นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

บทความธรรมะ

Friday, September 20, 2013

วรรณกรรมชาดกนอกนิบาตล้านนา

วรรณกรรมชาดกนอกนิบาตล้านนา
ศ. ดร. อุดม  รุ่งเรืองศรี

    ชาดก หมายถึง เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต โดยเฉพาะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันได้บำเพ็ญบารมีในชาติต่าง ๆ ก่อนที่จะเป็นเจ้าชายสิทธัตถและสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ชาดกจัดเป็นสองกลุ่ม คือ"นิบาตชาดก" และ "พาหิรชาดก" ซึ่งนิบาตชาดกหมายถึงชาดกที่เป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก มีทั้งหมด ๕๔๗ เรื่อง แต่ละเรื่องจะกล่าวถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการเสวยพระชาติเป็นสัตว์หรือมนุษย์ต่าง ๆ กันไป ชาดกดังกล่าวแบ่งเป็น ๒๒ นิบาต แต่ละนิบาตมีจำนวนชาดกไม่เท่ากัน โดยเฉพาะนิบาตที่ ๒๒ นั้น เรียกว่า มหานิบาตชาดก หรือ "ทศชาติชาดก" นั้นเอง ชาดกเรื่องใดที่ไม่ตรงกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดในจำนวนนิบาตชาดก ๕๔๗ เรื่องนั้น ล้วนแต่เรียกว่าเป็นพาหิรชาดกหรือชาดกนอกนิบาตทั้งสิ้น
    ในล้านนานั้น หลังจากที่ได้นำเอาพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาประจำอาณาจักรแล้ว ก็ได้นำเอาความรู้ในพุทธศาสนามาพัฒนาให้มีลักษณะของท้องถิ่นอย่างชัดเจน ทั้งวรรณกรรมภาษาบาลี วรรณกรรมตำรา และวรรณกรรมชาดก ที่มีการ "สร้าง" ไว้ปรากฏอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ หากจะศึกษาจากคัมภีร์ชื่ออานิสงส์สร้างเขียนธรรมแล้ว พบว่ามีการพรรณนาถึง "อานิสงส์" หรือผลตอบแทนแก่ผู้สร้างคัมภีร์ไว้เป็นอย่างสูง ว่า
                
"…บุคคลใดยินดีในศาสนาตถาคตและได้สร้างเขียนธัมมปิฏกะทั้ง ๓ คือว่าอภิธัมมา ๗ คัมภีร์ สุตตันตปิฏกะและอัตถกถาฏีกาคัณฐีทั้งหลายก็ดี บุคคลทั้งหลายฝูงนั้นก็ได้อานิสังสผละมากนัก บ่อาจจักวัณณนาสังขยา นับประมาณแห่งบุญอันหาที่สุดที่เมี้ยนบ่ได้แล ดังว่ามีเทพบุตรตนหนึ่งมีอายุได้แสนกัปป์ มีปากแลลิ้นได้แสนอัน.. ก็บ่อาจเพื่อจักอ่านนับหื้อเสี้ยงหื้อเมี้ยน ปริจเฉทว่าเท่านั้น เท่านี้แท้แล.. แม้นบ่ได้สร้างได้เขียนพร้อมทั้งมวล เท่าคัมภีร์หนึ่งก็ดี บ่ได้ ผูกหนึ่งก็ดี บ่ได้ บทหนึ่งก็ดี ลวงสุดไปแม้อักขระตัวเดียวหนึ่งก็ดี แม้นบ่ได้สร้างได้เขียน เท่ามีน้ำมันน้ำหมิ่นและแต่งแปลงน้ำประทัดลานหื้อได้เขียนธัมม์ดั่งอั้นก็ดี บุคคลผู้นั้นก็จักได้ผละบุญกัมม์มากนัก จักได้เสวยสมบัติเป็นพระญาจักกวัติราช.." (อ้างจาก พุทธศาสนาในลานนาไทย น. ๑๒๐-๑๒๑)
             

    ด้วยประเพณีนิยมดังกล่าวนี้ จึงได้มีผู้สร้างเขียนคัมภีร์ต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก ปรากฏจากการสำรวจของผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหมาย  เปรมจิตต์ และคณะ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖ จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๓) ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และพะเยา รวม ๒๔๔ วัด ได้พบและทำการบันทึกชื่อคัมภีร์ใบลานไว้ ๒๒๒,๕๖๐ ผูก และที่มีความสำคัญตรงกับจุดประสงค์ของผู้ช่วยศาสตราจารย์สมหมาย  เปรมจิตต์ และคณะ มีถึง ๔,๙๗๓ ผูก ซึ่งท่านก็ได้ถ่ายทำเป็นไมโครฟิล์มไว้
    ชาดกนอกนิบาตในล้านนา เป็นเรื่องที่นักปราชญ์โบราณแต่งขึ้น เรื่องที่นำมาเป็นต้นเค้านั้น อาจมาจากนิทานพื้นบ้านหรือนิทานที่ได้ฟังสืบ ๆ กันมา หรืออาจเป็นเรื่องที่ผู้รจนาได้คิดขึ้นมาเองก็ได้ เท่าที่ศาสตราจารย์ ดร. ฮารัลด์  ฮุนดิอุส และอาจารย์สิงฆะ  วรรณสัย ประมวลขึ้นในช่วงการศึกษาสำรวจคัมภีร์ใบลานแล้วนั้น พบว่ามีชาดกนอกนิบาตที่แต่งในล้านนา ๒๒๖ เรื่อง
    ทั้งนี้ เมื่อผู้เขียนได้ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ในแหล่งเก็บรวบรวมต่าง ๆ ในขณะนี้พบว่ามีชาดกนอกนิบาตล้านนารวม ๑๙๓ เรื่อง แต่มีชื่อเรื่องรวม ๓๑๖ ชื่อ โดยที่ชาดกบางเรื่องอาจมีชื่อมากกว่าหนึ่งชื่อ เช่น ก่ำกาดำ เรียกตามลักษณะผิวกายสีดำของพระเอก แต่เรียก พิมพาขะนุ่นงิ้ว ตามลักษณะของนางเอกที่เกิดจากผลนุ่น เรื่องช้างโพรงนางผมหอม ก็อาจเรียกให้สั้นลงว่า นางผมหอม ส่วนเรื่อง จิตตสารี อาจพบว่าเรียกชื่อเป็น พรหมทัตต์ และ พรหมทัตต์หน้าแว่น และเรื่อง หนูเผือก อาจพบว่ามีชื่อ มหาตุณหิ มหาตุณหิหนูเผือก มหาตุณฑิละ มหาตุลปัณฑิตะ เสตปัณฑิตะ เสตปัณฑิตชาดก เสตมูสิกะ ธัมมปาละ และธัมมปาละหนูเผือก เป็นต้น ส่วนนิบาตชาดกนั้น ขณะนี้ได้ศึกษาพลแล้วจำนวน ๙๕ เรื่อง
    จากการศึกษาพบว่าชาดกนอกนิบาตของล้านนา มีวิธีการแต่ง ๔ แบบด้วยกัน คือ
       ๑. แต่งด้วยภาษาบาลี ซึ่งมีอยู่จำนวนน้อย
       ๒. แต่งแบบ "นิสสัย" หรือ การแปลยกศัพท์ คือยกภาษาบาลีมาตั้งคำหนึ่งแล้วแปลเป็นภาษาล้านนาสลับกันไปจนจบใจความ  ดังพบว่าเรื่องส่วนใหญ่ใน "ปัญญาสชาดกฉบับวัดสูงเม่น อ.สูงเม่น แพร่" ที่ปริวรรตออกเป็นปัญญาสชาดกฉับปริวรรตจากอักษรธรรม หรือการศึกษาเชิงวิเคราะหืปัญญาสชาดกฉับล้านนา  ของรองศาสตราจารย์ ดร. พิชิต  อัคนิจ และคณะ ส่วนใหญ่เป็นการแต่งประเภทนี้
       ๓. แต่งแบบสำนวนเทศน์ ใช้ฉันทลักษณ์ประเภทร่ายยาว การแต่งแบบนี้จะเริ่มด้วยการยกคาถาหรือจุณณียบทภาษาบาลีมาตั้งแล้วใช้ภาษาล้านนาดำเนินความต่อไป โดยแบ่งเป็นวรรคละ๗ - ๑๑ คำ คำสุดท้าย่ของวรรคจะส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๓ - ๗ ของวรรคถัดไป ในตอนท้ายของความในแต่ละช่วงจะจบด้วยคำลาท้าย เช่น "แล / แลนา" เป็นต้น พบว่าชาดกที่แต่งแบบนี่จะมีการใช้โวหารพรรณนาค่อนข้างยาว เช่นในเวสสันตรชาดก ดังที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างแล้ว
       ๔. แต่งแบบร้อยแก้ว การแต่งชาดกแบบนี้จะคล้ายกบการแต่งแบบสำนวนเทศน์ เพียงแต่ภาษาล้านนาที่ใช้ในการดำเนินเรื่องไม่จำเป็นต้องส่งสัมผัสเท่านั้น ชาดกนอกนิบาตในล้านนาส่วนใหญ่มักแต่งในลักษณะนี้
    ทั้งนี้ พบว่าชาดกบางเรื่องแม้จะ "ริสสนา" หรือรจนาด้วยฉันทลักษณ์ร้อยแก้วก็ตาม แต่เมื่อมีการพรรณนาถึงความรู้สึกโศกเศร้า เช่น การคร่ำครวญอย่างที่นางเทวีครวญเพราะพระโอรสพลัดพรากไปนั้น บางครั้งกวีอาจเรียบเรียงด้วยฉันทลักษณ์ร่ายยาวก็มี ทั้งนี้อาจเป็นเพราะลีลาการพรรณนาด้วยโวหารเชิงกวีนั้นน่าจะเร้าความรู้สึกได้มากกว่าการเรียบเรียงด้วยภาษาร้อยแก้ว
    ชาดกนอกนิบาตล้านนา มีลักษณะโครงเรื่อง ๓ แนว คือ
       ๑. โครงเรื่องเดี่ยว อย่างในสิริจุฑามณีชาดก ในชุดปัญญาสชาดกที่พระโพธิสัตว์รำพึงว่า อยากบริจาคเลือดเนื้อและชีวิตให้เป็นทาน พอพระอินทร์ทราบเหตุก็แปลงเป็นพราหมณ์ครึ่งซีกมาขอกายอีกซีกหนึ่งจากพระโพธิสัตว์ เมื่อพระโพธิสัตว์ให้ยักษ์ใช้เลื่อยผ่าร่างบริจาคแล้วก็สิ้นชีวิต พราหมณ์แปลงก็แสดงตัวว่าเป็นพระอินทร์แล้วชุบชีวิตพระโพธิสัตว์คืนมา เป็นต้น
       ๒. โครงเรื่องขยาย เป็นเรื่องในแนวการเล่าถึงชีวิตของตัวละครซึ่งผจญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต เช่นแบบที่พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นกษัตริย์พาลูกเมียหนีศัตรูออกจากเมืองแล้วพลัดพรากจากลูกและเมีย จากนั้นจึงให้ลูกหรือเมียเป็นผู้ดำเนินเรื่องกว่าที่ทั้งหมดจะได้พบกัน
       ๓. โครงเรื่องแบบผจญภัย โครงเรื่องแนวนี้จะให้พระโพธิสัตว์พลัดพรากจากเมืองเข้าป่า ไปพบฤาษี ได้ของวิเศษแล้วได้เดินทางต่อไป จากนั้นก็จะพบกับอุปสรรคหรือได้รบกับตัวละครร้าย ในช่วงเวลานั้นพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นพระเอกก็จะได้พบตัวละครเอกฝ่ายหญิงซึ่งมักจะมีหลายนาง เมื่อแก้ไขอุปสรรคแล้วก็กลับคืนเมือง ซึ่งพระโพธิสัตว์ก็มักจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ในเมืองนั้น
    ทั้งนี้ เมื่อดูจากลักษณะร่วมของชาดกเรื่องต่าง ๆ ของล้านนาแล้ว อาจสรุปลักษณะรวมของเรื่องที่ปรากฏได้ดังนี้
       ๑. ครอบครัวของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์อาจมาจากครอบครัวระดับใดระดับหนึ่ง ดังนี้คือ กษัตริย์ พราหมณ์ เสนา ปุโรหิต เศรษฐี พ่อค้า คนยากจน หรือเกิดเป็นสัตว์
       ๒. สภาพที่พระโพธิสัตว์เกิดมา พระโพธิสัตว์อาจเกิดมาได้ทั้งในสภาพร่างกายที่สมบูรณ์งดงามดังที่ปรากฏในเรื่องต่าง ๆ ทั่วไป อาจเกิดมามีร่างกายที่ไม่สมประกอบ เช่น มีแต่หัวอย่างแตงโมในเรื่องชมพูหมากเต้า อาจมีผิวกายดำอย่างในเรื่องก่ำกาดำ หรือเกิดมาเป็นสัตว์ เช่น เป็นกิ้งก่า ซึ่งตอนหลังได้ลอกคราบเป็นหนุ่มรูปงามในเรื่องสุวัณณะจักก่าขางฅำ หรือเกิดเป็นหนูเผือก เป็นต้น
       ๓. การเรียนวิชา พระโพธิสัตว์อาจเรียนวิชาจากอาจารย์ทิสาปาโมกข์ ในเมืองตักกสิลา เรียนจากฤาษีในป่าหิมพานต์ จากอาจารย์ผู้ทรงศาสตร์เพท หรือไม่ได้เรียนแต่มีปัญญาเกิดเอง
       ๔. การออกผจญภัย พระโพธิสัตว์อาจออกผจญภัยด้วยเหตุที่ถูกขับออกจากเมือง ถูกบังคับให้เดินทางไปค้นหาของวิเศษ ติดตามสหายไปเที่ยว ไปเรียนวิชา หรือถูกลักพาตัวก็ได้
       ๕. การได้รับอำนาจพิเศษ พระโพธิสัตว์อาจได้รับพรพิเศษหรือของวิเศษจากพระอินทร์ จากฤาษี หรือค้นพบของวิเศษเอง
       ๖. ของวิเศษที่เสริมอำนาจของพระโพธิสัตว์ ของดังกล่าวอาจเป็น "ดาบสรีกัญชัย" หรือพระแสงขรรค์ชัยศรี "เกิบตีนทิพ" คือรองเท้าวิเศษสวมแล้วเหาะได้ ไม้เท้าวิเศษที่ใช้ฆ่าหรือชุบชีวิตได้ "ธนูสิงห์" คือธนูวิเศษ "แก้วมณีโชติ" หรือแก้ววิเศษ เครื่องใช้วิเศษ เช่น แหหรือเหล็กไนปั่นฝ้าย และในบางเรื่อง เพียงอีกฝ่ายหนึ่งเห็นลายฝ่ามือฝ่าเท้าที่เป็นรูปกงจักร ก็ยอมรับว่าเป็นผู้มีบุญสมภาร แล้วช่วยในกิจการต่าง ๆ แม้กระทั่งยกลูกสาวให้อย่างในเรื่อง หงส์ผาฅำ หรือ หงส์หิน เป็นต้น
       ๗. สหายของพระโพธิสัตว์ ผู้ที่ติดตามพระโพธิสัตว์ไปผจญภัยอาจเป็นพี่ชาย น้องชาย แม่ เสนา เพื่อน โดยเฉพาะบางเรื่องที่ม้าของพระโพธิสัตว์เป็นได้ทั้งพาหนะที่ไปทางอากาศ เป็นผู้ใหญ่ที่คอยเตือน และก็ยังให้ความเป็นกันเองแก่พระโพธิสัตว์อีกด้วยอย่างในเรื่องสุทธนู เป็นต้น
       ๘. ตัวละครที่เป็นปฏิปักษ์กับพระโพธิสัตว์ พบว่าผู้ที่คอยผจญกับพระโพธิสัตว์ซึ่งมีการเฉลยในท้ายเรื่องว่าเป็น "เทวทัตเถร" นั้น อาจพบได้ว่าในเรื่องเป็นยักษ์ วิทยาธร รากษส ปีศาจ อมนุษย์ กษัตริย์พาล เศรษฐี พ่อค้า และพ่อเลี้ยง (บิดาบุญธรรม) เป็นต้น
       ๙. ผู้ช่วยของพระโพธิสัตว์ โดยปกติแล้วพระอินทร์จะคอยช่วยพระโพธิสัตว์ในยามคับขัน หรือช่วยชุบชีวิตของพระโพธิสัตว์เสมอ แต่ในการดำเนินเรื่องนั้น นอกจากพระอินทร์แล้ว พบว่าพระโพธิสัตว์อาจมีผู้ให้ความช่วยเหลืออีก เช่น ฤาษี พ่อเฒ่าแม่เฒ่า หญิงหม้าย เศรษฐี พ่อค้า พราหมณ์ เสนา ปุโรหิต เทวดา นางเทวดา ยักษ์ ปีศาจ ม้า หมา นกยูง นกแขกเต้า
       ๑๐. ความสามารถของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์อาจมีความสามารถหลายอย่างหรืออย่างเดียวก็ได้ เช่น การรบ การแก้ไขปัญหา การแสดงธรรม การรักษาโรคภัย การแสดงความสามารถเชิงช่าง เช่น การปั้นรูป การบังคับสัตว์ การเล่นดนตรี การร้อยดอกไม้ การทำอาหาร เป็นต้น
       ๑๑. กิจกรรมของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ในและเรื่องอาจประกอบกิจกรรมเพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ได้ เช่น การติดตามหาบุคคลที่หายไป การไปเรียนวิชา การสงคราม การไปค้นหาของวิเศษ และในช่วงของกิจกรรมดังกล่าวนี้ พระโพธิสัตว์ก็มักจะได้พบกีบคู่ครองอีกด้วย
       ๑๒. คู่ครองของพระโพธิสัตว์ พบว่าบางเรื่อง พระโพธิสัตว์อาจมีคู่ครองเพียงคนเดียว และบางเรื่องอาจมีหลายคน ซึ่งคู่ครองของพระโพธิสัตว์นั้นอาจเป็นมนุษย์ธรรมดา หญิงที่เกิดมาในดอกบัวที่ฤาษีเลี้ยงไว้ ลูกสาวยักษ์ ลูกสาวพญานาค ลูกสาวพญาจระเข้ ดังในเรื่องนางแตงอ่อนมหาวงส์แตงอ่อน และพบว่าพระโพธิสัตว์ในเรื่องเจ้าสุวัตรนางบัวฅำ ที่มีชายาหลายนางจากหลายแหล่ง เช่น นางที่เกิดในดอกบัวที่พระฤาษีเลี้ยงไว้ ธิดาพญายักษ์ ธิดาพญาเงือก นางกินรี และนางเทวดา เป็นต้น
       ๑๓. เพศของตัวละครเอก วรรณกรรมชาดกนอกนิบาตล้านนานี้ พบว่าโดยปกติแล้วตัวเอกของเรื่องจะเป็นเพศชาย แต่ก็มีบางเรื่องที่ตัวละครหลักเป็นหญิง เช่น นางอุทธลา และเรื่อง นางออรพิมพา เป็นต้น
       ๑๔. ที่มาของเรื่อง ที่มาของเรื่องในวรรณกรรมชาดกล้านนานั้นพบว่ามีหลายแนว เช่น มาจากนิทานพื้นบ้านเช่นเรื่องสิรสาชาดก ซึ่งเห็นว่ามาจากตำนานสุวัณณะโคมฅำ ที่มาจากอัตถกถาชาดก เช่น กุสราชชาดก และทธิวาหนชาดก ที่มาจากเรื่องจริง เช่น เรื่องเจ้าสามลอ ที่มารจากการแต่งเลียนแบบเรื่องอื่น เช่น สุชวัณณะวัวหลวง - เกสนางาช้าง และกำพร้าบัวทอง - ทุลละแมวขาว ทั้งนี้ บางเรื่องมาจากวรรณคดีของพราหมณ์ เช่น เรื่องหอรมาน พรหมจักร และอุสสาบารส โดยที่สองเรื่องแรกนั้นมาจากเรื่องรามเกียรติ์ แต่อุสสาบารสนั่นจะเห็นว่าเกิดจาการนำเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุทมาผสมกันและผนวกเข้ากับจินตนาการของผู้แต่ง ทำให้กลายเป็นวรรณกรรมชาดกนอกนิบาตล้านนาที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง
 ก่อนที่จะกล่าวถึงชาดกนอกนิบาตที่เป็นเรื่องเดี่ยวนั้น ใคร่จะกล่าวถึงชาดกที่จัดรวมเป็นชุดเสียก่อน ทั้งนี้ เพราะว่าอาณาจักรล้านนาได้ให้กำเนิดวรรณกรรมชุดสำคัญคือ ปัญญาสชาดก ซึ่งวรรณกรรมชุดนี้นับได้ว่าเป็นเพชรเม็ดเอกของล้านนาไทยอีกเม็ดหนึ่ง แม้จะไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งหรือมิได้ระบุปีที่แต่ง แต่ก็ทราบเพียงแต่ว่าผู้แต่งคือภิกษุชาวเชียงใหม่ งานชิ้นนี้กรมพระยาดำรงราชานุภาพสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๐๐๐ - ๒๒๐๐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ลิขิต  ลิขิตานนท์ กล่าวว่าเรื่องนี้แต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๐๓๘ - ๒๐๖๘ แต่ศาสตราจารย์ ดร. นิยะดา  สาริกภูติ กล่าวว่าต้นตอที่มาของเรื่องน่าจะเก่ากว่านั้นเพราะมีหลักฐานเป็นศิลาจารึกหลักหนึ่งของพม่าซึ่งจารึกเมื่อ จ.ศ. ๖๒๗ (พ.ศ. ๑๘๐๘) ตั้งอยู่ที่วัด Kusa-samuti หมู่บ้าน Pwasaw (ห่างจากพุกามไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๔ ไมล์ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงพระเจ้า Thombameik หรือสมภมิต-สุมภมิตต์ ซึ่งเป็นตัวละครเอกในเรื่องดังกล่าวลำดับที่ ๙ ในภาษาไทย และเป็นลำดับที่ ๓ ของปัญญาสชาดกฉบับพม่า แต่จากการศึกษาของรองศาสตราจารย์ ดร. พิชิต  อัคนิจ และคณะ ในเรื่องปัญญาสชาดกฉบับปริวรรตจากอักษรธรรมหรือการศึกษาเชิงวิเคราะห์ปัญญาสชาดกฉบับล้านนาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๑ ทราบว่าชาดกชุดนี้น่าจะเกิดจากการเรียบเรียงชาดกนอกนิบาตในล้านนาที่มีอยู่แล้วขึ้นเป็นภาษาบาลีเพื่อใช้ในวงการศึกษาของพระสงฆ์และเพื่อนำชาดกล้านนาไปใช้ในท้องถิ่นที่ไม่ใช้อักษรธรรมและภาษาไท
    ปัญญาสชาดกนี้ แต่งเลียนแบบชาตกัฏฐกถา (อรรถกถาชาดก) เพื่อเป็นการสอนศาสนาโดยใช้ชาดกและแต่งเป็นชาดกนอกนิบาต ๕๐ เรื่อง ฉบับที่หอสมุดแห่งชาติได้รวบรวมและจัดพิมพ์แบ่งเป็นสองเล่ม ในเล่มแรกมี ๔๘ เรื่องและเล่มที่สองมี ๒ เรื่อง ผนวกกับปัจฉิมภาคอีก ๑๑ เรื่อง ดังนี้
   
๑. สมุททโฆสชาดก
๒. สุธนชาดก
๓. สุธนุชาดก
๔. รัตนปโชตชาดก
๕. สิริวิบุลกิตติชาดก
๖. วิบุลราชชาดก
๗. สิริจุฑามณิชาดก
๘. จันทราชชาดก
๙. สุภมิตตชาดก
๑๐. สิริธรชาดก
๑๑. ทุลกบัณฑิตชาดก
๑๒. อาทิตชาดก
๑๓. ทุกัมมานิกชาดก
๑๔. มหาสุรเสนชาดก
๑๕. สุวรรณกุมารชาดก
๑๖. กนกวรรณราชชาดก
๑๗. วิริยบัณฑิตชาดก
๑๘. ธรรมโสณฑกชาดก
๑๙. สุทัสนชาดก
๒๐. วัฏกังคุลีราชชาดก
๒๑. โบราณกบิลราชชาดก
๒๒. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
๒๓. จาคทานชาดก
๒๔. ธรรมราชชาดก
๒๕. นรชีวชาดก
๒๖. สุรูปชาดก
๒๗. มหาปทุมชาดก
๒๘. ภัณฑาคารชาดก
๒๙. พหลาคาวีชาดก
๓๐. เสตบัณฑิตชาดก
๓๑. ปุปผชาดก
๓๒. พาราณสิราชชาดก
๓๓. พรหมโฆสราชชาดก
๓๔. เทวรุกขกุมารชาดก
๓๕. สลภชาดก
๓๖. สิทธิสารชาดก
๓๗. นรชีวกฐินชาดก
๓๘. อติเทวราชชาดก
๓๙. ปาจิตตกุมารชาดก
๔๐. สรรพสิทธิกุมารชาดก
๔๑. สังขปัตตชาดก
๔๒. จันทเสนชาดก
๔๓. สุวรรณกัจฉปชาดก
๔๔. สิโสรชาดก
๔๕. วรวงสชาดก
๔๖. อรินทมชาดก
๔๗. รถเสนชาดก
๔๘. สุวรรณสิรสาชาดก
    ในเล่มที่ ๒ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ มีเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
       ๔๙. วนาวนชาดก                                    ๕๐. พากุลชาดก
    และมีปัจฉิมภาค คือ
       ๑. โสนันทชาดก                                     ๗. สุบินชาดก
       ๒. สีหนาทชาดก                                     ๘. สุวรรณวงศชาดก
       ๓. สุวรรณสังขชาดก                                 ๙. วรนุชชาดก
       ๔. สุรัพภชาดก                                       ๑๐. สิรสาชาดก
       ๕. สุวรรณกัจฉปชาดก                               ๑๑. จันทคาธชาดก
       ๖. เทวันธชาดก
       ปัญจพุทธพยากรณ์, ปัญจพุทธศักราชวรรณนา, อานิสงส์ผ้าบังสุกุล
    จากการศึกษาเรื่องปัญญาสชาดกของรองศาสตราจารย์ ดร. พิชิต  อัคนิจ และคณะนั้น พบว่ามีการศึกษาจากคัมภีร์ใบลานฉบับครบชุดที่พบในวัดสูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ ในคัมภีร์ชุดนี้บางผูกจารด้วยอักษรธรรมหลวงพระบาง และบางผูกระบุด้วยว่า "ครูบากัญจนะ ไปคัดลอกชาดกเรื่องนั้นๆ จากวัดวิชุน หลวงพระบาง" โดยไปคัดลอกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ และในการศึกษาของรองศาสตราจารย์ ดร. พิชิต  อัคนิจ และคณะครั้งนี้ ได้จัดปัญญาสชาดกเข้าชุดตามลำดับเรื่องดังนี้ คือ
   ๑. สมุททโฆสชาดก
๒. สุธนูชาดก
๓. สุธนชาดก
๔. สิรสากุมมารชาดก
๕. สุมภมิตตชาดก
๖. สุวัณณสังขราชกุมมารชาดก       
๗. จันทฆาตกชาดก
๘. กุรุงคมิคชาดก
๙. เสตปัณฑิตชาดก
๑๐. ตุลกชาดก
๑๑. มฆชาดก
๑๒. อริฏฐชาดก
๑๓. รัตนปัชโชตชาดก
๑๔. โสนันทชาดก
๑๕. พาราณสีชาดก
๑๖. ธัมมัทธัชชชาดก
๑๗. ทุกัมมชาดก
๑๘. สัพพสิทธิกุมมารชาดก
๑๙. ปัญญาพลชาดก
๒๐. ทธิวาหนชาดก
๒๑. มหิสสชาดก
๒๒. ฉัททันตชาดก
๒๓. จัมเปยยชาดก
๒๔. พหลคาวีชาดก
๒๕. กปิราชชาดก
๒๖. นรชีวชาดก
๒๗. สิทธิสารชาดก
๒๘. กุสสราชชาดก
๒๙. ภัณฑาคาริกชาดก
๓๐. สิริวิปุลกิตติชาดก
๓๑. สุวัณณกุมมารชาดก
๓๒. วัฏฏกชาดก
๓๓. ติสสเถรวัตถุ
๓๔. สุตตโสมชาดก
๓๕. มหาพลชาดก
๓๖. พรหมโฆสชาดก
๓๗. สาทินนราชชาดก
๓๘. สิริธรชาดก
๓๙. อชิตตราชชาดก
๔๐. วิปุลราชชาดก
๔๑. อรินทุมมราชชาดก
๔๒. วิริยปัณฑิตชาดก
๔๓. อาทิตตราชชาดก
๔๔. สุรุปปราชชาดก
๔๕. สุวัณณพรหมทัตตชาดก     
๔๖. มหาปทุมมกุมมารชาดก
๔๗. มหาสุรเสนชาดก
๔๘. สิริจุฑามณีชาดก
๔๙. นลกชาดก
๕๐. กุกกุรชาดก
    นอกจากนี้ยังมีชาดกในภาคผนวกอีก ๖ เรื่อง คือ
   ๑. สุวัณณมิคคชาดก           
๒. จันทชาดก
๓. สรภชาดก
๔. โปราณกัปปิลปุรินทราชชาดก
๕. ทุฏฐราชชาดก
๖. กนกวัณณราชชาดก
    และจากการศึกษาครั้งนี้ พบว่ามีชาดกที่อยู่ในกลุ่มนิบาตชาดกปรากฏอยู่ด้วยจำนวน ๑๓ เรื่อง คือ
    ๑. กุรุงคมิคคชาดก
๒. มฆชาดก
๓. ทธิวาหนชาดก
๔. มหิสสชาดก (เทวธมฺมชาตก)  
๕. ฉัททันตชาดก
๖. จัมเปยยชาดก
๗. กปิราชชาดก
๘. กุสสราชชาดก
๙. วัฏฏกชาดก
๑๐. สุตตโสมชาดก
๑๑. นลกชาดก (นฬปานชาตก)     
๑๒. กุกกุรชาดก
๑๓. สุวัณณมิคคชาดก
      
    ปัญญาสชาดก ซึ่งเดิมเป็นผลงานของภิกษุชาวล้านนานี้ นอกจากที่ได้ปริวรรตจากอักษรธรรมมาสู่อักษรไทยกลางแล้ว ยังได้มีการแปลเป็นภาษาไทยกลางและพิมพ์เผยแพร่หลายครั้ง นอกเหนือจากการแปลในรูปชาดกแล้ว ยังมีผู้นำเรื่องในปัญญาสชาดกไปแต่งเป็นสำนวนร้อยกรองและกลายเป็นวรรณกรรมสำคัญของไทยอยู่หลายเรื่อง เช่น
      ก. เรื่องสมุททโฆส เป็นที่มาของสมุทโฆษคำฉันท์ในสมัยพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา
      ข. เรื่องสุวรรณสังขชาดก สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงนำไปแปลงและทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครนอกเรื่อง สังข์ทอง      ค. เรื่องพหลคาวีชาดก สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงนำไปเป็นต้นเรื่องของละครนอกเรื่อง คาวี และเรื่องพหลคาวีชาดกนี้ พระมหาราชครูในสมัยพระนารายณ์ก็ได้นำไปแต่งเป็นเรื่อง เสือโคคำฉันท์ อีกด้วย
      ง. เรื่องสุธนชาดก มีผู้นำไปแต่งเป็นบทละครนอกในสมัยกรุงศรีอยุธยา
      จ. เรื่องรถเสนชาดก เป็นเรื่องที่ใช้เล่นละครกันมาแต่โบราณ
      ฉ. เรื่องสรรพสิทธิชาดก เป็นต้นเรื่องที่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสนำไปเป็นพระนิพนธ์เรื่อง สรรพสิทธิคำฉันท์      ช. เรื่องสิริวิบุลกิตติชาดก เป็นเรื่องที่หลวงศรีปรีชา (เซ่ง) ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศนำไปแต่งเป็นโครงเรื่องของกลอนกลบทชนิดต่าง ๆ เรียกรวมว่า กลบทศิริวิบุลกิตติ
    นอกเหนือจากจะเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยด้วยกันแล้ว ปัญญาสชาดกนี้ยังแพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ ในแหลมสุวรรณภูมิ เช่นที่พม่า เป็นที่รู้จักกันในนามโลกียปัญญาสหรือยวนปัญญาส แต่ในฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นอักษรพม่า ภาษาบาลี ใช้ชื่อว่า ซิมเมปัญญาส และในการพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ก็ใช้ชื่อ ซิมเมปัญญาส ครั้น Pali Text Society แห่งลอนดอนตีพิมพ์เรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ก็ใช้ชื่อว่า PANNASA JATAKA or ZIMME PANNASA ต่อมาเมื่อกรมศิลปากรจัดแปลเป็นภาษาไทยและพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. ๒๕๔๑ นั้น ได้ให้ชื่อว่า เชียงใหม่ปัณณาสชาดก นับเป็นชาดกจำนวน ๕๐ เรื่อง ซึ่งมีบางเรื่องที่ไม่ตรงกับฉบับภาษาไทย
    ปัญญาสชาดก ฉบับเชียงตุง มีชื่อว่า ปัญญาสชาติ ซึ่งฉบับวัดเขมินทร์ เชียงตุง ที่ ดร.นิยะดา  สาริกภูติ ใช้ศึกษานั้นมี ๒๖ กัณฑ์ นีบเป็นเรื่องได้ ๒๑ เรื่อง
    ปัญญาสชาดก ฉบับลาว มีชื่อว่า พระเจ้าห้าสิบชาติ ซึ่งในการพิมพ์นั้นมีการสะกดชื่อเพี้ยนไปจากฉบับไทย แต่ก็พอรู้ว่าเรื่องนั้น ๆ ตรงกับเรื่องใด แต่บางเรื่องที่พิมพ์รวมไว้นั้น ไม่ปรากฏในปัญญาสชาดกฉบับไทย เช่น เรื่องท้าวปันยาพะละชาดก เรื่องช้างสะทัน ท้าวทรายคำ เป็นต้น เรื่องที่ผนวกเข้ามานี้บางเรื่องตรงกันกับชาดกนอกนิบาตของล้านนา
    ปัญญาสชาดกฉบับเขมร หรือปัญญาสชาดกสัมราย นางสาวซูซาน  กาปริเล ได้รวบรวมและขอร้องให้ภิกษุเขมร ๓ รูปถ่ายทอดจากภาษาบาลีเป็นภาษาเขมรใน พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งจากการศึกษาของ ดร.นิยะดา  สาริกภูติ นั้น ทราบว่า ปัญญาสชาดกสัมราย ทั้ง ๕๐ เรื่องนั้น มีเรื่องเดียวที่ไม่ตรงกับฉบับภาษาไทย คือเรื่องสัทธติสจักกวัตตี
    ทั้งนี้ อาจสรุปจากงานเขียนของศาสตราจารย์ ดร. นิยะดา  สาริกภูติ ว่า ปัญญาสชาดกฉบับต่าง ๆ คือ ฉบับพม่า ฉบับลาว และฉบับเขมร ทั้งหมดต่างมี ๕๐ เรื่อง และฉบับที่คล้ายคลึงกับฉบับภาษาไทยมากที่สุดคือฉบับเขมร ส่วนฉบับเชียงตุงนั้นไม่สามารถศึกษาได้กว้างขวางเพราะต้นฉบับมีเพียง ๒๖ เรื่องเท่านั้น
    ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าเรื่อง ปัญญาสชาดก นี้ เป็นที่รู้จักและเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางทั่วแหลมสุวรรณภูมิแล้ว
    วรรณกรรมชาดกนอกนิบาตของล้านนาดังกล่าวนี้ ยังรอการศึกษาจากคนรุ่นหลัง และเชื่อว่าในที่นี้อาจมีบางท่านที่สนใจจะดำเนินงานต่อไปก็ได้

[เอกสารประกอบการเสวนาเรื่อง "วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาล้านนา" ในการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "พระพุทธศาสนาในล้านนา" โดยคณะศาสนาและปรัชญา ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ณ ศูนย์ฝึกอบรม ธนาคารไทยพาณิชย์ ต. บ้านปง อ. หางดง จ. เชียงใหม่]

แหลงทื่มา


No comments:

Post a Comment