นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

บทความธรรมะ

Monday, November 8, 2010

ว่าด้วย กราบไหว้ผู้ควรกราบไหว้


อรรถกถา ปัพพชิตวิเหฐกชาดก
ว่าด้วย กราบไหว้ผู้ควรกราบไหว้


               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่  พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชาวโลก จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ทุพฺพณฺณรูปํ ดังนี้.
               เรื่องนี้จักมีแจ้งใน กัณหชาดก.

               ก็ในคราวครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อน ตถาคตก็บำเพ็ญประโยชน์แก่โลกเหมือนกัน แล้วได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:-

               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นท้าวสักกะ. ครั้งนั้น วิชาธรคนหนึ่งร่ายเวทย์มนต์แล้วเข้าไปในห้องมิ่งขวัญในเวลาเที่ยงคืน ประพฤติล่วงเกินกับพระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี. ฝ่ายข้าหลวงของพระนาง ได้กราบทูลแด่พระราชา. พระนางจึงเสด็จเฝ้าพระราชาเสียเองทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ชายคนหนึ่งเข้ามาในห้องมิ่งขวัญ ในเวลาเที่ยงคืนข่มขืนหม่อมฉัน.
               พระราชา ก็เธอจะสามารถทำเครื่องหมาย คือสัญญาณอะไรไว้ที่มันได้ไหม?
               พระอัครมเหสี สามารถ พระเจ้าข้า.
               พระนางทรงให้นำถาดใส่ชาด คือชาติหิงคุมาได้ เมื่อเวลาชายคนนั้นมาในเวลากลางคืน ร่วมอภิรมย์แล้วจะไป ทรงประทับนิ้วทั้ง ๕ ไว้ที่หลัง แล้วได้กราบทูลพระราชาแต่เช้าทีเดียว.
               พระราชาตรัสสั่งบังคับคนทั้งหลายว่า สูเจ้าทั้งหลายจงไป จงพากันตรวจดูทั่วทุกทิศ แล้วจับชายคนที่มีรอยชาดอยู่บนหลัง. ฝ่ายวิชาธร เมื่อทำอนาจารในเวลากลางคืนแล้ว กลางวันก็ยืนขาเดียวนมัสการพระอาทิตย์อยู่ที่สุสาน. ราชบุรุษทั้งหลายเห็นเขาแล้วจึงพากันล้อมไว้. เขารู้ว่า กรรมของเราปรากฏแล้ว จึงร่ายเวทย์เหาะไปทางอากาศ.
               พระราชาทรงเห็นชายคนนั้นแล้ว จึงตรัสถามราชบุรุษทั้งหลายที่มาแล้วว่า เธอทั้งหลายได้เห็นไหม?
               ราชบุรุษ ได้เห็นพระพุทธเจ้าข้า.
               พระราชา มันชื่ออะไรล่ะ คือใคร.
               ราชบุรุษ เป็นบรรพชิต พระพุทธเจ้าข้า.
               เพราะว่าเวลากลางคืนเขาทำอนาจาร แต่เวลากลางวันเขาอยู่โดยเพศบรรพชิต. พระราชาทรงกริ้วบรรพชิตทั้งหลายว่า บรรพชิตเหล่านี้กลางวันประพฤติโดยเพศสมณะ แต่กลางคืนทำอนาจาร แล้วทรงยึดถือผิดๆ จึงทรงให้ตีกลองประกาศว่า สูเจ้าทั้งหลายจักต้องปฏิบัติตามพระราชโองการ ในที่ๆ ตนได้เห็นแล้ว เห็นแล้วว่า บรรพชิตทั้งหมดจงหนีไปจากอาณาจักรของเรา บรรพชิตทั้งหมดจึงหนีไปจากแคว้นกาสีที่มีที่ ๓๐ โยชน์ได้พากันไปยังราชธานีอื่นๆ.

               สมณะพราหมณ์ผู้ทรงธรรม แม้คนเดียวที่จะให้โอวาทแก่คนทั้งหลายทั่วแคว้นกาสีก็ไม่มี. คนทั้งหลายที่ไม่ได้รับโอวาท ได้เป็นคนหยาบคาย. คนทั้งหลายที่ปล่อยปละละเลยทานและศีลเป็นต้น ตายไปแล้วโดยมาก ก็เกิดในนรก. ขึ้นชื่อว่าจะเกิดในสวรรค์ไม่มีแล้ว.

               ท้าวสักกะเมื่อไม่ทรงเห็นเทพบุตรใหม่ จึงทรงรำลึกว่า มีเหตุอะไรหนอแล? แล้วก็ทรงทราบว่า พระเจ้าพาราณสีทรงพิโรธเพราะอาศัยวิชาธร ทรงไล่บรรพชิตออกจากแว่นแคว้น เพราะทรงเชื่อถือผิด จึงทรงดำริว่า คนอื่นนอกจากเราที่จะสามารถทำลายความเชื่อถือผิดของพระราชาพระองค์นี้ไม่มี และเราจักเป็นที่พึ่งของพระราชาและราษฎรทั้งหลาย แล้วได้เสด็จไปสำนักพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เงื้อมแห่งภูเขาชื่อว่านันทมูลกะ ทรงไหว้แล้วทูลว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าทั้งหลาย จงให้พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เฒ่าองค์หนึ่งแก่กระผม กระผมจักให้ราษฎรชาวกาสีเลื่อมใส.

               ท้าวเธอได้พระสังฆเถระทีเดียว จึงท้าวเธอทรงรับเอาบาตรและจีวรของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ให้ท่านอยู่ข้างหน้าพระองค์เองอยู่ข้างหลัง ทรงแปลงเพศเป็นมาณพรูปหล่อ วางอัญชลีไว้เหนือเศียร นมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้า เสด็จเที่ยวไปทางเบื้องบนพระนครทั้งหมด ๓ เที่ยว มาถึงประตูพระราชวัง ได้ประทับยืนอยู่บนอากาศ.
               อำมาตย์ทั้งหลายได้กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ มาณพรูปงามคนหนึ่งนำเอาสมณะรูปหนึ่งมา ยืนอยู่บนอากาศตรงประตูพระราชวัง. พระราชาจึงเสด็จลุกจากราชอาสน์ ประทับยืนที่ช่องพระแกล เมื่อทรงเจรจากับด้วยท้าวสักกะนั้นว่า ดูก่อนมาณพ เธอเป็นผู้มีรูปร่างงาม แต่เหตุไฉน จึงยืนถือบาตรและจีวรของสมณะผู้มีรูปร่างขี้เหร่ พลางนมัสการอยู่ดังนี้
 
               ได้ตรัสคาถาที่ ๑ ว่า :-

               เธอผู้มีรูปร่างงาม แต่ให้สมณะรูปร่างขี้เหร่อยู่ข้างหน้า ประคองอัญชลีนมัสการ สมณะรูปนั้นดีกว่าเธอหรือเสมอกันกับเธอ ขอจงบอกทั้งชื่อของตนทั้งชื่อของผู้อื่น คือสมณะ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อริยวณฺณี ได้แก่ รูปร่างสวยงาม. บทว่า เสยฺโย นุ เต โส ความว่า บรรพชิตรูปร่างขี้เหร่รูปนั้นดียิ่งกว่าเธอหรือเสมอกับเธอ. บทว่า ปรสฺสตฺตโน จ ความว่า พระราชาตรัสถามว่า เธอจงบอกชื่อของผู้อื่นนั้นและของตนเถิด.

               ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสกะพระราชานั้นว่า ข้าแต่มหาราช ขึ้นชื่อว่าสมณะทั้งหลายย่อมเป็นผู้ควรเคารพ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ได้เพื่อเรียกชื่อของท่าน แต่ข้าพเจ้าจักบอกชื่อข้าพเจ้าแก่ท่าน
  
               แล้วตรัสคาถาที่ ๒ ว่า :-

               ข้าแต่มหาราช ทวยเทพอุปัตติเทพจะไม่เอ่ยชื่อและโคตรของเทพทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน ผู้ปฏิบัติตรงคือวิสุทธิเทพ แต่ข้าพเจ้าจะบอกชื่อของข้าพเจ้าแก่ท่าน ข้าพเจ้าคือท้าวสักกะผู้เป็นจอมทวยเทพชาวไตรทศ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมคฺคตานุชฺชุคตาน เทวา ความว่า อุปปัตติเทพทั้งหลายจะไม่แตะต้องชื่อและโคตรของพระมหาขีณาสพทั้งหลาย ผู้ชื่อว่าพร้อมเพรียงกันแล้ว เพราะพิจารณาสังขารทั้งมวลด้วยอำนาจแห่งกิจตามความเป็นจริงแล้วบรรลุอรหัตผลที่เป็นผลเลิศ และผู้ชื่อว่าดำเนินไปตรงแล้วเพราะดำเนินไปสู่พระนิพพานด้วยมรรคมีองค์  ที่ตรง ผู้เป็นวิสุทธิเทพยอดเยี่ยมกว่าอุปปัตติเทพทั้งหลาย.
               บทว่า อหญฺ จ เต นามเธยฺยํ ความว่า ก็แต่ว่าข้าพเจ้าจักบอกชื่อของตนแก่ท่าน.

               พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว ได้ทูลถามถึงอานิสงส์การนมัสการภิกษุ ด้วยคาถาที่ ๓ ว่า :-

               ผู้ใดเห็นภิกษุผู้เข้าถึงจรณะ ให้ท่านผู้อยู่ข้างหน้า ประคองอัญชลีนมัสการ ข้าแต่เทวราช ข้าพระองค์ขอถามข้อความนี้กะพระองค์ ผู้นั้นจุติจากโลกนี้ไปแล้ว จะได้รับความสุขอะไร?

               ท้าวสักกะตรัสตอบด้วยคาถาที่ ๔ ว่า :-
 
               ผู้ใดเห็นภิกษุผู้เข้าถึงจรณะ ให้ท่านอยู่ข้างหน้า แม้ประคองอัญชลีนมัสการอยู่ ผู้นั้นจะได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน และจะไปสวรรค์ เพราะร่างกายแตกดับไป.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภิกฺขุได้แก่ บุคคลผู้บริสุทธิ์เพราะทำลายกิเลสได้แล้ว.
               บทว่า จรณูปปนฺนํ ความว่า ผู้เข้าถึงด้วยศีลและจรณะ. บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม ความว่า ไม่ใช่ว่า จุติจากโลกนี้อย่างเดียวเท่านั้นจึงจะไปสวรรค์ ถึงในอัตภาพนี้ เขาก็ได้รับการสรรเสริญ คือประสบความสุขจากการสรรเสริญ.

               พระราชาทรงสดับเทวคาถาเรื่องของท้าวสักกะแล้ว ทำลายการเชื่อถือผิดได้
 
               พอพระราชหฤทัยได้ตรัสคาถาที่ ๕ ว่า :-

               วันนี้บุญได้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์แล้วหนอ ที่ข้าพระองค์ได้พบเห็นพระผู้เป็นเจ้า วาสวะ ข้าแต่ท้าวสักกะ ข้าพระองค์เห็นพระภิกษุ และพระองค์แล้ว จะทำบุญหาน้อยไม่.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลกฺขี คือบุญ ได้แก่มิ่งขวัญ มีคำอธิบายไว้ว่า วันนี้ปัญญาที่รู้วิบากของกุศลและอกุศล เกิดขึ้นแล้วแก่ข้าพระองค์ผู้ฟังพระดำรัสของพระองค์อยู่นั่นแหละ. บทว่า ยํ เป็น เพียงนิบาต. บทว่า ภูตปติมทฺทสํ ความว่า ข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้เป็นเจ้า.

               ท้าวสักกะทรงสดับคำนั้นแล้ว เมื่อจะทรงสดุดีบัณฑิต จึงตรัสคาถาที่ ๖ ว่า :-
 
               ควรคบหาผู้มีปัญญา เป็นพหูสต คิดถึงเหตุการณ์มากมายโดยแน่แท้แล ดูก่อนพระราชา พระองค์เห็นภิกษุและหม่อมฉันแล้ว จงทรงทำบุญหาน้อยไม่.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฐานจินฺติตา ความว่า ผู้สามารถคิดถึงเหตุการณ์ได้มากมาย.

               พระราชาทรงสดับเทวดำรัสนั้นแล้ว จึงตรัสคาถาสุดท้ายว่า :-
 
               ผู้ไม่มักโกรธ มีจิตเลื่อมใสเนืองนิตย์ เป็นผู้ควรแก่การขอของแขกทุกคน ข้าแต่จอมเทพ ข้าพระองค์สดับสุภาษิตแล้ว จักทำลายมานะ กราบไหว้ท่านผู้นั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพาติถียาจโยโค ความว่า บรรดาแขกทั้งหลายคืออาคันตุกะทั้งหลายที่มาแล้วทั้งหมด คนเหล่านั้นขอสิ่งใดๆ เขาก็เป็นผู้เหมาะคือสมควรแก่สิ่งนั้นๆ อธิบายว่า ให้อยู่ทุกสิ่งที่ชนเหล่านั้นขอแล้ว. ขอแล้ว บทว่า สุตฺวาน เทวินฺท สุภาสิตานิ ความว่า พระราชาทูลว่า ข้าพระองค์ฟังสุภาษิตของพระองค์แล้ว จักเป็นคนแบบนี้.

               ก็แหละ พระราชา ครั้นตรัสอย่างนี้ก็เสด็จลงจากปราสาท ทรงไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วได้ประทับยืน ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงนั่งคู้บัลลังก์ที่อากาศ แล้วทรงโอวาทพระราชาว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร วิชาธรนั้นไม่ใช่สมณะ ต่อแต่นี้ไปขอพระองค์จงทรงทราบไว้ว่า โลกไม่ว่างเปล่า ยังมีสมณะพราหมณ์ผู้ทรงศีลอยู่ แล้วทรงอวยทาน ทรงศีล ทรงอุโบสถกรรมเถิด.
               ฝ่ายท้าวสักกะประทับยืนอยู่ที่อากาศด้วยอานุภาพของท้าวสักกะ ประทานโอวาทแก่ทวยนครว่า ต่อแต่นี้ไป สูเจ้าทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด แล้วทรงให้ตีกลองป่าวประกาศว่า
               สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้หนีไปแล้ว จงกลับมา.

               จึงท่านทั้ง ๒ คือท้าวสักกะและพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้เสด็จไปยังที่ของตน.
               พระราชาทรงตั้งอยู่ในเทวโอวาทของท้าวสักกะนั้นแล้วได้ทรงทำบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกไว้ว่า
               พระปัจเจกพุทธเจ้าครั้งนั้น ได้ปรินิพพานแล้ว
               พระราชาได้แก่ พระอานนท์
               ส่วนท้าวสักกะได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.


 

               จบ อรรถกถาบัพพชิตวิเหฐกชาดกที่ ๖





ว่าด้วย คราวที่สุนัขดำกินคน



อรรถกถา มหากัณหชาดก
ว่าด้วย คราวที่สุนัขดำกินคน



               พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภความประพฤติประโยชน์แก่สัตวโลก จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า กณฺโห กณฺโห จ โฆโร จ ดังนี้.

               ความพิสดารมีว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งในธรรมสภาพรรณนาถึงพระคุณของพระทศพล ที่ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่สัตวโลกว่า
 
               ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระศาสดาทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นจำนวนมาก ทรงละความผาสุกส่วนพระองค์เสีย ทรงประพฤติประโยชน์แก่สัตวโลกโดยส่วนเดียว จำเดิมแต่บรรลุพระปรมาภิสัมโพธิญาณแล้ว ทรงถือบาตรจีวรด้วยพระองค์เอง เสด็จพุทธดำเนินทางสิบแปดโยชน์ ทรงแสดงธรรมจักรแก่พระเถระปัญจวัคคีย์ ในดิถีที่  แห่งปักษ์ ตรัสอนัตตลักขณสูตร ประทานพระอรหัตแก่พระเถระปัญจวัคคีย์ทั้งหมด
               แล้วเสด็จไปอุรุเวลาประเทศ ทรงแสดงพระปาฏิหาริย์สามพันห้าร้อยแก่ชฎิลสามพี่น้อง ให้บรรพชาแล้วพาไปคยาสีสประเทศ ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร ประทานพระอรหัตแก่ชฎิลพันหนึ่ง
               เสด็จไปต้อนรับพระมหากัสสประยะทางสามคาวุต ประทานอุปสมบทด้วยโอวาทสามข้อ
 
               ครั้งหนึ่ง เวลาปัจฉาภัตร เสด็จแต่พระองค์เดียวล่วงมรรคาสิบห้าโยชน์ ให้ปุกกุสาติกุลบุตรตั้งอยู่ในอนาคามิผล เสด็จไปต้อนรับมหากัปปินะ ระยะทางยี่สิบโยชน์ ประทานพระอรหัต
 
               ครั้งหนึ่งเวลาปัจฉาภัตร เสด็จแต่พระองค์เดียวล่วงมรรคาสามสิบโยชน์ ให้พระองคุลีมาลซึ่งเป็นคนหยาบช้าตั้งอยู่ในพระอรหัต ครั้งหนึ่งเสด็จล่วงมรรคาสามสิบโยชน์ โปรดอาฬวกยักษ์ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ทรงกระทำความสวัสดีแก่กุมารที่จะเป็นอาหารยักษ์
 
               ครั้งหนึ่งเสด็จจำพรรษาในดาวดึงส์พิภพ ให้เทวดาแปดสิบโกฏิบรรลุธรรมาภิสมัย แล้วเสด็จไปพรหมโลก ทำลายทิฏฐิของพวกพรหม ประทานพระอรหัตแก่พวกพรหมหมื่นหนึ่ง เสด็จจาริกไปสามมณฑลตามลำดับปี ประทานสรณะและศีลแก่พวกมนุษย์ที่มีอุปนิสัยสมบูรณ์ ทรงประพฤติประโยชน์มีประการต่างๆ แม้แก่นาคและสุบรรณเป็นต้น.

               พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตบรรลุอภิสัมโพธิญาณแล้วประพฤติเป็นประโยชน์แก่สัตวโลกในบัดนี้ ไม่น่าอัศจรรย์ แม้ในกาลก่อนเมื่อตถาคตยังมีกิเลสมีราคะเป็นต้น ก็ได้ประพฤติเป็นประโยชน์แก่สัตวโลกมาแล้วเหมือนกัน ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.

               ในอดีตกาล ครั้งพระศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเจ้าอุสสินนรราชเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี เมื่อพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าเปลื้องมหาชนให้พ้นจากเครื่องผูกพันคือกิเลส ด้วยจตุราริยสัจเทศนา ทำพระนครคือพระนิพพานให้เต็มแล้วเสด็จปรินิพพาน

               ครั้นกาลล่วงมานาน ศาสนาก็เสื่อม ภิกษุทั้งหลายเลี้ยงชีพด้วยการแสวงหาไม่สมควร ทำการเกี่ยวข้องกับพวกภิกษุณีจนมีบุตรธิดา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและพราหมณ์ ต่างละธรรมของตนเสียสิ้น โดยมากพวกมนุษย์ประพฤติอกุศลกรรมบถสิบ ผู้ที่ตายไปๆ จึงไปอัดแน่นกันอยู่ในอบาย.

               ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชไม่เห็นเทวบุตรใหม่ๆ จึงตรวจดูมนุษยโลก ก็ทรงทราบว่า พวกมนุษยโลกไปเกิดในอบาย ทรงเล็งเห็นความที่ศาสนาของพระศาสดาเสื่อมโทรม ทรงดำริว่า จักทำอย่างไรดีหนอ ทรงเห็นอุบายมีอยู่อย่างหนึ่ง จึงตกลงพระทัยว่า เราจักต้องทำให้มหาชนกลัว สะดุ้งหวาดเสียว แล้วค่อยปลอบโยนแสดงธรรม ยกย่องพระศาสนาที่เสื่อมแล้วให้ถาวรต่อไปได้อีกพันปี รับสั่งให้มาตลีเทพบุตรแปลงเพศเป็นสุนัขดำใหญ่เท่าม้าอาชาไนย มีรูปร่างดุร้าย มีเขี้ยวโตเท่าผลกล้วย มีรัศมีร้อนเป็นไฟ พลุ่งออกจากเขี้ยวทั้งสี่ รูปพิลึกน่าสะพรึงกลัว หญิงมีครรภ์เห็นเข้าอาจแท้งลูก มีเชือกผูกอยู่ห้าแห่งคือที่เท้าทั้งสี่และที่คอ บนศีรษะประดับพวงดอกไม้แดง
 
               ท้าวสักกะแปลงเพศเป็นนายพรานป่า นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด มุ่นผมข้างหน้าไว้ข้างหลังแล้วประดับพวงดอกไม้แดง มือขวาถือปลายเชือกที่ผูกสุนัข มือซ้ายถือธนูใหญ่มีสายมีสีดังแก้วประพาฬ กวัดแกว่งวชิราวุธด้วยพระนขา เหาะลงในที่ห่างพระนครโยชน์หนึ่ง ส่งเสียงขึ้นสามครั้งว่า มนุษย์ผู้เจริญทั้งหลาย โลกจักพินาศทำให้มนุษย์ทั้งหลายหวาดเสียว แล้วไปชานพระนครส่งเสียงขึ้นอีก
 
               พวกมนุษย์เห็นสุนัขนั้นก็หวาดเสียวพากันเข้าพระนคร กราบทูลความเป็นไปให้พระราชาทรงทราบ พระราชารับสั่งให้ปิดพระนครโดยด่วน ท้าวสักกะได้โดดข้ามกำแพงสูงสิบแปดศอก เข้าไปข้างในพระนครพร้อมกับสุนัข พวกมนุษย์กลัวสะดุ้งหวาดเสียว ต่างก็หนีเข้าเรือนปิดประตู ฝ่ายสุนัขดำใหญ่ก็วิ่งไล่พวกมนุษย์ที่ตนได้เห็น ทำให้พวกมนุษย์หวาดเสียวไปพระราชนิเวศน์.
 
               พวกมนุษย์ที่พระลานหลวงพากันหนีไปด้วยความกลัวเข้าพระราชนิเวศน์แล้วปิดพระทวาร แม้พระเจ้าอุสสินนรราชก็พานางสนมทั้งหลายขึ้นปราสาท สุนัขดำใหญ่ยกเท้าหน้าขึ้นเกาะบานประตูแล้วเห่าลั่น เสียงที่สุนัขเห่าดังสนั่นเบื้องล่างถึงอเวจี เบื้องบนถึงภวัครพรหม สกลจักรวาลสะเทือนทั่วถึงกันหมด
 
               เสียงดังเช่นนี้ได้มีในชมพูทวีปสามครั้ง คือ
                 เสียงของพระเจ้าปุณณกราช ใน ปุณณกชาดก ครั้งหนึ่ง
                 เสียงของพระยาสุทัศนนาคราช ใน ภูริทัตชาดก ครั้งหนึ่ง และ
                 เสียงในมหากัณหชาดกนี้ครั้งหนึ่ง
 
               ชาวพระนครพากันกลัวสะดุ้งหวาดเสียว แม้บุรุษคนหนึ่งก็ไม่อาจมาเจรจากับท้าวสักกะได้.
 
               พระราชาเท่านั้นดำรงพระสติไว้มั่นคง เยี่ยมพระแกล เรียกท้าวสักกะมาตรัสว่า ดูก่อนนายพรานผู้เจริญ สุนัขของท่านเห่าเพื่ออะไร.
               ท้าวสักกะตอบว่า เห่าด้วยความหิว
               พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น เราจักให้ข้าวแก่สุนัข แล้วรับสั่งให้ให้ข้าวที่หุงไว้สำหรับคนในราชสำนักและสำหรับพระองค์ทั้งหมด สุนัขได้ทำข้าวทั้งหมดนั้นเหมือนกะเป็นข้าวคำเดียว แล้วก็เห่าขึ้นอีก
               พระราชาตรัสถามอีก ทรงสดับว่า บัดนี้สุนัขของเรายังหิวอยู่ จึงรับสั่งให้นำอาหารที่หุงไว้สำหรับช้างม้าเป็นต้นทั้งหมดมาให้ สุนัขได้กินคำเดียวหมดเหมือนกัน รับสั่งให้ให้อาหารที่หุงไว้สำหรับพระนครทั้งสิ้น สุนัขได้กินอาหารนั้นโดยทำนองนั้นแหละ แล้วก็เห่าขึ้นอีก
               พระราชาทรงตกพระทัยสะดุ้งกลัว ทรงดำริว่า นี่เห็นจะไม่ใช่มนุษย์ ต้องเป็นยักษ์โดยไม่ต้องสงสัย เราจะถามเหตุที่มาของนายพรานนี้
 
               เมื่อจะตรัสถามได้ตรัสคาถาที่ ๑ ว่า

               ดูก่อนท่านผู้มีความเพียร สุนัขตัวนี้ดำจริง ดุร้าย มีเขี้ยวขาว มีความร้อนพุ่งออกจากเขี้ยว ท่านผูกไว้ด้วยเชือกถึง ๕ เส้น สุนัขของท่านจะทำอะไร.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กณฺโห กณฺโห ความว่า เปล่งเสียงซ้ำด้วยอำนาจความกลัว หรือด้วยอำนาจกรรมอันมั่น. บทว่า โฆโร ได้แก่ ให้เกิดความกลัวแก่ผู้ได้พบเห็น. บทว่า ปตาปวา ความว่า มีแสงร้อน ด้วยความร้อนแห่งรัศมีที่พลุ่งออกมาจากเขี้ยวทั้งหลาย. บทว่า กึ วีร ความว่า พระราชาตรัสอย่างนั้นด้วยทรงพระประสงค์ว่า ดูก่อนท่านผู้มีความเพียร สุนัขตัวดุร้ายของท่านเห็นปานนี้นั้น ทำอะไร มันจับมฤคกินหรือจับอมิตรให้ท่าน ท่านจะประโยชน์อะไรด้วยสุนัขตัวนี้ จงปล่อยมันไปเถิด.

               ท้าวสักกะได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า
 
               ดูก่อนพระเจ้าอุสินนระ สุนัขนี้มิได้มาเพื่อต้องการกินเนื้อ แต่เพื่อจะกินมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อใดจักมีมนุษย์ทำความพินาศให้แก่มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อนั้นสุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินมนุษย์.

               คำอันเป็นคาถานั้นมีอธิบายว่า ก็สุนัขตัวนี้มิได้มาในที่นี้ด้วยหวังว่า จะกินเนื้อมฤค เพราะฉะนั้นจะไม่มีประโยชน์สำหรับพวกมฤค แต่มาเพื่อจะกินเนื้อมนุษย์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะทำความฉิบหายความพินาศให้แก่มนุษย์เหล่านั้น เมื่อใด ผู้นั้นทำพวกมนุษย์ให้ถึงความพินาศ เมื่อนั้น สุนัขดำนี้ย่อมหลุด คือจักหลุดจากมือของเราไปกินผู้นั้น.

               ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามท้าวสักกะว่า ดูก่อนนายพรานผู้เจริญ สุนัขดำของท่านจักกินเนื้อมนุษย์ทุกคน หรือว่าจักกินแต่ผู้ที่มิใช่มิตรของท่านเท่านั้น
               ท้าวสักกะตอบว่า ดูก่อนพระราชาผู้ใหญ่ สุนัขจักกินเนื้อมนุษย์ที่มิใช่มิตรของเราเท่านั้น.
               คนเช่นไร ที่มิใช่มิตรของท่านในที่นี้.
               คนที่ไม่ยินดีในธรรม มีความประพฤติไม่เรียบร้อย ชื่อว่าผู้มิใช่มิตร.
               ขอท่านจงกล่าวลักษณะคนเหล่านั้นให้เราทราบก่อน.
 
               ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะตรัสบอกแก่พระราชา ได้ตรัสพระคาถาสิบคาถาว่า

               ผู้ที่ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะมีบาตรในมือ มีศีรษะโล้น คลุมผ้าสังฆาฏิ ทำไร่ไถนาเลี้ยงชีพ คนเหล่านี้เป็นคนทุศีล มิใช่มิตรของเรา สุนัขของเราจักฆ่ากินเนื้อได้เมื่อใด สุนัขดำจะหลุดจากเชือกห้าเส้นไป เมื่อนั้น.

               เมื่อใด จักมีหญิงผู้ปฏิญาณตนว่ามีตบะ บวชมีศีรษะโล้น คลุมผ้าสังฆาฏิ เที่ยวบริโภคกามคุณอยู่ เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินหญิงเหล่านั้น.

               เมื่อใด ชฎิลทั้งหลายมีหนวดอันยาว มีฟันเขลอะ มีศีรษะเกลือกกลั้วด้วยธุลีเที่ยวภิกขาจาร รวมทรัพย์ไว้ให้กู้ ชื่นชมยินดีด้วยดอกเบี้ยเลี้ยงชีพ เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินชฎิลเหล่านั้น.

               เมื่อใด พราหมณ์ทั้งหลายเรียนเวทคือสาวิตติศาสตร์ ยัญญวิธีและยัญญสูตร แล้วรับจ้างบูชายัญ เมื่อนั้น สุนัขดำเหล่านี้จะหลุดไปกินพราหมณ์เหล่านั้น.

               เมื่อใด ผู้มีกำลังสามารถจะเลี้ยงดูมารดาบิดาได้ แต่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าชรา เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินคนเหล่านั้น.

               อนึ่ง เมื่อใด ชนทั้งหลายจักกล่าวดูหมิ่นมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าชราว่า เป็นคนโง่เง่า เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินคนเหล่านั้น.

               อนึ่ง เมื่อใด คนในโลกจะคบหาภรรยาของอาจารย์ ภรรยาเพื่อน ป้าและน้าเป็นภรรยา เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินคนเหล่านั้น.

               เมื่อใด พวกพราหมณ์จักถือโล่และดาบ คอยดักอยู่ที่ทางฆ่าคนชิงเอาทรัพย์ เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินพราหมณ์เหล่านั้น.

               เมื่อใด นักเลงหญิงทั้งหลาย ขัดสีผิวกายบำรุงร่างกายให้อ้วนพี ไม่รู้จักหาทรัพย์ ร่วมสังวาสกับหญิงหม้ายที่มีทรัพย์ ครั้นใช้สอยทรัพย์ของหญิงหม้ายนั้นหมดแล้ว ก็ทำลายมิตรภาพไปหาหญิงอื่นต่อไป เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินนักเลงหญิงเหล่านั้น.

               เมื่อใด คนผู้มีมารยา ปกปิดโทษตน เปิดเผยโทษผู้อื่น คิดให้ทุกข์ผู้อื่น มีความคิดอย่างอสัตบุรุษอยู่ในโลก เมื่อนั้น สุนัขดำจะหลุดพ้นจากเชือก ๕ เส้นไปกินคนเหล่านั้นทั้งหมด.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมณกา ความว่า ท้าวสักกเทวราชตรัสอย่างนี้โดยโวหารว่าละอายเพียงปฏิญาณตนว่า เราเป็นสมณะ. บทว่า กสิสฺสนฺติ ความว่า คนเหล่านั้นย่อมทำไร่ไถนาเลี้ยงชีพอย่างเดียว แม้ในเวลานั้น ก็ท้าวสักกะทำเป็นเหมือนไม่รู้จึงกล่าวอย่างนี้. จริงอยู่ ท่านมีประสงค์ดังนี้ว่า คนเหล่านี้ คือเห็นปานนี้ เป็นคนทุศีล ไม่ใช่เป็นมิตรของเรา เมื่อใด สุนัขของเราจักฆ่ากินเนื้อคนเหล่านี้ เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้ ย่อมหลุดพ้นจากเชือก ๕ เส้นนี้.

               ด้วยอุบายนี้ พึงทราบประกอบอธิบายในคาถาทั้งปวง.

               บทว่า ปพฺพชิตา ได้แก่ เป็นผู้บวชในพระพุทธศาสนา. บทว่า คมิสฺสนฺติ ความว่า เที่ยวบริโภคกามคุณ ๕ ในท่ามกลางเรือน. บทว่า ทีฆุตฺตโรฏฺฐา ความว่า ชื่อว่า มีริมฝีปากสูงยาว เพราะมีเขี้ยวโต. บทว่า ปงฺกทนฺตา ได้แก่ ฟันประกอบด้วยมลทินดังเปือกตม. บทว่า อิณํ โมทาย ความว่า รวบรวมทรัพย์ด้วยภิกขาจารประกอบหนี้ด้วยความเจริญ ยินดีการทำเช่นนั้น เลี้ยงชีพด้วยทรัพย์ที่ได้มาจากภิกขาจารนั้นไปในกาลใด. บทว่า สาวิตฺตึ ได้แก่เรียนเวทคือสาวัตติศาสตร์. บทว่า ย
ํ ตตฺรฺจ ได้แก่ เรียนยัญญวิธี และยัญญสูตรในที่นั้น. บทว่า ภติกาย ความว่า พวกพราหมณ์เหล่านั้นเข้าไปหาพระราชาและราชมหาอำมาตย์ แล้วบูชายัญเพื่อต้องการค่าจ้างอย่างนี้ว่า เราจักบูชายัญเพื่อท่าน ท่านจงให้ทรัพย์แก่เรา. บทว่า ปหุสนฺตา ความว่า เป็นผู้สามารถเพื่อพอกเลี้ยง.

               บทว่า พาลา ตุมฺเห ความว่า คนพาลทั้งหลายกล่าวคำเป็นต้นว่า ท่านทั้งหลายไม่รู้อะไร. บทว่า คมิสฺสนฺติ ความว่า จักไปด้วยอำนาจการเสพโมกขธรรม. บทว่า ปนฺถฆาฏํ ความว่า ยืนอยู่ในทางเปลี่ยว แล้วปล้นฆ่าพวกมนุษย์ ยึดเอาสิ่งของๆ พวกมนุษย์เหล่านั้น. บทว่า สุกฺกจฺฉวี ความว่า นักเลงหญิงทั้งหลายตบแต่งด้วยการขัดสีด้วยจุณน้ำฝาดเป็นต้น มีผิวพรรณขาว. ในบทว่า เวธเวรา ที่ชื่อว่านักเลงหญิงเพราะอรรถว่าประพฤติเป็นเวรกับหญิงหม้าย คือหญิงผัวตายเหล่านั้น. บทว่า ถูลพาหุ ความว่า มีร่างกายอ้วนพีด้วยการบำรุงร่างกายเป็นต้น มีการนวดขยำเท้าเป็นต้น. บทว่า อปาตุภา ความว่า เพราะไม่ปรากฏ คือเพราะไม่ทำทรัพย์ให้เกิด.

               บทว่า มิตฺตเภทํ แปลว่า ทำลายมิตร. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน. ท่านกล่าวอธิบายคำนี้ไว้ว่า เมื่อใดนักเลงหญิงเห็นปานนี้คิดว่า หญิงเหล่านี้จักไม่ละพวกเรา จึงเข้าไปหาหญิงหม้ายผู้มีเงินร่วมสังวาสกัน เคี้ยวกินทรัพย์ของหญิงเหล่านั้น จักทำลายมิตรกับหญิงเหล่านั้น ทำลายความคุ้นเคยไปหาหญิงอื่นผู้มีทรัพย์ เมื่อนั้น สุนัขดำนี้จะหลุดไปกินคนเหล่านั้นทั้งหมด ซึ่งเป็นโจร.

               บทว่า อสปฺปุริสจินฺติกา ความว่า มีปกติคิดอย่างอสัตบุรุษ คือคิดทำร้ายผู้อื่น.

               เมื่อนั้น สุนัขดำหลุดออก ฆ่าพวกเหล่านั้นหมด กัดกินเนื้อแล.

               ก็แหละครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะได้ตรัสว่า ดูก่อนมหาราช คนเหล่านี้ไม่ใช่มิตรของเรา แล้วทรงแสดงสุนัขทำเป็นอยากจะวิ่งไปกัดพวกอธรรมนั้นๆ ขณะนั้น มหาชนมีจิตหวาดกลัว ท้าวสักกะทำเป็นฉุดเชือกรั้งสุนัขไว้ แล้วละเพศนายพราน เหาะขึ้นไปในอากาศดังดวงอาทิตย์แรกขึ้น รุ่งเรืองอยู่ด้วยอานุภาพของพระองค์ แล้วตรัสว่า
               ดูก่อนมหาราช เราคือท้าวสักกเทวราช มาด้วยเห็นว่าโลกนี้จักพินาศ เพราะเดี๋ยวนี้ มหาชนพากันประมาทประพฤติอธรรม ตายไปๆ แออัดอยู่ในอบาย เทวโลกดุจว่างเปล่า ตั้งแต่นี้ไป เราจักรู้สิ่งที่ควรทำสำหรับผู้ไม่ประพฤติธรรม ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิดพระมหาราช
               แล้วทรงแสดงธรรมด้วยพระคาถาที่มีค่าตั้งร้อยสี่พระคาถาให้มนุษย์ทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรมและศีล ทำพระศาสนาที่เสื่อมโทรมให้สามารถเป็นไปได้อีกพันปี แล้วพามาตลีเสด็จไปยังพิมานของพระองค์.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดง แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราประพฤติประโยชน์แก่โลก แม้ในกาลก่อนอย่างนี้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า
               มาตลีเทพบุตรในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอานนท์
               ส่วนท้าวสักกะได้มาเป็น เราตถาคต แล.

 

               จบอรรถกถามหากัณหชาดกที่ ๖