นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

บทความธรรมะ

Wednesday, January 26, 2011

อ้อม-สุนิสา เปลี่ยนชีวิตไม่เหมือนพลิกฝ่ามือ

 

อ้อม-สุนิสา เปลี่ยนชีวิตไม่เหมือนพลิกฝ่ามือ

มันก็เลยกลายเป็นเรื่องชวนคิ้วขมวด เมื่ออ้อมตัดสินใจโกนผมห่มผ้าขาวบวชชีรักษาศีลที่เสถียรธรรมสถานนานนับเดือน และยากจะหุบปากมิเอ่ยถามว่า อ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์ วานนี้ กับวันนี้เปลี่ยนไปอย่างไร นี่คือบทสนทนากับเวลาเพียงครู่ยามที่ "กายใจ" ได้รู้จัก และสัมผัสกับความคิดของเธอ




 - คุณมองเรื่องการบวชของผู้หญิงอย่างไร


 ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้หญิงจะบวช แต่อาจไม่ค่อยเห็นกัน ต่างจากการบวชพระที่เป็นเรื่องของความเชื่อความศรัทธาที่เกิดขึ้นมานาน เหมือนประเพณีบางอย่าง เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมายาวนานแล้ว อย่างที่เราได้เรียนรู้ว่า ผู้สืบสานธรรมะของพระพุทธองค์ที่เขาเรียกว่าอุบาสก อุบาสิกา ก็เหมือนกัน ชีก็เหมือนกับอุบาสิกา เพียงแต่รูปแบบของการถือศีล หรือการแต่งตัวแตกต่างกัน ถือศีลน้อยกว่าพระ แต่กรณีของอ้อมบวช อ้อมถือศีลเท่ากับเณร




 - คิดมาก่อนหรือเปล่าว่าจะบวชชี


 คิดค่ะ คิดมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ทำ อ้อมเชื่อว่า เรื่องของการบวช มันคือเรื่องของการตัด ตัดใจ ตัดทิ้ง ตัดแล้วก็วางในสิ่งที่คุณยึดถืออยู่ในปัจจุบันในฐานะฆราวาส เพื่อไปสู่อีกสถานภาพหนึ่ง ตัดแล้วซึ่งการเป็นฆราวาส




 - แต่ดูเหมือนว่า คุณปุบปับออกบวชเลย


 ความจริงบวชเมื่อไรก็ได้นะคะ บวชเมื่อไรก็ได้ แต่ตัดได้เมื่อไรมากกว่า อ้อมเชื่อว่าหลายคนพร้อมบวช ทุกคนพร้อม แต่พอถึงขั้นต่อมา แล้วตัดได้หรือยัง ตัดเพื่อที่จะบวชได้หรือยัง พร้อมส่วนพร้อม แต่ถ้าพร้อมจริงต้องตัดแล้วไปเลย
 ตัดในความหมายของอ้อม คือตัดทิ้งทุกอย่างที่อยู่กับเราทั้งหมด ทุกอย่างที่ข้างตัวเรา สิ่งที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันเพื่อจะก้าวไปสู่อีกสถานภาพหนึ่ง แต่ไม่ได้แปลว่าการตัดครั้งนี้เป็นการตัดที่ยิ่งใหญ่ มันเป็นการตัดแค่ช่วงหนึ่งสำหรับคนบวชระยะสั้นอย่างอ้อม เป็นการแค่ลองตัดช่วงหนึ่ง ซึ่งถือเป็นขั้นของผู้เริ่มต้นมาก เพราะคนที่บวชตลอดชีวิต เขาต้องคิดแล้วว่า ต้องตัดทิ้งทั้งหมด




 - จำเป็นไหมว่า ถ้าต้องการตัด ก็ต้องออกบวช


 เราต้องแยกก่อน คนบางคนไม่ได้ถือบวช ไม่ได้ถือศีลมากมายหลายข้อ แต่ถือศีล 5 ครบ ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี มีสัมมาทิฐิ สัมมาวาจา ไม่ทำร้ายจิตใจใคร ทุกอย่างอยู่ในครรลองของการทำดีประพฤติดี ตั้งใจมั่นในการถือศีล คนนั้นอาจเป็นคนที่บรรลุ  หรือเข้าใจหลักธรรมได้ดีกว่าก็ได้
 การถือบวชชี หรืออยู่ในโลกฆราวาสก็ตาม สามารถรักษาศีลได้อยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องยอมรับในความต่าง โลกภายนอกมันอาจทำให้เราวุ่นวาย พร้อมให้เราผิดพลาดผิดศีลได้ง่าย แต่พอเป็นนักบวชจะมีวินัย หรือเรื่องราวต่างๆ อีกรูปแบบหนึ่ง ถูกฝึกสอนในอีกแบบหนึ่ง เรื่องราวที่พูดสนทนากันก็เป็นอีกแบบ
 การอยู่ในเพศนักบวช เราไม่พูดเพ้อเจ้อ เราไม่ส่งจิตออกนอก มันก็อยู่กับตัวเองค่อนข้างเยอะ ใช่ไหมคะ สิ่งที่คุยกันมันเป็นเรื่องของชีวิตตรงนั้น หลักธรรมะที่เรียน หรือการสวดมนต์ มีเวลาไปปฏิบัตินั่งสมาธิ ต้องยอมรับว่า มันอาจเป็นหนทางลัดไปสู่นิพพาน หรือการบรรลุ เพราะเรื่องอื่นที่มาประกอบกันมันอาจไม่เหมือนกับทางโลก




 - ถ้าอย่างนั้น หัวใจของการออกบวชของอ้อม คืออะไร


 สำหรับอ้อม บางคนอาจสับสวิตช์โดยไม่ต้องบวช แต่อาจสะพายเป้ไปเที่ยว อย่างน้อยเขาก็ได้อยู่กับตัวเองเหมือนกัน มันไม่แปลก มันอยู่ที่วิถีและวิธี ถ้าเขาได้อยู่กับตัวเอง ใจเขานิ่ง เขาได้เรียนรู้ตัวเอง อันนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่เป้าหมายมันอาจต่างกัน การได้อยู่กับตัวเองโดยมีธรรมะเป็นเครื่องนำพา และไปศึกษาพระธรรม เพื่อดูใจตัวเองให้วันหนึ่งไปถึงจุดหมายวันนั้น มันอาจจะแตกต่างกันตรงนี้




 - คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าที่บวชชีเพราะต้องการเปลี่ยนตัวเอง อะไรที่อยากเปลี่ยน และเปลี่ยนได้ไหม


 อ้อมว่าคนเราหากอยากเปลี่ยนตัวเอง ต้องเปลี่ยนในสิ่งไม่ดี ในเรื่องที่ทำให้คนอื่นเสียใจ กระทบ หรือตัวเราเองรู้ว่ามันเป็นอนุสัยที่ไม่ดี เราก็อยากเปลี่ยน บางทีคนเราอาจต้องหาตัวเองให้เจอว่า "จริงๆ แล้วเราเป็นคนยังไง จริงๆ แล้วเราเป็นคนแบบไหน"
 เคยมีพระท่านหนึ่ง ถามอ้อมว่า "จริงๆ แล้วอ้อมเป็นคนแบบไหน" ให้เราพิจารณาดูตัวเอง แล้วท่านก็พูดว่า "คนบางคนทั้งชีวิตยังไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน" พออ้อมตอบกลับไปว่า "อ้อมเป็นคนอารมณ์ร้อน" ท่านก็บอกว่า "นั่นไม่ใช่คำตอบ"
 ในมุมของอ้อม ถ้าเราทันอารมณ์เรา และมองไปเรื่อยๆ เราจะรู้ว่าเราเป็นคนแบบนั้นแบบนี้ มันจะค่อยๆ ออกมา อาจจะยังไม่เห็น หรืออาจจะเห็น  ทุกวันนี้อ้อมยังต้องค่อยๆ ดูไปว่าเราเป็นคนแบบไหน ถ้าเราเจอมันเราอาจใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น




 - จำเป็นต้องนิ่งไหมเพื่อค้นหาตัวเอง


 บางครั้งการเกิดปัญญามันต้องมาพร้อมกับปัญหาก็ได้ อยู่ที่ว่าเราเลือกเรียนรู้ปัญหาจากมุมไหน ถ้าเราจมอยู่กับปัญหา และเราคิดว่ามันเป็นปัญหาแล้วโทษคนอื่น ตีอกชกตัว ไม่ให้เวลาทำให้ทุกอย่างคลี่คลายและใช้ปัญญามอง หรือไม่มองมันให้เกิดปัญญา ไม่มองด้วยปัญญา ก็อาจจะไม่รู้จักตัวเอง




 - ระหว่างที่บวชอยู่เสถียรธรรมสถาน อะไรที่คุณรู้สึกว่าขัดเกลาตัวเองได้ยากที่สุด 


 ใจค่ะ ใจ กับความคิด อ้อมว่า คนเราจะดีหรือไม่ดีมันอยู่ที่คิดอยู่ที่ใจ มีความสุขไม่มีความสุขอยู่ที่คิดอยู่ที่ใจ ที่สำคัญที่สุดต้องมีสติเป็นตัวรู้ มีสติก็ต้องรู้ทัน และอะไรทำให้สติเราเกิด มันก็ต้องตั้งใจดู เดือนเดียวมันไม่ทำให้คนเปลี่ยนได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ เราเป็นอย่างนี้มาตั้งนาน เหมือนถ้าเราพลิกฝ่ามือมันง่ายใช่ไหมคะ แต่ถ้าเราค่อยๆ พลิก
เปรียบเสมือนกับว่า มือเราหงายมาแบบนี้ 35 ปี เราจะเปลี่ยนให้มันคว่ำ ถ้าใช้เวลา 35 ปีในการหงาย แสดงว่าสัดส่วนของการที่มันจะหงายได้ มันต้องช้ามาก มันคงต้องค่อยๆ พลิก อย่างน้อยเราได้เรียนรู้แล้วว่า เราต้องพลิกมัน อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ดีกว่าเราไม่ได้เริ่มเลย




 - พอเราเดินออกจากทางธรรมแล้ว กลัวไหมว่าคนจะคาดหวังสูง


 มีคนคาดหวังเยอะ แรกๆ มีกลัวด้วย คือกังวลว่าไม่อยากให้คนคาดหวังว่าจะต้องดี จะต้องเปลี่ยน จะต้องนั่นนี่ กลัวไปว่าเขาจะไปโทษว่าธรรมะไม่ได้ช่วยขัดเกลา พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนอะไร ขณะที่คิดอย่างนั้นล่ะคะ บางอย่างก็สอนให้เรารู้ว่า เรากำลังกังวลกับอนาคตจนเกินไป ทุกข์เราก็เกิด
เพราะฉะนั้นเราก็อยู่กับปัจจุบันดีกว่า เราไปห้ามใจคนไม่ได้ เหมือนที่พระท่าน ครูบาอาจารย์ท่านสอน มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีคนสรรเสริญก็ต้องมีคนนินทา มีคนเข้าใจเราก็อาจมีคนไม่เข้าใจเรา เราห้ามใจเขาไม่ได้ ที่สำคัญคือใจเรามากกว่า




 - แล้วตั้งรับกับมันอย่างไร


 เราก็ทำให้เต็มที่ และยิ่งถ้าเรารู้สึกว่า เราไม่อยากให้เสื่อมเสีย มันก็เป็นตัวเตือนสติเราให้ทำกิริยาให้ดี ทั้งหมดทั้งสิ้นมันต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เราเป็นคนปกติ รักโลภ โกรธ หลง ก็ยังคงอยู่ ไหนจะนิสัยที่มันฝังรากอยู่มันก็ไม่ใช่ว่าน้อย ต้องยอมรับ เข้าวงการมาตั้งแต่อายุ 14 เรายังต้องกลับมาอยู่กับเรื่องเดิมๆ ความเร็วเดิมๆ
 บางครั้งความเร็วที่มันเดิมๆ เราอาจจะต้องเดินให้มันช้าลงเพื่อจะได้เห็นชัดขึ้น มันก็ถึงจุดหมายเหมือนกันมั้ง? แต่เมื่อเราเดินช้า เดินสบายตัว เราอาจจะมีจังหวะเดินได้เร็วขึ้นอีก และเร็วมากก็ได้ ทุกอย่างอ้อมว่ามันอาศัยจังหวะนะคะ มันไม่ได้บอกว่าต้องเดินช้าและถูก เดินเร็วแล้วไม่ถูก หรือเดินเร็วแล้วถูก เดินช้าผิด อ้อมว่า ศิลปะในการใช้ชีวิต มันคือรู้ว่าจังหวะไหนควรทำอะไร อย่างไร




 - อ้อมมีแม่เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ แต่วิธีคิดเลขของอ้อมกับของแม่ต่างกัน


 คุณแม่มีวิธีคิดที่เป็นขั้นเป็นตอนกว่า อ้อมมีวิธีคิดแบบอ้อมเอง คิดในใจ และเร็วกว่า แต่ผลออกมาเหมือนกันคือทำเลขถูก
 วิธีการทำเลขของแม่กับอ้อมต่างกัน ความที่แม่เป็นครู การทำเลขของแม่ต้องทำเลขให้ถูกต้อง แต่สำหรับอ้อมซึ่งเป็นนักเรียน และต้องทำแข่งกับโจทย์ และทำโจทย์ให้แข่งกับเวลา เพราะฉะนั้นอ้อมจะเอาความถูกต้อง วิธีทำช่างมันเพราะมีวิธีคิดของอ้อมเอง แต่นำพามาซึ่งคำตอบได้เหมือนกัน
ข้อที่แม่สอน คือการที่ทำวิธีถูก และจดไว้เป็นระบบระเบียบ สิ่งที่ได้คือ ถ้าคำตอบนั้นผิด หรือเรามีเวลาทวนคำตอบ เราจะรู้เลยว่า ข้อผิดของเราอยู่ตรงไหน กระทั่งการทดเลขต้องเขียนให้ชัด บางอย่างที่เราทำด้วยความเคยชิน เราจะไม่รู้เลยว่าเราผิดพลาดตรงไหน




 - แล้วมันใช้กับชีวิตปัจจุบันได้ไหม


 ใช้ได้ค่ะ ใช้ได้ คือทุกเรื่อง มันขึ้นอยู่กับว่าเราประยุกต์ใช้กับชีวิตแบบไหน มันจะทำให้เรารู้เลยว่า เราสามารถมองย้อนไปเป็นสเต็ปได้




  - อ้อมใช้ชีวิตมีแบบแผนแค่ไหน


 บางเรื่องอ้อมก็ปล่อยมันไป เราก็ต้องยอมรับว่าเราไม่ใช่คนที่วางแผนชีวิตดีตลอดเวลาได้ทุกเรื่อง ครบทุกอย่าง บางทีก็ปล่อยมันเป็นไปตามวาระของมัน เพียงแต่ว่าเวลาเราทำงานเราจะวางแผนว่า วันนี้เราจะทำเรื่องนี้ จัดรายการวิทยุ 4 ชั่วโมง หรือ 3 ชั่วโมงครึ่ง เราจะพูดเรื่องนี้โดยประมาณ ทำการบ้านมาตอนกลางคืน จะโยงไว้ก่อนว่าจากเรื่องนี้จะพูดเรื่องนี้ หรือบางทีอาจจะรู้คร่าวๆ ว่า จะจบเรื่องตรงไหน
 มีเป้าหมาย แล้วกำหนดให้ไปถึง ไม่ต้องให้ยาวมาก อะไรที่เตรียมยาวมากมันอาจจะกระท่อนกระแท่นก็ได้




 - ถ้าตอนอายุ 14 ปี ไม่มีใครดึงเข้ามาวงการบันเทิง คิดว่าตัวเองจะเป็นอย่างไร


 ก็นั่นสิคะ วันก่อนขับรถอยู่ เห็นคนหอบของรุงรังออกจากโรงพยาบาลเรียกแท็กซี่ ยังคิดเลยว่า ชีวิตอ้อมสบาย วันนี้ เราอาจเหมือนเป็นคนให้กำลังใจคนอื่นได้ เป็นพลังให้คนอื่นได้ มันก็มาจากเพราะเรายังมีอะไรที่สบายกว่าคนอื่นนั่นเอง มันทำให้นึกออกว่า เราพอที่จะทำประโยชน์อะไรได้บ้างก็ทำไปเหอะ น้อยที่สุดในแง่ของจิตใจ ให้กำลังใจคนได้ก็ให้ไป
 อ้อมจัดคลื่น 94 เอฟเอ็ม  Great Gossip Great Music เรียกว่าเป็นคลื่นบันเทิงเต็มตัว คุยเกี่ยวกับเรื่องดารา นักร้อง แต่อ้อมเอาบันเทิงให้มาเกี่ยวพันกับชีวิตจริงของคน ให้เขาเห็นว่าชีวิตก็ไม่ต่างอะไรกับละคร เอาละครเป็นตัวอย่าง แล้วเราจะปรับใช้แง่คิดบางอย่างที่เราจะไม่ทำตามละครที่เป็นข้อผิดพลาด หรือละครสอนอะไรให้ดี เราก็เอามาใช้




 ชีวิตตอนเด็กลำบากไหม


 มันมีทั้งช่วงลำบาก และช่วงที่ดีค่ะ เพราะบังเอิญแม่เป็นครูที่ทำอาชีพอื่น เสริมด้วย แต่มันก็มีช่วงลำบากที่ต้องยอมรับ เพราะฉะนั้นมันได้เห็นจริงๆ ทั้งความสบายและความลำบาก ได้เห็นทั้งหมดในช่วงเวลาสั้นๆ และได้เห็นว่าทุกอย่างมันอยู่ที่การกระทำของเรา แม่ขยันเราก็ฟื้นเร็ว แม่ล้มแม่ก็ฟุบ แต่แม่ก็ฟื้นได้ เพราะฉะนั้นจะเป็นคนกลัวมาก กลัวการเป็นหนี้ แต่ฟุบไม่กลัวหรอก
 การเป็นหนี้มันทำให้เหนื่อยทั้งกายและใจ ทำงานหามาได้เท่าไร ปัจจุบันยังไม่ทันคิดต้องเอาไปโปะอดีตก่อน แล้วไปแอดวานซ์เงินอนาคต ครู ทหาร ตำรวจ หมอ พยาบาล ควรมีเงินที่พอ เมื่อมีเงินพอ เขาจะไม่เหนื่อยกายไม่เหนื่อยใจ เขาจะมีแรงในใจที่จะทำให้กายเขาเคลื่อนไหว ดูแลคนในสังคมให้ดี




 - อาหารการกินอยู่ตอนบวชเป็นอย่างไร


 มื้อแรก เป็นน้ำเต้าหู้ น้ำฟักทอง ผลไม้รวม แต่มันทำให้เราเห็นว่า เราควรกินในสิ่งที่ร่างกายต้องการ จะมังสวิรัติหรือไม่ก็แล้วแต่ มีก็กิน กินให้อิ่มพอ ถ้าเราไม่ยึดติดอะไรกับมัน ร่างกายจะบอกกับเราเอง สังขารจะบอกว่า อิ่มและพอ เราต้องดูดีๆ นะว่า อยากกิน หรือร่างกายต้องการ ความอยาก มันทำให้เราน้ำหนักเกิน พอได้กลิ่นแตะจมูกเข้า โอ๊ย หอมจังเลย แต่ดูนะ ไอ้ที่หอมๆ มันไม่ค่อยมีประโยชน์เลย




 - ดูเหมือนคุณจะเตรียมพร้อมมาก่อนบวช


 คือถ้าบวชเพราะถ้าถูกบังคับ หรือบวชสักแต่ว่าบวชอาจรู้สึกอึดอัดวินัยปฏิบัติเยอะ แต่ถ้าเราทำอะไรสักอย่างแบบตั้งใจเดินไป ใจเราเปิด พอใจเปิดอะไรก็ได้ไปหมดแหละค่ะ เหมือนเราชอบใครสักคน ใจเราเปิด เขาทำอะไรก็ดีหมด แต่ไม่ใช่ว่าเปิดอย่างไม่มีสตินะคะ ต้องเปิดอย่างมีสติด้วย




 - ช่วงบวชที่เสถียรธรรมสถาน มีวัตรปฏิบัติอะไรบ้าง ใครเป็นผู้สอน


 ตอนอยู่ที่เสถียรฯ การเรียนการสอนเกิดได้ทุกอณูเลย เอาที่เห็นชัดๆ บทสวดมนต์ก็เป็นการสอน ใครที่สวดมนต์ก็ลองอ่านคำแปลดูนะคะ คำแปลจะบอกสัจธรรมของชีวิตที่เราปฏิเสธไม่ได้ ค่อยพิจารณาดู อ้อมพิจารณาดูแล้วและเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เบื้องต้นอาจปฏิเสธกันก่อน พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เชื่อ ต้องพิสูจน์
 เวลาทำวัตรเย็นก็มีบทสวดหลายบท คุณแม่ศันสนีย์จะสอนว่าบทสวดมนต์สอนอะไรบ้าง ทุกวันจะได้ฟังคำสอนจากพระโอษฐ์ พระองค์สอนนักบวชให้ทำตัวอย่างไร
 มีกิจวัตรพิจารณาอาหาร กวาดบ้าน ซักผ้า ระหว่างปฏิบัติเราก็ส่งการบ้านว่า เราเรียนรู้สิ่งที่มากระทบใจอย่างไร ใจเรารู้สึกอย่างไร เราคิดอย่างไรกับเหตุการณ์นี้  สิ่งที่กระทบใจเราระหว่างเหตุการณ์นี้เกิดอะไรขึ้น เราดำเนินการกับมันอย่างไร จัดการกับปัญหาหรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างไร ถึงออกมาแล้วอ้อมก็ยังส่งการบ้านให้คุณแม่ศันสนีย์อยู่เรื่อยๆ

ที่มา - กรุงเทพธุรกิจ : Life Style : สุขภาพ

  -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

คลิกที่นี่ ดูวิดีโออ้อมโกนหัวบวชชี

ไข่เจียวหนึ่งจานกับการเห็นสุขทุกข์ทันตา ของ อ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์



ไข่เจียวหนึ่งจานกับการเห็นสุขทุกข์ทันตา ของ สุนิสา สุขบุญสังข์









รายละเอียด
 

ว่า กันว่าเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศเปลี่ยนชีวิตคนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้หากครอบครองอย่างไร้สติ แต่อ้อมสุนิสา สุขบุญสังข์ อาศัยไข่เจียวเพียงหนึ่งจานในการเปลี่ยนวิธีคิดและการใช้ชีวิตจากทุกข์ให้ เป็นสุขได้อย่างไม่น่าเชื่อ

หลายคนคงทราบว่า อ้อมได้หันหลังให้เรื่องทางโลกและก้าวเข้าสู่เส้นทางธรรมเมื่อช่วงปลายปีที่ แล้ว ระยะเวลาประมาณเดือนครึ่ง เธอได้เรียนรู้อะไรบ้าง คำตอบอยู่ตรงนี้แล้ว


ทำงานในวงการบันเทิงตั้งแต่อายุ 14 ปี สนใจมาโกนหัวบวช

ประมาณ สามปีที่แล้ว อยู่ๆก็คิดขึ้นมาว่า ถ้าเกิดเราตายไป ตัวเราได้ทำอะไรให้โลกหรือสังคมหรือยัง ตอนแรกนึกถึงธรรมชาติ เราใช้น้ำ ใช้ไฟ ใช้ต้นไม้ ในนู่นนี่เยอะไปหมด แต่ก่อนตายเราเคยปลูกต้นไม้สักต้นไหม ใช้น้ำให้น้อยลงหรือยัง หรือยังสร้างขยะอยู่ แล้วอยู่ๆก็นึกถึงเรื่องศาสนา เราเป็นพุทธศาสนิกชน เป็นคนไทยและเป็นส่วนหนึ่งของโลก ถ้าจะให้ทำอะไรคืนแก่สังคม เรื่องที่ทำได้ก็น่าจะเป็นเรื่องธรรมะ

เริ่ม จากทำรายการธรรมะในแบบตัวเอง เราเป็นคนออกเงินค่าผลิตเอง โดยไปจ้างเด็ก ม.๔ทำเป็นรายการโทรทัศน์ มีการจ้างพิธีกรเป็นเรื่องเป็นราว เราเชื่อว่าจ้างใครด้วยการจ่ายเงินเต็มที่จะทำให้เขามีความสุข และทำงานให้เราเต็มที่เช่นกัน คิดว่าถ้าไปเอาเปรียบเขาตั้งแต่ต้น จ่ายน้อยที่สุดเพื่อเอากำไรมากที่สุด รายการธรรมะก็คงไม่เป็นธรรมะแล้ว ทำออกมาประมาณ ๑๒ ตอน ความยาวตอนละประมาณ ๑ นาที ลองเอาตัวอย่างรายการไปให้หลายคนดู มีแต่คนบอกว่าน่ารัก แต่ก็มีปัญหา

เรา อยากออนแอร์ช่วงไพรม์ไทม์หรือไม่ก็เป็นช่วงเวลาที่เด็กจะมีโอกาสได้ดู พอไปถามทางสถานี เขาบอกว่า เวลาช่วงนั้นมีนะ แต่นาทีละ ๖๐,๐๐๐ บาท เราก็ โอโฮ้ รายการนาทีเดียว ไม่มีโฆษณามาช่วยอยู่แล้ว ถ้าจะหาเงินก็ต้องขายวีทีอาร์ที่มีแค่ ๗ วินาทีก่อนเข้ารายการ ถ้าจะขายด้วยราคาหกหมื่น ต่อให้อยากซื้อ แต่เศรษฐกิจแบบนี้ เขาไปลงโฆษณารายการอื่นไม่ดีกว่าหรือ ขณะที่เราเองก็ยังไม่คัฟเวอร์ค่าโปรดักชั่นเลย แม้จะอยากทำบุญ แต่คิดว่าก็ไม่ควรทำบาปต่อตัวเอง เลยรู้สึกเซ็งๆ และล้มเลิกความคิดนี้ไป

ที่ ผ่านมาเห็นพูดกันมาตลอดว่าอยากได้รายการธรรมะ แต่พอมีคนจะทำจริงก็ไม่เห็นมีราคาพิเศษให้ แม้แต่ช่วงเวลาออกอากาศ บางช่องบอกว่าผมให้คุณได้ตอนตีสี่ ถามว่าจะทำให้พระดูหรือ ประชาชนมีกี่คนที่ตื่นตอนนั้น การจะให้งานออกมาประสบความสำเร็จ เวลามีส่วนช่วยมาก สงสัยว่าจริงๆ การให้เวลานาทีสองนาที ในช่วงที่มีคนดูเยอะแก่รายการธรรมะจะทำให้สถานีจนลงหรือ

ตอนหลังได้ ไปวัดพระราม 9 เจอพระรูปหนึ่งชื่อ พระโบ๊ต วัยใกล้เคียงกัน ท่านบอกว่า ท่านก็ทำรายการธรรมะอยู่ อยากให้ดูทันสมัยขึ้น จะไปช่วยก็ได้ แล้วก็แนะนำให้รู้จักกับ แมพ (วงศธร ควันธรรม) แมพเองอยากทำรายการธรรมะเหมือนกัน เลยไปชวนรุ่นพี่ซึ่งมีความรู้เรื่องโปรดักชั่นมาทำด้วย ทุกคนลงสมองและลงแรงโดยไม่คิดค่าตัว สุดท้ายได้รายการธรรมะขึ้นมาหนึ่งรายการ แต่เหมือนเดิมเอาไปให้ใครดู ทุกคนแฮ็ป*หมด แต่ไม่มีเวลาให้



แล้วช่วงไหนครับที่เริ่มมาสนใจปฏิบัติธรรม

ช่วง นี้แหละค่ะ มีกัลยาณิมตรบางคนแทรกเข้ามาในชีวิต ชวนไปปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ แต่ในความกะโหลกกะลาของตัวเอง นั่งได้รอบหนึ่ง ตื่นเช้ามาอีกวันก็อิดเอื้อน อ้างว่าเจ็บจมูก ปวดไซนัส ปวดไมเกรน และอยากหนีกลับ จริงๆไปสามวันวันสองคืน แต่ถ้าเอาเวลาที่เราปฏิบัติจริงมารวมกันแล้วคงแป๊บเดียว เลยไม่ค่อยได้อะไร

ปลาย ปี ๒๕๕๑ ได้เอาตัวอย่างรายการโทรทัศน์ที่ทำไปให้ ท่าน ว.วชิรเมธี ดู เพราะขอให้ท่านเป็นที่ปรึกษา ท่านบอกว่า โอเคตอบโจทย์ น่ารักดี นอกจากท่าน ว แล้วก็อยากให้ที่ปรึกษาทางศาสนามีหลายๆคน มาปิ๊งไอเดียว่าน่าจะเป็น แม่ชีศันสนีย์ เลยติดต่อขอพบท่านที่เสถียรธรรมสถาน ท่านยินดี บอกว่าชอบไอเดียที่ชักชวนให้วัยรุ่นสนใจศาสนา แต่ท่านบอกว่าลองทำปฏิจจสมุปบาทก่อนไหม

เสาร์อาทิตย์ถัดมา เลยลองไปดูว่าสิ่งที่ท่านพูดถึงคืออะไร นั่งเรียนวันละ ๒-๓ ชั่วโมง ก็เพลินดี ฟังบ้าง ทำหูทวนลมบ้าง ท่านชวนมาเป็นอาสาสมัครจัดรายการวิทยุ ตอนแรกยังไม่รับปาก เพราะช่วงนั้นอ้อมไปช่วยกลุ่ม ซ โซ่ อาสาสอนหนังสือตามชุมชน ต้องตื่นตั้งแต่แปดโมงทั้งเสาร์และอาทิตย์ วันเสาร์ไปชุมชนตึกแดงแถวบางซื่อ ขณะที่วันอาทิตย์ไปแถวโรงแรมรัตนโกสินทร์ใกล้ท้องสนามหลวง จะให้ตื่นเช้าทุกวันก็รู้สึกว่าไม่ไหว อยากตื่นสายบ้างแต่หลังจากนั้นก็ได้ลองทำ

พอได้ทำก็รู้สึกสนุก ช่วยตอบคำถามที่มีคนถามแม่ชีศันสนีย์ที่ธรรมศาลา ตอบในมุมมองของเรา ขณะที่แม่ชีศันสนีย์ท่านจะตอบในมุมธรรมะ ตอนหลังได้เปลี่ยนวิธีคิดบางอย่าง มีอยู่สัปดาห์หนึ่งความที่เป็นวันอาทิตย์ตอนเช้าถนนจึงโล่ง อากาศดี ท้องฟ้าสวย รู้สึกว่าความสุขเกิดขึ้นทันที จากที่คิดว่าเรามาช่วยเขา เปลี่ยนเป็นขอบคุณเขาที่ทำให้เราได้เห็นท้องฟ้าสวยตอนเช้าๆ และขอบคุณเขาที่ทำให้เราได้ทำอะไรที่พอมีประโยชน์กับคนอื่นบ้าง

จาก ทำเดือนละครั้ง กลายเป็นเดือนละสองสามครั้ง สไตล์ของดีเจอาสาสมัครที่เสถียรธรรมสถานจะต่างกันไป อ้อมจะคุยธรรมะในแบบคนไม่ค่อยรู้ บางครั้งก็บ้าๆบอๆ กล้าถามแบบคนไม่รู้ เพราะคิดว่าความไม่รู้ของเราจะทำให้คนไม่รู้อีกหลายๆ คนที่ไม่กล้าถามได้รู้



ทราบว่าเป็น เจ้าลัทธิแห่งความสุข

เมื่อก่อนบอก ใครต่อใครว่าอย่างนั้น เพราะเป็นคนไม่ทุกข์ ชีวิตที่ผ่านมาต้องบอกว่าซึ้งโคตรอย่างเรื่องความรัก คบพร้อมกันไม่รู้ตั้งกี่คน.. มีแฟนหนึ่งคน มีกิ๊กอีกหลายคน ตอนนั้นหิริยังไม่เกิด ความรู้สึกผิดต่ำมาก บางทีเขาก็เลิกกันเพื่อมาคบกับเรา เราก็ให้เหตุผลเข้าข้างตัวเองว่าไม่รู้นี่ว่าเขาเลิกกันเพราะเราหรือ ไม่ได้ไปบังคับให้เลิกกันสักหน่อยหรือบางคนมีแฟนอยู่แล้ว แต่แอบมาคุยกับเราโดยที่เราเองก็ไม่รู้ จนเขาเลิกกับแฟน แต่เราก็ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ คิดแค่ว่าเขาไม่ใช่สามี-ภรรยากัน เราไม่ได้เอาปืนไปจี้หลังให้เขาเลิกนี่นา คิดแบบโง่มาก



แล้วการใช้ชีวิตด้านอื่นๆล่ะครับ

ก็เที่ยวเล่น ซื้อของ โวยวาย ใช้อารมณ์ โกรธ โมโห เป็นคนดุ ตรงๆ และทุกอย่างต้องเป๊ะ



ว่ากันว่าเพื่อนร่วมงานหรือคนใกล้ตัว กลัวอ้อมไม่น้อย

เขา ว่ากันอย่างนั้น เพราะอ้อมเป็นคนเฉยๆไง คนที่ไม่รู้จักดีอาจคาดหวังว่าอ้อมต้องสนุกเฮฮา เพราะเห็นร้องเพลงถอยดีกว่ามาตั้งแต่เด็ก ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ แล้วนิ่งๆ เฉยๆ จะขำแค่เวลาอยู่กับเพื่อน แต่ก็แค่บางเวลา และเป็นคนไม่มีตรงกลาง มีแต่ซ้ายเลยกับขวาเลย



มีมุมมองในเรื่องกรรมอย่างไรครับ

อ้อม ว่าธรรมะกับวิทยาศาสตร์เหมือนกัน คำว่ากรรมแม้บางครั้งพิสูจน์ให้เห็นด้วยตาไม่ได้ แต่เชื่อว่าเป็นผลของการกระทำที่เราทำมานั่นแหละ ซึ่งก็ ไม่รู้หรอกว่าเป็นของชาติไหน ยกตัวอย่างว่าเรามีแฟนอยู่แต่หวาดระแวงเหลือเกินว่าอาการบางอย่างที่แฟน แสดงออกให้เห็น เช่น หันซ้าย หันขวา หลบไปโทรศัพท์ไกลๆ ไปรับโทรศัพท์ สะบัดสะบิ้งนั้นส่อพิรุธ ทำไมเราถึงคิดว่านี่เป็นการส่อว่าเขากำลังมีคนอื่น ก็เพราะเคยทำแบบนี้มาก่อน ซึ่งอ้อมว่านี่คือกรรม

ทำไมคนที่ไม่เจ้า ชู้ แต่มีแฟนเจ้าชู้ ถึงไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ ก็เพราะเขาเองไม่เคยเจ้าชู้ก็เลยไม่รู้ เขามองว่าอาการลอกแลกเป็นเรื่องปกติ เป็นบุคลิกอย่างหนึ่ง พอไม่รู้เลยไม่ทุกข์ เทียบกับคนเจ้าชู้พอเห็นแฟนตัวเองมีทีท่าแบบนี้ก็จะรู้ทันที เฮ้ย เหมือนที่เราทำตอนนั้นเลย มันแอบมีคนอื่นแน่ๆ พอคิดและระแวงมากๆ เลยทำให้ทุกข์ นี่แหละกรรม เป็นผลของการกระทำที่เคยทำมา แฟนของเราอาจจะทำจริงหรือเขาอาจจะไม่มีใครเลยก็ได้ แต่เราทุกข์ไปแล้ว พอระแวงก็มีปากมีเสียง บางคนถึงขั้นทะเลาะกัน เลิกกัน เรื่องกรรมไม่ต้องดูอดีตชาติหรอก ดูจากปัจจุบันก็เห็นได้



คิดอย่างไรที่เขาว่าสมัยนี้เรื่องเจ้าชู้เป็นเรื่องปกติ

จะ มองว่าปกติก็ได้หรือไม่ปกติก็ได้ อยู่ที่มุมมอง สำหรับคนที่ไม่ได้แตะเรื่องธรรมะหรือยังไม่ถูกจับได้แบบจังๆ มันก็ยังเป็นความสุข คนเราถ้าคิดเข้าข้างตัวเอง อะไรก็สุขหมด อ้อมยอมรับว่าการมีกิ๊กโคตรมันเลย เพราะเป็นอะไรที่ไม่ผูกมัด ดูแลกันแบบห่างๆ ไม่มีข้อจำกัด แต่ถามว่าควรไหม ไม่ควร

คิดแบบง่ายๆ ถ้าคุณมีแฟนที่รักมากๆ แล้วแฟนของคุณไปเป็นกิ๊กกับคนอื่น คุณจะรู้สึกอย่างไร มันก็คงมีคนที่บอกว่าไม่แคร์ แค่ไปหาคนใหม่ก็จบ เรื่องกิ๊กในสังคมเลยหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมันสอดคล้องไปกับความอยากได้อยากมีในแต่ละยุคสมัย ยุควัตถุนิยม คนติดกับวัตถุ มองข้ามจิตใจและศีลธรรม มองวาการมีกิ๊กเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อความเจริญมากขึ้น ความถดถอยทางจิตใจก็มากขึ้นตาม เมื่อไรที่เราให้วัตถุนำ ศีลธรรมก็ตก ที่บางคนมองว่าไม่เป็นไร เพราะยังมองไม่เห็นบาปกรรม ที่ไม่เห็นก็เพราะใจหยาบ เขาเชื่อว่าเขาสามารถหนีทุกข์ได้ แล้วสมัยนี้มีวิธีกำจัดทุกข์หลายอย่าง หงุดหงิดเรื่องนี้ก็แค่หนีไปดูหนัง เดี๋ยวก็หาย แต่ถามว่าจริงๆแล้วทุกข์มันหายหรือแก้ได้หมดจริงหรือ



บางคนมองว่า การที่คนคนหนึ่งถึงขั้นโกนหัวบวชชีได้ ต้องเจออะไรในชีวิตมาอย่างสาหัส

เมื่อ ก่อนเวลามีคนถามว่า มีเหตุอะไรบ้าง ที่จะทำให้อ้อมบวชหรือหันมาศึกษาเรื่องศาสนาได้ จะตอบว่า คงเป็นความรู้สึกกลัวความทุกข์ เพราะที่ผ่านมาชีวิตสุขจนปริมาตลอด งานก็ดี ชื่อเสียงก็มีตั้งแต่เด็ก อยากทำอยากได้อะไรก็ได้ สุขจนกลัวว่าวันหนึ่งถ้าเกิดทุกข์หรือผิดหวังขึ้นมา ต้องรับไม่ได้แน่ๆ

จน วันหนึ่งได้ไปฝึกวิปัสสนา เริ่มสวดมนต์ แค่อ่านคำแปลในบทสวดมนต์ทำวัตรเช้า-วัตรเย็นไม่กี่หน้า ทำเอาอึ้งเลยความโศก ร่ำไร รำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ นั่นเป็นทุกข์



เพราะตอนนั้นเริ่มทุกข์หรือเปล่า จึงรู้สึกว่าโดน

ไม่ เลย แต่รู้สึกว่ามันคือความจริง เอาแค่เรื่องของหาย หาไม่เจอก็ทุกข์แล้ว อ้อมจะเป็นมากๆ โคตรหงุดหงิด เวลาหาเสื้อที่รักมากและอยากใส่ไม่เจอ ถึงขั้นสั่งคนที่บ้านรื้อค้นทั่วบ้าน เดือดร้อนกันไปหมด ออกไปทำงานแล้วยังโทรศัพท์เช็ค หาเจอหรือเปล่าทั้งที่จริงๆ ถ้าไม่มีความรู้สึกอยากใส่ เราก็ไม่ได้เดือดร้อนแบบนั้น ก่อนหน้านั้นใจโคตรสบาย แต่พออยากรู้ว่ามันอยู่ไหน กลับทุกข์เสียอย่างนั้น

เรื่อง บวช พอดีปีที่แล้วอ้อมมีปัญหาใหญ่ในชีวิตบางอย่าง แต่ขอไม่เล่าว่าเป็นเรื่องอะไร เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และถูกตีความว่าเป็นความผิด จนทำให้ต้องรับผลอะไรบางอย่าง ทำให้ทุกข์ เสียใจ และลงเอยไม่ดี

เพื่อน อ้อมหลายคนพอรู้ว่าอ้อมไม่รอดแน่ เขาก็บอกว่า จะไปหาที่บ้านไหม มีอะไรกินหรือเปล่าบางคนมาหาไม่ได้ แต่บอกว่าเดี๋ยวส่งคนนี้ไปอยู่เป็นเพื่อน เขาไม่รู้ว่า ชีวิตนี้อ้อมไม่เคยอยู่คนเดียวเลย จึงเป็นห่วง อ้อมก็บอกเพื่อนไปว่าไม่เป็นไร ก็ต้องหัดอยู่คนเดียว เพราะถ้าเกิดวันหนึ่งไม่มีใครอยู่ด้วยจะทำอย่างไร

แวบที่คิดว่า ต้องอยู่คนเดียว อยู่ๆน้ำตาก็ไหล แต่ดันหิวข้าว อ้อมหุงข้าวได้ แต่เกลียดการเจียวไข่มาก เพราะกลัวน้ำมันกระเด็น แต่ก็ต้องเจียว พอตั้งกระทะ ความที่กลัวน้ำมันจะกระเด็นใส่ ใจไปพะวงกับตรงนั้น แวบนั้นก็นึกขึ้นได้ว่า ฉันไม่ได้เศร้าแล้วนี่ทำให้คิดได้ว่า จริงๆแล้วความเศร้าไม่ได้อยู่กับเราตลอดเสียหน่อย ก่อนหน้านี้ก็มีคนพูดให้ฟังในเรื่องความทุกข์ ความเศร้า หรือวิธีกำจัดทุกข์ก็เข้าใจ แต่ไม่ค่อยเก๊ต จนเจอกับตัว วินาทีที่กลัวน้ำมันกระเด็นความเศร้ามันหายไปไหนแล้วก็ ไม่รู้ น้ำตาที่ไหนก็หยุดไหล สุดท้ายวันนั้นก็สามารถกินข้าวไข่เจียวไหม้ๆ ได้คนเดียว

วันต่อมาหาเสื้อไม่เจอ แต่ก็ไม่เดือดร้อนแล้ว รู้สึกว่าธรรมะมีอะไรที่น่าค้นหาจริงๆ ทำให้คนที่ทุกข์แทบตายตัวเบาและมองอะไรง่ายขึ้นเยอะ ขนาดพระพุทธเจ้ายังสละสมบัติได้ทั้งๆที่เป็นเจ้าชาย หรือเอาแค่ไข่เจียวจานเดียวยังทำให้ชีวิตเราเบาขึ้น เพราะฉะนั้นธรรมะต้องมีอะไรอเมซิ่งแน่ๆ



มองเรื่องการมีชีวิตอยู่หรือเรื่องความตายอย่างไรครับ

อ้อม เคยพูดมาตลอดว่า ชีวิตนี้มีความสุขมากจนอยากตายตอนอายุ 35 ปี ที่อยากตายตอนอายุเท่านั้นเพราะคิดว่าพอแล้วและไม่กล้าอยู่ต่อ กลัวว่าหลังจากนั้นจะเจอกับความทุกข์ กลัวโดยที่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วทุกข์ของเราคือการกลัวทุกข์นั้นแหละ มีอยู่วันหนึ่งระหว่างที่นั่งสมาธิอยู่ก็เปรี้ยงขึ้นมาในหัวว่าจะรีบตายไปไหนพระเก่งๆ หรือหลวงปู่ต่างๆ ท่านยังอยู่จนถึงอายุตั้ง 80-90 ปี แสดงว่าคนทุกคนยอมรับในสังขาร เรามีความตายเป็นตัวกำหนดสังขารของตัวเองอยู่แล้ว ต้องไม่ทำให้ตัวเองจากไปก่อนหรือจากไปอย่างฝืนๆ เลยด่าตัวเองว่าเราเป็นใคร จะมากำหนดการตาย เรียนธรรมะได้ไม่เท่าไรจะชิงตายเสียแล้ว

หลัง จากนั้นก็เลิกคิดเรื่องตาย เวลาไปจัดรายการวิทยุที่คลื่น 94 EFM ซึ่งเป็นรายการบันเทิง ก็จะแอบนำธรรมะที่เราเห็นและเคยปะสบใส่เข้าไปด้วย เวลาคนฟังเรื่องทุกข์ใจหรือเศร้าก็จะบอกเขาว่า หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกลึกๆ จังหวะที่จดจ่อกับการหายใจ จำเรื่องที่เศร้าเมื่อกี้ได้ไหม ถ้าจำไม่ได้ก็แสดงว่าความเศร้าไม่ได้อยู่กับเราทุกอณูหรอก เราต่างหากที่ขอบเอาปมความเศร้ามาผูกรวมกันตลอดเวลาโดยลืมเอาปมความสุขหรือ เอาปมปัจจุบันมาผูกต่อกัน ทุกข์หรือสุขมันก็เท่านี้เอง

มีอีกครั้ง หนึ่งไปจัดรายการวิทยุที่สยามเซ็นเตอร์ วันนั้นรู้สึกเซ็งๆ หงุดหงิด จิตตก โทรศัพท์หารุ่นพี่คนหนึ่ง บอกเขาว่าเซ็งโคตรๆ เขาถามว่าไม่มีความสุขเลยหรือ ก็บอกว่าไม่มีเลย ไม่หัวเราะ ไม่ยิ้ม กินข้าวกลางวันไม่อร่อยเลยหรือก็บอกว่า งั้นๆเขาถามต่อว่า ไปดูหนังได้ไหมตอบว่า ได้ แต่คงแก้ปัญหาไม่ได้หลังจากวางหูแสงแดดกระทบพื้น เป็นภาพที่สวยมาก จังหวะที่เห็นว่าสวย อยู่ๆความเซ็งก็หายไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เลยรู้สึกว่าคนเราต้องหมั่นอยู่กับปัจจุบัน ฝึกคิดว่าต้องอยู่กับปัจจุบันแทนที่จะเอาเส้นทุกข์มาต่อกัน ให้เอาเส้นสุขจากปัจจุบันมาต่อกันแทน แล้วคุณจะได้เส้นความสุขที่ยาวออกไป


มีผู้หญิงไม่กี่คนนะครับที่กล้าโกนหัวบวช จริงๆ แล้วการบวชครั้งนี้เริ่มมาจากอะไร

อ้อม ไปช่วยงานแม่ชีที่ภูเก็ต ช่วงนั้นบ่นว่าอยากบวชหลายครั้งและถามท่านไปว่าอ้อมบวชได้หรือเปล่า ท่านบอกว่าได้ ที่อยากบวชเพราะอ้อมคิดว่าเรื่องธรรมะนั้น เรารู้แค่นิดเดียวชีวิตยังง่ายขึ้นตั้งเยอะ ถ้าศึกษาจริงๆคงได้อะไรมากขึ้น แต่ก็กลัวความคาดหวังของคนเหมือนกัน อ้อมเปรียบเทียบกับการที่เราเกิดที่ประเทศไทย อยู่ที่นี่มา 35 ปี พูดภาษาไทยมาตลอด วันหนึ่งสนใจภาษาอังกฤษ ตัดสินใจไปเรียนต่อที่อังกฤษเดือนครึ่ง ถามว่าจะทำให้พูดอังกฤษเก่งเหมือนคนอังกฤษไหม ตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่นเราอาจได้ประสบการณ์ที่ทำให้เรารู้ว่าคนในอังกฤษเขา คิดกันแบบนี้ เขากินกันแบบนี้ อาจจะพูดได้ใกล้เคียงเขามากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็คงเป็นประโยคง่ายๆ คงไม่เหมือนเขาเป๊ะ

แล้วเรื่องอารมณ์โกรธ โมโห นั้นแม้แต่พระ แม่ชี คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลาย แม้บวชมานานก็ยังมีอารมณ์ จึงไม่ได้หมายความว่าคุณเดินมาสายธรรมะแล้วจะไม่มีอารมณ์ แต่สำคัญว่า พอมีแล้ว คุณจะรับมือกับมันอย่างไร หลังสึกแทนที่จะโกรธ โมโห ร้องไห้ฟูมฟายกับเรื่องราวต่างๆ เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน ธรรมะอาจจะช่วยเยียวยาให้หายเร็วขึ้น เคยโมโห ๑๐ วัน อาจจะเหลือแค่ ๗ วัน นี่ต่างหากที่ให้หายเร็วขึ้น เคยโมโห ๑๐ วัน อาจจะเหลือแค่ ๗ วัน นี่ต่างหากที่สำคัญเมื่อเราพัฒนาตัวเราแล้ว ผลที่จะไปกระทบกับคนอื่นก็น้อยลง



กลัวคนมาลองของไหมครับ

มา ลองของก็เจอของค่ะ (ยิ้ม) ถ้าการบวชเดือนกว่าๆ แล้วเปลี่ยนคนได้มากอย่างที่ใครๆ คาดหวัง เราคงต้องจับคนนิสัยไม่ดีหรือคนที่เลวมากๆมาบวชให้หมด คิดหรือว่าการเปลี่ยนชุดหรือเครื่องนุ่งห่มเดือนสองเดือนจะเปลี่ยนอะไรได้ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผ้าเหลืองหรือผ้าขาวเป็นเพียงยูนิฟอร์มหนึ่ง ใช่ว่าหนึ่งจะสามารถเปลี่ยนตัวเองของคนที่ใส่ให้เป็นคนดีได้ทั้งหมด


กับตัวเราเองล่ะครับ คาดหวังชีวิตหลังบวชไว้อย่างไร

คาด หวังว่าเขาจะไม่คาดหวังเรามากนี่แหละครับ ข่าวของการบวชที่ออกไปเป็นความบังเอิญ เดิมทีอ้อมตั้งใจจะทำให้เงียบที่สุด แต่มีรายการของคุณวู๊ดดี้ พี่ดู๋-สัญญา และหนังสือพิมพ์ คมชัดลึกที่ต้องร่วมงานกับเขาในช่วงนั้นขอคิวมา เลยต้องบอกเหตุผลเขาไปตรงๆ ว่าที่ให้คิวไม่ได้เพราะอะไร ไม่ได้ตั้งใจเป็นข่าว ในรายการของอ้อมอ้อมก็พูดแค่สั้นๆว่า จะปลีกวิเวกสัก 3 สัปดาห์ ไปอยู่ในโลกของเราไม่ได้บอกว่าโลกของเราคือที่ไหน มีคนส่งข้อความเข้ามาในรายการว่าพูดเหมือนจะไปบวชเลย อ้อมก็ไม่ได้พูดอะไรต่อ

นอกจากความคาดหวังแล้ว อ้อมอยากเป็นคนที่ดีขึ้น ท่านว.เคยบอกว่า ธรรมะไม่ได้เปลี่ยนคนจากคนหนึ่งไปเป็นอีกคน แต่ธรรมะจะค่อยๆ ปรับจิตใจของคนให้ค่อยๆพัฒนาขึ้นไป จากที่เคยมีข้อเสียสัก ๑๐ ข้อ อาจจะเหลือสัก ๘ ข้อ หรืออาจจะยังเสีย ๑๐ ข้อเท่าเดิมแต่เป็นข้อเสียที่ทุเลาความรุนแรงลง เพื่อพัฒนาจิตใจไปสู่หนทางแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะถ้าคุณวางใจได้ดี ใจเบาสบาย ก็มีสิทธิ์ที่เข้าถึงธรรมะได้มากขึ้น



นาทีที่ผมที่ถูกโกนร่วงลงมาตรงหน้า รู้สึกอย่างไรครับ

ก็ งั้นๆ ค่ะ หลังบวชอ้อมโกนผมอีกตั้งสามหน เพราะมันยาวขึ้นมาเทียบกับระหว่างตัดผม ตัดคิ้ว ตัดใจ ตัดใจยากที่สุด แค่ผมตัดไปเดี๋ยวก็ขึ้น



เห็นร้องไห้ด้วย

ร้องตอนขอ โทษแม่ว่าเราเคยทำอะไรผิดกับเขามาบ้าง สิ่งที่ขอโทษมันออกมาจากกันบึ้งหัวใจ แล้วแม่ก็ให้อภัยและยินดีกับการที่เราเกิดมาเป็นลูกเขาแล้วบวชให้



คืนแรกของการบวชเป็นอย่างไรครับ

นอนไม่หลับค่ะ เหนื่อยและผิดที่ผิดทางจากที่เคยอยู่



กิจแต่ละวันมีอะไรบ้างครับ

หลัง บวชอ้อมอยู่ที่เสถียรธรรมสถานสามสี่วัน ตื่นตั้งแต่ตีสี่อาบน้ำลงมาทำวัตร ประมาณตีห้าออกบิณฑบาต พิจารณาเช้า (กินข้าวเช้า) หลังจากนั้นก็มีเวลานิดหน่อยเพื่อทำกิจของตัวเอง สิบโมงพิจารณาเช้าอีกครั้ง แต่เป็นการพิจารณาในบาตร ต้องคลุกทุกอย่างลงไป ช่วงแรกพยายามเทอาหารแต่ละอย่างไม่ให้ปนกัน เหน็บไปทางซ้ายบ้างขวาบ้าง แต่หลังๆ ความที่บาตรโค้ง อาหารก็ต้องรวมกันอยู่ดี ปกติเป็นคนที่ไม่ชอบกินอะไรปนกัน กินนี่เสร็จค่อยกินนั่นต่อและไม่กินผัก แต่อยู่ที่นี่เลี่ยงไม่ได้ ต้องกิน หลังๆ ก็รู้สึกว่าผักเป็นแค่ธาตุ ยิ่งอันไหนไม่อยากตัก ยิ่งต้องตัก อย่างมะละกอ เมื่อก่อนไม่ชอบเลย โชคดีที่ฝึกกินก่อนบวช ตอนกินข้าวกับไข่พะโล้ ความที่ไม่มีที่วาง ต้องวางมะละกอไว้ข้างพะโล้ โอ้โฮ..ลองนึกภาพมะละกอสุขเปื้อนน้ำพะโล้

หลัง ปฏิบัติที่เสถียรฯเสร็จก็ไปที่วัดท่ามะโอ ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินจงกรม นั่งสมาธิ อยู่ ๑๐ วัน แทบตายเหมือนกัน พอดีอ้อมพกหนังสือ ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ไปอ่านด้วย เป็นหนังสือรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีไว้สอนพระ มีเรื่องที่น่าสนใจหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่พระพุทธองค์พูดถึงคือ ไม่ว่าภิกษุเก่าหรือใหม่ให้ทำตัวเหมือนผ้ากาสี เพราะไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ก็มีความเป็นผ้าเนื้อดี สีก็งามนุ่งห่มก็สบายเนื้อ ผิดกับผ้าเปลือกปอที่เป็นผ้าผ้าไม่ดี ถึงจะใหม่ แต่เป็นผ้าไม่ดี นุ่งห่มก็เจ็บตัว ใช้เช็ดหม้อข้าวและทิ้งตามกองขยะ เปรียบเหมือนพระที่ไม่ดี จะพรรษามากหรือน้อยก็ไม่ดี นอกจากนี้ยังพูดถึงการเป็นภิกษุที่ดีว่าควรละอะไรบ้าง ยังมีเรื่องพระธรรมวินัยอีกหลายอย่างอ่านสนุกมาก


มีช่วงไหนของการบวชที่รู้สึกประทับใจไหมครับ

เคย มีคนมาไหว้หรือกราบที่เท้าแล้วเขาน้ำตาไหล รู้สึกดีมาก อยากขอบคุณที่เขามองเราดี ศรัทธาของคนหนึ่งคนทำให้คนหนึ่งคนไม่กล้าชั่ว บางคนบอกว่าอนุโมทนาด้วยนะคะ นี่ทำให้เรารู้สึกว่าเมื่อเราเป็นนักบวช เราต้องไม่ทำลายศรัทธาคนอื่น ทำกิจวัตรของนักบวชให้ครบ สวดมนต์ มีสติกับทุกกิริยาที่ดี ถือศีลทั้งสิบข้อให้มั่นคง



เวลาเดินบิณฑบาตไม่ได้ใส่รองเท้าแล้วเจอขี้หมาทำอย่างไรครับ

ถ้า แม่ชีคนที่เดินนำหน้าหลบ อ้อมก็หลบค่ะ (หัวเราะ) ยังมีน้ำที่เขาราดพื้นแฉะๆ อีก ถ้าเป็นเมื่อก่อน แม้แต่รองเท้าก็ไม่ได้แอ้มจะกระโดดหลบ นี่ต้องเหยียบเท้าเปล่าลงไปเลย แต่จริงๆ เดินลุยไปแค่เดินต่ออีกสามก้าว เท้าก็แห้งแล้ว นี่ทำให้คิดว่า คนเราเวลาเกิดความกลัวจะมีความรู้สึก 2 อย่างเกิดขึ้น หนึ่งคือ หนีไป ไม่สู้กับมันอีกเลย กับสอง เผชิญหน้ากับมัน ตอนก้าวผ่านหรือต่อสู้กับมัน เราอาจจะไม่ชอบ ไม่ถูกใจ แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ได้อยู่อย่างนั้นถาวรหรอกเหมือนการต้องเหยียบน้ำบน พื้นแฉะ สกปรก แต่พอผ่านไป ลมเป่าน้ำก็ระเหย เดินต่อไม่กี่ก้าว เท้าก็แห้ง แล้วจะกลัวทำไม



ทราบว่าอยู่กับแม่แค่สองคน การเป็นเสาหลักดูแลแม่เพียงลำพังเหนื่อยไหมครับ

จริงๆ แล้ว แม่ต่างหากที่เป็นเสาหลัก อ้อมเป็นแค่เสาเสริม ที่บ้านนอกจากแม่ อ้อมแล้ว ยังมีลูกของน้าอีกคนค่ะ เราถูกสอนให้ต่างคนต่างมีชีวิต แต่ไม่ทิ้งกัน บางครั้งก็มีความห่างระหว่างแม่กับลูกพี่กับน้อง การที่บ้านหลังหนึ่งจะมีคนแค่สองคน ความรู้สึกไม่ได้เหมือนกันทุกบ้านหรอก ความห่างเป็นแค่ระยะทาง แต่ไม่ได้หมายความว่าใจเราไม่รักกัน ทุกวันนี้แม่ก็ยังทำงานเลี้ยงดูตัวเอง อ้อมแค่เสริมไม่ให้ท่านลำบากเท่านั้น



วันที่เดินไปบอกแม่ว่าจะบวช แม่ว่าอย่างไรบ้างครับ

กับ อ้อมเขาก็นิ่งๆ แต่เขาไปบอกคนอื่นว่า ไม่มีลูกชาย แต่ก็มีลูกสาวบวชให้ คิดว่าแม่คงดีใจ เขามาใส่บาตรเกือบทุกวัน จนต้องบอกว่า พรุ่งนี้ไม่บิณฑบาตนะ ไม่ต้องมา เดี๋ยวเก้อ (ยิ้ม)



การทำผิดต่อแม่ครั้งไหนที่ทำให้รู้สึกผิดมาก

บางสาเหตุมันเป็นเรื่องของการสื่อสาร บุคลิกที่แข็งของทั้งแม่และลูก พอมาเจอกันก็ทำให้เกิดความห่างและการเข้าใจผิดขึ้นได้ อยากจะบอกว่า สิ่งที่สำคัญในการใช้ชีวิตคู่ ไม่ว่าจะเป็นคู่แม่ลูก คู่สามีภรรยา คู่พี่น้อง คู่เพื่อน คู่เจ้านายกับลูกน้อง การสื่อสารเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย ซื่อสัตย์กับใจตัวเองและเปิดกว้างในการมองคนอื่น อย่าประชด อย่าคิดแทนคนอื่นว่าเขาจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรือคิดไปเองก่อน

บาง ครั้งแม่บอกอ้อมว่า ไม่ต้องห่วง เขาไม่เจ็บ ไม่เหงา ไม่กลัวและอยู่คนเดียวได้ ซึ่งอ้อมก็เชื่อ แต่เวลาอ้อมบอกว่าไม่กลัว อ้อมไม่กลัวจริงๆ เคยนอนโรงพยาบาล ๔ คืนโดยไม่โทรศัพท์บอกแม่ ทั้งที่กลัวเข็ม แต่รู้ว่าเข็มจิ้มเจ็บแล้วก็จบ แต่สำหรับแม่ เวลาแม่บอกว่าแม่ไม่กลัว ลึกๆแล้วเขาอาจจะกลัวก็ได้ พอแม่ไม่พูด ก็ทำให้เราไม่ได้ดูแลกัน อย่างตอนไม่สบาย แม่ก็ไปหาหมอเอง บอกว่าไม่เป็นไร เราก็เชื่อ บางครั้งเลยทำให้เราห่างกัน



วันที่สึกรู้สึกอย่างไรบ้างครับ

น้ำตา ไหลเหมือนกัน จริงๆอยากอยู่ต่อ ตอนแรกตั้งใจจะสึกวันที่ 2 ธันวาคม แต่อยู่ต่อจึงถึงวันที่ ๑๙ ธันวาคม ที่อยู่ต่อไม่ได้เพราะมีงานต้องทำ ทั้งแม่ชีศันสนีย์และท่านว.บอกว่า การจะปฏิบัติต่อไม่ว่ายูนิฟอร์มไหนก็สามารถทำได้

หลังสึกอ้อมอยู่ ที่เสถียรธรรมสถานต่ออีกสามวัน ตอนแระกะจะขึ้นไปปฏิบัติต่อที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง และไปปฏิบัติกับท่านว.ที่เชียงราย แต่ท่านว.เองมีกิจปฏิบัติ เลยใช้วิธีส่งการบ้านทางโทรศัพท์แทน เล่าให้ฟังว่า วันนี้ทำอะไรบ้าง ในแง่อารมณ์ที่กระทบ และสภาวธรรม ท่านก็เมตตารับฟัง เพราะท่านาบอกตั้งแต่แรกว่าโทรศัพท์ไปส่งการบ้านได้ทุกวัน กับแม่ชีศันสีนย์ก็เช่นกัน หลังจากทำวัตรเย็นเสร็จ ท่านก็สอนเรื่องบทสวดมนต์ อธิบายนู่นนี่นั่นให้ฟังจนถึงประมาณสามทุ่มครึ่ง หลังจากนั้นอ้อมก็จะส่งการบ้านหรือข้อสงสัยต่างๆนานาที่กระทบตาเราแล้วเรา สงสัย ถามวิธีแก้ปัญหาหรือมองปัญหาแบบคนที่มีปัญญาและเมตตา



ตอนอยู่ในวัด มีให้ปัญหาภายนอกเข้ามากระทบไหมครับ

มี อยู่แล้วค่ะ เพราะไม่ได้ปิดกั้น ถ้าเราจะปิด ซุกตัวอยู่แบบหนู พอสึกออกไปจะรับได้หรือ ในเมื่อชีวิตจริงมีปัญหาเข้ามาตลอด สำคัญว่าเวลาเจอปัญหา เรามีปัญญารับกับมันไหม อีกเรื่องที่อยากบอกคือการบวชครั้งนี้อ้อมอาจจะดังเปรี้ยงปร้าง แต่มีนักแสดง ดารานักร้องอีกหลายคนที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และปฏิบัติได้เยอะกว่าอ้อม ไม่ใช่แค่ไปทำบุญ แต่ปฏิบัติจริงจังเลย แทนที่จะมีคำถามว่า อ้อมบวชทำไมเพื่ออะไร อยากให้สังคมไปขยายผลว่ายังมีดารานักแสดงคนอื่นๆ ที่ในจอเห็นเขาเล่นเป็นตัวร้าย แต่นอกจอเขาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอีกหลายคน



ถ้าถามว่าระหว่างความสุขจากการไปปาร์ตี้กับสุขในธรรมแตกต่างกันอย่างไร

ต่าง กันเยอะ สุขจากปาร์ตี้ จากการไปเที่ยวเล่น ดื่มเหล้า เมาอ้วก เสียเงิน ก็จบ...บางคนก็ไม่รู้ว่าเสียตัวด้วยหรือเปล่า แต่ถามว่าเขาสนุกไหม คงสนุก ไม่เช่นนั้นคงไม่ทำ อ้อมก็สนุกเวลาไปปาร์ตี้ แต่เมื่อเทียบกันแล้ว สุขทางธรรมสนุกกว่าตรงได้เรียนรู้ เมื่อเรียนรู้แล้วรู้สึกว่าอิ่มกว่า ถ้าเป็นคนที่เคยสัมผัสมาแล้วทั้งสองทางจะรู้ว่าสุขทางธรรมเบากว่ามาก สุขทางโลกต้องใช้เงินซื้อ แต่สุขทางธรรมเงินซื้อไม่ได้ อ้อมอยู่ที่เสถียรธรรมสถานไม่พกเงินเลยสักบาท แต่สุขมาก กุฏิไม่เคยล็อก ถ้าโจรงัดเข้าไปคงได้แค่บาตร ชุดแม่ชี และหนังสือธรรมะ ขนาดเตียงยังไม่มีให้ขนเลย มีแต่ผ้าห่มกับหมอน คนเราพอไม่มีอะไรให้ยึด ตัวจะเบา

จากที่เคยติดนาฬิกามากๆ ตอนนี้ไม่ใส่ก็ได้ เทียบกับก่อนบวชแค่เลือกชุดใส่ออกจากบ้านคิดแล้วคิดอีก แต่อยู่ที่เสถียรฯมี 4 ชุด ก็จริง แต่แบบเหมือนกันเป๊ะ ต่างหู แหวน เงิน นาฬิกา วัตถุทั้งหลายไม่มีเลย ไปออกรายการโทรทัศน์ของคุณดู๋-สัญญากับแม่ชีศันสนีย์ ยังไม่ทันเห็นซอง เข้าสังฆะไปหมดแล้ว เรามาเพื่อตัด ตัดเพื่อให้เห็นความจริงว่าวันที่ไปจากโลกนี้ มันไม่มีอะไรที่ติดตัวเราไปเลย

ถึงตอนนี้เมื่อกลับมาใช้ชีวิตภายนอก อีกครั้ง ต้องกลับมาหาวัตถุเหล่านั้น แต่ธรรมะก็ทำให้ยึดติดน้อยลง ไม่ได้เป็นทาสมันอีกต่อไป สมัยก่อนเคยเป็นทาสขนาดที่ว่าออกจากบ้านมาแล้ว ถ้าลืมนาฬิกาต้องกลับไปเอา ตอนนี้เหมือนเราได้ตัดกิเลสออกจากตัว เมื่อเทียบกับทางโลก สุขทางธรรมนี่แหละที่สามารถพูดได้เต็มปากว่าสุขจะตายจริงๆ...




ที่มา - เว็บไซต์ ศีล5 ดอตเน็ต
กระดานสนทนาธรรม > ไข่เจียวหนึ่งจานกับการเห็นสุขทุกข์ทันตา ของ สุนิสา สุขบุญสังข์

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

คลิกดูวิดีโอMy Way_AOM

เป็นวิดีโอลำดับเรื่องราวของอ้อม - สุนิสา สุขบุญสังข์ ว่าทำไมจึงไปโกนหัวบวชชี