระทศพล ไม่นานนักก็ตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล  ต่อมาภายหลังพระศาสดาทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ ปรารภความเพียร

ในพระไตรปิฎกกับอรรถกถาเนื้อหามิได้แตกต่างกัน แม้ในครั้งแรกพระพุทธเจ้าจะทรงแสดงดอกบัวไว้สามเหล่า แต่ได้แสดงบุคคลไว้สี่จำพวก เมื่อนำมาอธิบายเปรียบเทียบกับดอกบัว พระอรรถกถาจารย์ก็อาจจะเล็งเห็นว่าดอกบัวประเภทสุดท้ายคือประเเภทที่สี่ ยังไม่ได้ผุดขึ้นมาจากดิน พระพุทธเจ้าจึงมิได้ยกขึ้นมาแสดงไว้ พระอรรถกถาจารย์ท่านก็บอกไว้เหมือนกันจากหลักฐานมาจากคำว่า "ดอกบัวเหล่าใดจมก็จักเป็นภักษาของปลาและเต่าอย่างเดียว ดอกบัวเหล่านั้น ท่านแสดงไว้ยังไม่ขึ้นสู่บาลี" คำว่า "ไม่ยกขึ้นสู่บาลี"หมายถึงไม่ได้แสดงในพระไตรปิฎก ดังนั้นคนประเภทสุดท้ายคือผู้ที่สอนไม่ได้ก็เหมือนกับดอกบัวที่ยังไม่ได้เกิดนั่นแล ใครที่มีหลักฐานอื่นนอกไปจากนี้ขอเชิญวิพากย์วิจารณ์ได้ ยังมิได้สรุปความคิดและมิได้สงวนความเห็นแต่ประการใด 

          ตั้งใจว่าจะเขียนสั้นๆ แต่พอเขียนแล้วยาวขึ้นทุกที น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มเนยยะคือพอจะแนะนำได้ จึงได้รู้จักกับพระพุทธศาสนา แต่บุคคลประเภทปทปรมะนั้นสอนไม่ได้แนะนำไม่ได้ เกิดมาเป็นมนุษย์เสียเวลาไป โดยไร้ประโยชน์ 



พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
เรียบเรียง
02/03/53






สวดภาณยักข์


สวดภาณยักข์

คุณลุงเจ้าคะ หนูเคยไปกับแม่ไปที่วัด ๒-๓ แห่งด้วยกัน เมื่อปีที่แล้ว ปรากฏวัดทั้งหลายเหล่านั้นมีพิธีกรรม สวดภาณยักข์ แต่ผลพิธีกรรมสวดภาณยักข์ ไม่ค่อยจะเหมือนกัน วัดแรกมีความศักดิ์สิทธิ์มาก เพราะว่า เวลาสวดภาณยักข์จริงๆ เสียงพระที่สวดน่ากลัวมาก เสียงกระแทกกระทั้น เสียงดังกึกก้อง ตกใจ หนูเองฟังแล้วยังหวั่นไหวในเสียงของพระ แต่สิ่งที่อัศจรรย์คือว่า คนที่นั่งในศาลาทั้งหมด ทีแรกก็นั่งกันเงียบ พอพระสวดถึงบทตอนสำคัญ เสียงกระแทกกระทั้นมาก ๆ หนักเข้า คนบางคนหรือหลายๆ คน ลุกขึ้นวิ่งบ้าง บางคนก็นอนดิ้น ร้องบ้าง ดิ้นแล้วก็ร้อง ร้องแล้วก็ดิ้น บางคนก็สิ่งไป บางคนก็ชัก ดิ้นพราดๆ

ในที่สุด เมื่อพระสวดจบ คนทั้งหลายเหล่านั้น ก็สงบและทุกคนก็บอกว่า มีความสุข บางคนก็บอกว่า คล้ายๆ กับอะไรออกจากร่างกาย ซู่ซ่า บางคนออกอย่างแรง บางคนก็ออกเรียบๆ แต่ว่าในที่สุด ทุกคนบอกว่า มีความสุขหมด มีความสบายมาก หนูอยากจะทราบความเป็นมาจริงๆ ของเรื่องภาณยักข์ คำว่า ภาณยักข์ นี่หมายความว่าอะไร คือว่า เขาพูดกัน ๒ คำ ภาณยักข์ ด้วย และก็ภาณพระ ด้วย หนูมาเห็นลุงทั้งสองคือ ท่านลุงวิรุฬหกก็ดี ท่านลุงท้าวเวสสุวัณก็ดี ท่านทั้งสองในตอนต้นท่านเป็นยักข์ แสดงตัวโตๆ ใหญ่ หน้าตาใหญ่ ดุดัน ฉะนั้นคำว่า ภาณยักข์ เป็นพานใส่ของของยักข์ใช่ไหมเจ้าคะ ท่านลุงเวสสุวัณฟังแล้วก็ยิ้ม บอกว่า หลาน คำว่า ภาณยักข์ เป็นภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษาไทย บาลีน่ะ ภาณ ตัวนี้แปลว่า พูด ยักข์ ก็คือ ยักข์ คำว่า ภาณยักข์ แปลว่า ยักข์พูด
ต่อมาในตอนที่สอง เรียกว่า ภาณพระ ภาณพระ ก็คือ ตอนพระพูด

จุไรก็ถามว่า ความเป็นมาจริงๆ ของเรื่อง การสวดมนต์ภาณยักข์ กับภาณพระ เป็นอย่างไรเจ้าคะ เห็นพระท่านสวดกันยาวมาก ท่านลุงก็บอกว่า การที่พระสวดยาว ๆ เป็นการเล่าเรื่องในตอนต้นให้ฟัง เล่าความเป็นมาของภาณยักข์ ตอนยักข์พูด และตอนภาณพระ ตอนพระพูด แต่ตอนบทจริง ๆ ที่ใช้เนื่องในการภาณยักข์หรือภาณพระ นี่ก็คือบท วิปัสสิส ใน ๗ ตำนาน บทนี้บรรดาพระเณรทั้งหลายในวัดได้กันหมด หรือคนที่รักษาศีลอุโบสถ ที่เขาอยู่วัดกัน เขาก็สวดกันได้

บทวิปัสสิสนี้ สวดแล้วมีผลอย่างไรเจ้าคะ ลุงก็บอกว่า บทวิปัสสิส เป็นบทสวด แสดงความเคารพพระพุทธเจ้า เป็นต้น แต่ว่าบุคคลใด ถ้าสวดไว้ เจริญไว้ ต้องสวดต้องเจริญแบบปกตินะ ไม่ใช่สวด ไม่ใช่เจริญแบบประเภทไล่ผี ขับผี ถ้ามีเจตนาร้าย ผีจะเกลียด

ถ้าสวดไว้เป็นแบบปกติ ผีจะไม่รบกวน เทวดาที่เป็นมิจฉาทิฐิ จะไม่รบกวน เธอก็บอกว่า สวดอย่างไรเจ้าคะ สวดตามปกติ สวดด้วยความเคารพ ท่านก็เลยบอกว่า ก่อนที่จะสวด ก็ตั้งใจนึกถึงพระพุทธเจ้าด้วย พระธรรมด้วย พระอริยสงฆ์ด้วย เทวดา กับพรหมทั้งหมดด้วย และก็สวดด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้าเป็นต้น เพียงเท่านี้ก็ใช้ได้ จุไรก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้น หนูก็อยากจะทราบความเป็นมา บทวิปัสสิส นี่ ถ้าไปถามพระองค์ไหน องค์นั้นก็รู้ใช่ไหมเจ้าคะ

ท่านลุงก็บอกว่า ใช่ เธอก็ถามว่า ความเป็นมาจริงๆ เป็นมาอย่างไร ท่านลุงจะเล่าให้ฟังได้ไหม ท่านลุงก็บอก ถ้าหลานต้องการจะฟังลุงจะเล่าให้ฟัง คือ บทภาณยักข์ หรือภาณพระ นี่เป็นเรื่องความเป็นมาของลุงเอง ท่านก็เล่าความเป็นมาว่า ความเป็นมาจริงๆ มีอย่างนี้ เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว หลังจากนั้น องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพุทธบริษัท คนที่หวังมรรค หวังผล มีความสุข หวังไม่ต้องการความเกิด แก่ ตาย ในวันหน้า หมายความว่าร่างกายนี้ตายแล้วก็แล้วกัน ไปนิพพาน จะถึงนิพพาน หรือยังไม่ถึงก็ตาม ก็ตั้งใจปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ ด้วยความเคารพ ทุกคนเมื่อปฏิบัติตามนี้ มักจะนั่งในที่สงัด อยู่ในป่าชัฏบ้าง อยู่ในป่าช้าบ้าง อยู่ในเรือนว่างเปล่า อย่างนี้เป็นต้น

แต่ว่าเมื่อคนทั้งหลายตั้งใจทำความดีเพื่อตัดกิเลสแบบนี้ ก็ยังมีบรรดาภูติผีทั้งหลายก็ดี เทวดาบางพวกก็ดีที่ไม่มีความเคารพในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เขาจะกลั่นแกล้งพระพุทธเจ้า เขาก็ทำไม่ได้ ก็เลยหาทางกลั่นแกล้งลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า คือ คนที่ปฏิบัติความเพียร อยู่ในที่สงัด เข้าไปแสดงตัวให้ปรากฏบ้าง ส่งเสียงร้องคำรามบ้าง ทำให้กลัว หรือนั่งใกล้ ๆ ทำให้ขนลุกซูซ่า ทำให้กลัวบ้างอย่างนี้เป็นต้น ก็เป็นเหตุให้คนทั้งหลายเหล่านั้นมีความหวาดหวั่นไม่สามารถจะบำเพ็ญบารมี หรือไม่สามารถจะบำเพ็ญฌานสมาบัติเป็นการตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน

ลุงก็มีความเห็นว่า ท่านทั้งหลายเหล่านี้ ตั้งใจทำความดี แต่เทวดาที่เป็นมิจฉาทิฐิก็ดี ผีที่เป็นมิจฉาทิฐิก็ดี กลั่นแกล้งแบบนี้ เป็นการไม่ชอบธรรม ในฐานะที่ ลุงเป็นท้าวจตุโลกบาล คือ ลุงกับคณะ คือ ลุงเอง ๑ ท้าวเวสสุวัณ ๒.ท่านท้าววิรุฬหก ๓. ท่านท้าววิรูปักข์ ๔. ท่านท้าวธตรฐ ทั้ง ๔ คนนี้มีหน้าที่รักษาชาวโลก คือ ชาวมนุษย์โลก ถ้าสร้างความดีก็หาทางป้องกัน ช่วยเหลือ ถ้าเขาสร้างความชั่ว ก็สุดวิสัยที่จะช่วยได้ ก็อดใจไว้ แล้วก็มีหน้าที่ ต้องบันทึกความดีหรือความชั่วของคน ทั้งการพูด การคิด การทำทุกอย่าง ใครทำความดี ใครทำดี ใครพูดดี ใครคิดดี ก็จดบันทึก ใครคิดร้าย พูดร้าย ทำร้าย ก็บันทึก

ตอนนี้จุไรก็ถามว่า คุณลุงเจ้าคะ เขาพูดก็ดี เขาทำก็ดี ย่อมเป็นสิ่งที่ปรากฏ แต่ตอนเขาคิดในใจนี่ ลุงรู้ได้อย่างไร ท่านท้าวเวสสุวัณ ก็บอกว่า เทวดาทุกองค์ นางฟ้าทุกองค์ หรือพรหมทุกองค์ ร่างกายเป็นทิพย์ และก็มีจิตใจเป็นทิพย์ ความเป็นทิพย์นี่ สามารถรู้การเคลื่อนไหว ความรู้สึกของคนได้ทุกอย่าง แล้วจุไรก็ถามว่า คนมีมาด้วยกัน ทั้งโลก ไม่ใช่ล้าน สองล้าน นับเป็นพันล้าน

แล้วลุงคนเดียวจะรู้ได้อย่างไร  ท่าน เวสสุวัณก็บอกว่า ไม่ใช่หน้าที่ของลุงคนเดียวที่จะต้องรู้ ผู้ที่รู้อันดับแรกก็คือ ภูมิเทวดา ภูมิเทวดา ที่ชาวบ้านตั้งศาลให้นั่นแหละ เขาเป็นคนรู้ เป็นเจ้าหน้าที่เฉพาะในเขต เป็นจุดแคบๆ แล้วท่านผู้นี้ไม่ต้องไปนั่งจ้อง คิดว่า ใครจะทำโน่น ใครจะทำนี่ ใครจะคิดอะไร ไม่จำเป็น รู้เอง เมื่อเขาคิดดี ก็ขึ้นบัญชีดี ความคิดขึ้นบัญชีเอง เมื่อเขาคิดชั่ว ความคิดนั่นก็ขึ้นบัญชีชั่ว แต่ว่าไม่ใช่แผ่นทองคำหรือแผ่นหนังสุนัข เพราะว่า เมืองเทวดาไม่มีสุนัข ไม่สามารถจะเอาหนังสือมาเขียนได้ เป็นอันว่า มีบัญชีของเทวดาก็แล้วกัน ถ้าพูดไป หลานจะงง  

หลังจากนั้น ในกลุ่มหนึ่งของภูมิเทวดาหลาย ๆ องค์ ก็มีอากาสเทวดาชั้นจาตุมหาราช ไปคุม ๑ องค์ ถึงเวลาวันโกนหรือวันกลางเดือน หรือวันสิ้นเดือน เขาก็นำบัญชีมาให้เทวดาชั้นจาตุมหาราช ชั้นจาตุมหาราชก็นำบัญชีทั้งหมด เท่าที่ได้รับมา แต่ละหน่วย ๆ มาให้เทวดาที่เป็นมหาอำมาตย์รองจากอินทกะ หลัง จากนั้นท่านมหาอำมาตย์ก็มอบให้ท่านอินทกะ ท่านอินทกะก็มอบให้ลุงแจ้งให้ทราบ ลุงก็แยกบัญชี ส่วนบัญชีส่วนไหนเป็นความดี แจ้งไปดาวดึงส์ ให้เทวดาไปมอบให้ ท่านปัญจสิกขเทพบุตร เป็นเลขาของพระอินทร์ แล้วท่านปัญจสิกขเทพบุตร ก็อ่านประกาศในวันที่ประชุมเทวดา และนางฟ้า บัญชีที่ทำบาป ลุงก็ส่งไปให้พระยายม แต่ความจริงบัญชีพระยายนั้นมีทั้งบัญชีทำความดี และบัญชีทำความชั่ว ทั้งบุญ และบาป ส่งไป ๒ อย่าง เหมือนกัน ก็เป็นอันวา ลุงรู้ตามนี้

จุไร ฟังแล้วก็นั่งงงคิดไม่ออกว่า ความเป็นทิพย์ ทำไมมีการคล่องตัวมาก แต่ก็ไม่ถาม เธอก็ย้อนถามมาว่า ถ้าอย่างนั้น คุณลุงเจ้าคะ ขอเล่าเรื่องความเป็นมาของภาณยักข์ก็แล้วกัน ท่านลุงก็บอกว่า ในเมื่อเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฐิก็ดี ภูติผีปีศาจต่างๆ ที่เป็นมิจฉาทิฐิก็ดี คอยกลั่นแกล้งลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ลุงเองในฐานะที่เป็นมนุษย์ก็เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน ลุงเป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะอาศัยพระพุทธเจ้าท่านสงเคราะห์ ก็มีความจำเป็น ต้องหาทางสงเคราะห์คนพวกเดียวกัน คือ ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า จึงได้ประชุมท่านท้าวมหาราชอีก ๓ องค์ คือ ท่านท้าวธตรฐ ท่านท้าววิรุฬหก ท่านท้าววิรูปักข์ เวลานี้ท่านทั้งสามก็มาอยู่ร่วมกันที่นี่แล้ว

ก็เป็นอันว่า ในเวลานั้น เมื่อประชุมกันเสร็จก็หารือกันว่าเหตุการณ์ต่างๆ มันเกิดขึ้นอย่างนี้ เราจะช่วยคนที่เขาตั้งใจทำความดีสร้างบุญสร้างกุศล เราจะทำอย่างไร ในที่สุด ทั้งสี่ท่านก็มีมติเห็นชอบพร้อมกันว่า เราจะสร้างบทสวดมนต์ขึ้นบทหนึ่ง บทสวดมนต์นี้มีการสรรเสริญพระพุทธเจ้า เป็นต้น เมื่อสร้างบทสวดมนต์แล้วเสร็จ แล้วก็สั่งประชุมเทวดาทั้ง ๔ ทิศ ให้ประกาศให้ทราบว่า ทุกคน เทวดาหรือนางฟ้าทุกองค์ จะนับถือพระพุทธเจ้าหรือไม่นับถือก็ตาม อันนี้ไม่รับทราบ

ให้พึงทราบว่า ถ้าบุคคลใด เขาสวดมนต์บทนี้อยู่ด้วยความตั้งใจดี ไม่ใช่กลั่นแกล้ง ไม่ใช่ขับเทวดา ไม่ใช่ขับผี เมื่อเขาไปอยู่ที่ไหนก็ตาม พอเริ่มต้นปั๊บ ก็สวดมนต์ตั้งแต่ นโม ตสส เรื่อยไป และขั้นต่อไปก็สวดบทนี้ ด้วยความเคารพ ถ้าหากว่า ท่านผู้ใดเขาสวดมนต์บทนี้อยู่ ไม่ใช่สวดทั้งวันนะ เอาแค่จบเดียวก็พอ ก็ห้ามบรรดาเทวดากับนางฟ้าทั้งหมด และภูติผีปีศาจทั้งหมด ห้ามเข้าไปนั่งใกล้ คนที่เขาเจริญมนต์แบบนี้ บทวิปัสสิสนี่นะ ห้ามเข้าไปนั่งใกล้ ห้ามไปล้อ ไปเลียน ห้ามไปหลอก ไปหลอน ห้ามไปกลั่นแกล้ง ถ้าเทวดาหรือนางฟ้า หรือภูติผี ท่านใดฝ่าฝืน ท้าวมหาราชทั้งสี่จะปรับโทษ ในฐาน กบฎ เอาโทษหนัก

ในเมื่อลุงประชุมเทวดากับนางฟ้าทั้งหมดแล้ว ลุงทั้งสี่ก็ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระชินสีห์ แล้วกราบทูลความเป็นมาเรื่องนี้ให้ทราบ ตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าขืนย้อนๆ ไป มันจะช้าจะเนิ่นนานรำคาญ ขณะที่ลุงกราบทูลพระพุทธเจ้า ตอนนี้เขาเรียกว่า ภาณยักข์ ซึ่งเขาลือว่า ท้าวเวสสุวัณนี่เป็นยักข์ เขาจึงได้เขียนรูปเหมือนยักษ์ แต่ยักษ์ที่เขาเขียนมันไม่เหมือนยักษ์ที่ไหน ไม่ว่ายักษ์ที่ไหนจะมีเขี้ยวออกนอกปาก เป็นเขาวัว เขาควายแบบนั้น กัดใครไม่ได้ เขี้ยวยักษ์ ไม่ใช่เขี้ยวขวิด เขี้ยวยักษ์เป็นเขี้ยวกัด ในเมื่อทำเขี้ยวโง้งออกจากปาก จะกัดได้อย่างไร อ้าปากมันไม่หุบเขี้ยว เขี้ยวไม่อยู่ในปาก ก็รวมความว่า ขณะที่ลุงเป็นผู้แทนของท้าวมหาราชอีก ๓ องค์ ปกติเวลาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ลุงเองเป็นผู้กราบทูลแทน ท้าวมหาราชอีก ๓ องค์ ท่านไม่พูด เป็นแต่เพียงยอมรับว่า ท่านร่วม

เมื่อขณะที่ลุงรายงาน ขอให้พระพุทธเจ้าส่งมนต์บทนี้ให้แก่บรรดาสาวกทั้งหมด แจ้งให้ทราบว่า มนต์นี้ ถ้าใครสวดขึ้นแล้วก็ตาม คำว่า สวด ให้สวดด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ไม่ใช่ตั้งใจขับผี ขับสาง ถ้าสวดมนต์บทนี้อยู่หรือสวดแล้วก็ตาม ในวันนั้นไม่ใช่ต้องนั่งสวดกันทั้งวัน ก็เป็นอันว่า ผีก็ดี เทวดาก็ดี นางฟ้าก็ดี ไม่สามารถจะเข้ามานั่งใกล้ ไม่สามารถจะกลั่นแกล้ง ไม่สามารถจะล้อเลียน ไม่สามารถจะหลอกได้ ถ้าใครฝ่าฝืนจะต้องถูกท้าวมหาราชทั้งสี่ลงโทษ ฐานกบฎ เป็นอันว่า ตอนนี้ลุงรายงานให้ท่านทราบ เขาเรียกว่า ภาณยักข์ ต่อมาเมื่อลุงกลับแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงเรียกพระประชุม เล่าความเป็นมาอย่างนี้ทั้งหมด ให้พระรับทราบ และแนะคำสวดมนต์ทั้งบทให้พระทั้งหลายสาธยายคือให้ท่องให้จำได้ แล้วก็ซ้อมพร้อมกัน ตอนนี้ท่านเรียกว่า ภาณพระ คือ พระพูด พระ คือ พระพุทธเจ้าพูด ก็เป็นอันว่าเรื่องราวภาณยักข์ กับภาณพระ เป็นมาเท่านี้เองหลานรัก

แล้วจุไรก็ถามว่า เมื่อฟังแล้วก็รู้สึกว่า เรียบๆ ไม่มีอะไรมาก แต่ว่าหนูมีความรู้สึกอยู่อย่างหนึ่ง คุณปู่เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ มีพระองค์หนึ่ง ไปอยู่ในเขต เขาวงพระจันทร์ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในวัด ท่านปลูกกระท่อมอยู่ในป่า พระองค์นี้เป็นพระเสียงดัง ท่าทางห้าวหาญ หนูจำชื่อท่านไม่ได้ แต่ไม่ขอบอกชื่อ เพราะเกรงว่าจะไปตรงกับชื่อพระองค์ใดองค์หนึ่งเข้า จะหาว่ากล่าววาจาเสียดสี เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ขอกล่าวปฏิปทาของท่าน เพราะว่าท่านทราบมาจากคนแก่ คนเก่าๆ หรือพระเก่าๆ เคยเล่าให้ฟังว่า บทวิปัสสิสนี้ ถ้าสวดเสียงดังขนาดไหน ผีก็ดี เทวดา หรือยักข์ร้ายก็ตาม ที่จะกลั่นแกล้ง จะต้องอยู่สุดปลายเสียงโน้น ขณะได้ยินเสียงอยู่นี่ อยู่ไม่ได้ ต้องหนีไปให้พ้นเสียง
ฉะนั้น ตอนเช้าก็ดี ตอนกลางวันก็ดี ตอนเย็นก็ดี ตอนกลางคืน หัวค่ำก็ดี ตอนดึกก็ตาม ตอนเช้า ตื่นเช้าท่านจะสวดบทวิปัสสิส สวดเสียงดังมาก เลยต้องอยู่คนเดียว คนอื่นเขารำคาญ ตอนกลางวันก็สวดเสียงดัง ตอนเย็นก็สวดเสียงดัง พอค่ำไปหน่อยก็สวดเสียงดัง ตอนดึกก่อนจะนอนก็สวดเสียงดัง สวดอย่างนี้ทุกวัน แต่ปรากฏว่า มีวันหนึ่ง ตอนเย็นประมาณ ๔ โมงเย็นเศษ ใกล้จะ ๕ โมงเป็นเวลาที่พระองค์นี้สวดมนต์ แต่แทนที่จะได้ยินเสียงสวดมนต์ กลับได้ยินเสียงพระองค์นี้ร้อง โอ๊ย




หลวงพ่อเล่าเรื่องพระสวดมนต์ไล่ผี


ลูกหลานทั้งหลาย วันนี้สาระน้อยไปหน่อยนะ เพราะมัวไปทะเลาะกับท่านนักปราชญ์เพลินไป มาพูดกันถึงอานุภาพท่านขุนด่านอีกหน่อย เพราะชักเหนื่อยแล้ว ท่านขุนด่านเป็นเทวดาของท่านท้าวเวสสุวัณ มีเครื่องทรงประจำสีแดง คือ นุ่งห่มสีแดง และโพกผ้าก็สีแดงเหมือนกัน ท่านที่ทรงเครื่องแดงนี้จัดเป็นเทวดามีอานุภาพมาก

สมัยที่เขาวงพระจันทร์ยังมีสถานที่ยังไม่สมบูรณ์อย่างปัจจุบัน หลวงพ่อปานท่านกำลังสร้างมณฑปและบันไดขึ้นเขา มีพระองค์หนึ่งเป็นลูกศิษย์นอกสำนักของหลวงพ่อปาน ชื่อ ท่านสำราญ ชาวบ้านเรียกว่าอาจารย์สำราญ ขณะนี้สำราญอยู่เมืองผีนานแล้ว เพราะท่านแก่กว่าฉันมาก สมัยฉันอายุ ๒๐ ปีเศษ ท่านมีอายุเกือบ ๔๐ ปีแล้ว ท่านอยู่ประจำที่เขาวงพระจันทร์ เป็นเขตอารักขาของท่านขุนด่าน หลวงพ่อปานท่านสั่งไว้เสมอว่า อย่าประกาศตัวเป็นศัตรูกับผี ควรทำตนเป็นมิตรกับผีจะได้อยู่เป็นสุข เพราะผีไม่ใช่คน ถ้าเป็นศัตรูกัน เวลาที่เขามาทำอันตรายไม่มีนิมิตปรากฏ ท่านก็ไม่เชื่อ

ปกติท่านสวดบทวิปัสสิทธิ์เสมอเพื่อไล่ผี คาถาบทนี้เป็นคาถาในบทภาณยักษ์และภาณพระ คำว่า ภาณยักษ์แปลว่ายักษ์พูด คำว่าภาณแปลว่าพูด เป็นคาถาที่ท่านท้าวมหาราชทั้งสี่ท่านประชุมกันร้อยกรองขึ้น เมื่อร้อยกรองเสร็จท่านก็ประชุมผีทั้งหมด ท่านสั่งว่าใครเขาสวดคาถาบทนี้อยู่ห้ามทำอันตราย ถ้าใครไม่เชื่อจะลงโทษฐานกบฏ มาตรานี้มีโทษรุนแรงมาก

เมื่อประกาศแล้วท่านทั้งสี่ก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านทั้งสามให้ท้าวเวสสุวัณเป็นคนพูดกับพระพุทธเจ้า ท่านจึงเรียกภาณยักษ์ ตอนที่ท้าวเวสสุวัณพูด แปลว่า ยักษ์พูด เมื่อท้าวเวสสุวัณกราบทูลถวายกับพระพุทธเจ้า ได้กราบทูลมีใจความว่า พวกยักษ์ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ นาคและบริวาร ส่วนอื่นของข้าพระพุทธเจ้าที่ไม่เลื่อมใสในพระองค์มีมาก เมื่อบรรดาพระ เณร อุบาสก อุบาสิกา ไปทำสมณธรรมคือชำระอารมณ์ให้หมดจากกิเลส พวกนี้มักจะกลั่นแกล้งให้ตกใจกลัว เป็นอันตรายแก่พรหมจรรย์มาก

คำว่าพรหมจรรย์ไม่ใช่คนบริสุทธิ์ ไม่เคยผ่านใครมาเลย นั่นยังไม่เรียกว่าพรหมจรรย์ ควรเรียกว่าคนยังไม่เคย ส่วนพรหมจรรย์แปลว่าประพฤติประเสริฐ คือ ไม่เป็นอันตรายแก่ใคร ได้แก่คนมีพรหมวิหาร ๔ นั่นเอง พวกที่ไม่เคยผ่านการร่วมรัก อาจจะเคยลักขโมย ฆ่าสัตว์ โกหกมดเท็จ กินเหล้าเมาสุราบ้างก็ได้ เรียกว่า พรหมจรรย์จึงไม่ตรงเป้าหมาย ส่วนพรหมจรรย์แท้ท่านหมายเอามีความประพฤติอย่างประเสริฐ คือ มีอารมณ์เหมือนพรหม มีศีลบริสุทธิ์ มีเมตตาปรานี มีฌานเป็นอารมณ์ อย่างนี้เป็นพรหมจรรย์อันดับปฐม พรหมจรรย์อย่างมัธยมก็ต้องตัดกิเลสสิ้นไปเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เรียกว่าระดับมัธยม หรือเรียกดุษฎีบัณฑิต เป็นอันว่ารู้กันนะว่าพรหมจรรย์หมายความว่าอย่างไร

เมื่อบรรดาท่านพุทธบริษัทของพระองค์ไปเจริญสมณธรรมในป่าในรกที่สงัด ถ้าเกรงว่าบรรดาผีอันธพาลทั้งหลายจะรบกวน ให้เขาสวดคาถาบทนี้ผีจะไม่ทำอันตราย เมื่อท่านอธิบายแล้วก็ถวายคาถา จึงเรียกว่าภาณยักษ์ เพราะเป็นตอนยักษ์พูด เมื่อพระพุทธเจ้าท่านรับไว้แล้วท่านมหาราชกลับแล้ว ท่านเรียกประชุมพุทธบริษัท ท่านก็ให้บริษัทเรียนและอธิบายตามนั้น ตอนนี้ในตำนานท่านกล่าวว่า พระพูด เรียกว่า ภาณพระ

ท่านสำราญท่านถือคาถานี้เป็นสำคัญ ท่านไม่ได้ทำดีคือสมณธรรม ท่านถือว่าท่านเก่ง พ่อสวดมนต์บทนี้ไล่ผีทุกวัน ผิดระเบียบพระที่ดี ไม่ทำดีแต่เอาอาวุธของคนดีมาใช้ก็เลยไม่มีผล พอเผลอท่านขุนด่านเลยจัดการเสียตามระเบียบ คือ เวลาประมาณ ๑๗ น. โดยประมาณ อาจจะไม่ตรงเผง ฉันและเพื่อนได้ยินเสียงท่านสำราญร้องโอย ๆ เสียงดังมาก ก็พากันวิ่งไปดู คิดว่าใครทำอันตรายท่าน ไม่ได้คิดว่าผีทำ คิดว่าคน คือพวกของเจ้าลาวอันธพาล

เมื่อวิ่งไปถึงปรากฏแก่ตาของพระทุกองค์ เห็นคนนุ่งแดงใส่เสื้อแดง ผ้าโพกหัวแดง ถือหวายขนาดใหญ่ กำลังหวดซ้ายป่ายขวาท่านสำราญ ๆ ลงไปนอนบิดไปบิดมาอย่างสำราญอยู่กับพื้น เจ้าสองลิงคือเจ้าลิงขาวกับลิงเล็กวิ่งเข้าไปร้องขอว่า ท่านขุนด่าน ขอทีเถอะ หยุดลงโทษเสียทีเท่านี้พอแล้ว แกหันมามองตาแดงก่ำ แดงเป็นสีตายักษ์ แกยิ้ม แต่ทว่ายิ้มของแกไม่น่ารักเลย มันน่ากลัวมากกว่า พระที่วิ่งไปด้วยเห็นยิ้มของแกเข้าหลบก้มหน้าลงดินเป็นแถว ที่ยืนปกติมีฉันกับเจ้า ๒ ลิง เมื่อแกเลิกยิ้มแกบอกว่า เจ้านี่อวดดีนัก เอาคาถาท่านมหาราชมาขับเทวดาขับผี เขาให้ไว้สำหรับคนดี ไม่ใช่ธุระของคนอันธพาลจะนำมาใช้ เลยจัดการเสียนิดหน่อย คราวต่อไปทำอย่างนี้อีกจะลงโทษให้หนักกว่านี้ แล้วแกก็ก้าวขึ้นขื่อหายไป

พระทุกองค์ที่ไปเห็นและได้ยินเหมือนกัน นับแต่นั้นมา ท่านสำราญท่านเห็นว่าที่เขาวงพระจันทร์สำราญเกินไป ท่านทนความสำราญไม่ไหวเลยลาไปสำราญที่อื่น พวกฉันเห็นได้ท่าก็เลยหันมาสำทับพวกเดียวกัน บอกว่าที่นี่เจ้าที่ดุ ต่อไปจงระมัดระวังความประพฤติ ถ้าใครทำชั่วไม่มีใครช่วยใครได้ อาจจะต้องมีโทษมากกว่านี้ เรื่องวัวเขาอ่อนเป็นเหตุ ถ้ายุ่งมากอาจจะถึงตาย และความประพฤติส่วนอื่นก็เหมือนกัน จงระงับเสีย อย่าเอาชั่วมาใช้ เรามาทำบุญกัน อย่าเอาบาปกลับวัด เป็นเรื่องน่าประหลาด เมื่อฉันและเพื่อนเตือนพระเย็นวันนั้น พอเช้าก็มีพระทุกองค์มารายงานว่าเมื่อคืนนี้ทุกองค์เห็นท่านขุนด่าน ท่านมาคาดโทษว่าถ้าท่านใดทำเลวปล่อยใจอย่างฆราวาส ท่านจะจัดการยิ่งกว่าท่านสำราญ



อานิสงส์ของการสวดมนต์ นั่งสมาธิ


อานิสงส์ของการสวดมนต์ นั่งสมาธิ

ครูบาอาจารย์ได้อรรถาธิบายความถึงอานิสงส์ของการสวดมนต์ไว้ ดังนี้

1. อานิสงส์ที่เกิดกับสุขภาพร่างกาย

ผู้ที่นิยมสวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิสม่ำเสมอจะก่อให้เกิดผลดีต่อจิตยิ่งจะมีความผ่องแผ้วสว่างบริสุทธิ์ จิตที่สว่างจะทำให้อารมณ์ผ่องใส ไม่โกรธง่ายไม่เครียด แม้ถ้าจะต้องใช้ความคิดก็จะคิดแบบมีเหตุมีผล

การที่จิตผ่องแผ้วถือเป็นโอสถทิพย์ที่สำคัญต่อร่างกายที่เดียวส่งผลให้ร่างกายสร้างและหลั่งฮอร์โมนในร่างกายที่เป็นปกติ ทำให้ร่างกายสมดุลเมื่อร่ายกายสมดุลบุคคลนั้นจะอายุยืน คนที่มีอารมณ์ดี ไม่เครียดจะอายุยืนยาวเช่นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นสรณะจะอายุยืนบางองค์เกินร้อยปีก็มีหรือคนโบราณที่ชอบสวดมนต์ไหว้พระจะอายุยืนยาวมากไม่มีต่ำกว่าแปดสิบปี ซึ่งต่างจากคนสมัยปัจจุบันที่แก่เร็วอายุสั้น เฉลี่ยแล้วไม่เกินหกสิบห้า หรือ อย่างมากก็เจ็ดสิบปี

การมีจิตที่ผ่องใสเสมือนหนึ่งมียาอายุวัฒนะขนานเอกไว้ในตัวเอง ลักษณะนี้ครูบาอาจารย์ท่านให้เรียกว่าการนำปัจจัยภายในมาสร้างอายุวัฒนะ

2. อานิสงส์ให้เกิดจิตที่แกร่ง

หลังการสวดมนต์ไหว้พระและนั่งสมาธิ จะทำให้จิตมีกำลัง เป็นการบำรุงจิต จิตที่มีกำลังจะเข้มแข็ง ไม่อ่อนไหวง่าย สติดี หนักแน่นการมีจิตเป็นสมาธิสติจะคงอยู่เสมอ จะก่อให้เกิดปัญญาตามมา

ปัญญาหมายถึงระบบการคิดที่มีสติคอยกำกับการคิดจึงอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลไม่มีอารมณ์เข้ามาเจือปน

ส่วนความคิดที่ขาดสติเราเรียกว่า อารมณ์คนสมัยใหม่ที่ไม่นิยมนั่งสมาธิ ส่งผลให้สติไม่มั่นคงโกรธง่าย โมโหร้าย ขี้หงุดหงิด ไม่อดทนต่อแรงกดดันทั้งปวงมีอารมณ์แปรปรวนไม่สม่ำเสมอ เหตุเพราะจิตมีอ่อนกำลัง เราจึงพบว่าสถิติการฆ่าตัวตายของคนสมัยนี้ จึงมีอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น

รูปธรรมข้างต้นเหล่านี้คงจะพอแสดงให้เห็นถึงความต่างระหว่างจิตสองลักษณะคือจิตแกร่งกับจิตอ่อนได้เป็นอย่างดีให้เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าการที่เราต้องรับประทานข้าวปลาอาหารเพราะอาหารเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับชีวิตฉันใดก็ฉันนั้น สมาธิก็จะเป็นอาหารที่สำคัญของจิต เช่นกัน


3. ได้อานิสงส์จากการได้โปรดดวงจิตวิญญาณ

ผู้ที่สวดมนต์ไหว้พระนั่งสมาธิถึงขั้นเป็นผู้มีจิตใสสว่างนั้นเป็นที่โปรดปรานของพวกวิญญาณเร่ร่อนยิ่งนัก เพื่อปรารถนาจะขอส่วนบุญส่วนกุศลให้ตนได้ร่มเย็น หรือพ้นทุกข์ หรือแม้กระทั่งหลุดพ้นจากการถูกจองจำโดยปกติบทสวดมนต์จะมีความขลังอยู่ในตัวเพราะ เป็นอักขระภาษาที่มีมนต์ขลังบางบทเป็นพระคาถาที่มีอานุภาพสูง โดยเฉพาะบทพุทธบารมี บทพระคาถาชินบัญชรมีอานุภาพสูง ยิ่งผู้สวดมีสมาธิจิตที่ดีแล้ว พลังแห่งเมตตาพลังแห่งอานุภาพจะแผ่กระจายปกคลุมไปไกล ด้วยอานุภาพของพลังจิตผู้สวดเองเมื่อเสียงสวดและอักขระไปกระทบ หรือสัมผัสกับดวงจิตวิญญาณใดพลังเมตตาและพลานุภาพแห่งมนตรานี้จะกระตุ้นให้ดวงจิตวิญญาณเกิดความระลึกได้เมื่อระลึกได้ก็จะสามารถดูดซับพลังบารมีทั้งปวงจากบทสวดอย่างเต็มที่ดวงจิตที่มืดบอดก็จะสว่างผ่องใสขึ้นและหลุดพ้นจากบ่วงพันธนาการในที่สุด

สภาพโดยธรรมชาติของวิญญาณทั้งหลายนั้น พวกเขาจะถูกจำกัดหรือถูกควบคุมพื้นที่เสมือนถูกจองจำตีตรวน เหมือนนักโทษที่ติดอยู่ในคุก บางคนก็สำนึกได้เอง บางคนต้องได้รับการอบรมสั่งสอนก่อนจึงจะเกิดสำนึก เช่นกันดวงวิญญาณหลายดวง เกิดสำนึกในความดี ความชั่วที่ตนได้กระทำได้เองเมื่อสำนึกได้ก็จะสามารถเปิดรับธรรมะได้เลย ทันที การสำนึกได้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งดังที่คนโบราณได้สั่งสอนบอกต่อกันมาว่า ก่อนตายให้นึกถึงพระ ความหมายนี้ก็คือให้เกิดรู้สำนึกนั่นเอง แม้ถ้าคนเราสำนึกได้ในวินาทีสุดท้ายขณะใกล้จะตายก็ถือว่ามีโอกาสที่จะรับรู้ สัมผัสธรรมได้ ( จิตเปิด) มีโอกาสหลุดพ้น (จากการจำกัดบริเวณ )ได้และภาษาอักขระในบทสวดดวงจิตวิญญาณสามารถก็สามารถเข้าถึงได้ให้ดวงจิต วิญญาณเข้าใจได้ ก่อให้เกิดความกระจ่างได้และยิ่งเมื่อเราแผ่เมตตาตามอีกเขาก็จะได้อานิสงส์ มากยิ่งขึ้นดวงจิตวิญญาณเหล่านั้นชุ่มเย็นเป็นสุขเสมือนเรานำน้ำที่เย็นชโลม รดให้กับผู้ที่หิวกระหายลุ่มร้อนมานานปี จนสุดท้ายก็จะสามารถหลุดพ้นไปได้

การที่เราทำให้วิญญาณตกทุกข์ได้ยาก ทุกข์ทรมาน ได้รับความสุข สว่างสดใส หรือกระทั่งหลุดพ้นไปได้ นับว่าได้อานิสงส์มหาศาลทีเดียวสภาพความจริงในภพแห่งวิญญาณนั้น ถ้ามนุษย์มองเห็นก็จะพบว่ามีวิญญาณเร่ร่อน (สัมภเวสี ) จำนวนมากมายทีเดียว มีทุกหนทุกแห่ง เช่น คนมีจิตสว่างบางคนไปนอนที่ไหนก็จะมีวิญญาณมาดึง มาปลุก มาทำให้ไม่สามารถนอนได้ปรากฏการณ์เช่นนี้ให้ท่านเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า เขามาขอส่วนบุญเขาเห็นจิตของท่านที่สว่าง แสดงว่าท่านเป็นมีบุญที่สามารถแผ่ให้กับเขาได้ อย่าตกใจอย่ากลัวให้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี วิธีปฏิบัติก็คือ สวดมนต์ แผ่เมตตาให้เขาเสียแล้วท่านจะนอนหลับฝันดี เขาจะเฝ้าดูแลท่านตลอดทั้งคืนบางที่อาจให้โชคลาภกับท่านเสียอีก

สถานที่บางแห่งวิญญาณอยู่กันเหมือนตัวหนอนเหมือนฝูงแมลงวัน ยิ่งดวงวิญญาณอยู่กัมากมายเช่นนี้ผู้สวดมนต์ แผ่เมตตาภาวนาสมาธิให้ ก็จะได้อานิสงส์มากเท่าทวีคูณ การสวดมนต์ที่แท้ก็คือการแผ่เมตตานั่นเอง

การทำจิตให้นิ่งเป็นสมาธิบ่อยๆ เสมือนเราอยู่ในที่สูง อานิสงส์ที่เราสร้างบุญกุศลที่เรา
ทำจะเปรียบเสมือนเราเทน้ำให้ไหลลงสู่เบื้องล่างผู้อยู่เบื้องล่างที่หิว กระหายก็จะรอรับ
อย่างชุ่มเย็น มีความปีติยินดี

4. ได้อานิสงส์จากโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลาย

นอกจากดวงจิตวิญญาณแล้วยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ปรารถนาจะได้รับพลังเมตตาบารมีจากการสวดมนต์ไหว้พระและนั่งสมาธิเช่นกัน ซึ่งก็คือพวกสัตว์เล็ก สัตว์น้อยสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นนั่นแหละ พลังแห่งการแผ่เมตตาบารมีนี้มีอานุภาพยิ่งใหญ่เป็นพลังแห่งพุทธานุภาพ เป็นพลังฝ่ายบุญกุศล

การสวดมนต์ ไหว้พระนั่งสมาธิและแผ่เมตตาบ่อยๆ จะทำให้จิตมีความแข็งแกร่งพลังแห่ง
การแผ่เมตตาก็จะมีอานุภาพที่แรงครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขวางยิ่งขึ้นนั่นย่อมหมายถึงไป
สู่สรรพสัตว์มากจำนวนยิ่งขึ้นตามเบื้องต้นสามารถพิสูจน์ได้จริงไม่ว่ามด ยุง แมลง ฯลฯ
ล้วนต้องการ และแสวงหาพลานุภาพแห่งเมตตาอย่างหิวโหยจริง

เช่นผู้ปฏิบัติธรรม บางคนพบว่ามีมดขึ้นมาเกาะบนกลดขณะที่ท่านกำลังที่ภาวนาอยู่จำนวนมากหรือมียุงมากัดจำนวนมากขณะนั่งสมาธิ แต่เมื่อท่านกล่าวแผ่เมตตาให้แล้วพวกเขาเหล่านั้นก็จะจากไปของเขาเอง ไม่ทำร้ายไม่รบกวนเราอีกเหตุเพราะพวกเขาได้รับแล้วนั่นเอง

ลักษณะเช่นนี้จะเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ครูบาอาจารย์ที่กล่าวไว้ว่า พวกมด ยุง แมลงนั้น
พวกเราสามารถพูดกับเขาได้นั่นเองเมื่อเราทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ได้ทุกข์หลุดพ้น
จากทุกข์ช่วยให้สรรพสัตว์ที่ได้สุข ให้ได้สุขยิ่งๆขึ้นไป เราก็ได้อานิสงส์แห่งการนี้ตอบ
คืน อานิสงส์เช่นนี้ เป็นอานิสงส์ที่ก่อให้เกิดบารมีที่ยิ่งใหญ่มากทีเดียว เราเรียกว่าอานิสงส์ทางทิพย์

5. ได้อานิสงส์จากพรเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ทุกครั้งที่เราสวดมนต์ หลังจากสวดบทบูชาพระรัตนตรัยแล้วเราก็มักจะสวดบทชุมนุมอัญเชิญเทวดาเสมอ (สักเคฯ) เป็นการบอกกล่าวอัญเชิญเทวดาให้มาร่วมพิธีการสวดมนต์ เทวดาเทพเทพารักษ์ทั้งหลายโปรดการฟังสวดมนต์มากเพราะถือเป็นพิธีกรรมแห่งพุทธที่มีมนต์ขลังมีความศักดิ์สิทธิ์ ดังที่ได้เรียนไปแล้วบทสวดทุกบทเป็นอักขระ มีพลังพุทธานุภาพสูงใครได้ยินได้ฟังได้ซึมซับก็จะเกิดความสว่างไสว เกิดพลังบารมี

มนุษย์ที่สวดมนต์ไหว้พระประจำเทวดา จึงเป็นที่โปรดปรานของเทวดาไปที่ไหนมีเทวดาปกป้องคุ้มครอง ให้โชคให้ลาภให้ความมั่งมีสีสุขคนโบราณจึงย้ำหนักหนาให้ลูกหลานสวดมนต์ก่อนนอนนี่คือความหมายที่แท้จริงของการสวดมนต์ก่อนนอน

เทวดาก็ต้องการสร้างบารมีของตนให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไปเช่นกัน เมื่อเราสวดมนต์ ไหว้พระแผ่เมตตา ทำให้เทวดาได้บารมีเพิ่ม ได้ความสว่างเพิ่มเทวดาก็จะอำนวยอวยพรชัยมงคลให้กับเรา เป็นการตอบแทนคุณเรา

หากเราสังเกตให้ดีเราจะพบว่า ทุกพิธีกรรมทางพุทธศาสนาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันจะต้องเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเทวดาเสมอ ก่อนเริ่มพิธีกรรมจึงต้องมีการสวดบวงสรวงอัญเชิญทวยเทพเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาร่วมพิธีก่อนเสมอ

พุทธองค์ทรงสำเร็จมรรคผลด้วยทวยเทพเทวดาช่วยเหลือ ชี้แนะ ในทางกลับกันเทวดาก็พึ่งพาธรรมจากพุทธองค์ หรือพุทธสาวกเพื่อสร้างบารมี ชี้ทางสว่างเสมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า องค์ทวยเทพเทวากับพุทธศาสนาจึงแยกกันไม่ออก เป็นของคู่กัน



บทสวดมนต์พาหุงมหากา



บทสวดมนต์พาหุงมหากา

กราบพระรัตนตรัย
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)
สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ (กราบ)

นมัสการ (นะโม)
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

ไตรสรณคมน์ (พุทธัง ธัมมัง สังฆัง)
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉาม
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ

พระพุทธคุณ (อิติปิ โส)
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ
สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติฯ

พระธรรมคุณ
สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม
สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติฯ *
(* อ่านว่า วิญญูฮีติ)
พระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย* ปาหุเนยโย* ทักขิเณยโย* อัญชะลี กะระณีโย
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติฯ
(อ่านออกเสียง อาหุไนยโย ปาหุไนยโย ทักขิไณยโย โดยสระเอ กึ่งสระไอ)

พุทธชัยมงคลคาถา (พาหุงฯ)

พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง
โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง
ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง
เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง
ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง
อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

กัตตะวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา
จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง
วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง
ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง
พรัหมัง* วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา โย
วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที
หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ
โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญฯ
* พรัหมัง อ่านว่า พรัมมัง


มหาการุณิโก
มะหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินัง
ปูเรตวา ปาระมี สัพพา ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เต ชะยะมังคะลังฯ

ชะยันโต โพธิยา มูเล สักยานัง นันทิวัฑฒะโน เอวัง
ตะวัง วิชะโย โหหิ ชะยัสสุ ชะยะมังคะเล อะปะรา
ชิตะปัลลังเก สีเส ปะฐะวิโปกขะเร อะภิเสเก
สัพพะพุทธานัง อัคคัปปัตโต ปะโมทะติฯ

สุนัก ขัตตัง สุมังคะลัง สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง สุขะโณ
สุมุหุตโต จะ สุยิฏฐัง พรัหมะ** จาริสุ ปะทักขิณัง
กายะกัมมัง วาจากัมมัง ปะทักขิณัง ปะทักขิณัง
มะโนกัมมัง ปะณิธี เต ปะทักขิณา ปะทักขิณานิ
กัตตะวานะ ละภันตัตเถ ปะทักขิเณฯ
** พรัหมะ อ่านว่า พรัมมะ
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะพุทธานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เตฯ
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะธัมมานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เตฯ
ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะสังฆานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เตฯ

หลังจากสวดมนต์ตั้งแต่ต้นจนจบบทพาหุงมาหากาฯ แล้วก็ให้สวดเฉพาะบทพระพุทธคุณ หรืออิติปิโส ให้ได้จำนวนจบเท่ากับอายุของตนเอง แล้วสวดเพิ่มไปอีกหนึ่งจบ ตัวอย่างเช่น ถ้าอายุ ๓๕ ปี ต้องสวด ๓๖ จบ จากนั้นจึงค่อยแผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศล

พุทธคุณเท่าอายุเกิน ๑ (อิติปิโสเท่าอายุ+๑)
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ
สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติฯ

บทแผ่เมตตา
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กัน และกันเลย
อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้ พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อะนีฆา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ

บทอุทิศส่วนกุศล (บทกรวดน้ำ)

อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตา ปิตะโร
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้า จงมีความสุข
อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงมีความสุข
อิทัง เม คุรูปัชฌายาจะริยานังโหตุ สุขิตา โหนตุ คุรูปัชฌายาจะริยา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า จงมีความสุข
อิทัง สัพพะ เทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เทวา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เทวดาทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข
อิทัง สัพพะ เปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่เปรตทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เปรตทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข
อิทัง สัพพะ เวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เวรี
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข
อิทัง สัพพะ สัตตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ สัตตา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข

บทสวดมนต์พาหุงมหากา (แปล)


บทสวดมนต์พาหุงมหากา (แปล)

คำแปลกราบพระรัตนตรัย
พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
ข้าพเจ้า อภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน (กราบ)
พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว
ข้าพเจ้านมัสการพระธรรม (กราบ)
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว
ข้าพเจ้านอบน้อมพระสงฆ์ (กราบ)

คำแปลนมัสการ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็น ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง (๓ จบ)

คำแปลไตรสรณคมน์
ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก
แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก
แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก
แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก
แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก

คำแปลพระพุทธคุณ
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
เป็นผู้ไกลจากกิเลส
เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ (ความรู้และความประพฤติ)
เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว
เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งไปกว่า
เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
เป็นผู้มีความเจริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้ฯ

คำแปลพระธรรมคุณ
พระธรรมเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ดีแล้ว
เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัตึพึงเห็นได้ด้วยตนเอง
เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล
เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว
เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้ฯ

คำแปลพระสังฆคุณ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติดีแล้ว
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติตรงแล้ว
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรม เป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด, ปฏิบัติสมควรแล้ว

ได้แก่ บุคคลเหล่านี้คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัว บุรุษได้ ๘ บุรุษ
นั่นแหละสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา
เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ
เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน
เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี
เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้ฯ

คำแปลพุทธชัยมงคลคาถา

๑. พระจอมมุนีได้ทรงชนะพญามารผู้เนรมิตแขนมากตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ ขี่คชสารชื่อครีเมขละ พร้อมด้วยเสนา มารโห่ร้องกึกก้อง
ด้วยธรรมวิธี คือ ทรงระลึกถึงพระบารมี ๑๐ ประการ ที่ทรงบำเพ็ญแล้ว มีทานบารมีเป็นต้น
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๒. พระจอมมุนีได้ทรงชนะอาฬวกยักษ์ ผู้มีจิตกระด้าง ดุร้ายเหี้ยมโหด มีฤทธิ์ยิ่งกว่าพญามาร ผู้เข้ามาต่อสู้ยิ่งนัก จนตลอดรุ่ง
ด้วยวิธีที่ทรงฝึกฝนเป็นอันดี คือ ขันติบารมี
(คือ ความอดทน อดกลั้น ซึ่งเป็น ๑ ในพระบารมี ๑๐ ประการ)
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๓. พระจอมมุนีได้ทรงชนะพญาช้างตัวประเสริฐชื่อ นาฬาคิรี เป็นช้างเมามันยิ่งนัก ดุร้ายประดุจไฟป่า และร้ายแรงดังจักราวุธและสายฟ้า (ขององค์อินทร์) ด้วยวิธีรดลงด้วยน้ำ คือ พระเมตตา
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๔. พระจอมมุนีทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ทางใจอันยอดเยี่ยม ชนะโจรชื่อองคุลิมาล (ผู้มีพวงมาลัย คือ นิ้วมือมนุษย์) แสนร้ายกาจ
มีฝีมือ ถือดาบวิ่งไล่พระองค์ไปสิ้นทาง ๓ โยชน์
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๕. พระจอมมุนีได้ทรงชนะความกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา
ผู้ทำอาการประดุจว่ามีครรภ์ เพราะทำไม้สัณฐานกลม (ผูกติดไว้) ให้เป็นประดุจมีท้อง
ด้วยวิธีสมาธิอันงาม คือ ความสงบระงับพระหฤทัย
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๖. พระจอมมุนี ทรงรุ่งเรืองแล้วด้วยประทีป คือ ปัญญา ได้ชนะสัจจกนิครนถ์
(อ่านว่า สัจจะกะนิครนถ์, นิครนถ์ คือ นักบวชประเภทหนึ่งในสมัยพุทธกาล)
ผู้มีอัชฌาสัยในที่จะสละเสียซึ่งความสัตย์ มุ่งยกถ้อยคำของตนให้สูงล้ำดุจยกธง
เป็นผู้มืดมนยิ่งนัก
ด้วยเทศนาญาณวิธี คือ รู้อัชฌาสัยแล้ว ตรัสเทศนาให้มองเห็นความจริง
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๗. พระจอมมุนีทรงโปรดให้พระโมคคัลลานะเถระพุทธชิโนรส นิรมิตกายเป็นนาคราชไปทรมานพญานาคราช ชื่อ นันโทปนันทะ ผู้มีความหลงผิดมีฤทธิ์มาก
ด้วยวิธีให้ฤทธิ์ที่เหนือกว่าแก่พระเถระ
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

๘. พระจอมมุนีได้ทรงชนะพรหมผู้มีนามว่าพกาพรหม ผู้มีฤทธิ์ สำคัญตนว่าเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยคุณอันบริสุทธิ์ มีความเห็นผิดประดุจถูกงูรัดมือไว้อย่างแน่นแฟ้นแล้ว
ด้วยวิธีวางยาอันพิเศษ คือ เทศนาญาณ
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น
นรชนใดมีปัญญา ไม่เกียจคร้าน สวดก็ดี ระลึกก็ดี ซึ่งพระพุทธชัยมงคล ๘ บทนี้ทุก ๆ วัน
นรชนนั้นจะพึงละเสียได้ ซึ่งอุปัทวันตรายทั้งหลายมีประการต่าง ๆ
เป็นอเนกและถึงซึ่งวิโมกข์ (คือ ความหลุดพ้น) อันเป็นบรมสุขแล

คำแปลมหาการุณิโก

ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ประกอบแล้วด้วยพระมหากรุณา ยังบารมีทั้งหลายทั้งปวงให้เต็ม เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ได้บรรลุสัมโพธิญาณอันอุดมแล้ว ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

ขอท่านจงมีชัยชนะ ดุจพระจอมมุนีที่ทรงชนะมาร ที่โคนโพธิพฤกษ์ ถึงความเป็นผู้เลิศในสรรพพุทธาภิเษก ทรงปราโมทย์อยู่บนอปราชิตบัลลังก์อันสูง เป็นจอมมหาปฐพี ทรงเพิ่มพูนความยินดีแก่ เหล่าประยูรญาติศากยวงศ์ฉะนั้นเทอญ

เวลาที่ สัตว์” (หมายถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เช่น มนุษย์และสรรพสัตว์) ประพฤติชอบ ชื่อว่า ฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี และขณะดี ครู่ดี บูชาดีแล้ว ในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย กายกรรม เป็นประทักษิณ วจีกรรม เป็นประทักษิณ มโนกรรม เป็นประทักษิณ ความปรารถนาของท่านเป็นประทักษิณ สัตว์ทั้งหลายทำกรรม อันเป็นประทักษิณแล้ว ย่อมได้ประโยชน์ทั้งหลาย อันเป็น ประทักษิณ*

ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน
ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน
ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน
ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อ


หมายเหตุ ประทักษิณ หมายถึง การกระทำความดีด้วย ความเคารพ โดยใช้มือขวาหรือแขนด้านขวา หรือที่หลายท่าน เรียกว่า ส่วนเบื้องขวาซึ่งเป็นธรรมเนียมที่มีมาช้านานแล้ว ซึ่งพวกพราหมณ์ถือว่า การประทักษิณ คือ การเดินเวียนขวารอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบุคคลที่ตนเคารพนั้น เป็นการให้เกียรติ และเป็นการแสดงความเคารพสูงสุด เป็นมงคลสูงสุด เพราะฉะนั้นบาลีที่แสดงไว้ว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ความปรารถนาและการที่กระทำกรรมทั้งหลาย เป็นประทักษิณ อันเป็นส่วนเบื้องขวาหรือเวียนขวานั้น จึงหมายถึงการทำการพูดการคิดที่เป็นมงคล และผลที่ได้รับก็เป็นประทักษิณ อันเป็นส่วนเบื้องขวาหรือเวียนขวา ก็หมายถึงได้รับผลที่เป็นมงคลอันสูงสุดนั่นแลฯ

มูลเหตุแห่งการค้นพบพระชัยมงคลคาถา





มูลเหตุแห่งการค้นพบพระชัยมงคลคาถา
เมื่ออาตมาได้พบกับสมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้ว.........
คืนหนึ่งอาตมานอนหลับ แล้ว ฝันไปว่า อาตมาได้เดินไปในสถานที่แห่งหนึ่ง ได้พบกับพระสงฆ์รูปหนึ่งครองจีวรคร่ำ สมณสารูปเรียบร้อยน่าเลื่อมใส อาตมาเห็นว่าเป็นพระอาวุโส ผู้รัตตัญญู จึงน้อมนมัสการท่าน ท่นหยุดยืนตรงหน้าอาตมา แล้วกล่าวกับอาตมาว่า
"ฉันคือสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้วแห่งกรุงศรีอยุธยา ฉันต้องการให้เธอไปที่วัดใหญ่ชัยมงคลเพื่อดูจารึก ที่ฉันได้จารึกถวายพระเกียรติแด่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้เป็นเจ้า เนื่องในวาระที่สร้างพระเจดีย์ฉลองชัยชนะ เหนือพระมหาอุปราชแห่งพม่า และประกาศความเป็นอิสระของประเทศไทย จากหงสาวดีเป็นครั้งแรก เธอไปดูไว้แล้วจดจำมาเผยแพร่ออกไป ถึงเวลาที่เธอจะได้รับรู้แล้ว"
ในฝันอาตมารับปากท่าน ท่านก็บอกตำแหน่งที่บรรจุให้ แล้วก็ตกใจตื่นตอนใกล้รุ่ง อาตมาก็ทบทวนความฝัน ก็นึกอยู่ในใจว่า เราเองนั้น กำหนดจิตด้วยกรรมฐาน มีสติอยู่เสมอ เรื่องฝันฟุ้งซ่านเป็นไม่มี อาตมาก็ได้ข่าวในวันนั้นแหละว่า ทางกรมศิลปากรทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ใหญ่ ในวัดใหญ่ชัยมงคล และจะทำการบรรจุพระบรมธาตุที่ยอดพระเจดีย์ อันเป็นนิมิตหมายการสิ้นสุดการบูรณะ แล้วจะรื้อนั่งร้านทั้งหมดออกเสร็จสิ้น
อาตมาจึงได้ขอร้อง ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร บอกนายภิรมณ์ ชินเจริญ ให้เลื่อนการปิดยอดบัวไปอีกวันหนึ่ง เพื่อที่อาตมาจะได้นำพระซุ้มเสมาชัย ซุ้มเสมาขอที่อาตมาได้สร้างขึ้น ตามแบบดั้งเดิมที่พบในเจดีย์ใกล้กับวัดอัมพวัน ซึ่งพังลงน้ำ ที่ก๋งเหล๋งเป็นคนรวบรวมเอามาให้อาตมา ตั้งแต่เมื่อเริ่มมาพัฒนาวัดใหม่ ๆ แต่แตกหัก ผุพัง ทั้งนั้น หลายสิบปี๊บ อาตมาได้ป่นเอามาผสมสร้างเป็นองค์พระใหม่ไปร่วมบรรจุไว้ที่ยอดพระเจดีย์บ้าง
วันนั้นอาตมาเดินทางไปถึง ก็ได้เดินขึ้นไปบนเจดีย์ตอนที่สุดบันได แล้วมองเห็นโพรงที่ทางเข้าทำไว้สำหรับลงไปด้านล่าง มีร้านไม่พอไต่ลงไปภายใน ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่า ลงไปคราวนี้ ถ้าพลาดตกลงไปจากนั่งร้านไม้ ก็ยอมตาย คนที่ร่วมเดินทางมา เขามัวแต่ไปบนลานชั้นบน อาตมาก็ดิ่งลงไปชั้นล่าง มีไฟฉายดวงหนึ่ง เวลานั้นประมาณ ๙.๐๐ น. อาตมาลงไปภายในพบลานทองคำ ๑๓ ลาน ดังที่สมเด็จพระพนรัตน์ได้บอกไว้จริง ๆ อาตมาจึงได้พบว่า แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ท่านได้จารึกถวายพระพร ก็คือ บทสวดมนต์ที่เรียกว่า "พาหุง มหาการุณิโก" ท้ายของนิมิตนั้นระบุว่า "เราสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ศรีอโยธเยศ คือผู้จารึกนิมิตรจนาเอาไว้ ถวายพระพรแด่พระมหาบพิตรเจ้า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช"

พาหุงมหาการุณิโก คืออะไร
พาหุงมหากา คือ บทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วก็ พรพาหุงอันเริ่มด้วย พาหุงสะหัส จนไปถึง ทุคคาหะทิฏฐิ แล้วเรื่อยไปจนถึง มหาการุณิโกนาโถหิตายะ และจบลงด้วย "ภะวะตุสัพพะมังคะลัง สัพพะพุทธา สัพพะธรรมา สัพพะสังฆานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต" อาตมาเรียกรวมกันว่า "พาหุงมหากาฯ"
อาตมาจึงเข้าใจในบัดนั้นเองว่า บทพาหุงนี้คือ บทสวดมนต์ที่ สมเด็จพระพนรัตน์ วัด ป่าแก้ว ได้ถวายให้พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไว้สวดเป็นประจำ เวลาอยู่กับพระบรมราชวัง และในระหว่างศึกสงคราม จึงปรากฎว่า พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้า ทรงรบ ณ ที่ใดทรงมีชัยชนะอยู่ตลอดมา มิได้ทรงเพลี่ยงพล้ำเลย แม้จะเพียงลำพังสองพระองค์กับสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ท่ามกลางกองทัพพม่า ด้วยการกระทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา ณ ดอนเจดีย์ปูชนียสถาน แม้ข้าศึกจะยิงปืนไฟเข้าใส่พระองค์ในตอนที่เข้ากันพระศพของพระมหาอุปราชาออก ไปราวกับห่าฝนก็มิปาน แต่ก็มิได้ต้องพระองค์ ด้วยเดชะพาหุงมหากา ที่ทรงเจริญอยู่เป็นประจำนั่นเอง อาตมาได้พบตามที่นิมิตแล้วก็ไต่ขึ้นมาด้วยความสบายใจ ถึงปากปล่องที่ลงไป เนื้อตัวมีแต่หยากไย่ เดินลงมาแม่ชีเห็นเข้ายังร้องว่า หลวงพ่อเข้าไปในโพรงนั่นมาหรือ แต่อาตมาไม่ตอบ
ตั้งแต่นั้นมา อาตมาจึงสอนการสวดพาหุงมหากาฯ ให้แก่ญาติโยมเป็นต้นมา เพราะอะไร เพราะพาหุงมหากานั้น เป็นบทสวดมนต์ที่มีค่ามากที่สุด มีผลดีที่สุด เพราะเป็นชัยชนะอย่างสูงสุดของพระบรมศาสดา จากพญาวัสดีมาร จากอาฬาวกะยักษ์ จากช้างนาฬาคีรี จากองคุลิมาล จากนางจิญมานวิกา จากสัจจะกะนิครนธ์ จากพญานันโทปนันทนาคราช และท่านท้าวผกาพรหม เป็นชัยชนะที่พระพุทธองค์ทรงได้มา ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ และด้วยอำนาจแห่งบารมีธรรมโดยแท้ ผู้ใดได้สวดไว้เป็นประจำทุกวัน จะมีชัยชนะ มีความเจริญรุ่งเรือง ตลอดกาลนาน มีสติระลึกได้จะตายก็ไปสู่สุคติภูมิ
ขอให้คุณโยมช่วยประชาสัมพันธ์ให้ด้วยนะ ว่าให้สวดพาหุงมหากากันให้ถ้วนหน้า นอกจากจะคุ้มตัวแล้วยังคุ้มครอบครัวได้ สวดมาก ๆ เข้า สวดกันทั้งหลายประเทศ ก็ทำให้ประเทศมีแต่ความรุ่งเรือง พวกคนพาลสันดานหยาบก็แพ้ภัยไปอย่างถ้วนหน้า
ไม่เพียงแต่พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่า นั้น ที่พบความมหัศจรรย์ของพบพาหุงมหากา แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงพบเช่นกัน โดยมีบันทึกโบราณบอกไว้ดังนี้
"เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชตี เมืองจันทบุรีได้แล้วก็ทรงเล็งเห็นว่า สงครามกู้ชาติต่อจากนี้ไปจะต้องหนักหนาและยืดยาว จึงทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระยอดธงแบบศรีอยุธยาขึ้น แล้วนิมนต์พระเถระทั้งหลายมาสวดบทพาหุงมหากาบรรจุไว้ในองค์พระ และพระองค์ก็ทรงเจริญรอยตาม พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้วยการเจริญพาหุงมหากา จึงบันดาลให้ทรงกู้ชาติสำเร็จ"

อานิสงส์ของการสวดพระชัยมงคลคาถา และพุทธคุณ
ที่มาของบทสวดมนต์ชัยมงคลคาถา อาตมาได้ตำราเก่าแก่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นใบลานทองคำจารึกของ "สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว" ปัจจุบันเรียกว่า วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา ได้รจนาถวายพระพรชัยมงคลคาถาแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระพนรัตน์เป็นอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
อานิสงส์ของบทสวดมนต์ชัยมงคลคาถา หรือพาหุงมหากาฯ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่เคยแพ้ทัพ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ไม่เคยแพ้ทัพ พระชัยหลังช้างของ ร.๑ นั้นมาจากบทพาหุงมหากาฯ
ผู้ใดสวดมนต์ชัยมงคลคาถา หรือพาหุงมหากาฯ เป็นประจำทุก ๆ วันแล้ว มีแต่ชัยชนะทุกประการ เรียนหนังสือก็เกิดปัญญา มีแต่ความเก่งกล้าสามารถ ผู้ใดสวดทุกเช้าค่ำ คิดสิ่งใดที่ดีเป็นมงคล จะสมความปรารถนาทุกประการ

ปฐมเหตุ ต้นพุทราในพระราชวังโบราณอยุธยา
ขอฝาก พ.อ.ทองคำ ศรีโยธิน ไว้ด้วยว่าคัมภีร์ใบลานทองคำจารึกบทสวดมนต์ชัยมงคลคาถานั้น อาตมาให้สัญญาสมเด็จพระพนรัตน์มาจะไม่ให้ใครดู ถ้าไปให้ใครดู อาตมาก็สิ้นชีวีแน่ ๆ เหมือนอาจารย์ปถัมภ์ เรียนเมฆ ที่ให้อาตมาเล่าเรื่องพระในป่าให้ฟัง
อาตมาบอกว่า ถ้าเล่าแล้วอาจารย์ต้องตายนะ เขาบอกว่าตายให้ตาย เพราะพระในป่าบอกว่า ตายไปแล้ว ๓ เดือนจะฟื้น และบอกว่าวันนี้จะมาสาวไส้หลวงพ่อวัดอัมพวันให้หมด
เลยบอกว่า เอ้าตกลง โยมต้องตายนะ เลยเล่าเหตุการณ์ให้ฟังที่ร้านก๋วยเตี๋ยวปากบาง เขาอัดเทปไว้ ๕-๖ ม้วน ถ่ายรูปด้วย ขณะเล่ามีงูใหญ่โผล่ขึ้นมา ไม่มีรู หลานเขยจะตี ก็ห้ามไว้ ก็นึกว่าอาจารย์ปถัมภ์ต้องตายแน่
พอเล่าเหตุการณ์เรียบร้อย อาจารย์ปถัมภ์เอาพระเกศพระที่หล่อที่หอประชุมภาวนา-กรศรีทิพา มาขอถ่ายกลับไปเทปก็ไม่ติด รูปก็ถ่ายไม่ติด อาจารย์ปถัมภ์ก็แน่นที่หัวใจ รุ่งเช้าถึงแก่กรรม
ภรรยาอาจารย์ปถัมภ์ มาถามอาตมาว่า อาจารย์ปถัมภ์ จะฟื้นหลัง ๓ เดือนแล้วจริงหรือไม่ อาตมาบอกว่าโยมไปดูเสียให้ดี เลือดออกทาง หู ตา ปาก หรือเปล่า ถ้าออกแล้วไม่มีฟื้น ถ้าทวาร ๙ เปิดไม่มีฟื้นนะ
แต่คนที่ฟื้นแบบ พ.อ.เสนาะ ไม่ใช่ตายนะ แค่สลบไป หัวใจยังเต้นทำงานอยู่ ฟื้นได้ ถ้าขาดใจตาย ไม่มีลมวิญญาณออกไปแล้วไม่มีกลับมา เลยอาจารย์ปถัมภ์ถึงแก่ความตาย ถ้าอาตมาไม่ได้รับสัญญามา จะให้คุณโยมทองคำดูให้ได้
อย่าลืมนะเขาขึ้นไปยอดเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลกัน อาตมาโดดลงบ่อ ถ้าขึ้นไม่ได้ก็ขอตายที่นี่ ที่สมเด็จพระพนรัตน์ท่านมาเข้าฝันบอก และได้ตามนั้นด้วย
อาตมาถึงยืนยันว่า พระสงฆ์ไทยเรานี้ มีความรู้ในพระพุทธศาสนาลึกซึ้ง กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี พระอุบาลีที่ไปประกาศศาสนาที่ประเทศศรีลังกา ท่านแปลพระไตรปิฎกจบ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ท่านเป็นผู้รจนาฉันท์บาลีว่าด้วยชัยชนะของพระพุทธเจ้า ๘ บทที่เรียก พาหุงมหากาฯ ขึ้นมา ถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระนเรศวร
อาตมาจึงให้เขาสวดมนต์บท พาหุงมหากาฯเป็นประจำ ถ้าเด็กมีศรัทธาสวด สอบได้ที่หนึ่งเลย ถ้าสวดไปซังกะตาย ไม่มีศรัทธาสวด รับรองไม่ได้ผล
บท พาหุงมหากาฯเป็นจารึกของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว เอาประวัติที่พระพุทธเจ้าผจญมาร มารจนาขึ้น แล้วท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เอาไปเผยแผ่ที่ประเทศศรีลังกา จนได้รับยกย่องมาจนทุกวันนี้

ปฐมเหตุต้นพุทรา ในพระราชวังโบราณกรุงศรีอยุธยา
คุณโยมทองคำโปรดทราบ มีอีกคัมภีร์หนึ่ง เป็นคัมภีร์ฉลองวัด ฉลองศึกมหาอุปราช จารึกไว้ว่า ทำไมมีต้นพุทราที่พระราชวังมากมาย ถ้าไม่มีเหตุผลเขาไม่ปลูกไว้หรอก นี่คนโบราณ
คัมภีร์นี้บอกไว้ชัด ตอนที่สมเด็จพระนเรศวร ยกทัพไปได้นำคัมภีร์ชัยมงคลคาถาไปด้วย พอสวดพาหุงสะหัสฯ ช้างตกน้ำมันแผลงฤทธิ์เลย แม่ทัพนายกองตามไม่ทัน เข้าไปถึงกองทัพพม่า พม่าล้อมไว้เลย
ไปเพียงสองพระองค์กับพระเอกาทศรถ พระอนุชา พม่าจะฆ่าเสียก็ตาย แล้วเหมือนลูกไก่ในกำมือ จะบีบก็ตายจะคลายก็รอด แต่พระองค์มีบุญญาธิการเพราะมนต์บทพาหุงสะหัส
ผลสุดท้าย มีสุนทรวาจาทักทายปราศรัย ก่อนกระทำยุทธหัตถีว่าทั้งสองฝ่ายขอสมาลาโทษต่อกัน
พระนเรศวรตรัสว่า เจ้าพี่มหาอุปราชเอ๋ย เราเป็นพี่น้องกัน อย่าให้ทหารไพร่พลต้องล้มตาย เรามายุทธนากันตัวต่อตัวดีกว่า
พระมหาอุปราชเห็นด้วยทันที เพราะบทสวดมนต์พาหุงมหากาฯ อิติปิโส ภควา ใครจะสู้ได้ อัญเชิญพระคุณของพระพุทธเจ้าออกไปสนทนาไปด้วยจิตเป็นเมตตา คนจึงเชื่อถือ
ถ้าออกปากไปด้วยโทสะ คนไม่เชื่อถือ ลูกก็ไม่สนใจ นี่เรื่องจริงตรงนี้ พระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีด้วยช้างตกน้ำมัน มีกำลังเจ็ดช้างสาร มีพลังยิ่งกว่าช้างมหาอุปราช ก็พุ่งเข้าไปเลย
เราไม่โกรธกันนะ อย่าเอาบาปกันนะพระมหาอุปราชก็ตกลง
พอพูดขาดคำปั๊บ ช้างแปร๋นเลย เสียท่าเข้าไปเลย เข้าไปทำอย่างไร มหาอุปราชฟันเลย ไปชนกันอย่างนี้จึงฟันถึง จำไว้
พระนเรศวรเก่งมาก ทรงหมอบเลยถูกพระมาลาเบี่ยง เบี่ยงแล้วทำอย่างไร กำลังอยู่กระชั้นชิด ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เอาของ้าวฟัน ไม่มีทาง ขอเคียงฟันได้เหรอ จะขาดไหม มันมีน้ำหนักอยู่ตรงไหน มันยาว ฟังตรงนี้นะ อยู่ในคัมภีร์เสร็จ
พระนเรศวรหมอบ ข้างหลังส่งของ้าว ภายใน ๑ วินาที สอดเข้าไปในรักแร้เลย แล้วชักด้ามกลับ ช้างเผ่นทันที ช้างพระนเรศวรเสียหลักแล้วก็ช่วยดึงด้วย
พระนเรศวรจับของ้าวแน่นเลย ของ้าวขึ้นมาที่คอสะพายแล่งแล้ว พอช้างดึงปั๊บ ช้างจะล้ม พระมหาอุปราชสะพายแล่งขาดลงคอช้างทันที แต่ช้างพระนเรศวรจะต้องล้ม เสียท่าทหารพม่าแน่ แต่ช้างกลับถอยหลังไปโดนต้นพุทรา เอาขายันเข้าไว้ได้ ต้นพุทราจึงมีบุญคุณต่อพระนเรศวร พระนเรศวรจึงเอาพุทราต้นนี้มาปลูก และไหว้ต้นพุทรา พระนเรศวรจึงบูชาต้นพุทรา ว่ารอดตายนี่เพราะต้นพุทราแท้ ๆ ช้างมายันต้นพุทราไว้  เพราะปฐมเหตุนี้ ต้นพุทราจึงมีมาก จนตราบเท่าทุกวันนี้ ในราชวังโบราณกรุงศรีอโยธยา
ใครไม่เชื่อไม่เป็นไร อาตมาเชื่อหมื่นเปอร์เซ็นต์ เพราะเราฝันของเราเอง และโดดลงบ่อได้คัมภีร์นี้มา คนอื่น ๆ ขึ้นข้างบน อัญเชิญพระธาตุไปบรรจุ และนำพระเครื่องเมืองพรหมนคร พระเสมาชัย พระเสมาขอ ไปบรรจุไว้ที่วัดใหญ่ชัยมงคลด้วย
พระเสมาขอ คือ พระนเรศวรขอเมืองคืน
พระเสมาชัย คือ ได้ชัยชนะปลงพระชนม์พระมหาอุปราชแล้ว พระนเรศวรสร้างแล้วบรรจุไว้ที่เจดีย์วัดชัยชนะสงคราม อยู่ใต้วัดอัมพวัน
อาตมาก็ขอบรรจุพระเสมาขอ และเสมาชัยไว้ที่วัดใหญ่ชัยมงคล เพื่อเป็นอนุสรณ์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสืบไป