นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

บทความธรรมะ

Wednesday, January 26, 2011

อ้อม-สุนิสา เปลี่ยนชีวิตไม่เหมือนพลิกฝ่ามือ

 

อ้อม-สุนิสา เปลี่ยนชีวิตไม่เหมือนพลิกฝ่ามือ

มันก็เลยกลายเป็นเรื่องชวนคิ้วขมวด เมื่ออ้อมตัดสินใจโกนผมห่มผ้าขาวบวชชีรักษาศีลที่เสถียรธรรมสถานนานนับเดือน และยากจะหุบปากมิเอ่ยถามว่า อ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์ วานนี้ กับวันนี้เปลี่ยนไปอย่างไร นี่คือบทสนทนากับเวลาเพียงครู่ยามที่ "กายใจ" ได้รู้จัก และสัมผัสกับความคิดของเธอ




 - คุณมองเรื่องการบวชของผู้หญิงอย่างไร


 ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้หญิงจะบวช แต่อาจไม่ค่อยเห็นกัน ต่างจากการบวชพระที่เป็นเรื่องของความเชื่อความศรัทธาที่เกิดขึ้นมานาน เหมือนประเพณีบางอย่าง เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมายาวนานแล้ว อย่างที่เราได้เรียนรู้ว่า ผู้สืบสานธรรมะของพระพุทธองค์ที่เขาเรียกว่าอุบาสก อุบาสิกา ก็เหมือนกัน ชีก็เหมือนกับอุบาสิกา เพียงแต่รูปแบบของการถือศีล หรือการแต่งตัวแตกต่างกัน ถือศีลน้อยกว่าพระ แต่กรณีของอ้อมบวช อ้อมถือศีลเท่ากับเณร




 - คิดมาก่อนหรือเปล่าว่าจะบวชชี


 คิดค่ะ คิดมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ทำ อ้อมเชื่อว่า เรื่องของการบวช มันคือเรื่องของการตัด ตัดใจ ตัดทิ้ง ตัดแล้วก็วางในสิ่งที่คุณยึดถืออยู่ในปัจจุบันในฐานะฆราวาส เพื่อไปสู่อีกสถานภาพหนึ่ง ตัดแล้วซึ่งการเป็นฆราวาส




 - แต่ดูเหมือนว่า คุณปุบปับออกบวชเลย


 ความจริงบวชเมื่อไรก็ได้นะคะ บวชเมื่อไรก็ได้ แต่ตัดได้เมื่อไรมากกว่า อ้อมเชื่อว่าหลายคนพร้อมบวช ทุกคนพร้อม แต่พอถึงขั้นต่อมา แล้วตัดได้หรือยัง ตัดเพื่อที่จะบวชได้หรือยัง พร้อมส่วนพร้อม แต่ถ้าพร้อมจริงต้องตัดแล้วไปเลย
 ตัดในความหมายของอ้อม คือตัดทิ้งทุกอย่างที่อยู่กับเราทั้งหมด ทุกอย่างที่ข้างตัวเรา สิ่งที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันเพื่อจะก้าวไปสู่อีกสถานภาพหนึ่ง แต่ไม่ได้แปลว่าการตัดครั้งนี้เป็นการตัดที่ยิ่งใหญ่ มันเป็นการตัดแค่ช่วงหนึ่งสำหรับคนบวชระยะสั้นอย่างอ้อม เป็นการแค่ลองตัดช่วงหนึ่ง ซึ่งถือเป็นขั้นของผู้เริ่มต้นมาก เพราะคนที่บวชตลอดชีวิต เขาต้องคิดแล้วว่า ต้องตัดทิ้งทั้งหมด




 - จำเป็นไหมว่า ถ้าต้องการตัด ก็ต้องออกบวช


 เราต้องแยกก่อน คนบางคนไม่ได้ถือบวช ไม่ได้ถือศีลมากมายหลายข้อ แต่ถือศีล 5 ครบ ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี มีสัมมาทิฐิ สัมมาวาจา ไม่ทำร้ายจิตใจใคร ทุกอย่างอยู่ในครรลองของการทำดีประพฤติดี ตั้งใจมั่นในการถือศีล คนนั้นอาจเป็นคนที่บรรลุ  หรือเข้าใจหลักธรรมได้ดีกว่าก็ได้
 การถือบวชชี หรืออยู่ในโลกฆราวาสก็ตาม สามารถรักษาศีลได้อยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องยอมรับในความต่าง โลกภายนอกมันอาจทำให้เราวุ่นวาย พร้อมให้เราผิดพลาดผิดศีลได้ง่าย แต่พอเป็นนักบวชจะมีวินัย หรือเรื่องราวต่างๆ อีกรูปแบบหนึ่ง ถูกฝึกสอนในอีกแบบหนึ่ง เรื่องราวที่พูดสนทนากันก็เป็นอีกแบบ
 การอยู่ในเพศนักบวช เราไม่พูดเพ้อเจ้อ เราไม่ส่งจิตออกนอก มันก็อยู่กับตัวเองค่อนข้างเยอะ ใช่ไหมคะ สิ่งที่คุยกันมันเป็นเรื่องของชีวิตตรงนั้น หลักธรรมะที่เรียน หรือการสวดมนต์ มีเวลาไปปฏิบัตินั่งสมาธิ ต้องยอมรับว่า มันอาจเป็นหนทางลัดไปสู่นิพพาน หรือการบรรลุ เพราะเรื่องอื่นที่มาประกอบกันมันอาจไม่เหมือนกับทางโลก




 - ถ้าอย่างนั้น หัวใจของการออกบวชของอ้อม คืออะไร


 สำหรับอ้อม บางคนอาจสับสวิตช์โดยไม่ต้องบวช แต่อาจสะพายเป้ไปเที่ยว อย่างน้อยเขาก็ได้อยู่กับตัวเองเหมือนกัน มันไม่แปลก มันอยู่ที่วิถีและวิธี ถ้าเขาได้อยู่กับตัวเอง ใจเขานิ่ง เขาได้เรียนรู้ตัวเอง อันนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่เป้าหมายมันอาจต่างกัน การได้อยู่กับตัวเองโดยมีธรรมะเป็นเครื่องนำพา และไปศึกษาพระธรรม เพื่อดูใจตัวเองให้วันหนึ่งไปถึงจุดหมายวันนั้น มันอาจจะแตกต่างกันตรงนี้




 - คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าที่บวชชีเพราะต้องการเปลี่ยนตัวเอง อะไรที่อยากเปลี่ยน และเปลี่ยนได้ไหม


 อ้อมว่าคนเราหากอยากเปลี่ยนตัวเอง ต้องเปลี่ยนในสิ่งไม่ดี ในเรื่องที่ทำให้คนอื่นเสียใจ กระทบ หรือตัวเราเองรู้ว่ามันเป็นอนุสัยที่ไม่ดี เราก็อยากเปลี่ยน บางทีคนเราอาจต้องหาตัวเองให้เจอว่า "จริงๆ แล้วเราเป็นคนยังไง จริงๆ แล้วเราเป็นคนแบบไหน"
 เคยมีพระท่านหนึ่ง ถามอ้อมว่า "จริงๆ แล้วอ้อมเป็นคนแบบไหน" ให้เราพิจารณาดูตัวเอง แล้วท่านก็พูดว่า "คนบางคนทั้งชีวิตยังไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน" พออ้อมตอบกลับไปว่า "อ้อมเป็นคนอารมณ์ร้อน" ท่านก็บอกว่า "นั่นไม่ใช่คำตอบ"
 ในมุมของอ้อม ถ้าเราทันอารมณ์เรา และมองไปเรื่อยๆ เราจะรู้ว่าเราเป็นคนแบบนั้นแบบนี้ มันจะค่อยๆ ออกมา อาจจะยังไม่เห็น หรืออาจจะเห็น  ทุกวันนี้อ้อมยังต้องค่อยๆ ดูไปว่าเราเป็นคนแบบไหน ถ้าเราเจอมันเราอาจใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น




 - จำเป็นต้องนิ่งไหมเพื่อค้นหาตัวเอง


 บางครั้งการเกิดปัญญามันต้องมาพร้อมกับปัญหาก็ได้ อยู่ที่ว่าเราเลือกเรียนรู้ปัญหาจากมุมไหน ถ้าเราจมอยู่กับปัญหา และเราคิดว่ามันเป็นปัญหาแล้วโทษคนอื่น ตีอกชกตัว ไม่ให้เวลาทำให้ทุกอย่างคลี่คลายและใช้ปัญญามอง หรือไม่มองมันให้เกิดปัญญา ไม่มองด้วยปัญญา ก็อาจจะไม่รู้จักตัวเอง




 - ระหว่างที่บวชอยู่เสถียรธรรมสถาน อะไรที่คุณรู้สึกว่าขัดเกลาตัวเองได้ยากที่สุด 


 ใจค่ะ ใจ กับความคิด อ้อมว่า คนเราจะดีหรือไม่ดีมันอยู่ที่คิดอยู่ที่ใจ มีความสุขไม่มีความสุขอยู่ที่คิดอยู่ที่ใจ ที่สำคัญที่สุดต้องมีสติเป็นตัวรู้ มีสติก็ต้องรู้ทัน และอะไรทำให้สติเราเกิด มันก็ต้องตั้งใจดู เดือนเดียวมันไม่ทำให้คนเปลี่ยนได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ เราเป็นอย่างนี้มาตั้งนาน เหมือนถ้าเราพลิกฝ่ามือมันง่ายใช่ไหมคะ แต่ถ้าเราค่อยๆ พลิก
เปรียบเสมือนกับว่า มือเราหงายมาแบบนี้ 35 ปี เราจะเปลี่ยนให้มันคว่ำ ถ้าใช้เวลา 35 ปีในการหงาย แสดงว่าสัดส่วนของการที่มันจะหงายได้ มันต้องช้ามาก มันคงต้องค่อยๆ พลิก อย่างน้อยเราได้เรียนรู้แล้วว่า เราต้องพลิกมัน อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ดีกว่าเราไม่ได้เริ่มเลย




 - พอเราเดินออกจากทางธรรมแล้ว กลัวไหมว่าคนจะคาดหวังสูง


 มีคนคาดหวังเยอะ แรกๆ มีกลัวด้วย คือกังวลว่าไม่อยากให้คนคาดหวังว่าจะต้องดี จะต้องเปลี่ยน จะต้องนั่นนี่ กลัวไปว่าเขาจะไปโทษว่าธรรมะไม่ได้ช่วยขัดเกลา พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนอะไร ขณะที่คิดอย่างนั้นล่ะคะ บางอย่างก็สอนให้เรารู้ว่า เรากำลังกังวลกับอนาคตจนเกินไป ทุกข์เราก็เกิด
เพราะฉะนั้นเราก็อยู่กับปัจจุบันดีกว่า เราไปห้ามใจคนไม่ได้ เหมือนที่พระท่าน ครูบาอาจารย์ท่านสอน มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีคนสรรเสริญก็ต้องมีคนนินทา มีคนเข้าใจเราก็อาจมีคนไม่เข้าใจเรา เราห้ามใจเขาไม่ได้ ที่สำคัญคือใจเรามากกว่า




 - แล้วตั้งรับกับมันอย่างไร


 เราก็ทำให้เต็มที่ และยิ่งถ้าเรารู้สึกว่า เราไม่อยากให้เสื่อมเสีย มันก็เป็นตัวเตือนสติเราให้ทำกิริยาให้ดี ทั้งหมดทั้งสิ้นมันต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เราเป็นคนปกติ รักโลภ โกรธ หลง ก็ยังคงอยู่ ไหนจะนิสัยที่มันฝังรากอยู่มันก็ไม่ใช่ว่าน้อย ต้องยอมรับ เข้าวงการมาตั้งแต่อายุ 14 เรายังต้องกลับมาอยู่กับเรื่องเดิมๆ ความเร็วเดิมๆ
 บางครั้งความเร็วที่มันเดิมๆ เราอาจจะต้องเดินให้มันช้าลงเพื่อจะได้เห็นชัดขึ้น มันก็ถึงจุดหมายเหมือนกันมั้ง? แต่เมื่อเราเดินช้า เดินสบายตัว เราอาจจะมีจังหวะเดินได้เร็วขึ้นอีก และเร็วมากก็ได้ ทุกอย่างอ้อมว่ามันอาศัยจังหวะนะคะ มันไม่ได้บอกว่าต้องเดินช้าและถูก เดินเร็วแล้วไม่ถูก หรือเดินเร็วแล้วถูก เดินช้าผิด อ้อมว่า ศิลปะในการใช้ชีวิต มันคือรู้ว่าจังหวะไหนควรทำอะไร อย่างไร




 - อ้อมมีแม่เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ แต่วิธีคิดเลขของอ้อมกับของแม่ต่างกัน


 คุณแม่มีวิธีคิดที่เป็นขั้นเป็นตอนกว่า อ้อมมีวิธีคิดแบบอ้อมเอง คิดในใจ และเร็วกว่า แต่ผลออกมาเหมือนกันคือทำเลขถูก
 วิธีการทำเลขของแม่กับอ้อมต่างกัน ความที่แม่เป็นครู การทำเลขของแม่ต้องทำเลขให้ถูกต้อง แต่สำหรับอ้อมซึ่งเป็นนักเรียน และต้องทำแข่งกับโจทย์ และทำโจทย์ให้แข่งกับเวลา เพราะฉะนั้นอ้อมจะเอาความถูกต้อง วิธีทำช่างมันเพราะมีวิธีคิดของอ้อมเอง แต่นำพามาซึ่งคำตอบได้เหมือนกัน
ข้อที่แม่สอน คือการที่ทำวิธีถูก และจดไว้เป็นระบบระเบียบ สิ่งที่ได้คือ ถ้าคำตอบนั้นผิด หรือเรามีเวลาทวนคำตอบ เราจะรู้เลยว่า ข้อผิดของเราอยู่ตรงไหน กระทั่งการทดเลขต้องเขียนให้ชัด บางอย่างที่เราทำด้วยความเคยชิน เราจะไม่รู้เลยว่าเราผิดพลาดตรงไหน




 - แล้วมันใช้กับชีวิตปัจจุบันได้ไหม


 ใช้ได้ค่ะ ใช้ได้ คือทุกเรื่อง มันขึ้นอยู่กับว่าเราประยุกต์ใช้กับชีวิตแบบไหน มันจะทำให้เรารู้เลยว่า เราสามารถมองย้อนไปเป็นสเต็ปได้




  - อ้อมใช้ชีวิตมีแบบแผนแค่ไหน


 บางเรื่องอ้อมก็ปล่อยมันไป เราก็ต้องยอมรับว่าเราไม่ใช่คนที่วางแผนชีวิตดีตลอดเวลาได้ทุกเรื่อง ครบทุกอย่าง บางทีก็ปล่อยมันเป็นไปตามวาระของมัน เพียงแต่ว่าเวลาเราทำงานเราจะวางแผนว่า วันนี้เราจะทำเรื่องนี้ จัดรายการวิทยุ 4 ชั่วโมง หรือ 3 ชั่วโมงครึ่ง เราจะพูดเรื่องนี้โดยประมาณ ทำการบ้านมาตอนกลางคืน จะโยงไว้ก่อนว่าจากเรื่องนี้จะพูดเรื่องนี้ หรือบางทีอาจจะรู้คร่าวๆ ว่า จะจบเรื่องตรงไหน
 มีเป้าหมาย แล้วกำหนดให้ไปถึง ไม่ต้องให้ยาวมาก อะไรที่เตรียมยาวมากมันอาจจะกระท่อนกระแท่นก็ได้




 - ถ้าตอนอายุ 14 ปี ไม่มีใครดึงเข้ามาวงการบันเทิง คิดว่าตัวเองจะเป็นอย่างไร


 ก็นั่นสิคะ วันก่อนขับรถอยู่ เห็นคนหอบของรุงรังออกจากโรงพยาบาลเรียกแท็กซี่ ยังคิดเลยว่า ชีวิตอ้อมสบาย วันนี้ เราอาจเหมือนเป็นคนให้กำลังใจคนอื่นได้ เป็นพลังให้คนอื่นได้ มันก็มาจากเพราะเรายังมีอะไรที่สบายกว่าคนอื่นนั่นเอง มันทำให้นึกออกว่า เราพอที่จะทำประโยชน์อะไรได้บ้างก็ทำไปเหอะ น้อยที่สุดในแง่ของจิตใจ ให้กำลังใจคนได้ก็ให้ไป
 อ้อมจัดคลื่น 94 เอฟเอ็ม  Great Gossip Great Music เรียกว่าเป็นคลื่นบันเทิงเต็มตัว คุยเกี่ยวกับเรื่องดารา นักร้อง แต่อ้อมเอาบันเทิงให้มาเกี่ยวพันกับชีวิตจริงของคน ให้เขาเห็นว่าชีวิตก็ไม่ต่างอะไรกับละคร เอาละครเป็นตัวอย่าง แล้วเราจะปรับใช้แง่คิดบางอย่างที่เราจะไม่ทำตามละครที่เป็นข้อผิดพลาด หรือละครสอนอะไรให้ดี เราก็เอามาใช้




 ชีวิตตอนเด็กลำบากไหม


 มันมีทั้งช่วงลำบาก และช่วงที่ดีค่ะ เพราะบังเอิญแม่เป็นครูที่ทำอาชีพอื่น เสริมด้วย แต่มันก็มีช่วงลำบากที่ต้องยอมรับ เพราะฉะนั้นมันได้เห็นจริงๆ ทั้งความสบายและความลำบาก ได้เห็นทั้งหมดในช่วงเวลาสั้นๆ และได้เห็นว่าทุกอย่างมันอยู่ที่การกระทำของเรา แม่ขยันเราก็ฟื้นเร็ว แม่ล้มแม่ก็ฟุบ แต่แม่ก็ฟื้นได้ เพราะฉะนั้นจะเป็นคนกลัวมาก กลัวการเป็นหนี้ แต่ฟุบไม่กลัวหรอก
 การเป็นหนี้มันทำให้เหนื่อยทั้งกายและใจ ทำงานหามาได้เท่าไร ปัจจุบันยังไม่ทันคิดต้องเอาไปโปะอดีตก่อน แล้วไปแอดวานซ์เงินอนาคต ครู ทหาร ตำรวจ หมอ พยาบาล ควรมีเงินที่พอ เมื่อมีเงินพอ เขาจะไม่เหนื่อยกายไม่เหนื่อยใจ เขาจะมีแรงในใจที่จะทำให้กายเขาเคลื่อนไหว ดูแลคนในสังคมให้ดี




 - อาหารการกินอยู่ตอนบวชเป็นอย่างไร


 มื้อแรก เป็นน้ำเต้าหู้ น้ำฟักทอง ผลไม้รวม แต่มันทำให้เราเห็นว่า เราควรกินในสิ่งที่ร่างกายต้องการ จะมังสวิรัติหรือไม่ก็แล้วแต่ มีก็กิน กินให้อิ่มพอ ถ้าเราไม่ยึดติดอะไรกับมัน ร่างกายจะบอกกับเราเอง สังขารจะบอกว่า อิ่มและพอ เราต้องดูดีๆ นะว่า อยากกิน หรือร่างกายต้องการ ความอยาก มันทำให้เราน้ำหนักเกิน พอได้กลิ่นแตะจมูกเข้า โอ๊ย หอมจังเลย แต่ดูนะ ไอ้ที่หอมๆ มันไม่ค่อยมีประโยชน์เลย




 - ดูเหมือนคุณจะเตรียมพร้อมมาก่อนบวช


 คือถ้าบวชเพราะถ้าถูกบังคับ หรือบวชสักแต่ว่าบวชอาจรู้สึกอึดอัดวินัยปฏิบัติเยอะ แต่ถ้าเราทำอะไรสักอย่างแบบตั้งใจเดินไป ใจเราเปิด พอใจเปิดอะไรก็ได้ไปหมดแหละค่ะ เหมือนเราชอบใครสักคน ใจเราเปิด เขาทำอะไรก็ดีหมด แต่ไม่ใช่ว่าเปิดอย่างไม่มีสตินะคะ ต้องเปิดอย่างมีสติด้วย




 - ช่วงบวชที่เสถียรธรรมสถาน มีวัตรปฏิบัติอะไรบ้าง ใครเป็นผู้สอน


 ตอนอยู่ที่เสถียรฯ การเรียนการสอนเกิดได้ทุกอณูเลย เอาที่เห็นชัดๆ บทสวดมนต์ก็เป็นการสอน ใครที่สวดมนต์ก็ลองอ่านคำแปลดูนะคะ คำแปลจะบอกสัจธรรมของชีวิตที่เราปฏิเสธไม่ได้ ค่อยพิจารณาดู อ้อมพิจารณาดูแล้วและเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เบื้องต้นอาจปฏิเสธกันก่อน พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เชื่อ ต้องพิสูจน์
 เวลาทำวัตรเย็นก็มีบทสวดหลายบท คุณแม่ศันสนีย์จะสอนว่าบทสวดมนต์สอนอะไรบ้าง ทุกวันจะได้ฟังคำสอนจากพระโอษฐ์ พระองค์สอนนักบวชให้ทำตัวอย่างไร
 มีกิจวัตรพิจารณาอาหาร กวาดบ้าน ซักผ้า ระหว่างปฏิบัติเราก็ส่งการบ้านว่า เราเรียนรู้สิ่งที่มากระทบใจอย่างไร ใจเรารู้สึกอย่างไร เราคิดอย่างไรกับเหตุการณ์นี้  สิ่งที่กระทบใจเราระหว่างเหตุการณ์นี้เกิดอะไรขึ้น เราดำเนินการกับมันอย่างไร จัดการกับปัญหาหรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างไร ถึงออกมาแล้วอ้อมก็ยังส่งการบ้านให้คุณแม่ศันสนีย์อยู่เรื่อยๆ

ที่มา - กรุงเทพธุรกิจ : Life Style : สุขภาพ

  -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

คลิกที่นี่ ดูวิดีโออ้อมโกนหัวบวชชี

No comments:

Post a Comment