นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

บทความธรรมะ

Saturday, August 14, 2010

ประเทศอินเดีย

ประเทศอินเดีย

ประเทศอินเดียตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปเอเซีย ลักษณะเป็นคาบสมุทรรูปสามเหลี่ยม ยื่นออกไปในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมักเรียกว่า อนุทวีป มีขนาดกว้างใหญ่ไพศาล มีพื้นที่ประมาณ ๓,๒๖๗,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับเจ็ดของโลก หรือประมาณสองในสามของพื้นที่ทวีปยุโรป ที่ไม่รวมประเทศรัสเซีย เส้นพรมแดนทางบกยาวประมาณ ๑๕,๒๐๐ กิโลเมตร ทางทะเลประมาณ ๕,๗๐๐ กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศต่าง ๆ มหาสมุทรและทะเล ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับประเทศจีน ทิเบต และเนปาล
ทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศบังคลาเทศ และพม่า กับมีหมู่เกาะอันดามัน และหมู่เกาะนิโคบาร์ ในทะเลอันดามัน ของมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอยู่ใกล้ประเทศพม่า ไทย และอินโดนิเซีย
ทิศใต้ ติดต่อกับประเทศศรีลังกา มหาสมุทรอินเดีย และทะเลอาเรเบียน โดยมีหมู่เกาะลัคคาได์ว อยู่ในทะเลอาเรเบียน
ทิศตะวันตก ติดต่อกับทะเลอาราเบียน และประเทศปากีสถาน


ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่ของประเทศอินเดีย แบ่งออกได้เป็นเขตที่สำคัญอยู่สี่เขตด้วยกันคือ

๑.เขตภูเขา ประกอบไปด้วย เทือกเขาหิมาลัย ทางตอนเหนือซึ่งเป็นเทือกเขาสามเทือกทอดตัว เป็นแนวที่เกือบขนานกัน สลับไปด้วยที่ราบสูง และที่ลุ่มหุบเขาในบางแห่ง เช่น หุบเขาแคชเมียร์ และหุบเขาคูลู เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีทิวทัศน์ที่งดงาม บรรดายอดเขาสูง ๆ ในเทือกเขาหิมาลัย มักจะอยู่ในแถบนี้ ภูเขาในเทือกเขาหิมาลัย จะมีระดับลดต่ำลง เมื่อเริ่มเข้าเขตตะวันออก เข้าสู่ชายแดนพม่า และบังคลาเทศ

๒.เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคาและแม่น้ำสินธุ เป็นเขตที่ถัดลงมาจากเขตภูเขา มีขนาดพื้นที่กว้างประมาณ ๓๐๐ กิโลเมตร และยาวประมาณ ๑,๐๐๐ กิโลเมตร เป็นที่ราบอุดมสมบูรณ์ อันเกิดจากระบบแม่น้ำที่สำคัญ สามสายคือ แม่น้ำสินธุ แม่น้ำคงคา และแม่น้ำพรหมบุตร บริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งรกรากอยู่อาศัยของประชากร ที่หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นบริเวณที่พื้นที่ส่วนใหญ่ ราบลุ่มเสมอกันมาก จนเกือบจะไม่มีความสูงต่ำแตกต่างกันเท่าใดนัก ดังจะเห็นได้จากบริเวณลุ่มแม่น้ำยมนา ที่กรุงเดลฮี ไปจนถึงปากอ่าวเบงกอล ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ ๑,๖๐๐ กิโลเมตร แต่มีระดับความสูงต่างกันเพียง ๒๐๐ เมตร เท่านั้น

๓.เขตทะเลทราย แบ่งออกได้เป็นพื้นที่สองส่วนย่อยคือ ส่วนทะเลทรายใหญ่ และส่วนทะเลทรายเล็ก

ส่วนทะเลทรายใหญ่ อยู่ตามแนวชายแดนของอินเดียกับปากีสถาน บริเวณรัฐราชสถาน ของอินเดีย กับจังหวัดสินธุ ของปากีสถาน

ส่วนทะเลทรายเล็ก อยู่ทางตอนเหนือของส่วนทะเลทรายใหญ่ ขึ้นไปทางเหนือคือ จากบริเวณแม่น้ำลูนิ (Luni) ระหว่างเมืองชัยซาลเมด์ (Jaisalmer ) และเมืองจอดห์ปุระ (Jodhpur)

ส่วนของทะเลทรายทั้งสองนี้ มีส่วนที่ไม่ได้เป็นทะเลทรายคั่นอยู่ ซึ่งเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยโขดหิน ขาดแหล่งน้ำและฝนแล้ง ทำให้บริเวณแห้งแล้งไม่แพ้เขตทะเลทรายแท้ ๆ

๔.เขตที่ราบสูงคาบสมุทรภาคใต้ คือ เขตคาบสมุทรเดคคาน (Deccan) มีอาณาเขตเริ่มจากตอนใต้ของเขตที่ราบลุ่มน้ำ โดยเริ่มจากแนวเทือกเขาใหญ่น้อยที่คั่นอยู่ เช่น เทือกเขาวินไชย (Vindhya) เทือกเขาสัตปุระ (Satpura) เทือกเขาไมคาลา (Maikala) และเทือกเขาอชันตา (Ajanta) เทือกเขาเหล่านี้มีความสูงต่างกัน ตั้งแต่ ๔๖๐ - ๑,๒๒๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล

สองฝั่งของเขตคาบสมุทรเดคคาน ก่อนถึงชายฝั่งทะเลมีเทือกเขากัทส์ (Ghats) ตะวันออก และเทือกเขากัทส์ตะวันตกขนาบอยู่ เทือกเขาดังกล่าวทางภาคตะวันออก อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลมากกว่าทางฝั่งตะวันตก ทำให้หาดชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ฝั่งอ่าวเบงกอลกว้างขวาง หาดชายทะเลในฝั่งตะวันตกด้านทะเลอาหรับ

ฝั่งทะเลด้านตะวันตกมีภูเขาสูงชันตามชายฝั่ง ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ลมมรสุมจะพัดเกือบตั้งฉากกับชายฝั่ง ทำให้เกิดคลื่นลมแรง และไม่มีเกาะเป็นที่กำบังคลื่นลม มีท่าเรือตามธรรมชาติที่สะดวกต่อการจอดเรืออยู่สามแห่งคือ บอมเบย์ กัว และโคชิน

ฝั่งทะเลด้านตะวันออก ไม่ได้รับคลื่นลมเต็มที่ ฝั่งทะเลลาดตื้นเรือใหญ่ไม่สามารถเข้าออกใกล้ฝั่งได้ ท่าเรือที่สร้างขึ้นทางฝั่งนี้ได้แก่ กัลกัตตา มัทราส และวิสาขาปัตนัม

เทือกเขากัทส์ ทั้งสองฝั่งมาบรรจบกันตรงปลายคาบสมุทรในตอนใต้ บริเวณนี้เรียกว่า เขตเนินเขานิลคีรี (Nilgiri)

ระบบแม่น้ำ แม่น้ำในอินเดียแบ่งออกได้เป็นสี่ประเภทคือ แม่น้ำหิมาลัย แม่น้ำคาบสมุทรเดคคาน แม่น้ำชายฝั่ง และแม่น้ำในดินแดนภายใน

แม่น้ำหิมาลัย ปกติจะเกิดจากน้ำที่ละลายมาจากหิมะ ในภาคเหนือของอินเดีย ดังนั้น แม่น้ำเหล่านี้จะมีน้ำไหลเต็มที่อยู่ตลอดเวลา ในฤดูมรสุมเมื่อฝนตกมาก แม่น้ำเหล่านี้จะรับน้ำไว้ได้ไม่หมด จึงทำให้เกิดน้ำท่วมอยู่เสมอ

ส่วนแม่น้ำในคาบสมุทรเดคคาน โดยปกติได้น้ำจากน้ำฝน ดังนั้นปริมาณน้ำในแม่น้ำดังกล่าว จึงมักจะมากน้อยไม่แน่นอน นอกจากนี้แม่น้ำย่อย ๆ ซึ่งไม่มีต้นกำเนิดจากแม่น้ำทั้งสองประเภทดังกล่าว และอยู่ตามชายฝั่งโดยเฉพาะในฝั่งตะวันตก จะมีเส้นทางสั้น ๆ และมีขนาดแคบ จึงรับน้ไดได้ในปริมาณจำกัด

สำหรับแม่น้ำในดินแดนภายใน เป็นลำน้ำเล็ก ๆ ไม่มีทางออกทะเล ปลายทางของแม่น้ำหากไม่ไหลลงแอ่งน้ำ ทะเลสาป ก็จะเหือดแห้งไปในทะเลทราย

ระบบแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียคือ แม่น้ำคงคา ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย แม่น้ำสาขาในระบบแม่น้ำคงคาคือ แม่น้ำยมนา แม่น้ำกากรา แม่น้ำกันดัค และแม่น้ำโคสิ

ที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา จัดได้ว่ามีความอุดสมบูรณ์ และกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด เป็นบริเวณกว้างถึงหนึ่งในสี่ของประเทศ ส่วนลุ่มน้ำของระบบแม่น้ำอื่น ๆ ที่มีความสำคัญ รองลงมาได้แก่ ลุ่มแม่น้ำโคธาวารี (Godavari) ในเขตที่ราบสูงเดคคาน ระบบน้ำตาปี (Tapi) ในภาคเหนือ และระบบน้ำเพนเนอร์ (Penner) ในภาคใต้

การที่อินเดียถูกแวดล้อมด้วยพรมแดนธรรมชาติรอบด้าน คือมีทั้งภูเขาและฝั่งทะเลเป็นพรมแดน ได้แยกอินเดียออกจากส่วนอื่น ๆ ของทวีปเอเชีย ทำให้อินเดียตั้งอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง ซึ่งนับว่ามีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อวิถีชีวิตของชาวอินเดีย ทำให้ชาวอินเดียมีอารยธรรมและวัฒนธรรมที่มีลักษณะของตนเองโดยเฉพาะ และในโอกาสเดียวกัน พรมแดนธรรมชาติดังกล่าว ช่วยให้สามารถรักษาวัฒนธรรมของตนให้สืบเนื่องตลอดมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงสมัยปัจจุบัน



ประชากรและวิถีชีวิตของประชากร

ประชากรอินเดีย ประกอบด้วยชนชาติหลายเผ่า หลายเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม มีสีผิวตั้งแต่ผิวขาว ถึงผิวดำ ความสูงต่ำ ดำ จางของสีผมและสีตา ทั้งนี้ด้วยเหตุที่อินเดียเป็นศูนย์รวมของเชื้อชาติหลาย ๆ เชื้อชาติ ตั้งแต่เริ่มประวัติศาสตร์ของชนชาติอินเดีย

เชื่อกันว่าชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดียมีผิวดำ รูปร่างเล็ก เตี้ย จมูกแบน เป็นพวกเชื้อชาติดราวิเดียน คนไทยส่วนมากเรียกชาวอินเดียว่า แขกอินเดียภารตะ คนอินเดียเรียกดินแดนของตนว่า ภารตวรรษ แปลว่า ที่อยู่ของชาวภารตะ ชาวภารตะคือว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากพระพรต ผู้เป็นกษัตริย์ต้นวงศ์เการพ และปาณฑพ ในมหากาพย์ภารตะ แต่คนทั่ว ๆ ไปเรียกดินแดนนี้ว่าอินเดีย ซึ่งมาจากคำว่า สินธุ อันเป็นชื่อแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งของอินเดีย และเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ของโลกสายหนึ่ง

ชนชาติพวกแรกที่อพยพเข้ามาอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำนี้คือ ชนชาติเปอร์เซียน ชาวเปอร์เซียนเรียกแม่น้ำสินธุว่า ฮินดู

ในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งกรีก ได้ยกกองทัพมารุกรานอินเดียจนถึงลุ่มแม่น้ำสินธุ ทำให้ชนชาติกรีกได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบแม่น้ำนี้ กรีกเรียกแม่น้ำนี้ว่า Indos ชาวพื้นเมืองและชนชาติอื่นเรียกเพี้ยนไปเป็น Indus และได้กลายเป็น India

ชาวเปอร์เซีย เป็นเชื้อสายอินโด ยูโรเปียน สาขาอินโดอารยัน มีผิวขาว จมูกโด่ง รูปร่างสูงใหญ่ เข้ามสมัยโมเฮนโจ - ดาโร (Mohenjo - Daro) และฮารัปปา (Harappa) ซึ่งเป็นความเจริญที่เกิดขึ้นประมาณ ๒๕๐๐ - ๑๕๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช ชนพื้นเมืองที่เป็นชนผิวดำ เป็นเผ่าดราวิเดียน เรียกกันว่า พวกมิลักขะ หรือทัสยุ พวกอินโดอารยันได้รุกรานพวกมิลักขะ เมื่อประมาณ ๑๐๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช สามารถเข้าครอบครองดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ โดยได้ตั้งมั่นอยู่ในมณฑลปัญจาบ แล้วขยายอำนาจไปถึงลุ่มแม่น้ำคงคา ขับไล่พวกมิลักขะลงไปทางใต้แต่บางพวกไม่ยอมอพยพออกไป จึงตกเป็นทาษพวกอารยัน ดังนั้นคำว่า ทาส จึงมาจากคำว่า ทัสยุ นั่นเอง

ในจำนวน ๒๒ รัฐของอินเดีย มีประชากรประกอบด้วย ชนหลายเชื้อชาติ ศาสนา และภาษา โดยมีเชื้อชาติต่างกันถึง ๒๐ เชื้อชาติ ส่วนใหญ่เป็นเผ่าอารยันและดราวิเดียน โดยเป็นเผ่าอารยันประมาณร้อยละ ๗๒ เผ่าดราวิเดียน ประมาณร้อยละ ๒๕ และเป็นเผ่ามองโกลอยด์ ประมาณร้อยละ ๓


โดยอาศัยลักษณะภูมิประเทศ และภาษาพูด ประชากรอินเดียอาจแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ คือ

๑.อินเดียภาคเหนือ ประชากรมีลักษณะที่สืบเชื้อสายมาจากพวกอารยัน ซึ่งเข้ามาอยู่ในอินเดีย เมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปี ก่อนพุทธกาล เป็นชนเผ่าที่มีอารยธรรมสูง และเป็นพวกปัญญาชน

ชาวอารยันอาจมีเชื้อชาติเดียวกับชาวยุโรป พวกนี้ได้แบ่งชีวิตสังคมของตนออกเป็นชั้นวรรณะ ส่วนใหญ่พูดภาษาฮินดี มีรัฐใหญ่ ๆ อยู่หลายรัฐ เช่น ปัญจาบ ราชสถาน อุตรประเทศ ใช้ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่คล้ายคลึงกัน

สำหรับรัฐอื่น ๆ ที่ใช้ภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น แคว้นเบงกอลตะวันตก พูดภาษาเบงคลี ประชากรมีลักษณะที่สืบเชื้อสายมาจากพวกมองโกลอยด์ อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา มีเมืองสำคัญคือ กัลกัตตา ประชากรใช้ภาษาอัสสมี และฮินดี ในรัฐปัญจาบ ประชากรพูดภาษาปัญจบี ภาษาเหล่านี้รวมเรียกว่า ภาษาอินโด - อารยัน

๒.อินเดียภาคกลาง เป็นเขตติดต่อระหว่างประชากรอินเดีย ที่ใช้ภาษาอินโด - อารยัน กับดราวิเดียน หรือภาษาทมิฬตอนใต้ ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองบอมเบย์ แต่ก็มีประชากรในบอมเบย์ และที่อื่น ๆ ใช้ภาษาอื่น ๆ อีก เช่น พวกที่อยู่ทางด้านตะวันออกของที่ราบสูงเด็คคาน ใช้ภาษาเตลุคุ หรือที่เมืองปูนา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนาพราหมณ์ ใช้ภาษาดุดรัต เป็นต้น

๓.อินเดียภาคใต้ เชื่อกันว่าประชากรในภาคนี้สืบเชื้อสายมาจากคนดั้งเดิมของอินเดีย ซึ่งอยู่มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์คือ พวกดราวิเดียน หรือมิลักขะ พวกนี้มีรูปร่างเล็ก ผิวค่อนข้างดำ ส่วนใหญ่ใช้ภาษาทมิฬ มีศูนย์กลางอยู่ในแคว้นมัทราส มีเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันออก อันเป็นที่อยู่ของประชากรที่ใช้ภาษามลายลัม

นอกจากพวกอารยัน และดราวิเดียน จะเป็นประชากรดั้งเดิมของอินเดีย แล้วก็ยังมีพวกอื่น ๆ อีก เช่น เปอร์เซีย กรีก ฮั่น อาหรับ เตอร์ก มองโกล ชนชาติต่าง ๆ เหล่านี้ได้เข้ามาอยู่ในอินเดีย และได้เป็นบรรพบุรุษของชาวอินเดีย ในปัจจุบัน

ประชากรส่วนใหญ่ของอินเดีย ประมาณร้อยละ ๘๐ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชนบทประมาณ ๕๖๗,๐๐๐ แห่ง ที่เหลืออีกประมาณร้อยละ ๒๐ อาศัยอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ประมาณ ๓,๖๐๐ เมือง คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร พวกศูทรจะถูกเหยียดหยาม และถูกกีดกันจากคนที่มีวรรณะสูงกว่า แม้ว่ารัฐบาลกลางของอินเดีย จะไม่ยอมรับนับถือวรรณะ แต่ปัจจุบันการแบ่งชั้นวรรณะในสังคมอินเดียก็ยังมีอยู่

ปัญหาประชากรที่มีความแตกต่างในเชื้อชาติ มีอยู่หลายกลุ่มที่มีความแตกต่างจากส่วนใหญ่ จะมีความสำนึกในเรื่องชาติพันธุ์ของตนมากขึ้นเรื่อย ๆ และประสงค์จะมีการปกครองตนเอง เช่น ชาวนาคา ในแคว้นอัสสัม ชาวมัดกาในรัฐพิหาร เป็นต้น ชนเหล่านี้ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลกลาง และแบ่งกลุ่มถึงกับใช้กำลัง เพื่อให้ได้สิทธิการปกครองตนเอง


ประชากรในชนบท ประเทศอินเดียมีลักษณะพื้นที่เป็นหมู่บ้านกระจายอยู่ทั่วไปประมาณร้อยละ ๗๐ ขนาดของหมู่บ้านมีตั้งแต่ที่มีประชากร ๕,๐๐๐ คน ไปจนถึงหมู่บ้านที่มีเพียง ๒๐๐ - ๓๐๐ คน

ลักษณะของหมู่บ้านประกอบด้วยกลุ่มของครัวเรือน ที่ล้อมรอบด้วยทุ่งนาที่ทำกิน และที่เลี้ยงสัตว์ ติดต่อกับหมู่บ้านอื่น หรือโลกภายนอกด้วยถนนดินโคลนเหนียว ซึ่งส่วนมากในฤดูฝนจะใช้การแทบไม่ได้

บ้านในชนบทโดยทั่วไปสร้างด้วยดินเหนียวผสมมูลวัว หลังคามุงด้วยใบไม้หรือใบปาล์ม ที่พักหรือห้องพักผ่อนจะเป็นที่เดียวกับที่นอน กล่าวคือกลางวันใช้เป็นที่พักผ่อน กลางคืนใช้เป็นที่นอน ห้องครัวจะมีขนาดเล็ก บางบ้านจะมีห้องสำหรับเก็บอาหารเมล็ดพืชและเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ติดกับตัวบ้านจะเป็นคอกวัว หน้าบ้านจะมีสวนหน้าบ้าน และมีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ชื่อตุลสี (Tulsi) ใช้เป็นยาขนานวิเศษรักษาโรคต่าง ๆ และเป็นที่สิงสถิตย์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่คุ้มครองบ้านด้วย ด้านข้างของลานหน้าบ้านจะมีบริเวณที่เรียกว่า นอกชาน (Veranda) เป็นสถานที่ที่สมาชิกในครอบครัวพบปะกัน และพบปะกับเพื่อนบ้าน เป็นศูนย์รวมข่าวและกระจายข่าว

ตามหมู่บ้านที่ไม่มีแม่น้ำหรือลำห้วยผ่าน จะมีบ่อน้ำที่ใช้สำหรับเป็นน้ำดื่ม น้ำใช้ การใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำดังกล่าวเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ทำให้บรรดาผู้หญิง ได้มีโอกาสพบปะกัน และเป็นแหล่งข่าวสำคัญ บรรดาข่าวสารต่าง ๆ จะแพร่ออกไปจากแหล่งนี้ เพราะชาวอินเดียจะมีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์ หรืออ่านหนังสือได้เพียงประมาณร้อยละ ๓๐ เท่านั้น

แบบอย่างชีวิตในชนบทของอินเดีย มีความใกล้ชิดกับหมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของเศรษฐกิจคือการเกษตร อันมีความเกี่ยวโยงคนกับที่ดิน แต่ละครอบครัวมีที่ดินเป็นของตนเอง การทำงานจะใช้แรงงานคนในครอบครัว ที่ดินจึงมีความสำคัญต่อการผลิตภายในประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งได้กำหนดโครงสร้างทางสังคม ปรัชญาและอุดมคติสำหรับชาวชนบท

คุณลักษณะของชีวิตชาวชนบทของอินเดีย พอจะประมวลได้ดังนี้

ทางด้านเศรษฐกิจ การผลิตทางเศรษฐกิจเป็นการผลิตเบื้องต้น และเป็นแบบเก่า ซึ่งได้กำหนดโครงสร้างทางสังคม และแบบแผนของการดำเนินชีวิตของชาวอินเดีย ในชนบททั่วอินเดีย การประกอบอาชีพของชาวชนบทคือการเกษตรกรรม และใช้แรงงานคนเป็นส่วนสำคัญ

มีความใกล้ชิดกับธรรมชาติ อิทธิพลของธรรมชาติได้กำหนดวิถีชีวิตของชาวอินเดียในชนบทในหลาย ๆ ด้าน เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี บุคลิกภาพและความเชื่อต่าง ๆ

ขาดความชำนาญในการผลิตทางเศรษฐกิจ ทำงานตามฤดูกาล การดำเนินชีวิตเป็นแบบง่าย ๆ ไม่มีการคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ มาใช้

ถูกควบคุมโดยสถาบันของสังคมเก่า เช่น ครอบครัว วรรณะ แบบแผนของการดำเนินชีวิต ถูกกำหนดให้ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ

ข้อบังคับทางศาสนา มีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด อิทธิพลของศาสนาได้กำหนดวิถีชีวิตของชาวชนบทในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านสติปัญญา อารมณ์ แนวทางการปฏิบัติ รูปแบบของศิลปะ และบรรทัดฐานของสังคมทางเชื้อชาติ

วรรณะ (Caste) ชาวชนบทในอินเดียประกอบด้วยกลุ่มวรรณะต่าง ๆ วรรณะมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ได้กำหนดหน้าที่สถานภาพ และอาชีพของบุคคลไว้อย่างชัดแจ้ง หน้าที่ทางการบริหารทั้งหมดถูกแบ่งโดยวรรณะ

การที่ประชาชนอินเดียส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งศาสนานี้ได้แบ่งชั้นวรรณะของคนตามชาติกำเนิด แต่ละวรรณะไม่สามารถเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันด้วยกิจกรรมใด ๆ เป็นอันขาด แต่ละวรรณะก็แบ่งหน้าที่ของตนโดยเฉพาะ จึงเข้าลักษณะต่างกลุ่มต่างวรรณะ ต่างคนต่างอยู่ ไม่ปะปนกัน มีความรังเกียจเดียดฉันท์ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังมีคนนับถือศาสนาอื่น เช่น พุทธ คริสต์ อิสลาม ซิกข์และเชน จึงต่างแยกกันอยู่เป็นหมู่เหล่า ไม่สังสรรค์กัน แต่ละกลุ่มต่างก็ปรับปรุงตนให้เข้ากับธรรมชาติ และสภาพของสังคม ผู้คนในชนบทจึงอยู่กันอย่างโดดเดี่ยว เฉพาะคนในศาสนาหรือวรรณะเดียวกัน


ประชากรในเมือง พื้นที่ที่เป็นเขตเมืองนับว่ามีส่วนสำคัญอยู่มากในประวัติศาสตร์ของอินเดีย

ในสมัยเมื่อประมาณ ๑,๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช อินเดียมีชุมชนที่เป็นเมืองใหญ่ ๆ อยู่สองแห่งคือโมเฮนโจ - ดาโร (Mohenjo - Daro) และฮารัปปา (Harappa) แต่ละแห่งมีประชากรประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน

เมืองเก่าแก่บางเมืองของอินเดียเช่น เมืองพาราณสี มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

เมืองที่มีประชากรมากกว่าแสนคน มีอยยู่ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมือง ในจำนวนนี้มีอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๐ เมือง ที่มีประชากรมากกว่าล้านคนคือกัลกัตตา ๗ ล้านคน บอมเบย์ ๖ ล้านคน เดลฮี ๔ ล้านคน มัทราช ๓.๕ ล้านคน ไฮเดอราบัด ๒ ล้านคน อาเมตบัด ๒ ล้านคน บังกาลอ ๒ ล้านคน กัมเปอร์ ๑.๕ ล้านคน พุเน ๑.๕ ล้านคน โดยประมาณเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕

เมืองพาราณสี เป็นเมืองเก่าแก่ที่รุ่งเรืองมาตลอด ส่วนเมืองกัลกัตตา บอมเบย์ และมัทราช เจริญและขยายตัวมากในช่วงที่อังกฤษเข้ามาครอบครองอินเดีย และมีการพัฒนาแบบประเทศทางตะวันตก

ความแออัดเนื่องมาจากการพัฒนาเพื่อการชุมชน ไม่ทันกับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากร เป็นผลให้เกิดสลัมในเมืองใหญ่ ๆ มากมาย ชาวเมืองเป็นจำนวนมาก ไม่มีบ้านอยู่อาศัย ต้องอาศัยอยู่ตามริมถนน ทางเดิน อาศัยวัสดุที่พอหาได้มาทำเป็นที่กำบังให้พออยู่ได้

ในเมืองเหล่านี้จะเห็นความเหลื่อมล้ำอย่างถึงที่สุดระหว่างคนรวยกับคนจน สลัมจะอยู่ริมร่มเงาของบ้าน ที่เป็นคฤหาสน์ใหญ่โตเหมือนวัง พวกขอทานตามถนน ห้อมล้อมรถยนต์คันใหญ่ราคาแพง เป็นสิ่งที่พบเห็นเป็นปกติของชุมชนใหญ่ ๆ ที่แออัดในอินเดีย

(หมายเหตุ - เรื่องจำนวนประชากรนั้นอาจไม่ถูกต้อง เพราะไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลของปีไหน : Special Person)



ทัศนคติของคนอินเดียต่อชาวต่างประเทศ อาจจำแนกออกได้เป็นสามประเภทคือ

ทัศนคติต่อชาวเอเซียด้วยกัน ชาวอินเดียมีความยึดมั่นในความเป็นอินเดียสูงมาก คนอินเดียจะมองคนญี่ปุ่น และจีน เป็นเพื่อนผู้มีฐานะเท่าเทียมกันกับตน ส่วนคนชาติอื่น ๆ ในอาเซียด้วยกัน คนอินเดียจะมองว่าด้อยกว่าตน โดยเฉพาะคนไทย ชาวอินเดียจะมองว่าคนไทยเป็นลูกไล่ เป็นฝ่ายที่อินเดียถ่ายทอดวัฒนธรรมต่าง ๆ ให้ แม้พระพุทธเจ้าก็เป็นคนอินเดีย และเกิดหลังเทพของพราหมณ์ และฮินดู

การให้เกียรติคนอื่นและความเป็นสุภาพบุรุษ มีความเกรงอกเกรงใจผู้อื่นของชาวอินเดีย จึงมีน้อยมากในสายตาคนไทย จึงมองคนอินเดียว่าเป็นแขก และแขกคือ พวกที่มีนิสัยเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้

พฤติกรรมดังกล่าว ของชาวอินเดียยังความเกลียดชังแก่ชาวเอเซียมาก และชาวเอเซียก็มองคนอินเดียในแง่ของความยากจน ทิฐิ ซึ่งก่อให้เกิดความช้ำใจแก่คนอินเดียมาก

ทัศนคติต่อชนผิวขาว มีลักษณะแตกต่างไปจากทัศนคติต่อชาวเอเซียด้วยกัน อันเป็นผลสืบเนื่องจากพฤติกรรม ของชาวอังกฤษในระหว่างที่เข้ามายึดครองอินเดีย ชาวอังกฤษมีพฤติกรรมต่อชาวอินเดียเยี่ยงนายกับบ่าว พฤติกรรมดังกล่าวยังฝังใจชาวอินเดียสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อชนต่างชาติผิวขาว

อย่างไรก็ดี ชาวอินเดียไม่ได้แสดงอาการเกลียดชังชนผิวขาวอย่างออกนอกหน้า โดยเฉพาะต่อชาวอังกฤษรวมทั้งประเทศในเครือจักรภพด้วย อินเดียถือว่าอังกฤษได้ช่วยสร้างสมพัฒนาบ้านเมืองให้มากมาย

ทัศนคติต่อชนในประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยเหตุที่อินเดียเป็นประเทศเก่าแก่ที่มีอาณาเขตติดต่อกับหลายประเทศ มีความขัดแย้งกัน และรบราฆ่าฟันกันมามาก ความรู้สึกของชาวอินเดียต่อประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นความรู้สึกที่หนักใจ ขมขื่น ที่มีเสมือนหอกข้างแคร่ หรือหนามยอกอก เช่น กรณีปัญหาแคว้นปัฐจาบ ที่มีว่ามีประเทศเพื่อนบ้านทางด้านนั้นอยู่เบื้องหลัง ปัญหากับประเทศศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ในกรณีที่ชาวบังคลาเทศและเนปาล อพยพเข้าไปทำมาหากิน ค้าขาย ตลอดจนมีตำแหน่งทางราชการ และมีอิทธิพลทางสังคมวัฒนธรรมเหนือชาวพื้นเมือง ก่อให้เกิดความไม่พอใจจากชาวพื้นเมือง เกิดการจราจลยกพวกขับไล่ชาวต่างชาติ ที่อพยพถึงขั้นฆ่าฟันกันอย่างนองเลือด โดยเฉพาะในมณฑลอัสสัม ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากแก่รัฐบาลกลาง

การหยิ่งในความเป็นอินเดีย อันเนื่องมาจากอารยธรรมของอินเดียเอง เป็นฐานหลักนำไปสู่ความมีชาตินิยมสูง ชาวอินเดียมีค่านิยม และทัศนคติ ที่น่าสนใจหลายประการด้วยกันคือ การห้าม และไม่ให้นิยมเห่อเหิมกับวัฒนธรรม และแม้แต่เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากชาติที่เจริญพัฒนามาแล้ว การแต่งกาย ความเป็นอยู่ง่าย ๆ และการไว้ตัวของสตรีอินเดีย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติ ที่คนอินเดียมีต่อชนชาติของเขาเอง และต่อชาติอื่น ๆ


พัฒนาการทางวัฒนธรรม

อินเดียเป็นดินแดนเก่าแก่ และเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลก เป็นต้นตอของวัฒนธรรมตะวันออก เป็นแหล่งศาสนาของโลก เป็นแหล่งกำเนิดวรรรณคดีที่สำคัญ อารยธรรมเหล่านี้มีความสำคัญ และมีอิทธิพลต่อดินแดนใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่ง

อารยธรรมแถบลุ่มน้ำสินธุ ได้ปรากฎมากว่า ๕,๐๐๐ ปีแล้ว สันนิษฐานว่า น่าจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด กับวัฒนธรรมกับ ชน "สุมาเรีย" มาก่อน ก่อนสมัยที่ชนชาวอารยันจะเริ่มอพยพเข้ามาสู่อินเดีย จากเอเซียกลาง ชนชาวอารยันได้นำเอาศาสนา ปรัชญา และขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเข้ามาด้วย และเมื่อเข้ามาอยู่แล้ว ก็ได้รับเอาอารยธรรมซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว ในอินเดียเข้าไว้ด้วย

ในสมัยต้นพุทธกาล การประกาศพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า และศาสนาเชน ของพระมหาวีระ ทำให้เกิดมีการปฎิรูปทางสังคม ตามหลักธรรมคำสอนของทั้งสองศาสนา

เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ยกทัพมารุกรานอินเดีย ได้สร้างรอยจารึกในด้านความเชื่อถือเกี่ยวกับอำนาจลึกลับ มหัศจรรย์ และในด้านศิลปของอินเดียไว้อย่างลึกซึ้ง

พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงละจากการทำสงคราม หันมานับถือพระพุทธศาสนา ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ยึดถือมนุษยธรรมเป็นหลัก ก่อให้เกิดศิลปก่อสร้างทางสถาปัตยกรรม เจริญเฟื่องฟูอย่างมาก และได้ส่งผู้แทนคณะต่าง ๆ ออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ อิทธิพลของอินเดีย ก็ได้แผ่ขยายกว้างขวางออกไปถึงเอเซียตะวันออก พร้อมกันไปด้วย

ในอีกหนึ่งพันปีต่อมา งานศิลปะประดิษฐอันยิ่งยงก็ได้ปรากฎขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ศิลปแกะสลัก และก่อสร้างทางศาสนา ดังที่ปรากฎอยู่ทั่วไปในอินเดีย จนถึงปัจจุบันนี้

ชนชาวมุสลิม ทั้งที่เป็นพ่อค้าวานิช และที่เป็นผู้รุกรานได้เริ่มเข้ามาในอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ ส่วนชาวโมกุลที่เข้ามายึดครองอินเดียไว้ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ นั้นได้พากันเข้ามาเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ผู้ที่เข้ามาครอบครองอินเดียใหม่นี้ ได้นำเอาแบบแผนประเพณี ศิลปการช่างต่าง ๆ รวมทั้งความรู้ ความสามารถอื่น ๆ ของตนโดยเฉพาะเข้ามาด้วย

ชาวโมกุล ได้พยายามรวมอินเดียเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอาศัยการก่อตั้งระบบการปกครองอันก้าวหน้า ขึ้นไว้ในภูมิภาคต่าง ๆ ระบบการปกครองดังกล่าวได้ถือปฎิบัติต่อมา จนประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๔

เมื่ออำนาจการปกครองของชนชาวมุสลิมเสื่อมโทรมลง อังกฤษซึ่งเข้ามาในฐานะพ่อค้าก็ได้เข้าครอบครองอินเดียสืบต่อมา เป็นผลให้อินเดียสามารถรวมตัวกันเข้าอยู่ภายใต้อิทธิพล ตามแนวนึกคิดของตะวันตก

สรุปแล้ว จะเห็นว่าในอินเดียนั้น ได้มีการผสมผสานทางเชื้อชาติ และวัฒนธรรมของชนต่างเผ่าพันธุ์ วรรณะ อย่างกว้างขวาง ในขณะที่ชนชาวอินเดียต่างก็ดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ตามแนวประเพณีที่ตนถือปฎิบัติกันอยู่แล้ว หลายศตวรรษโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง



ปรัชญาและค่านิยม วัฒนธรรมของอินเดีย ไม่สามารถแยกปรัชญา และศาสนาออกจากกันได้

ค่านิยมของอินเดีย เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ ยิ่งกว่าจีน และญี่ปุ่น ตามประวัติศาสตร์ยุคแรกของอินเดีย เป้าหมายที่สำคัญคือจิตใจของมนุษย์ และการเข้าถึงสันติทางวิญญาณเป็นเป้าหมายของมนุษย์

หลักคำสอนสำคัญของอินเดียเน้นถึงความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง อยู่เหนือกาลเทศะ เหนือเหตุผลทุกอย่าง เป็นสิ่งที่สิ้นสุดแสดงออกเป็นถ้อยคำไม่ได้ มีลักษณะเป็นหนึ่ง สิ่งนั้นคือพรหมหรือพรหมัน พรหมเท่านั้นเป็นสิ่งที่แท้จริง ความแท้จริงที่สมบูรณ์เป็นนามธรรม ทุกอย่างจะกลมกลืนกันเมื่อเข้าถึงโมกษะคือพ้นจากพันธนาการโลก พ้นจากสังสารวัฏที่อวิชชาได้สร้างขึ้น

ศิลปะของอินเดีย ศิลปะอินเดียก็เหมือนกับลักษณะอื่น ๆ คือมุ่งสร้างความกลมกลืนระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
ในถ้ำคูหาโบราณสถานที่มิสซาฟุรและในที่อื่น ๆ จะพบภาพจิตรกรรมเก่าแก่ เขียนเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ การเขียนภาพระบายสี มีหลักฐานแสดงว่า ได้ถือกำเนิดในยุคหินระยะหลังของอินเดีย ในระหว่างสมัยพุทธกาล การเขียนภาพลวดลายได้ก้าวหน้าไปถึงขั้นสมบูรณ์สูงสุด อย่างชนิดที่จะหาสิ่งที่เจริญอื่นใดมาเปรียบเทียบได้

คูหาวิหารที่สร้างขึ้นด้วยการสกัดถ้ำคูหาของโขดเขาที่อะชันตา มีความสูงส่งในแนวความคิดและความเด่นในฝีมืออย่างน่าอัศจรรย์ อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีผลงานทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรมและจิตรกรรมที่ใดที่จัดว่าสมบูรณ์ยอดเยี่ยมเช่นที่อะชันตา เอลลอรา และบาดามิ

ดนตรีและการฟ้อนรำ ต้นกำเนิดของศาสนาของอินเดียมีมาแต่การบูชาบวงสรวง ชาวอินเดียเล่นดนตรีด้วยเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย คล้ายกับว่าความผสมกลมกลืนของเสียงดนตรีคือสรวงสวรรค์ เสียงขับร้องของคน และเสียงจากการบรรเลงของเครื่องดนตรี จะสะท้อนถึงกันและกัน

ในด้านการฟ้อนรำ เป็นการฟ้อนอย่างมีแบบแผนซึ่งมีมาช้านานกว่าสามพันปี ภารตะได้เขียนตำรานาฏศาสตร์ขึ้นไว้ในพุทธศตวรรษที่สาม ผู้ฟ้อนรำบรรยายเรื่องราว โดยใช้การเคลื่อนไหวของมือและเท้า ประกอบกับการแสดงท่าทีอาการด้วยตา และใบหน้า

ปัจจุบัน การฟ้อนรำแบบแผนสำคัญ ๆ มีอยู่สี่แบบคือ ภารตนาฏยัม เป็นการฟ้อนตามกฎเกณฑ์แต่โบราณของภาคใต้ แสดงโดยนักฟ้อนรำประจำวัดวาอารามต่าง ๆ ในการประกอบพิธีบวงสรวง ตามแบบอย่างที่ได้ปฏิบัติติดต่อกันมารหลายศตวรรษ กถึกกาลิ เป็นแบบฟ้อนรำที่เกิดจากเดราลา แสดงให้ผู้ชมได้เห็นโลกของเทพเจ้า และภูติผีปีศาจ ผู้แสดงแต่งตนสีฉูดฉาด และแสดงบทบาทด้วยท่วงท่าเข้มแข็งคึกคัก มณีปุริ เป็นแบบฟ้อนรำของภาคเหนือ มีลีลาการแสดงที่ประกอบด้วย อาการเคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวลละมุนละไม และกถึก เป็นแบบฟ้อนรำซึ่งวิวัฒนาการภายใต้การสนับสนุนส่งเสริมของราชวงศ์โมกุล การฟ้อนรำแบบนี้อาศัยจังหวะเป็นสำคัญ

ศิลปะฟ้อนรำพื้นเมือง ประกอบด้วยลีลาร่ายรำหลายรูปแบบ ที่นิยมแพร่หลายที่สุดก็คือการฟ้อนรำแบบมณีปุระ ซึ่งผู้แสดงแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์สีสวยสดงดงาม

เครื่องแต่งกาย เครื่องแต่งกายชั้นหนึ่งของสตรีที่ดึงดูดความสนใจของชาวต่างชาติคือ ส่าหรี ผ้าที่ใช้ทำส่าหรีจะมีความยาวระหว่างห้าถึงเก้าหลา เป็นได้ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหมปักเป็นดอกดวงลวดลายต่าง ๆ กัน ส่งประกายวาววับ เครื่องแต่งกายของบุรุษ ที่จัดไว้คู่กันเรียกว่า โคติ มีทั้งชนิดที่มีขอบ และไม่มีขอบ เป็นเครื่องแต่งกายของบุรุษที่เกิดขึ้น เมื่ออิทธิพลของเปอร์เซีย และโมกุล แผ่ขยายเข้ามาสู่อินเดีย

สตรีในชนบทนิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาดบาดตา ผ้าโพกศีรษะเป็นเครื่องแต่งกายส่วนหนึ่งของบุรุษในรัฐราชสถาน และในหมู่ชาวซิกข์ ผ้าโพกศีรษะเป็นสิ่งที่ได้รับความพิถีพิถันเป็นพิเศษ ส่วนชาวพื้นเมืองก็มีเครื่องแต่งกายมากมาย

วรรณคดี อินเดียมีวรรณคดีเก่าแก่ ลึกซึ้ง และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แม้ในต่างประเทศ เช่น เรื่องมหาภารตยุทธ และรามายณะ ซึ่งเป็นต้นฉบับของเรื่องรามเกียรติของไทย นอกจากนี้ยังมีเรื่องนิทานต่าง ๆ เช่น หิโตประเทศ นิทานเวตาล เป็นต้น

รัฐบาลอินเดียได้จัดตั้งสถาบัน รวบรวมและศึกษาเกี่ยวกับวรรณคดีอินเดีย และได้แปลออกเป็นภาษาต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในอินเดียปัจจุบัน และเผยแพร่ให้แก่ชาวอินเดีย รวมทั้งประเทศอื่นได้ทราบอีกด้วย

อินเดีย นั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นชาติเดียวในโลก ที่แนวทางชีวิตแบบดั้งเดิมพื้นเมือง และแบบก้าวหน้าตามสมัยนิยม ยังคงเดินควบคู่กันไป อย่างผสมกลมเกลียวกันตลอดมา แม้จะมีสภาพที่ยังมีการต่างพวกต่างวรรณะ ต่างศาสนา ต่างค่านิยม ที่มีอยู่อย่างมากหลาย แต่ชาวอินเดียก็รักชาติรักอินเดีย มีความภาคภูมิใจในอินเดียอย่างหาชาติใดเปรียบได้ยาก เพราะอินเดียมีอารยธรรม วัฒนธรรมเป็นตัวผูก เป็นฐานหลักให้อินเดียมีเอกลักษณ์ มีความพิเศษอยู่ในตัวของอินเดียเอง

วัฒนธรรมของอินเดียได้แพร่เข้ามาสู่ไทย ทางศาสนประเพณีบางอย่าง ไทยได้นำเอามาใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ประเพณีส่วนมากที่ใช้กันอยู่ยึดถือแบบพราหมณ์ เช่น พิธีโกนจุก บวชนาค แรกนาขวัญ ทางสถาปัตยกรรม ก็มีเกี่ยวกับการปั้นพระพุทธรูป เป็นต้น

การจัดลำดับชั้นของสังคม ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู เป็นศาสนาที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ ๘๒ นับถือ ศาสนานี้มีความเชื่อเรื่องวรรณะ หรือชนชั้นในสังคม เป็นระบบที่เข้มงวดมานานนับพันปีแล้ว แต่ละวรรณะมีกฎเกณฑ์กำหนดระเบียบความประพฤติ และประเพณีในหมู่ของตน มีข้อกำหนดเรื่องการแต่งงาน อาหารการกิน การปฎิบัติทางศาสนา ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์วรรณะของตน อาจได้รับโทษหนักเบา แล้วแต่กรณี หรืออาจขับไล่ออกจากวรรณะก็ได้ ผิดกับระบบชั้นของสังคมของชาติอื่น ๆ

คำว่า วรรณะ แปลว่า สี อักษร ชาติ กำเนิด ลักษณะ คุณสมบัติ รูป ประเภท

ในคัมภีร์พระเวท สอนไว้ว่า มนุษยชาตินั้นหากจะแบ่งประเภทออกไปแล้ว ย่อมสามารถแบ่งได้เป็นสี่ประเภท หรือสี่วรรณะด้วยกันคือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร

วรรณะพราหมณ์ ได้แก่ ผู้ยังความแพร่หลายให้เกิดแก่วิทยาการด้านต่าง ๆ กล่าวคือ หากมีความชำนาญในวิชาหนึ่งวิชาใด แล้วนำเอาวิชานั้นไปสอน หรือเผยแพร่ให้แก่ผู้อื่น ๆ ถือว่าเป็นครู อาจารย์ ในวิชาหนึ่ง ๆ เช่น วิชาจิตศาสตร์ นิติศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อักษรศาสตร์ แพทยศาสตร์ บุคคลที่ทำหน้าที่นี้ถือว่าเป็นวรรณะพราหมณ์

คำว่า พราหมณ์ หมายถึง ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับ พระพรหม พระเวท และอาตมัน ในคัมภีร์ธรรมศาสตร์บอกไว้ว่า ผู้เป็นพราหมณ์ ย่อมมีลักษณะ ๑๑ ประการ ตามธรรมชาติ หรือเรียกว่า ธรรมของพราหมณ์

ผู้ที่เป็นพราหมณ์อาจประกอบการกสิกรรม การค้าขายหรือธุรกิจอื่นได้ เพื่อการครองชีพที่สมควรในยามยากลำบาก หรือคราวภาวะคับขัน

วรรณะกษัตริย์ ได้แก่ ผู้ที่เป็นนักรบหรือผู้ป้องกัน เป็นวรรณะที่สองรองมาจากวรรณะพราหมณ์ มีสิทธิปกครองประเทศชาติ นั่นก็คือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นกษัตริย์ ซึ่งวรรณะก็ต้องมีธรรมะของกษัตริย์ ๑๑ ประการ ทำนองเดียวกับวรรณะพราหมณ์ แต่ไม่เหมือนกัน

ผู้ที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์มีหน้าที่รักษา คุ้มครองป้องกันรักษาดินแดน รู้จักใช้อาวุธต่าง ๆ รู้จักใช้ยุทธวิธีตามสมัยตลอดจนรู้หลักวิชากฎหมายด้วย แต่หากจำเป็นในยามวิบัติ พระธรรมศาสตร์ก็อนุญาตให้ประกอบอาชีพอื่นได้ เช่น เป็นครูอาจารย์การทำกสิกรรมและการค้าขาย เพื่อการครองชีพได้

วรรณะแพศย์ ได้แก่ ผู้ที่ทำหน้าที่ประกอบการกสิกรรมและพาณิชยการต่าง ๆ แต่ในยามวิบัติกาล พระธรรมศาสตร์
ก็อนุญาตให้อาจประกอบอาชีพอื่นได้ทุกอย่างตามกาลเทศะ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นอาชีพที่สุจริตเท่านั้น

วรรณะศูทร เป็นวรรณะที่สี่ ถือว่าวรรณะนี้มีกำเนิดมาจากบาทของพระพรหม ฉะนั้นจึงทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ในกิจการต่าง ๆ โดยทั่วไป วรรณะศูทรมีลักษณะเจ็ดประการ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้วรรณะที่สูงกว่าทั้งสามวรรณะคือพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์

ในอินเดียมีความพยายามที่จะเลิกระบบชนชั้นมาโดยตลอด ผู้ที่ดำเนินการท่านแรกคือพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงนำแบบก้าวหน้า ในสังคมชาวพุทธจะไม่มีชนชั้น มีแต่ความเสมอภาคกัน แต่สังคมอินเดียเห็นว่าเป็นอุดมคติเกินไป ชาวอินเดียส่วนใหญ่จึงรับไม่ได้ และศาสนาพุทธก็ถูกศาสนาฮินดู พยายามกลมกลืนในเวลาต่อมา

ผู้นำการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบชนชั้นในอินเดียในยุคปัจจุบันคือ ดร.อัมเบ็คการ์ เป็นผู้ที่ชาวพุทธอินเดีย ยกย่องถึงกับให้เป็นสรณะที่สี่ต่อจากพระรัตนตรัย ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ดร.อัมเบ็คการ์ ในฐานะรัฐมนตรียุติธรรมของอินเดีย ได้นำชาวอินเดียในชนชั้นต่ำสุดคือ พวกจัณฑาล (Untouchable) ทั่วประเทศชุมนุมประกาศตนเป็นชาวพุทธตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เป็นเหตุให้จำนวนชาวพุทธเพิ่มขึ้นในอินเดีย



ศาสนา

อินเดียเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาสำคัญสามศาสนาคือศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน นอกจากนี้ยังมีศาสนาอื่น ๆ ที่ได้แพร่หลายเข้ามาในอินเดีย และได้ลงหลักปักฐานเจริญเติบโตขึ้นภายใต้บรรยากาศของความอดกลั้น ผ่อนปรนศาสนาสำคัญ ๆ ในลักษณะดังกล่าวได้แก่ ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์

ประชากรส่วนใหญ่ของอินเดียนับถือศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ที่มีกำเนิดมาจากการกราบไหว้บูชาผีสางเทวดาในรูปพิธีกรรมตามแบบอย่างง่าย ๆ ปรัชญาฮินดูมุ่งสอนมนุษย์ให้ยอมรับนับถือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของเทพวิญญาณ พระเวทเป็นคัมภีร์เก่าแก่ดั้งเดิมที่สุดในโลก

ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู เป็นต้นกำเนิดของศาสนาอื่น ๆ อีกสามศาสนาคือศาสนาพุทธ ศาสนาเชนและศาสนาซิกข์

ศาสนาพุทธและศาสนาเชนเกิดร่วมสมัยเดียวกัน ส่วนศาสนาซิกข์เกิดในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ศาสนาอิสลามเข้ามาสู่อินเดีย พร้อมกับการรุกรานเข้ามาทางด้านทิศเหนือ และทิศตะวันตกของอินเดีย ได้นำวัฒนธรรมเปอร์เซีย และซาราเซนเข้ามา และได้มีส่วนปรุงแต่งภูมิปัญญา และรสนิยมที่มีอยู่ก่อนแล้ว จนเป็นผลให้เกิดประดิษฐกรรมทางด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรมและดนตรีที่สำคัญมากมายสืบต่อมา

การนับถือศาสนาของชาวอินเดีย มีจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาต่าง ๆ เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยคือ ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ประมาณร้อยละ ๘๓ ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ ๑๑ ศาสนาคริสต์ประมาณร้อยละ ๓ ศาสนาซิกข์ประมาณร้อยละ ๒ ศาสนาพุทธประมาณร้อยละ ๑ และศาสนาเชนประมาณร้อยละ ๐.๕

อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู การดำรงชีวิตของชาวอินเดียโบราณมีความสัมพันธ์กับศาสนามาก คัมภีร์พระเวท ซึ่งมีอายุประมาณ ๑,๕๐๐ - ๕๐๐ ปี ก่อนพุทธกาล เป็นตำราประวัติศาสตร์และวรรณคดีเล่มแรกของอินเดีย ประกอบด้วยคัมภีร์ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท รวมเรียกว่า ไตรเพท ต่อมามีพวกอารยันเดิมทั้งสองพวกมีความสามารถ และความเจริญเท่าเทียมกัน จึงหาวิธีต่าง ๆ มาต่อสู้กัน จึงหันไปหาทางศึกษาวิธีการใช้คาถาอาคมต่าง ๆ จึงเกิดคัมภีร์อาถรรพเวทขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่ง

ลัทธิฮินดูมีวิวัฒนาการมาจากศาสนาพราหมณ์ โดยนำเอาความเชื่อหลาย ๆ อย่างมารวมกัน ไม่มีผู้ใดทราบว่าลัทธิฮินดูเกิดขึ้นเมื่อใด ลัทธินี้แพร่หลายอยู่ทางตอนใต้ของอินเดียหลังพุทธกาลเล็กน้อย โดยยึดหลักจากคัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งเป็นวรรณคดีภาษาสันสกฤต เขียนขึ้นเมื่อประมาณ ๒๕๐ - ๕๐ ปี ก่อนพุทธกาล มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง สาระของเรื่องเป็นปรัชญาทั้งสิ้นถือว่าเป็นแก่นแท้ของศาสนาฮินดู

ลัทธิฮินดูถือว่าคัมภีร์พระเวทเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พราหมณ์เป็นผู้แทนจากพระเจ้า พระเจ้าสมัยฮินดูเปลี่ยนจากการถือว่าพระพรหมเป็นเทพสูงสุด มานับถือนารายณ์เป็นเทพสูงสุดเรียกว่า ปรพรหม พระองค์ประสงค์จะสร้างโลกจึงแบ่งเป็นสามภาคเรียกว่าตรีเทพหรือตรีมูรติ ถือพระพรหมให้เป็นผู้สร้างโลก พระวิษณุให้เป็นผู้บริหารโลก และพระศิวะให้เป็นผู้ทำลายโลก

ในสมัยที่ฮินดูรุ่งเรืองในอินเดีย การแบ่งชั้นวรรณะเข้มงวดมากขึ้น ห้ามแต่งงานข้ามวรรณะ และในการอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องของแต่ละวรรณะจะพึงประพฤติปฎิบัติ จะก้าวก่ายกันไม่ได้

ลัทธิฮินดูมีหลายนิกาย บางนิกายก็นับถือพระวิษณุ บางนิกายก็นับถือพระอิศวร บางนิกายก็นับถือพระพรหมและเทพเจ้าอื่น ๆ อีกหลายองค์เช่นพระอุมา พระอินทร พระจันทร์ เป็นต้น

คำสอนที่หล่อเลี้ยงชาวฮินดูอันสำคัญคือคัมภีร์ภควัตคีตา แปลว่าเพลงของพระเจ้า เป็นระบบคำสอนแบบรวม คำสอนของพวกพราหมณ์ที่เคยแพร่หลายเป็นเวลานาน เน้นสาระสำคัญสี่ประการประกอบกันคือ
- ความเจริญสูงสุดเกี่ยวกับสัญญาณของโลกเรียกพรหม
- ความไม่แน่นอนของวัตถุโลก
- การเวียนว่ายตายเกิดของวิญญาณ
- ความพยายามที่จะหนีจากการเวียนว่ายตายเกิด

พุทธศาสนากับอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดีย พุทธศาสนาเกิดขึ้นท่ามกลางวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งมีแบบฉบับขนบธรรมเนียมสืบต่อกันมาหลายพันปี โดยเฉพาะศาสนาพราหณ์ - ฮินดู มีอิทธิพลมาก พุทธศาสนาได้ทำการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าแบบเก่าของอินเดียหลายประการ บางอย่างได้แนวปฎิบัติในรูปวัฒนธรรมใหม่ จึงมีสิ่งดีงามใหม่ ๆ ขึ้นหลายประการ เช่น

- พุทธศาสนาได้สอนหลักแห่งกรรม โดยยืนยันความดีความชั่วตามกรรมที่ตนทำ ไม่ใช่เอาการกำเนิดเป็นเครื่องตัดสิน ใช้หลักคุณธรรมเป็นสำคัญ ในเรื่องนี้ มหาตม คานธี และเยาวหราล เนห์รู ผู้นำคนสำคัญของอินเดียได้สดุดีเกียรติคุณ ของพระพุทธเจ้าเป็นพิเศษ

- พระพุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับระบบการซื้อขายทาสในอินเดีย มีบทบัญญัติห้ามพระภิกษุมีทาส ซึ่งเป็นแนวทางสังคมใหม่ที่ในระยะต่อมา ก็มีการเลิกระบบทาส พุทธศาสนาจึงมีส่วนส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

- ชาวอินเดียโบราณเชื่อในเรื่องพรหมลิขิตอย่างแพร่หลาย เป็นเหตุให้ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ผู้ที่ต้องการความเจริญ หรืออยากพ้นทุกข์ ก็คอยให้พรหมบันดาล เอาแต่สวดอ้อนวอน ขาดการขวนขวายแก้ไขปัญหา พระพุทธศาสนาสอนหลักแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ปรับปรุงชีวิตของคน ให้สอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์

- ชาวอินเดียโบราณแสวงหาบุญด้วยการฆ่าสัตว์บุชายัญ เพื่อบูชาเทพเจ้า ก่อความทุกข์โศกให้แก่มนุษย์และสัตว์ เป็นอย่างมาก พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เลิกวิธีการดังกล่าว ให้มาสร้างความดีด้วยการให้สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ไม่เบียดเบียนกัน ให้อภัยกัน ชำระจิตใจให้สะอาด เป็นวัฒนธรรมในแนวใหม่ ดีกว่าเดิมเป็นไปตามแนวสันติภาพ

Tuesday, August 10, 2010

มันตรยาน และสหัชยาน

มันตรยาน และ สหัชยาน

บรรดานิกายต่างๆ ของพระพุทธศาสนา นิกายมันตรยาน และสหัชยานนับว่ามีคนรู้จักน้อยที่สุด ทั้งนี้เพราะเป็นนิกายที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง อย่างไรก็ตามคำว่า “มันตร” ปรากฏอยู่แล้วในข้อความบางตอนของพระไตรปิฎก เช่นใน อาฏานาฏิยสูตร แม้ว่าเราจะไม่ค่อยเห็นการใช้มนตร์กันในพระพุทธศาสนายุคแรกๆ แต่เราก็อาจกล่าวได้อย่างไม่ผิดว่า เพราะมนตร์ในสมัยดั้งเดิมนั่นเอง นิกายมนตรยานจึงเกิดขึ้น และเจริญคู่คี่มากันพระพุทธศาสนานิกายอื่นๆ เป็นเวลาช้านาน แล้วจัดให้เป็นระบบและเรียกว่า “ยาน” ในกาลต่อมา ในสมัยแรกๆ มันตรยานและสหัชยานสอนเรื่อง ความเจริญของจิตใจอันมีผลทางจิตวิทยา คำสอนของนิกายทั้งสอนนี้มีลักษณะเฉพาะเจาะจง และจเข้าใจได้ก็ด้วยทำให้เกิดประสบการณ์ขึ้นทันที แต่ทำให้เราเข้าใจความแตกต่างระหว่างนิกายทั้งสองนั้นได้ยากเพราะมีความ สัมพันธ์ใกล้ชิดกันเหลือเกิน

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะทราบได้อย่างไรว่า มันตรยานคืออะไร และหลักสำคัญของมันตรยานคืออะไร เรื่องนี้มีคำอธิบายอย่างชัดเจนอยู่ ในหนังสือของท่าน ปัทมะ การโป จากคำอธิบายของท่านผู้นี้ ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่า มันตรยานมุ่งต่อความสำเร็จ ชนิดเดียวกับที่พระพุทธศาสนานิกายอื่นๆประสงค์ กล่าวคือ การรวมบุคคลเข้ากับโพธิหรือความบริสุทธิ์สูงสุดของจิตใจ แม้จะมีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน แต่วิธีปฏิบัติแตกต่างกันเป็นอันมาก การจะบรรลุโพธิได้ขึ้นอยู่กับความพยายามของบุคคลแต่ละคน จะทำแทนกันไม่ได้ แต่มีพิธีกรรมขั้นต้น บางประการที่ทำให้บุคคลเข้าถึงโพธิง่ายขึ้น พิธีกรรมขั้นแรกนั้นก็คือ การถึงสรณะ และการสร้างโพธิจิต (จิตที่น้อมไปเพื่อการตรัสรู้) ให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติต่อไป การถึงสรณะนั้น ก็คือการนับถือพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง การนับถือนั้นไม่ได้ความว่า นับถือพระพุทธ พระสงฆ์ที่เป็นบุคคล และพระธรรมที่เป็นคัมภีร์ แต่หมายถึงการนับถือพระรัตนตรัยโดยพระคุณ การถึงสรณะนี้ เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการตกลใจ ที่จะบำเพ็ญเพียรให้ตรัสรู้เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย และการตกลงใจนั้เร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนท่าทีเดิม คือผู้ปฏิบัติจะเปลี่ยนจากการแสวงหาปัญญาธรรมดา ไปแสวงหาญาณทัสสนะ ซึ่งจะเห็นตนเองและโลกโดยรอบด้าน ขั้นต่อไปก็คือ การเพิ่มพูนพัฒนาความมุ่งหมายใหม่นี้ ให้เจริญโดยการทำสมาธิ ในการทำสมาธินั้น การท่องมนตณืนับว่าเป็นสิ่งสำคัญในอันที่จะกำจัดกิเลสอสวะทั้งปวง คำว่า “มนตร์” มีคำจำกัดความว่า “การคุ้มครองจิตใจ” คือเป็นเครื่องป้องกันจิตใจไม่ให้ดำเนินไปนอกทาง จึงนับว่าเป็นการช่วยเหลือในการทำสมาธิโดยตรง จิตใจของมนุษย์เรานั้นไม่ใช่ถูกครอบงำ โดยภาพมายาทั้งภายในและภายนอกเท่านั้น หากแต่ถูกครอบงำด้วยคำพูดด้วย อำนาจของคำพูดเป็นสิ่งที่มีผลต่อจิตใจมาก เพราะคำพูดเพียงไม่กี่คำไม่กี่พยางค์ ก็สามารถป้องกันไม่ให้ บุคคลลดความพยายามลงมา แสวงหาปัญญาเพียงขั้นธรรมดา แม้ว่ามนตร์ตจะเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับอำนาจ ดังกล่าว แต่การใชมนตร์แต่ละอย่างขึ้นอยู่กับจริต อัธยาศัย ของนักปฏิบัติแต่ละคน วิธีปฏิบัตินี้ได้รับการปรับปรุงในนิกายมนตรยาน โดยใช้วิชาการมากที่สุด ถัดจากพิธีนี้ก็ถึงพิธีให้ “มณฑล” ซึ่งเป็นพิธีที่ทำให้คุณธรรม และปัญญาที่จำเป็นขั้นต้นบริบูรณ์ จิตวิทยาสมัยใหม่ได้ค้นพบคุณค่าตามธรรมชาติของ “มณฑล” ว่าเป็นกระบวนการให้เกิดปัญญาได้ แต่พระพุทธศาสนายังก้าวเลยการค้นพบของจิตวิทยา สมัยใหม่ไปอีก และแก้ปัญหาได้สมบูรณ์กว่าจิตวิทยา เพราะพระพุทธศาสนาไม่แยกคนออกจากสิ่งแวดล้อมของเขา สิ่งแวดล้อมนั้น ได้แก่เอกภพทั้งหมด ไม่ใช่เพียงสิ่งที่สังคมยอมรับ เท่านั้น ในการบำเพ็ญ “มณฑล” นั้น แต่ละขั้นตรงกับปารมิตา 6 คือ เสรีภาพ จริยธรรม ขันติ วิริยะ สมาธิ และปัญญา นี้หมายความว่า การสร้าง “มณฑล” ขึ้นมีคุ่ณค่าเป็นอย่างมาก เพราะมีผลต่อพฤติกรรมของคน มันตรยานก็เช่นเดียวกับมหายานนิกายอื่น ๆ คือขัดแย้งอย่างรุนแรง กับพระพุทธศาสนาเถรวาท มันตรยานได้ตั้งจุดประสงค์ และอุดมคติไว้เป็นแบบปฏิฐาน (โพธิ) ส่วนเถรวาทตั้งไว้เป็นและนิเสธ (นิโรธ) การปฏิบัติทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการเตรียมไว้สำหรับขั้นสุดท้าย คือ “คุรุโยคะ” ด้วยการบำเพ็ญคุรุโยคะนี้ บุคคลจะบรรลึงการรวมกันระหว่างตัวตนกับความจริงอันติมะ อย่างแบ่งแยกมิได้ คุรุโยคะ เป็นข้อปฏิบัติที่แปลกที่สุดอย่างหนึ่ง และวิธีปฏิบัติก็ยุ่งยากสลับซับซ้อน แม้ว่าตามความหมายที่แท้ คุรุก็คือ ตัวความจริงนั่นเอง และแม้ความจริงจะพบในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่พบในสิ่งสิ้นสุดที่คิดฝันเอา ถึงกระนั้นคัมภีร์ของมันตรยานก็ยังคงเป็นความลับอยู่

นิกายที่ใกล้ชิดกับมันตรยานก็คือ สหัชยาน สหชะแปลว่าอะไร ตามตัวอักษรแปละว่าเกิดรวมกัน ก็อะไรเล่าที่เกิดร่วมกัน ปัญหาข้อนี้ นักปราชญ์ชาวธิเบต และท่านมิลาเรปะได้ตอบไว้แล้ว ท่านอธิบายว่า สิ่งที่เกิดร่วมกันนั้น ได้แก่ธรรมกายกับปัญญา นี่หมายความว่า ธรรมกายกับปัญญาจะแบ่งแยกไม่ได้ค ือเอกภาพ เอกภาพนี้หมายความว่า “สัจจะ” เป็นหนึ่งและแบ่งแยกมิได้ แต่บุคคลก็อาจใช้ปัญญา วิเคราะห์ แยกแยะออกไปได้ ดังนั้นเอกภาพแห่งจิต (ธรรมกาย) กับปัญญา บุคคลจะบรรลุได้ก็ด้วยการบำเพ็ญเพียรจนได้ตรัสรู้ การที่เข้าใจว่า เอกภาพนี้เป็นสมมุติฐานที่ตั้งขึ้นอย่างเลื่อนลอย เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะการจะบรรลุความตรัสรู้นี้ได้ จำเป็นต้องทำสมาธิ การทำสมาธิ ต้องอาศัยประสบการณ์โดยตรง และอาศัยการสังเกตว่า ปัญญาทำหน้าที่ร่วมไปกับอารมณ์ การที่จิตใจทำงานสองอย่างพร้อมกันจะทำให้เกิดกิเลสขึ้น กิเลสนั้นจะปกคลุมจิตใจให้มืดมิด ภาวะการณ์ เช่นนี้จะละได้ก็ด้วยบำเพ็ญสมาธิ ความสงบระงับไม่ใช่สิ่งที่บุคคลจะบรรลุได้ด้วยการแกล้งทำ แต่จะบรรลุได้ด้วยความรู้แจ้งในกระบวนการของจิต ความสงบระงับนั้นนับว่าเป็นรากฐานที่จำเป็นประการแรก ที่จะบำเพ็ญทางจิต ให้สูงขึ้นไป เรายิ่งปฏิบัติตามวิธีนี้สูงขึ้นไปเพียงใด เราก็จะเกิดความชำนาญขึ้นเพียงนั้น และญาณทัสสนะก็ยิ่งแจ่มชัดขึ้นเพียงนั้น เพราะว่า สิ่งที่มาปิดบังปัญญาได้ถูกกำจัดให้หมดไป การบรรลุถึงขั้นนี้ ได้ต้องอาศัยการลงมือปฏิบัติเพียงแต่คิดหาเหตุผลหาได้ไม่ ทฤษฎีของมหายานว่าด้วยเอกภาพแห่งสังสารวัฏฏ์ กับนิพพาน และเอกภาพแห่งกิเลสกับความตรัสรู้ จึงนับว่าเป็นทฤษฎีที่สำคัญมาก

สิ่งที่สหัชยานสอนไม่ใช่ระบบสร้างปัญญาเลย แต่เป็นการปฏิบัติวินัยอย่างเข้มงวด บุคคลจะต้องปฏิบัติวินัยนั้น จนเกิดความรู้ขึ้นมาเอง ข้อนี้ทำให้เราเข้าใจสหัชยานยาก และให้คำจำกัดความยาก ยิ่งกว่านั้น สหัชยานได้ย้ำถึงการเข้าถึงความแท้จริงด้วยญาณทัสสนะ เราจึงเห็นได้ว่า หน้าที่ของญาณทัสสนะนั้น ไม่ได้เป็นอันเดียวกันกับหน้าที่ของปัญญา และยังเห็นด้วยว่าญาณทัสสนะกับปัญญาต่างกันโดยสิ้นเชิง

ทั้งมันตรยานและสหัชยาน มีหลักสำคัญอยู่ 4 ประการคือ
1 ทรรศนะเกิดมากจาประสบการณ์ (ทฤษฎี)
2 อบรมทรรศนะนั้นให้เกิดขึ้น (ภาวนา)
3 ปฏิบัติตามทรรศนะนั้น (จริยา)
4 การรวมบุคคลเข้ากับทรรศนะนั้น (ผล)
ผลของการปฏิบัตินี้ อาจเรียกได้ต่างๆกันว่า “ความตรัสรู้” “ความบริสุทธิ์แห่งจิตใจ” หรือ “พุทธภาวะ”

มันตรยาน และสหัชยานมีอิทธิพลที่สุด ในธิเบตและมีหลักฐานอย่างเพียงพอว่า นิกายทั้งสองนี้ เป็นรากฐานของพระพุทธศาสนาแบบเซนด้วย อิทธิพลของนิกายทั้งสองที่มีมากอย่างน่าสังเกตนั้น เป็นเพราะสอนถึงธรรมชาติของมนุษย์ทั้งหมดว่า มนุษย์นั้นไม่ใช่เป็นเพียงสัตว์ที่ใช้ปัญญา แต่เป็นสัตว์ที่ใช้อารมณ์ด้วย และเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ในชีวิตประจำวัน คนเราใช้อารมณ์มากกว่าใช้ปัญญาหลายเท่า ดังนั้น ขณะที่นิกายมาธยมิก วิชญาณวาท ไวภาษิกะ และเสาตรานติกะ ซึ่งเป็นนิกายที่สร้างทฤษฎีให้เกิดปัญญา มีผู้สนใจเพียงศึกษาเท่านั้น นิกายมนตรญานและสหัชยาน ยังมีผู้ปฏิบัติอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ในพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ในธิเบต ประเทศต่างๆแถบภูเขาหิมาลัย จีน และญี่ปุ่น ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมันตรยาน และสหัชยานทั้งสิ้น

แม้ว่ามันตรยาน และสหัชยานไม่ใช่เป็นนิกายที่ติดอยู่กับหลักที่จำกัดอย่างแน่นหนา เหมือนนิกายไวภาษิกะ และวิชญาณวาท นิกายทั้งสองนั้นก็มีอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ต่อพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ นิกายมันตรยานมีอิทธิพลในทางเข้าเร้าอารมณ์ให้เลื่อมใสง่าย และมีพิธีกรรมอันสวยสดงดงาม ส่วนสหัชยานมีอิทธิพลในด้านการปฏิบัติสมาธิอย่างลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า นักปราชญ์ที่เด่นๆ ในพระพุทธศาสนา เช่น ท่านอสังคะ ท่านศานติเทวะ ท่านติโลปา ท่านนาโรปา ท่านไมตรีปา ท่านเซอร์กลิงปา และคนอื่นๆจะไม่มีส่วนการสร้างนิกายทั้งสองนั้น

สภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย
หนังสือ พุทธศาสนประวัติ ระหว่าง2500ปีที่ล่วงแล้ว

หลักพระพุทธศาสนาแบบตันตระ

หลักพระพุทธศาสนาแบบตันตระ

คำว่าพระพุทธศาสนาแบบตันตระ นั้นโดยทั่วไป ใช้เรียกพระพุทธศาสนาในอินเดียยุคหลัง กล่าวคือ มนตรยาน วัชรยาน หรือสหัชยาน การที่นิกายโยคาจาร ได้ย้ำถึงความสำคัญของวิญญาณและความเจริญของวิญญาณได้ค่อยๆทำให้เกิดความ เปลี่ยนแปลงหลายประการ ในพระพุทธศาสนา มนตร์ ธารณี และแผนภาพเป็นรูปวงกลมหรือสามเหลี่ยม เริ่มมีความสำคัญเพิ่มขึ้น สำหรับโยคี มนตร์เหล่านี้ถือกันว่ามีอำนาจขลังอย่างสำคัญ ถ้าจะเปรียบก็พอเปรียบกันได้กับ ปริตร ในคัมภีร์บาลี เพราะปริตรนั้น ก็ถือกันว่าสามารถป้องกันผู้ท่องบ่นให้พ้นจากความชั่วทั้งปวงได้ ครั้งหนึ่งการปฏิบัติแบบลึกลับ ถูกนำเข้ามาในพระพุทธศาสนา การปฏิบัตินั้น ต้องการผู้ปฏิบัติเพียงกลุ่มเล็กๆ ฉะนั้นการจะรักษาไว้ให้สืบต่อกันไปได้ จึงจำเป็นต้องมีสถาบันแห่งครูและศิษย์ (คุรุและเจฬะ) ปฏิบัติสืบต่อกันไปเรื่อยๆ

เพื่อจะรักษาธรรมชาติอันลึกลับของการปฏิบัตินั้นไว้ นักปฏิบัติจำต้องใช้ภาษาสัญลักษณ์ ซึ่งเข้าใจกันได้เฉพาะในหมู่นักปฏิบัติเท่านั้น สำหรับคนสามัญคำพูดเหล่านั้น มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง นักเขียนในนิกายนี้ได้ใช้ภาษาที่มีความหมายสองแง่ในทำนองเป็น “คำคม” ความหมายจริงๆของคำเหล่านั้นจะทำให้คนสามัญต้องสดุ้งตกใจ แต่สำหรับ “นักปฏิบัติ” เขาจะแปลความหมายไปอีกทาง คนธรรมดาย่อมแปลความหมายของคำต่างๆตามที่เคยแปลกันมา ฉะนั้นจึงทำให้เกิดความเข้าใจ ฉะนั้นจึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง

ลักษณะอีกประการหนึ่งของพระพุทธศาสนาแบบตันตระ ก็คือเชื่อในเทพเจ้าและเทพีเป็นจำนวนมาก เขาเชื่อว่าด้วยความโปรดปรานของเทพเจ้าและเทพีเหล่านั้นผู้ปฏิบัติก็จะบรรลุ “สิทธิ” หรือความสำเร็จได้ เขามันจะสร้างรูปแสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าประทับนั่นอยู่ ในท่ามกลางเทพีเป็นจำนวนมาก

(เทพ เทพีที่เกิดมาก่อนในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งพระพุทธเจ้ามิได้ปฏิเสธว่า ไม่มีอยู่จริง ซึ่งนักตันตระชาวพุทธได้แปลงมา เป็นเทพพุทธะ เทพีพุทธะ ทั้งยังได้สร้าง พุทธเจ้าปางดุ พุทธมารดาปางดุขึ้น อีกทั้งยังมีเทพโพธิสัตว์ และเทพธรรมบาล อีกมาก นักตันตระชาวพุทธสร้างขึ้น มิใช่ต้องการความโปรดปรานของเทพพุทธะทั้งปวงเหล่านั้น แต่ต้องการได้คุณสมบัติของเทพพุทธะเหล่านั้น เพราะว่า เทพพุทธะเหล่านั้นแต่ละองค์ก็เป็นสัญลักษณ์ของอารมณ์หนึ่งของสรรพชีวิต พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มีคุณสมบัติพิเศษจากอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเป็นพิเศษใน การบรรลุธรรม คุณสมบัตินั้นเป็นสิ่งที่นักตันตระต้องการเพื่อการบรรลุสิทธิ มิใช่การบูชาเพื่อให้ท่านโปรดปราน)

ยังมีพระพุทธศาสนาอีกแบบหนึ่ง ที่เหมือนกับพระพุทธศาสนาแบบที่กล่าว มาแล้ว นั่นก็คือพระพุทธศาสนาแบบ วัชรยาน พระพุทธศาสนาแบบนี้ นอกจากจะไม่มีคำสอนที่ดีหรือบริสุทธิ์ตามแบบเดิมแล้ว ก็ยังผสมผสานกับประเพณีท้องถิ่น และยอมรับพิธีกรรมลึกลับและน่ากลัวต่างๆ จึงแพร่หลายอยู่ในหมู่ชนชั้นต่ำ ผู้นำทางศาสนาแบบนี้ปฏิบัติและส่งเสริมข้อปฏิบัติหลอกลวง ต่างๆ เช่นข้อปฏิบัติ 5 ประการ เกี่ยวกับ ม. คือมัทยะ (น้ำเมา) มางสะ(เนื้อ) มัตสยา(ปลา) มุทรา(ผู้หญิง) และไมถุนะ(เสพเมถุน) ในหนังสือ ศรีสมาช(คุยหสมาช) สาธนมาลา ,ชญาณสิทธิ เป็นต้น เราจะพบว่ามีการเหยียบย่ำแม้กระทั่งศีล 5 ซึ่งเป็นรากฐานของพระพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่นในหนังสือ คุยหสมาช สนับสนุนให้มีการฆ่า การหลอกลวง การลัก และการเสพเมถุน ใครจะคิดบ้างว่า พระพุทธเจ้าทรงเห็นด้วยกับการกระทำเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ลัทธินี้ก็แพร่หลายไปกว้างขวาง ในอินเดียตะวันออก มหาวิทยาลัยวิกรมศีลา ซึ่งเป็นศูนยกลางแห่งการศึกษาแบบตันตระ ซึ่งค่อยๆแพร่หลายไปยัง เบงกอล อัสสัม และโอริสสา ประชาชนคนดีๆ ทั้งหลายต่างพากันต่อต้าน การปฏิบัติหลอกลวงเช่นนั้นอย่างหนักหน่วง และกระปฏิบัติหลอกลวงนี้เอง มีส่วนอย่างสำคัญ ในความเสื่อมศูนย์แห่งพระพุทธศาสนาในอินเดีย **(จากสองคอลัมท์ข้างบน ได้กล่าวถึงชนชั้นต่ำ ขอให้ท่านได้อ่านต่อไปจนจบแล้วจะเข้าใจในความเข้าใจผิดของตนต่อพุทธวัชรยาน ขออธิบายคำว่าชนชั้นต่ำ ตั้งแต่มีพุทธศาสนาขึ้นมา ผู้ที่ปฏิบัติพุทธธรรมได้ถูกจัดอันดับแม้ต่ำที่สุดก็ถูกเรียกว่า “บัณฑิต” ดังนั้นจึงมิไม่ชนชั้นต่ำเป็นชาวพุทธเลย แต่เราก็ต้องยอมรับว่า มีบุคคลชั้นต่ำซึ่งใช้ประโยชน์จากความศรัทธาของมหาชนต่อพุทธศาสนา พวกนี้มิเคยมีจิตใจใฝ่หาการบรรลุพุทธภาวะเลย เพียงอาศัยรูปแบบของชาวพุทธดำรงชีพ แล้วปฏิบัติตามตัณหาราคะของตน มิเคยได้พัฒนาใจ ขัดเกลาจิต ไม่เคยตีความในพุทธปรัชญาเพื่อการหลุดพ้น แต่พยายามตีความเพื่อสนองตัณหาแห่งตน เพราะรูปแบบที่ตนยืมมาดำรง ทำให้ตนมีเกียรติได้รับความเคารพจากมหาชน ยิ่งทำให้การหลอกลวงเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น อีกทั้งยังดึงดูดชนชั้นเดียวกันได้ให้เป็นเช่นเดียวกันได้มากขึ้นเรื่อยๆ พระเจ้าอโศกได้จับผู้ปลอมตัวบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา ถึง หกหมื่นกว่าคน ผู้ปลอมตัวบวชเหล่านั้นชาวพุทธเรามิได้ยอมรับพวกเขาเป็นพุทธศาสนิก ถือเป็นชนชั้นต่ำที่แฝงตัวมาอาศัยหากินเท่านั้น แต่ในกรณีที่ท่านได้กล่าวว่าชนชั้นต่ำในวัชรยานเป็นตัวการทำให้พระพุทธศาสนา เสื่อมจนสูญสลาย แล้วทำไมท่านยังยอมรับเขาเหล่านั้นเป็นพุทธศาสนิกชน แล้วทำไมผู้ปลอมบวชในสมัยพระเจ้าอโศกเราไม่ถือเขาว่าเป็นพุทธศาสนิกชน พุทธศาสนาไม่ว่านิกายใดและลัทธิใดก็มีผู้ที่เป็นชาวพุทธที่แท้จริงและเป็น ผู้ที่อาศัยพุทธศาสนาเกาะกินและบ่อนทำลายด้วยกันทั้งนั้น ทั้งเถรวาท มหายาน และวัชรยาน จึงมีทั้งผู้จรรโลงและทำลายด้วยกันทั้งนั้น การกล่าวว่า เฉพาะชาวพุทธวัชรยานเป็นตัวการทำให้พุทธศาสนาต้องกลายเป็นศาสนาแห่งความ สกปรก มั่วสุมอยู่ในโลกีย์ตัณหา จนตกต่ำและต้องสูญสลายไปจากดินแดนที่ให้กำเนิดนั้นถูกต้องหรือไม่ ในกรณีของข้อปฏิบัติ 5 ม.ซึ่งเป็นเรื่องของปรัชญา นักตันตระชาวพุทธให้ความหมายทางปรัชญาไปทางหนึ่ง แต่เราก็ห้ามมิใช่ชนชั้นต่ำซึ่งมิใช่นักตันตระชาวพุทธตีความไปตามที่ตนเอง ต้องการอีกทางหนึ่งไม่ได้ สุดท้ายชาวพุทธเราเองก็ร่วมมือกับชนชั้นต่ำซึ่งมิใช่ชาวพุทธ โจมตีชาวพุทธด้วยกันเองและสถาปนาชนชั้นต่ำที่ไม่ใช่ชาวพุทธให้เป็นชาวพุทธ ที่ทรงปัญญาจนสามารถทำลายพระพุทธศาสนาไปได้ หลักการของการปฏิบัติกับสุรา ที่กล่าวไว้ว่า เพื่อให้เกิดความมึนเมาจะได้สุดสวิงกิ้งอย่างเต็มที่ แต่การเกี่ยวข้องกับสุราของนักตันตระชาวพุทธยังคงปฏิบัติตามศีลข้อห้า คือให้ใช้เป็นกระสายยาได้ไม่เกินขนาดหนึ่งเมล็ดแตงโม แต่ในกรณีที่ พระอาจารย์ได้พบศิษย์ที่ทะนงตนว่าได้บรรลุการดำรงสติตลอดเวลาทุกสถานการณ์ พระอาจารย์จำนำสุรามาทดสอบกับศิษย์ การปฏิบัตินี้จะอยู่ในความควบคุมของพระอาจารย์ เรื่องเนื้อและปลา การเสพเนื้อเสพปลา ต้องเสพด้วยความเมตตา 1 สัตว์นั้นต้องถึงซึ่งกาลเอง 2 ต้องเสพด้วยจิตเมตตาเพื่อให้สัตว์นั้นได้สร้างกุศล 3 เนื้อสัตว์เมื่อมาบำรุงกายเราต้องคำนึงถึงจำนวนชีวิตของสัตว์ ควรเสพสัตว์ด้วยชีวิตจำนวนน้อย มากกว่าใช้ชีวิตสัตว์จำนวนมากในแต่ละมื้อ ส่วนคำว่ามุทรา ในที่กล่าวไว้ว่ามุทราแปลว่า ผู้หญิงที่มาร่วมเสพกาม แต่ในวัชรยานชาวพุทธ มุทราแปลว่าสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ คือคุณสมบัติของสิ่งซึ่งทำให้พระพุทธเจ้าในอดีต เป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้น มุทราคือสัญลักษณ์แห่งพุทธภาวะของพระพุทธเจ้าในอดีต หลักสุดท้ายคือ เมถุน เมถุนในพุทธวัชรยาน เป็นการปฏิบัติสมาธิจิตด้วยการ รวม ปัญญาและอุบายเข้าด้วยกัน เป็นการ เสพเมถุนภายในจิตของผู้ปฏิบัติเองคนเดียว(มีกล่าวไว้ในหนังสือหลักขอให้อ่าน ต่อไป) ธรรมะจะเป็นสิ่งประเสริฐ หรือเป็นเครื่องมือสุดต่ำช้า อยู่ที่ผู้นำเครื่องมือนั้นไปปฏิบัติ พุทธธรรมเมื่ออริยะชนชาวพุทธนำไปปฏิบัติ ก็นำจิตให้สูงขึ้นไปสู่ความเป็นพุทธศาสนิกชนอย่างสมบูรณ์ แต่พุทธธรรมถ้าชนผู้มิใช่ชาวพุทธนำไปดัดแปลงแล้วปฏิบัติ เราคงไม่เรียกผู้ปฏิบัตินั้นว่าเป็นพุทธศาสนิกชน สามัคคีธรรมที่วัสสการพราหมณ์ นำธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนไปดัดแปลงและปฏิบัติจนแคว้นวัชชีล่มสลาย เราจะถือว่าวัสสการพราหมณ์เป็นชาวพุทธ หรือ ชาวพราหมณ์)


ในบรรดาพระพุทธศาสนาแบบต่างๆ คำสอนแบบตันตระถูกละเลยและเข้าใจผิดกันมาจนถึงทุกวันนี้ ที่ว่า ตันตระนี้เกิดขึ้นจากประเพณีต่ำๆของพวกฮินดู และการปฏิบัติผิดๆซึ่งมีอยู่ในกลุ่มชนที่ไร้การศึกษา คำสอนแบบตันตระทุกอย่าง คนทั้งหลายรังเกียจกันมาก จนกระทั่งนักปราชญ์ก็ไม่กล้าแตะต้อง ผลก็คือ การสำรวจหรือการวิจัยอย่างตรงไปตรงมา ถูกทอดทิ้งเป็นเวลาช้านาน
นักปราชญ์ชาวยุโรป คนแรกที่กล้ารื้อฟื้นตันตระขึ้นมา โดยเฉพาะตันตระของฮินดูว่าด้วย กุณฑลินีโยคะ คือเซอร์ จอห์น วูดรอฟ ท่านผู้นี้ได้พิมพ์หนังสือชุดตันตระและปรัชญาตันตระขึ้นโดยใช้นามปากกาว่า อาร์เธอร์ อเวลอน ในคำนำเรื่องจักรสัมภารตันตระ เขากล่าวไว้ว่า “คนโง่เข้าใจความแท้จริงด้านจิตใจไม่ถูกต้อง เขาจึงเรียกความแท้จริงเข่นนั้นว่า ไสยศาสตร์ ความชั่วและความโง่นั้นมีอยู่มากแล้วตามธรรมชาติของมัน และมันได้สร้างวิชาให้เราศึกษาในแง่ตรงกันข้าม แต่ถ้าเราไม่ยึดถือความรู้นั้น ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความโต้เถียงกันทางศาสนา ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงขอย้ำว่า เราต้องเชื่อสติปัญญาและความยุติธรรมของเราเอง โดยพยายามเข้าใจศาสนาทุกศาสนาในแง่ที่ดีที่สุด และจริงที่สุด” แม้อเวลอนเอง ก็เชื่อว่า ลัทธิตันตระในพระพุทธศาสนาเป็นเพียงสาขาหนึ่งของลัทธิตันตระแบบฮินดู และเชื่อว่า ตำราซึ่งเขาค้นคว้านั้นเป็นหลักดั้งเดิมของตันตระทีเดียว ความเห็นนี้เป็นที่ยอมรับว่าถูกต้องมาโดยตลอดตราบเท่าที่ความรู้เรื่อง ตันตระจารคัมภีร์ของธิเบตยังไม่ได้เป็นที่รับรู้กันนอกดินแดนหิมาลัย เพราะคัมภีร์ตันตระเหล่านั้น ถึงแม้จะมีคำแปลแล้วแต่ก็ยังยากที่จะเข้าใจ ทั้งในด้านเหตุผล ในด้านประวัติศาสตร์ และในการปฏิบัติ
เหตุผลสำหรับเรื่องนี้ ก็คือว่าคัมภีร์เหล่านี้เราไม่สามารถจะเข้าใจได้เฉพาะในด้านปรัชญาเท่านั้น แต่เราเข้าได้จากประสบการณ์ด้านโยคะ ซึ่งไม่สามารถจะศึกษาได้จากหนังสือ ยิ่งกว่านั้นหนังสือซึ่งใช้ค้นคว้ากันนี้ ก็เขียนด้วยสำนวนแปลกๆ คือ ใช้ภาษาที่มีความหมายไม่ตรงตามตัวอักษร ซึ่งภาษาสันสกฤตเรียกว่า สนธยาภาษา

การใช้ภาษาที่มีความหมายไม่ตรงตามตัวอักษรนั้น ทำให้คนโง่ หรือผู้ที่ไม่ใช่นักปฏิบัติ ไม่สามารถจะเข้าใจได้ และนำไปปฏิบัติผิดๆ อีกด้วย แต่ก็จำเป็นต้องใช้ภาษาเช่นนั้น เพราะภาษาธรรมดาไม่สามารถจะแสดงประสบการณ์สูงสุดของจิตใจได้ สิ่งที่นักปฏิบัติได้บรรลุนั้น อธิบายให้เข้าใจกันไม่ได้ แต่สามารถแนะนำให้ปฏิบัติตามได้ ด้วยการยกอุทาหรณ์ และใช้อุปมาเปรียบเทียบ
ลักษณะทำนองเดียวกันนี้ มีอยู่ในพระพุทธศาสนานิกายฌานของจีนและนิกายเซนของญี่ปุ่น เพราะนิกายทั้งสองนั้น ได้มีความสัมพันธ์กับนักปฏิบัติโยคะตันตระของพระพุทธศาสนาในยุคกลาง ผู้ปฏิบัติจนบรรลุผลเหล่านี้เรียกตัวเองว่า สิทธะ ซึ่งแพร่หลายอยู่ในอินเดียระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7-11 พวกนี้เองเป็นผู้ประกาศคำสอนแบบตันตระวัชรยาน คัมภีร์ลึกลับและกวีนิพนธ์เป็นจำนวนมากของเขา ถูกทำลายเกือบหมด เมื่อประเทศอินเดียถูกพวกมุสลิมรุกราน แต่หนังสือเหล่านั้น ส่วนใหญ่ ได้แปลเป็นภาษาธิเบต ประเพณีการบำเพ็ญโยคะ และสมาธิก็ถ่ายทอดกันเรื่อยมาเป็นเวลาหลายชั่วคน

อย่างไรก็ตาม ในอินเดีย ยังคงมีชนชั้นต่ำที่ปฏิบัติตันตระ โดยคลุกเคล้าไปกับประเพณีของคนเหล่านั้น จนในที่สุดก็หมดคุณค่ากลายเป็นลัทธิไสยศาสตร์ ซึ่งไม่ได้รับความเชื่อถือ จากนักปฏิบัติตันตระที่แท้จริง

การปฏิบัติตันตระแต่เก่าก่อนของชาวพุทธ ได้มีอิทธิพลต่อศาสนาฮินดูอย่างมากมาย และความจริงจังของชาวฮินดูในการใช้การปฏิบัติตันตระ ส่งผลให้นักปราชญ์ในการต่อมาเข้าใจว่าตันตระนั้นเกิดจากฮินดู และนิกายต่ำๆของพระพุทธศาสนายอมรับและนำเข้ามาใช้ในภายหลัง

จากหลักฐานที่ได้ค้นพบยืนยันว่า พระพุทธศาสนาได้มีการปฏิบัติตันตระกันแล้วตั้งแต่ มหาสังฆิกะยุคแรก ประมวลมนตราธารณีปิฎกของมหาสังฆิกะ ในหนังสือมัญชูศรีมูลกัลป์ปะ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า เขียนขึ้นในตริสตศตวรรษที่ 1 ได้มีการกล่าวถึง มนตร์ ธารณี มณฑลและมุทรา เป็นอันมาก เป็นความครบถ้วนสมบูรณ์ของการปฏิบัติตันตระ ฉะนั้นการกล่าวว่าชาวพุทธชั้นต่ำยอมรับและนำเข้ามาซึ่งตันตระของฮินดูมาปน เปื้อน ในคริสตศตวรรษที่7-11 จึงเป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริงเลย นักปราชญ์และผู้ปฏิบัติชาวพุทธได้ปฎิบัติตันตระมาก่อนฮินดูหลายศตวรรษ และก็มิใช่ปฏิบัติกันในหมู่ชาวพุทธชั้นต่ำ ผู้ที่ได้ศึกษาตันตระที่แท้จริงจึงรู้ว่า พุทธตันตระและฮินดูตันตระนั้น แม้มีคำเรียก คำกล่าว ที่คล้ายกัน และจุดประสงค์และการปฏิบัติต่างกันเป็นตรงกันข้าม

อาจารย์ศังกร นักปรัชญาฮินดูผู้ยิ่งใหญ่แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 9 ผู้ได้เรียบเรียงหนังสือไว้เป็นรากฐานของปรัชญาไศวะ ได้ยอมรับเอาทรรศนะของนาครชุนและสาวกของนาครชุนเป็นอันมาก จนชาวฮินดูผู้เคร่งครัดระแวงว่าเขาอาจเป็นสาวกลับๆของพระพุทธศาสนา ในทำนองเดียวกัน นักตันตระฮินดูก็ได้ยอมรับเอาวิธีการ และหลักการแห่งลัทธิตันตระของพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงใช้ตามความต้องการของตน ทรรศนะดังกล่าวนี้ไม่ใช่จะยอมรัรบกันแต่ในประเทศธิเบตเท่านั้น แม้นักปราชญ์ชาวอินเดีย เมื่อได้สำรวจตรวจสอบคัมภีณ์พระพุทธศาสนาแบบตันตระ ที่เป็นภาษาสันสฤตยุคแรกๆ และได้ทราบความสัมพันธ์ระหว่างคัมภีร์เหล่านั้น กับคัมภีร์ตันตระของฮินดู ในด้านประวัติศาสตร์ และความคิดแล้วก็ยอมรับทรรศนะนั้นเหมือนกัน

ในหนังสือ “ลัทธิลึกลับของพระพุทธศาสนา” เบนอยโตช ภัตตาจารย์ ได้สรุปว่า “อาจกล่าวได้อย่าง ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ว่าพุทธศาสนิกชนเป็นพวกแรกที่สร้างลัทธิตันตระขึ้นในศาสนาขนตน ต่อมาพวกฮินดูได้ยืมตันตระนั้นไปจากพุทธศาสนิก จึงเป็นการไร้ประโยชน์ที่กล่าวว่า พระพุทธศาสนารุ่นหลังเป็นสาขาหนึ่งของศาสนาไศวะ”

ออสติน แวดเดล เป็นอีกผู้หนึ่งที่เข้าใจผิดว่าลัทธิตันตระของฮินดู และของพระพุทธศาสนาใช้วิธีการทางไสยศาสตร์เหมือนกัน เขามักจะแสดงตัวเสมอว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญพระพุทธศาสนาแบบธิเบต เขาแสดงความคิดเห็นว่า “ลัทธิตันตระในพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากลัทธิบูชาผีสางเทวดา สิ่งที่เรียกกันว่า “มนตร์” และ “ธารณี” ก็คือคำพูดที่ไร้ความหมาย พิธีกรรมลึกลับของลัทธิตันตระ ก็เป็นเพียงการเล่นกลอย่างโง่ๆ โดยใช้ภาษาที่ไม่มีใครรู้เรื่อง และไร้ความหมาย ส่วนการบำเพ็ญโยคะแบบตันตระก็เปรียบเหมือน “กาฝาก” หรือ “ตัวพยาธิ” ซึ่งเติบโตแพร่หลายเร็วอย่างน่ากลัว แล้วก็บ่อทำลาย “ชีวิตอันร่อแร่” ของพระพุทธศาสนาบริสุทธิ์ที่มีอยู่บ้างในฝ่ายมหายาน คำสอนของมาธยมิก โดยใจความแล้ว ก็เป็นอุจเฉทวาทะที่ใช้เหตุผลผิดๆ กาลจักรก็ไม่สมควรจะถือเป็นระบบปรัชญา” (ความรู้และความเข้าใจในพุทธตันตระของไทยแต่แรกเริ่ม ได้รับจากการแปลหนังสือเรื่องพุทธศาสนาตันตระยานหรือวัชรยานของ ออสติน แวดเดลทั้งสิ้น)

เพราะเหตุที่ชาวตะวันตกได้รับความรู้ เรื่องพระพุทธศาสนาแบบธิเบตเป็นครั้งแรกจาก “ผู้เชี่ยวชาญ” เช่นนั้น เขาจึงพากันรังเกียจเกลียดชัง ลัทธิตันตระในพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรง ผู้ทีศึกษาลัทธิตันตระ จากหนังสือที่ชาวตะวันตกเขียน ก็พลอยเกลียดลัทธินี้ตามชาวตะวันตกไปด้วย

การใช้หลักตันตระของฮินดูโดยเฉพาะ หลักของลัทธิ “ศักดิ” มาตัดสินคำสอนหรือสัญลักษณ์ต่างๆของลัทธิตันตระ ในพระพุทธศาสนานั้น ย่อมใช้ไม่ได้และเป็นการผิดพลาดย่างมหันต์ ทั้งนี้เพราะระบบทั้งสอง ใช้วิธีการหาเหตุผลแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าทั้งสองระบบจะใช้วิธีโยคะ ใช้ศัพท์เฉพาะหรือศัพท์ปรัชญาเหมือนกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาเป็นอันเดียวกันกับศาสนาพราหรมณ์ เพราะฉะนั้น กมาใช้ความรู้ตันตระในศาสนาฮินดู มาตีความตันตระในพระพุทธศาสนา หรือการใช้ความรู้ตันตระในพระพุทธศาสนา ไปตีความตันตระในศาสนาฮินดูจึงไม่ถูกต้อง

ไม่มีใครกล่าวหาพระพุทธเจ้าว่าทรงสอนผิด ในการที่ทรงยอมรับเทพเจ้าจากเทพนิยานฮินดู มาสนับสนุนคำสอนของพระองค์ หรือทรงใช้เทพเจ้าเหล่านั้นเป็นสัญลักษณ์ ของความดีบางประการหรือเป็นสัญลักษณ์ของระดับแห่งการบำเพ็ญสมาธิ หรือทรงใช้เทพเจ้าเหล่านั้นเป็นตัวอย่างแห่งความเป็นผู้มีจิตใจสูง แต่ถ้าพวกนักตันตระจะเจริญรอยตามพระองค์บ้าง เขาเหล่านั้นถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้บ่อนทำลายพระพุทธศาสนาอันบริสุทธิ์ เราจะเข้าใจหลักศาสนาใดๆ ไม่ได้ ถ้าเราไม่ศึกษาหลักศาสนานั้นๆด้วยจิตใจที่มีความศรัทธาและเคารพคุณธรรมเหล่า นี้ ผู้ที่ได้รับการศึกษาแล้วย่อมจะมีอยู่ด้วยกันทุกคน เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะเปรียบเทียบระบบส่วนตัวของนักปราชญ์ แต่ละคนกาบลักษณะที่คล้ายคลึงกันในระบบอื่น เราต้องพิจารณาดูว่านักปราชญ์เหล่านั้น มีพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมมาอย่างไร เขาสร้างทฤษฎีขึ้น โดยขัดแย้งกับความเป็นจริงของเขาหรือไม่ เพราะความจริงของสองสิ่งที่ดูเผินๆแล้วเหมือนกัน เมื่อพิจารณาดูให้ลึกซึ้ง มักจะมีความแตกต่างกันมาก การก้าวขึ้นในแง่หนึ่ง อาจเป็นการก้าวลงในอีกแง่หนึ่ง เพราะฉะนั้นคัพท์ปรัชญาต่างๆ ก็ดี ภาพพจน์ต่างๆก็ดี อาจจะมีคุณค่าในแง่อื่นแต่ในที่นี้หามีคุณค่าอันใดไม่

เราเห็นด้วยกับท่านภัตตาจารย์เป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านกล่าวว่า “เมื่อมองดูแต่เพียงภายนอก ตันตระของพระพุทธศาสนากับตันตระของฮินดู ละม้ายคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ แต่อันที่จริงแล้ว ตันตระทั้งอสงนั้นไม่เหมือนกันเลย ทั้งในด้านสาระสำคัญ ทั้งในด้านคำสอนทางปรัชญา ทั้งในหลักศาสนา ข้อนี้ไม่ต้องสงสัย เพราะจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของพุทธศาสนิกกับพวกฮินดูแตกต่างกันอย่าง เปรียบเทียบกันไม่ได้”

ความแตกต่างที่สำคัญก็คือ ลัทธิตันตระในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ลัทธิศักดิ ในพระพุทธศาสนานั้น ความคิดเรื่องศักติ เรื่องอำนาจทิพย์ เรื่องสตรีเพศ ของเทพเจ้าสูงสุด (พระศิวะ) หรือเรื่องสิ่งต่างๆที่เกิดมาจากพระศิวะไม่ได้มีอยู่เลย ตรงกันข้ามในตันตระของฮินดู ความคิดเรื่องอำนาจ(ศักติ) เป็นจุดรวมแห่งความสนใจที่สำคัญ ส่วนความมุ่งหมายที่สำคัญของพระพุทธศาสนาแบบตันตระอยู่ที่ปัญญา

สำหรับพุทธศาสนิกแล้ว ศักติเป็นเพียงมายาคือ อำนาจที่สร้างความลวงขึ้น ซึ่งเราจะพ้นไปได้ก็ด้วยปัญญาเท่านั้น เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกจึงไม่ปรารถนาอำนาจ หรือรวมตนเองเข้าอำนาจของเอกภพ ไม่ว่าเพื่อเป็นนายรหือเป็นทาสของอำนาจเหล่านั้น แต่ตรงกันข้าม พุทธศาสนิก พยายามเปลื้องตนให้พ้นจากอำนาจเหล่านั้น เพราะอำนาจเหล่านั้นทำให้เขาต้องตกเป็นทาสของสังสารวัฏฏ์มาเป็นเวลานับไม่ ถ้วน เขาพยายามกำหนดรู้อำนาจเหล่านั้น ซึ่งทำให้เขาเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในวัฏฏสงสาร ทั้งนี้ก็เพื่อเปลื้องตนให้พ้นไปจากวัฏฏสงสารนั้น แต่เขาก็ไม่ได้พยายามจะทำลายอำนาจเหล่านั้น เพียงแต่จะเปลี่ยนให้มันไปเป็นประทีป คือปัญญา เพื่อว่ามันอาจกลายเป็นกำลังแห่งความตรัสรู้ ซึ่งแทนที่จะสร้างความแตกต่างกันต่อไป ก็ทำให้เกิดเอกภาพ ความกลมกลืนและความสมบูรณ์

วัตถุประสงค์ของตันตระฮินดูนั้น ถ้าไม่ตรงกันข้ามกับพระพุทธศาสนาก็แตกต่างกันมากทีเดียว “กุลจุฑามณีตันตระ” แสดงว่า “เมื่อรวมเข้ากับศักติแล้ว จะเพียบพร้อมไปด้วยอำนาจ” “เพราะการรวมกันของพระศิวะกับศักตินั้นเอง โลกจึงถูกสร้างขึ้น” ตรงกันข้ามพุทธศาสนิก ไม่ต้องการสร้างโลก แต่ต้องการ ศูนยตา ซึ่งเป็นสภาวะไม่มีอะไรสร้าง ไม่มีอะไรปรุงแต่ง การสร้างทั้งปวงไม่เกี่ยวกับคูนยตา หรือ ศูนยตามีอยู่ก่อนการสร้างและพ้นจากการสร้างทั้งปวง

การรู้ศูนยตานี้ เป็นปัญญาหรือความรู้สูงสุด การบรรลุความรู้สูงสุดนี้ คือตรัสรู้ กล่าวคือ ถ้าปัญญา (ศูนยตา) หรือคุณธรรมฝ่ายสตรี ซึ่งเป็นสภาวะสถิต และครอบงำสิ่งทั้งปวง เป็นบ่อเกิดแห่งสิ่งทั้งปวง และเป็นที่รวมลงแห่งสิ่งทั้งปวงได้กลมกลืนกับคุณธรรมฝ่ายบุรุษ ซึ่งเป็นสภาวะจลนะอันมีความรักและความกรุณาไม่มีประมาณ เป็นอุบายเพื่อบรรลุปัญญาและศูนยตาแล้ว บุคคลก็จะบรรลุความเป็นพุทธะโดยสมบูรณ์ ปัญญาที่ปราศจากศรัทธา ความรู้ปราศจากความรัก และเหตุผลที่ปราศจากความกรุณา ย่อมนำไปสู่ความศูนย์เปล่า ความร้ายแรงความสลายแห่งจิตใจ และความว่างเปล่า ส่วนศรัทธาที่ปราศจากเหตุผล ความรักที่ปราศจากความรู้ และความกรุณา ที่ปราศจากปัญญา ย่อมนำไปสู่ความยุ่งยาก ความเสื่อมสลาย แต่ในที่ใดคุณธรรมทั้งสองฝ่ายรวมกันในที่ใด ความกรุณากับเหตุผลรวมกัน ศรัทธากับปัญญารวมกัน ความรักสูงสุดกับความรู้สึกซึ้งที่สุดรวมกัน ในที่นั้นย่อมมีความสมบูรณ์ และบรรลุความตรัสรู้อันสูงสุด

เพราะฉันนั้น กระบวนการแห่งความตรัสรู้จึงแสดงด้วยสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุด มี่มนุษยธรรมที่สุดและสากลที่สุด นั่นคือ การรวมกันระหว่างชายกับหญิง ด้วยความรักอันสุงสุด ในความรักนั้น อุบายแสดงเป็นเพศชาย ปัญญาแสดงเป็นเพศหญิง ตรงกันข้ามกับตันตระของฮินดู ซึ่งศักติแสดงเป็นสตรี และศิวะแสดงเป็นบุรุษ

ในการใช้สัญลักษณ์ของพุทธศาสนานั้น ผู้รู้(พุทธะ) รวมเป็นอันเดียวกันกับความรู้ของตน เช่นเดียวกับบุรุษและภรรยาของเขา รวมเป็นอันเดียวกันด้วยความรัก และการรวมเป็นอันเดียวกันนี้ ก่อให้เกิดความสุขสูงสุดอันอธิบายไม่ได้ เพราะฉะนั้น ธยานีพุทธะ (พระพุทธเจ้าในอุดมคติซึ่งปรากฏในการทำสมาธิ) และธยานีโพธิสัตว์จึงถูกแสดงว่ารวมกับปัญญาของตน ปัญญานั้นใช้สัญลักษณ์แทนเป็นรูปเทพี ซึ่งเป็นที่รวมแห่งความรู้อันสูงสุด ส่วนธยานีพุทธะ และธยานีโพธิสัตว์ใช้สัญลักษณ์แทนรูปเทพเจ้า ซึ่งเป็นที่รวมแห่งอุบายให้ถึงความตรัสรู้หรือเป็นที่รวมแห่งความรัก และความกรุณาหาประมาณมิได้

นี้ไม่ได้เป็นการกลับสัญลักษณ์ของฮินดูตามใจชอบ แต่เป็นการเป็นการประยุกต์หลักซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อระบบตันตระ ของพระพุทธศาสนาทั้งหมด เพราะในสัญลักษณ์ของฮินดูนั้น “ความเป็นทิพย์แสดงด้วยสัญลักษณ์เพศชาย การเข้าถึงความเป็นทิพย์ แสดงด้วยสัญลักษณ์เพศหญิง สัญลักษณ์ทั้งสองนั้นจะต้องแสดงอย่างชัดเจน มิฉะนั้นเพศแห่งความคิด ซึ่งเขามุ่งหมายจะแสดงให้เป็นรูปธรรมในพระพุทธศาสนา จะไม่ลงรอยกับสัญลักษณ์ของฮินดู”

ในทำนองเดียวกัน ตันตระของฮินดูเป็นการประยุกต์ความคิดสำคัญๆของศาสนาฮินดูซึ่งมีอยู่เท่ากัน แม้ว่าตันตระเหล่านั้น เลียนแบบวิธีการของพุทธศาสนา ทุกแห่งที่จะเหมาะกับความประสงค์ของเขา แต่วิธีอันเดียวกันเมื่อนำไปประยุกต์ด้วยทรรศนะตรงกันข้าม ก็ต้องนำไปสู่ผลอันตรงกันข้าม อย่างแน่นอน ไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลทางไสยศาสตร์เช่นนั้น เพื่อให้ลงรอยกับเพศทางไวยากรณ์ คือปัญญา (เพศหญิง) และ อุบาย (เพศชาย)
แต่การหาเหตุผลเช่นนั้น เป็นเพียงผลของการเดาผิดๆ ว่า ตันตระในพระพุทธศาสนาเลียนแบบมาจากตันตระของฮินดู ถ้าเราสามารถเปลื้องตนเองจากความเข้าใจผิดนี้ได้เร็วเท่าใด ก็เห็นได้ชัดเจนเท่านั้นว่า ทรรศนะเรื่องศักตินั้น มิได้มีอยู่ในพระพุทธศาสนาเลยๆ

พวกเถรวาทจะตกใจ ถ้าคำว่า อนัตตา (สันกฤตเรียกอนาตมัน) ถูกแปลความหมายในในทางตรงกันข้าม คือ ให้มีความหมายเหมือนกับคำว่าอาตมันของพราหมณ์ หรืออธิบายไปในทำนองว่า พวกเถรวาทยอมรับความคิดเรื่องอาตมัน (เนื่องจากพระพุทธศาสนา เป็นเพียงสาขาหนึ่งของศาสนาพราหมณ์) ฉันใด พุทธศาสนิกชาวธิเบตก็ฉันนั้น จะรู้สึกตกใจ เมื่อมีใครมาตีความหมายศาสนาของเขาผิดๆว่า เหมือนศักติของฮินดู เพราะคำว่าศักติไม่เคยใช้ในคัมภีร์ของธิเบต และคำว่าศักตินั้นมีความหมายตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาต้องการแสดงโดยใช้ศัพท์ ว่า ปัญญาหรือสตรีเพศ ซึ่งเป็นคู่กับธยานีพุทธะ และธยานีโพธิสัตว์
ระบบเทวนิยมสุดโต่ง ซึ่งเต็มไปด้วยความคิด เรื่องพระเจ้าผู้สร้างนี้ใครๆ ไม่อาจจะเปลี่ยนมาเป็นระบบอเทวนิยม ซึ่งปฏิเสธเรื่องพระเจ้าผู้สร้างอย่างเด็ดขาด ตามอำเภอใจได้ ด้วยความสับสนในการใช้ศัพท์ จึงได้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นว่า อภิพุทธะของตันตระยุคต่อมานั้น หาใช่อะไรอื่นไม่ หากแต่เป็นพระเจ้าผู้สร้างในรูปใหม่ ซึ่งนับว่าทรรศนะเช่นนี้ตรงกันข้ามกับทรรศนะในพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม อภิพุทธะก็เป็นสัญลักษณ์แห่งสกลภาพอกาลิกภาพ และสัมบูรณภาพแห่งดวงจิตอันตรัสรู้แล้ว หรืออย่างที่ กูเอนเธอร์ กล่าวไว้อย่างห้าวหาญว่า “คำ พูดที่ว่าเอกภาพหรือมนุษย์เป็นอภิพุทธะ เป็นเพียงการแสดงประสบการณ์ทั่วไป ที่ยังไม่ชัดเจนพอ อันที่จริงอภิพุทธะไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้า ผู้เอาโลกเป็นกระดานหมากรุก และเล่นหมากรุกเพื่อฆ่าเวลาของพระองค์ อภิพุทธะไม่ใช่เอกเทวนิยม อันจะเพิ่มเติมจากพระพุทธศาสนาอเทวนิยมยุคแรก ความเข้าใจเช่นนั้น เป็นความผิดพลาดของนักนิรุกติศาสตร์ พระพุทธศาสนาไม่นิยมสร้างทฤษฎี แต่พยายามขุดค้นลงไปในห้วงลึกแห่งจิตของเรา และพยายามทำแสงอันริบหรี่ ให้สว่างจ้าไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นอภิพุทธะ ถ้าจะแปลให้ถูกต้องอย่างที่สุด ก็ต้องแปลว่า “ผู้เปิดเผยธรรมชาติอันแท้จริงของ มนุษย์”

เพราะความสับสนระหว่าง ลัทธิตันตระในพระพุทธศาสนา กับลัทธิศักติในตันตระของฮินดู จึงได้เกิดความเข้าใจผิดขึ้น ซึ่งทำให้คนรุ่นหลังไม่เข้าใจ พระพุทธศาสนาแบบวัชรยานและสัญลักษณ์ของวัชรยาน ทั้งภาพเขียนและคัมภีร์ โดยเฉพาะคัมภีร์เรื่องสิทธะ มาจนกระทั่งทุกวันนี้ คัมภีร์สิทธะนั้นใช้สัญลักษณ์พิเศษอย่างหนึ่ง คือสิ่งที่สูงที่สุดแสดงในรูปของสิ่งที่ต่ำที่สุด สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแสดงในรูปของสิ่งที่ธรรมดาสามัญที่สุด สิ่งที่เป็นโลกุตตระ แสดงในรูปของสิ่งที่เป็นโลกีย์อย่างที่สุด ความรู้อันลึกซึ้งที่สุด แสดงด้วยถ้อยคำที่เปิ่นๆที่สุด การแสดงเช่นนี้ไม่ใช่เป็นภาษาของนักปฏิบัติเท่านั้น แต่เป็นการแสดงให้คนทั่วๆไป รู้สึกทึ่งและงงงวย ซึ่งนับเป็นสิ่งจำเป็น ในการสร้างวุฒิปัญญาทางศาสนา และปรัชญาในสมัยนั้น

พระพุทธเจ้า ทรงปฏิวัติประเพณีนิยม ที่แสดงความใจแคบ คือให้อภิสิทธิแก่พวกพราหมณ์ฉันใด พวกสิทธะก็ปฏิวัติความสุขสบายของตนเองคือ การอยู่ในวัดที่มุงบัง อันเป็นเหตุไม่ให้รู้ความจริงฉันนั้น ภาษาของพวกเขา เป็นภาษาที่ผิดธรรมดาสามัญ เช่นเดียวกับชีวิตของพวกเขา ผู้ที่ถือเอาคำพูดของเขาตามตัวอักษร ถ้าไม่ปฏิบัติผิด โดยพยายามแสวงหาอำนาจทางไสยและความสุขทางโลก ก็จะต้องเลิกปฏิบัติ เพราะเห็นคำดุพระพุทธเจ้าด่าบูรพาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกอะไร ที่พอพระพุทธศาสนาเสื่อมศูนย์ไปจากอินเดีย คัมภีร์นั้นก็ถูกลืม หรือกลายเป็นลักทธิตันตระที่ถือความสัมพันธ์ทางเพศเป็นสำคัญ

ไม่มีอะไรผิลพลาดยิ่งไปกว่า การยึดถือว่าการปฏิบัติทางจิตของตันตระในพระพุทธศาสนา เหมือนกับลัทธิตันตระอันเสื่อมทรามดังกล่าวข้างต้น ตันตระในพระพุทธศาสนานั้น เราจะรู้ลึกซึ้งไม่ได้โดยการศึกษาเพียงทฤษฎีกล่าวคือ เพียงทำการเปรียบเทียบหรือศึกษาคัมภีร์เก่าแก่ หากแต่เราจะรู้ได้โดยการลงมือปฏิบัติ ด้วยการเข้าถึงประเพณีของตันตระซึ่งยังคงมีอยู่ และด้วยวิธีทำสมาธิ อย่างที่ปฏิบัติกันในธิเบต มงโกเลีย และในนิกายบางนิกายของญี่ปุ่น เช่น นิกายชินงอน นิกายเทนได เป็นต้น เกี่ยวกับนิกายทั้งสองที่กล่าว นั้น เกลสแนป ได้ให้ข้อสังเกตว่า “พระโพธิสัตว์ที่เป็นสตรี ซึ่งปรากฏรูปในหนังสือ มัณฑละ เช่นปรัชญาปารมิตา และจุณฑิ เป็นบุคคลที่ไม่มีเพศ และยึดถือกันมาแต่โบราณว่า พระโพธิสัตว์เหล่านี้ งดเว้นความสัมพันธ์ทางเพศอย่างเด็ดชาด” ในเรื่องนี้นิกายทั้งสองแตกต่างจากนิกายต่างๆในเบงกอล เนปาลและธิเบตซึ่งย้ำถึงหลักธรรมฝ่ายบุรุษและสตรี

การพูดถึงเบงกอล เนปาล และธิเบตรวมกันในที่นี้แสดงว่า ลัทธิตันตระในเบงกอล และเนปาลมีลักษณะเหมือนกับลัทธิตันตระในธิเบต แม้ผู้เขียนจะเห็นความจำเป็นในการอธิบาย ให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ลัทธิตันตระกับลัทธิศักดิ แต่เขาก็ยังอธิบายไม่ชัดเจนพอ เพราะลัทธิตันตระในพระพุทธศาสนา ก็ใช้สัญลักษณ์เป็นบุรุษเพศและสตรีเพศเหมือนกัน แต่หาได้ตั้งหลักธรรมฝ่ายสตรีขึ้น เหมือนลัทธิศักติไม่ กลับใช้ตรงกันข้ามกับลัทธิศักติ เช่นปัญญา วิทยา หรือมุทรา ตามที่กล่าวมานี้ นับว่าเป็นการปฏิเสธความคิดของ ลัทธิศักติ และลัทธิเพศสัมพันธุ์

แม้ว่าหลักธรรมฝ่ายสตรี และฝ่ายบุรุษจะเป็นที่ยอมรับกันในลัทธิตันตระแห่งวัชรยาน และเป็นส่วนสำคัญแห่งสัญลักษณ์ของวัชรยาน แต่วัชรยานก็ตรงกันข้ามกับลัทธิฝักใฝ่ในกามรมณ์ เช่นเดียวกับเครื่องหมายบวกกับเครื่องหมายลบ ฉะนั้นการใช้หลักธรรมสตรี และฝ่ายบุรุษ จึงนับว่ามีหลักฐานทั้งในทรรศนะที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล

ในธิเบต ธยานีพุทธะ และธยานีโพธิสัตว์ทั้งที่เป็นบุรุษ และสตรีถือกันว่า เป็นบุคคลที่แทบไม่มีความรู้สึกทางเพศ ในนิกายต่างๆของญี่ปุ่นที่ได้กล่าวข้างต้นก็ถืออย่างนี้เหมือนกัน สำหรับชาวธิเบตแล้ว แม้การรวมกันของธยานีพุทธะเหล่านั้น มีความเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับความจริงอันสูงสุด ในการปฏิบัติเพื่อความตรัสรู้ ฉะนั้นจึงเป็นการพ้นจากความสัมพันธ์กับกามารมณ์ทางกายโดยสิ้นเชิง

เราต้องไม่ลืมว่า ภาพแสดงของสัญลักษณ์เหล่านี้ ไม่ได้ถือว่าเป็นภาพมนุษย์ หากแต่เป็นการแสดงประสบการณ์ และญาณทัสสนะในการทำสมาธิ ให้เป็นรูปร่างขึ้น ในสภาวะเช่นนั้น ไม่มีอะไรที่เอาจเรียกได้ว่ากามารมณ์ มีแต่เพียงธรรมชาติสองประการ ซึ่งควบคุมการทำงานทั้งกายและทางใจ ธรรมชาติ2ประการนั้น จะข้ามพ้นได้ก็เฉพาะในสภาวะที่มันรวมกันในที่สุด กล่าวคือในการบรรลุศูนยะตา นี้เป็นสภาวะซึ่งเรียกว่า “มหามุทรา” ซึ่งเป็นชื่อระบบการทำสมาธิระบบหนึ่งในธิเบต ในลัทธิตันตระในพระพุทธศาสนาแบบอินเดียยุคแรกๆ มหามุทราถูถือว่าเป็นสตรีเพศอันนิรันดร ดังจะเห็นได้จากคำจำกัดความของ อัทวยวัชระ ว่า “คำว่า มหา กับ มุทรา รวมกันเป็นคำว่า มหามุทรา มหาทุราไม่ใช่อะไรสิ่งหนึ่ง แต่พ้นจากการครอบงำของ สิ่งอันมองเห็นได้ มหามุทราส่องแสงเหมือนกับท้องฟ้าอันสงบในเวลาเที่ยงระหว่างฤดูใบไม้ร่วง มหามุทราเป็นเครื่องสนับสนุนความสำเร็จทั้งมวล มหามุทราเป็นเอกภาพแห่งสังสารวัฏฏ์กับนิพพาน มหามุทรา คือความกรุณาซึ่งไม่จำกัดอยู่แก่วัตถุสิ่งใด มหามุทราเป็นเอกภาพแห่งความสุขอันยิ่งใหญ่

แม้ในหนังสือ ปรัชโญบายวินิศจัยสิทธิ ของอนังควัชระ จะกล่าวว่า “สา ธกะควรได้รับการบำเรอจากสตรีทุกคน เพื่อได้เสวยมหามุทรา” แต่ข้อความนี้ ก็เข้าใจไม่ได้ด้วยความหมายทางกาย แต่อาจประยุกต์ได้กับความรักชั้นสูง ซึ่งไม่จำกัดอยู่ในวัตถุสิ่งเดียวและซึ่งสามารถมองเห็นคุรภาพของสตรีทั้งปวง ไม่ว่าในตัวเราเอง หรือในผู้อื่น เช่นคุณภาพของทิพยมารดา (ปรัชญาปารมิตา หรือโลกุตตรปัญญา)

ข้อความอีกตอนหนึ่ง มีใจความน่าตกใจ ซึ่งจะถือตามตัวอักษรไม่ได้ ข้อความนั้นมีอยู่ว่า “สาธกะผู้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับมารดาของตนเอง กับพี่สาวน้องสาวของตนเอง กับบุตรสาวของตนเอง และกับหลานสาวของตนเอง จะประสบความสำเร็จในความพยายาม เพื่อจุดหมายปลายทางขั้นสุดท้ายอย่างง่ายดาย”

การยึดถือคำว่า มารดา พี่สาวน้องสาว บุตรสาว และหลานสาวตามตัวอักษรในเรื่องนี้ เป็นสิ่งไร้ความหมาย เหมือนอย่างถือเอาตามตัวอักษรในคาถาธรรมบท (คาถาที่294) ว่า “บุคคลผู้ฆ่าบิดา มารดาพระราชา ผู้กษัตริย์ 2 พระองค์ และทำลายราชอาณาจักรพร้อมด้วยประชาชนแล้ว จะเป้นพราหมณ์ พ้นจากบาปทั้งปวง” ในคาถาธรรมบทนั้น คำว่าบิดามารดาหมายถึงอัสมิมานะและตันหา พระราชาสองพระองค์หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ และสัสสตทิฏฐิ ราชอาณาจักรพร้อมด้วยประชาชน หมายถึงอายตนะ 12 และพราหมณ์ หมายถึงภิกษุผู้หลุดพ้น

การกล่าวว่า พุทธศาสนิกฝ่ายตันตระ ส่งเสริมให้มีการ่วมเพศระหว่างญาติ และส่งเสริมสิ่งที่ผิดศีลธรรมย่อมเป็นสิ่งที่น่าหัวเราะ เช่นเดียวกับการกล่าวหาพุทธศาสนิกฝ่ายเถรวาทว่า ทำมาตุฆาต ปิตุฆาตและประกอบอาชญากรรมอันร้ายแรงอื่นๆ ถ้าเราพยายามสำรวจประเพณีตันตระ ตามแบบแผนที่แท้จริง ดังที่มีอยู่ในวัดและอาศรมของธิเบตนับเป็นจำนวนพันๆแล้วเราจะเห็นว่า การที่ทฤษฎีปัจจุบันพยายามดึงตันตระลงมาหาความเกี่ยวข้องกับกามารมณ์นั้น เป็นการกระทำที่ผิดและไร้ค่าอย่างสิ้นเชิง

ตามทรรศนะของลัทธิตันตระ ข้อความที่กล่าวแล้วข้างต้น จะมีความหมายก็เฉพาะในการใช้ศัพท์ทางโยคะเท่านั้น

สตรีทุกคนในโลก มีธาตุทุกอย่าที่รวมกันเข้าเป็นหลักธรรมฝ่ายสตรีซึ่งเป็นแหล่งก่อกำเนิดของ บุคคลทั้งทางจิตและทางกาย อันตรงกับสิ่งที่พระพุทะ
เจ้าตรัสเรียกว่า “โลก” ส่วนฝ่ายตรงกันข้าม ก็มีหลักธรรมฝ่ายบุรุษมีจำนวนเท่านกับหลักธรรมฝ่านสตรีเหล่านั้น หลักธรรมฝ่ายสตรี 4 ประการ ได้แก่ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม และสิ่งที่เป็นคู่กับธาตุเหล่านี้ คือ จิตตจักร หรือระดับวิญญาณในร่างกายมนุษย์ในจิตตจักรแต่ละขั้น จะต้องมีการรวมกัน ระหว่างหลักธรรมฝ่ายบุรุษกับหลัก ธรรมฝ่ายสตรี ก่อนที่จะถึงขั้นที่ 5 อันเป็นขั้นสูงสุด ถ้าเราประยุกต์ คำว่ามารดา พี่สาว น้องสาว บุตรสาว เป็นต้น กับคุณธรรมสำคัญของมหาภูตธาตุอันทรงพลังเหล่านี้ เราจะเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

กล่าวอีกนัยหนึ่ง แทนที่จะต้องแสวงหา การรวมกันกับสตรีภายนอกตัวเรา เราก็แสวงหาสตรีจากภายในตัวเราเอง โดยรวมธรรมชาติฝ่ายบุรุษกับสตรีเข้าด้วยกันโดยการทำสมาธิ ข้อนี้แสดงไว้ชัดเจนแล้วในหลัก 6 ประการของติโลปะหลัก 6 ประการนี้ เป็นรากฐานแห่งวิธีบำเพ็ญโยคะที่สำคัญที่สุดของ นิกาย กาจูปา และเป็นหลักที่มิลาเรปาใช้ปฏิบัติ แม้ว่าเราไม่อาจอธิบายรายละเอียดของโยคะนี้ได้ แต่เราได้คัดลอกข้อความสั้นๆมาพิสูจน์ความเป็นของเราดังนี้

“อำนาจ ของขันธ์ 5 ตามธรรมชาติอันแท้จริง เป็นพุทธภาวะเพศชายซึ่งปรากฏทางจิตประสาทฝ่ายซ้าย อำนาจของธาตุ 5 ตามธรรมชาติอันแท้จริง เป็นพุทธภาวะเพศหญิง อันปรากฏทางจิตประสาทฝ่ายขวา เมื่ออำนาจอันประกอบด้วย พุทธภาวะทั้งสองรวมกันลงมาสู่ประสาทกลาง ความตรัสรู้ก็ค่อยๆ เกิดขึ้น” บุคคลผู้ตรัสรู้นั้นก็ได้บรรลุพรพิเศษของมหามุทรา คือการรวมกันของบุรุษเพศและสตรีเพศ (อุบาย และปัญญา) ในพุทธภาวะอันสูงสุด

ดังนั้น เพียงเราสามารถเห็นความสัมพันธ์ ระหว่างร่างกายกับจิตใจ เห็นปฏิกิริยา ระหว่างร่างกายกับจิตใจโดยได้สัดส่วนกันพอดี และสามารถเอาชนะ “ตน” และ “ของตน” ความรู้สึกเห็นแก่ตัว และทรรศนะที่แฝงไว้ด้วยความเห็นแก่ตัว ตลอดถึงความรังเกียจเดียดฉันท์ อันก่อให้เกิดมายา คือตัวตนแยกๆ กัน เราก็บรรลุพุทธภาวะได้

ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ลัทธิตันตระในพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่เพียงแต่วิวิฒนาการมาจากนิกายวิชญาณวาท และโยคาจารเท่านั้น ยังเป็นผลทางตรรกวิทยา และผลสุดท้ายของหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา กล่าวคือกฎปฏิจจสมุปบาท แม้อริยสัจจ์ 4 และมรรคมีองค์ 8 จะเป็นพหุลานุสาสนีของพระพุทธเจ้า แต่ก็เป็นหลักทั่วๆไป ไม่ได้สร้างแนวคิดทางศาสนาขึ้นใหม่ ความจริงเรื่องทุกข์และความจริงว่า ทุกข์อาจดับได้ด้วยการดับความอยาก อันประกอบด้วยความเห็นแก่ตัว (ตัณหา) นั้น เป็นหลักทั่วไปในศาสนาต่างๆของอินเดีย คือ ในศาสนาอื่น ก็มีสอนเหมือนกัน มรรคมีองค์ 8 ก็เป็นการกล่าวซ้ำ สิ่งที่นักปฏิบัติชาวอินเดียเชื่อถือกันอยู่แล้ว หรือเป็นการกล่าวซ้ำสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า เป็นหลักทั่วไปของคนที่นับถือศาสนา โดยไม่จำกัดว่าศาสนาใดๆ

แต่การที่พระพุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นหรือ เด่นกว่าศาสนาอื่นทั้งหมดอยู่ที่ ทรรศนะว่า โลกนี้ไม่ขึ้นอยู่กับพระเจ้าผู้สร้าง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตา หากแต่ขึ้นอยู่กับกฎแห่งความสัมพันธ์ ระหว่างวัตถุกับจิตใจ หรือกฎปฏิจจสมุปบาท กฎนี้ไม่ใช่เพียงเหตุผลที่สืบเนื่องกันเป็นสายโซ่ ซึ่งเป็นการสะดวกสำหรับประยุกต์กับความเป็นไปในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังเป็นทรรศนะที่แสดงว่า ไม่มีอะไรแยกอยู่เป็นหน่วยหนึ่งในตัวเอง หรือโดยตัวเองในกาลหรือในอวกาศ แต่ขึ้นอยู่กับสภาวะต่างๆ และเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ดังนั้นเราจึงไม่อาจกล่าวได้ว่ามัน “มี” หรือ “ไม่มี” “เป็น” หรือ “ไม่เป็น”

สมจริงดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในสังยุตตนิกายว่า “ดู ก่อนกัจจานะ โลกนี้ติดอยู่กับสิ่งสองประการคือ “ความมี” และ “ความไม่มี” ผู้ใดเห็นความเกิดขึ้น ของสิ่งทั้งหลายในโลกตามความเป็นจริงและด้วยปัญญา “ความไม่มี” อะไรในโลกจะไม่มีแก่ผู้นั้น ดูก่อนกัจจานะ ผู้ใดเห็นความดับของสิ่งทั้งหลายในโลกตามความเป็นจริงและด้วยปัญญา “ความมี” อะไรในโลกจะไม่มีแก่ผู้นั้น

จากพระพุทธดำรัสนี้ ทำให้เราสามารถเข้าใจคำสอน เรื่องอนัตตาของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น เมื่อพระอัสสชิ ได้รับคำขอร้องจากพระสารีบุตร ให้ย่อคำสอนของพระพุทธเจ้าลงในคาถาเดียว ท่านจึงไม่กล่าวถึง อริยสัจจ์ 4 หรือมรรคมีองค์ 8 แต่กล่าวถึงปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นธรรมที่ลึกซี้งที่สุด และเมื่อนาครชุนได้พื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ท่านก็ได้ใช้กฎปฏิจจสมุปบาทเป็นรากฐานของพระพุทธศาสนา ซึ่งปรากฏอยู่ในคาถาแห่งหนังสือ มูลมัธยมก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาท อันไม่มีความดับ ไม่มีความเกิด ไม่มีความขาดศูนย์ ไม่มีความยั่งยืน ไม่ใช่สิ่งเดียว ไม่ใช่หลายสิ่ง ไม่มีการมา ไม่มีการไป เป็นความสงบกิเลสเครื่องเนิ่นช้า เป็นสิ่งประเสริฐ ข้าพเจ้าขอน้อมนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ประเสริฐกว่าศาสดาทั้งปวง

คำว่า “ประปัญจะ” หรือ “กิเลสเครื่องเนิ่นช้า” หรือความเป็นไปต่างๆ” นี้เป็นไวพจน์ของคำว่า “มายา” หรือ “ความลวงอันเกิดจากศักติ” หรือ “อำนาจสร้างโลกอย่างไม่ลืมหูลืมตา” อำนาจนี้เองที่นำเราดิ่งลงไปในความมีความเป็น และความเกิดความตาย เราจะต้องตกอยู่ในอำนาจของมายานี้เรื่อยไป ถ้าเราไมม่สร้างปัญญา หรือความรู้เห็นธรรมดาของโลกตามเป้นจริงให้เกิดขึ้น การเห็นโลกตามความเป็นจริง ก็หมายถึการเห็นตัวเราเองตามความเป็นจริง เพราะธรรมดาของโลก ไม่ได้แตกไปจากธรรมดาของตัวเองโลกภายในและโลกภายนอก ถ้าจะเปรียบก็เหมือนผ้าผืนเดียวกัน มีสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นชั้นนอกอีกด้านเป็นชั้นใน แต่ทั้งสองด้านนั้นก็ทอด้วยด้ายเส้นเดียวกัน โลกภายในและโลกภายนอกก็มีสภาพเช่นนั้น เพราะประกอบด้วยสิ่งอันเดียวนั่นเอง

ความคิดเช่นนี้ ไม่มีที่ใดแสดงไว้อย่างห้าวหาญ เหมือนในตันตระของพระพุทธศาสนา คำว่า “ตันตระ” เองก็หมายความว่าผสม คือสิ่งผสมทั้งหลายกับการกระทำเข้าด้วยกันหรือการอาศัยกันของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่หรือความสืบต่อกันของเหตุและผลเป็นลูกโซ่ หรือความคลี่คลายขยายตัวของประเพณี ซึ่งเหมือนกับเส้นด้าย รวมกันเข้าเป็นผืนผ้านั้นเอง เพราะฉะนั้นคำว่า “ตันตระ” จึงหมายถึง ประเพณี หรือสันตติ ของวิญญาณ อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ซึ่งมีชื่อว่า “ตันตระ”ในพระพุทธศาสนามีคำสอนลึก ลับต่างๆ และพยายามจะสร้างความสัมพันธ์ภายในระหว่างสิ่งทั้งหลาย โดยการฝึกหัดจิตในการฝึกหัดนั้น ยันตระ มันตระ และมุทรา รูปเสียง และสัมผัส กับ กาย วาจา และใจ จะต้องร่วมกัน เพื่อบรรลุถึงความสมบูรณ์ขั้นสุดท้ายหรือความตรัสรู้

ดังนั้นในการใช้ศัพท์ต่างๆของ คุรุกัมโปปะ จึงอาจกล่าวได้ว่า ตันตระในพระพุทธศาสนามีปรัชญา ที่ประมวลความรู้ทั้งหมดไว้ คือเป็นระบบการทำสมาธิ ซึ่งสร้างจิตตานุภาพให้เกิดขึ้น หรือเป็นศิลปะแห่งการครองชีพที่เราสามารถใช้กาย วาจา ใจ ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินไปสู่ความหลุดพ้น

พุทธศาสนาวัชรยาน

พุทธศาสนาวัชรยาน

เป็นที่ทราบกันดีว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงหมุนกงล้อพระธรรมจักร 3 ครั้งด้วยกัน หมายความ ท่านได้เทศนาในหลักใหญ่ๆไว้ 3 เรื่อง 3 วาระ ครั้งแรกที่เมือง สารนาถ แคว้นพาราณสี ครั้งที่ 2 ที่กฤตธาราโกติแค้วนราชคฤห์ครั้งที่3ที่ไวศาลีครั้งแรกเทศนาเกี่ยวกับพุทธ ศาสนาฝ่ายเถระวาท ครั้งที่2และครั้งที่ 3ท่านได้เทศนาเกี่ยวกับมหายานในมหายานได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากใน เรื่องของอุดมคติการหลุดพ้นของสรรพสัตว์ทั้งหมดเป็นอุดมคติของมหายานอุดมคติ นี้ เรียกว่า โพธิจิตหรือจิตรู้แจ้งการพัฒนาโพธิจิตขึ้นเพื่อต้องการสำเร็จรู้แจ้งเป็นพระ พุทธเจ้าเพื่อประโยชน์ สุขของสรรพสัตว์ทั้งหมดบุคคลใดที่มีอุดมคตินี้และปฏิบัติอุดมคตินี้บุคคล นั้นก็คือพระโพธิสัตว์ ซึ่งการตายแล้วเกิดใหม่เป็นที่ยอมรับกันในหมู่ชาวพุทธด้วยกันแต่ก็มีความคิด เห็นที่แตกต่างใน พุทธศาสนิกแต่ละนิกายฉะนั้นถ้าเรายอมรับในเรื่องการตายแล้วเกิดใหม่ก็หมาย ความว่าในแต่ละ ครั้งแห่งการเกิดต้องมีบุพการี1กลุ่ม ในการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารนี้แต่ละคนได้มีบุพการีมาแล้วเป็นจำนวน ที่นับไม่ถ้วนและด้วยเหตุผลนี้ต้องยอมรับว่าสรรพสัตว์ที่บังเกิดขึ้นได้เคย ดำรงสถานะภาพความเป็นบุพการีมานับครั้งไม่ถ้วนฉะนั้นการแสวงหาทางหลุดพ้นจึง ควรเป็นไป พร้อมกันหรือให้บุพการีไปก่อนแล้วเราค่อยหลุดพ้นตามไปนี่คือความเป็นพระ โพธิสัตว์
พระอาจารย์ชาวทิเบตได้กล่าวไว้ในศตวรรษที่14ว่า "ความทุกข์ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการเห็นแก่ตัว ความสุขทั้งหมดเกิดขึ้นจากการหวังดีให้ผู้อื่นมีความสุข”ฉะนั้นการแลกความ สุขของตนเปลี่ยน กับความทุกข์ของผู้อื่นเป็นหน้าที่ของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ต้องประกอบไปด้วยบารมี 6 ประการ(บารมี 6 มีอยู่ในลิงค์มหายาน)พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าไม่มีบาปใดใหญ่หลวงเท่าความ แค้น ไม่มีความดีใดเทียบได้กับความอดทน เมื่อเราได้เกิดขึ้นมาความสมดุลก็ได้หายไป ความ อดทนมี 3 ประเภท
1 อดทนต่อการต่อต้าน
2 อดทนต่อความ ลำบากในการศึกษาและปฏิบัติ ธรรม
3 อดทนในความกล้าปฏิบัติในคำสอนซึ่งลึกล้ำเช่นคำสอนเรื่องศูนยตาการบำเพ็ญตน
ตามโพธิสัตว์มรรคจึงต้องทำงานหนัก เพื่อผลแห่งการเกิดปัญญาแห่งการวิเคราะห์ มีการแยก แยะปัญญาไว้3ประเภทพื้นฐาน
1 ปัญญา เกิดจากการมีความรู้
2 ปัญญาเกิดจากการพินิจ พิจารณา
3 ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติ
แต่ก็ยังมีการแยกย่อยอีก เช่น 1 ปัญญาที่เกิดระหว่างสมาธิ 2 ปัญญาที่เกิดหลังทำสมาธิ 3 ปัญญาเกิดเพื่อช่วยผู้อื่นและยังมีการแยกแยะลึกลงไปอีกเช่น ปัญญาในทางโลกและปัญญาที่อยู่เหนือโลกปัญญาที่เข้าถึงสัจจะธรรมสูงสุดหรือ ปัญญาที่กว้าง เพื่อเข้าถึงปรากฏการณ์ต่างๆในทางโลกในบารมี 6 ที่พระโพธิสัตว์ปฏิบัตินั้นประกอบด้วยเมตตา 5 ปัญญา 1 เมื่อปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว พระโพธิสัตว์ก็บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าได้ สามารถบรรลุความเป็นตรีกายได้คือธรรมกายสัมโภคกายและนิรมานกายที่กล่าวมา ทั้งหมดเป็น พื้นฐานที่ต้องมีความเป็นพระโพธิสัตว์ต้องบังเกิดเพื่อบรรลุความสำเร็จในการ ปฏิบัติวัชระยาน ต่อไป ฉะนั้นจึงแยกความเป็นมหายานและวัชระยานออกจากกันไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าได้สอน เรื่องของวัชระยานไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล เช่น กาลจักระ ตันตระ ซึ่งเป็นบทปฏิบัติตันตระชั้นสูง พระพุทธเจ้าได้เทศนาหลังจากได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว1ปีพระพุทธเจ้าได้ เทศนาสอน แก่พระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญในภูมิที่สูง ฉะนั้นคำสอนตันตระจึงถือว่าเป็นคำสอน ลับเฉพาะ

แม้คำสอนของมหายานเองก็มีการปฏิบัติไม่มากนักในสมัยพุทธกาล คำสอนมหายานเป็นที่เริ่มสนใจปฏิบัติในช่วงของท่านคุรุนาคารชุน นI.คI.h^.น_ ทิเบตเรียก O^.w^บ. ซ๋ลู.ซ๋ดุบ. ในปืค.ศ.1 ท่านนาคารชุนได้ปฏิบัติคำสอนตันตระได้อย่างเป็นเลิศ ท่านได้เขียน เรื่อง การปฏิบัติตันตระเรื่องคุหยสมัชชตันตระ และมยุรีตันตระซึ่งเป็นตันตระเฉพาะของท่าน ในศตวรรษที่16 ท่าน ธารานาถชาวทิเบตได้บันทึกไว้ว่าท่านคุรุนาคารชุนได้เขียนคำสอนเกี่ยวกับ ตันตระ ไว้มากเพียงแต่ช่วงที่ท่านมีชีวิตอยู่ไม่เป็นที่นิยมและแพร่หลาย ทิเบตเริ่มรับคำสอนจากอินเดีย ในช่วงศตวรรษที่ 7-8 ในช่วงนั้นการปฏิบัติตันตระในอินเดียได้พัฒนาขึ้นถึงจุดสูงสุดไปจนถึง ศตวรรษที่ 12 เมื่อทิเบตรับคำสอนวัชระยานจากอินเดียในช่วงที่เจริญสูงสุดทิเบตจึงรับคำสอน มาอย่างเต็มที่

การปฏิบัติในวัชระยานมีเงื่อนไขสำคัญอยู่หนึ่งข้อ คือ ก่อนที่จะศึกษาปฏิบัติตันตระ จะต้องได้รับการอภิเษกจากวัชราจารย์ ผู้ซึ่งได้สำเร็จรู้แจ้งแล้ว ถ้าไม่มีการอภิเษก ถึงแม้การปฏิบัติจะดีเพียงไร ก็จะไม่ได้รับผลเต็มที่ ฉะนั้น ผู้สนใจต่อการปฏิบัติวัชระยานจะต้องได้รับการอภิเษกจากวัชราจารย์เสียก่อน ถามว่า คำสอนวัชระยานคืออะไรเพื่ออะไร คำสอนวัชระยาน มีไว้สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานปัญญาจากมหายานเป็นอย่างดีจึงสามารถเข้าใจคำสอน อันลึกซึ้งได้ เช่น ถ้าเราต้องการสำเร็จความเป็นพุทธะในชาตินี้ชาติเดียว ต้องศึกษาปฏิบัติคำสอนตันตระเท่านั้นที่จะบรรลุวัตถุประสงค์นี้ได้ เหมือนกับ การบินโดยเครื่องบิน ในปัจจุบันนี้ เราสามารถบินในระยะทางไกลๆได้ด้วยเวลาอันสั้นแค่ชั่วโมงแทนที่จะเดินด้วย เท่าเปล่าเป็นเดือน
เป็นที่รู้กันดีในทิเบตว่ามิลาเรปะ ท่านได้บรรลุสำเร็จได้ในช่วงชีวิตของท่าน ด้วยการปฏิบัติตันตระ แล้วตันตระคืออะไรตันตระ ตันตระ โดยความหมายของคำแปลว่าความต่อเนื่อง การต่อเนื่องของจิตวิญญาณที่ได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆอย่างต่อ เนื่อง โดยที่การเปลี่ยนชาติภพมิได้ทำให้ระดับจิตที่ได้พัฒนาแล้วลดระดับลง อันเป็นคำสอนการปฏิบัติระดับสูง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้สอนศิษย์ในแวดวงจำกัดเท่านั้น การปฏิบัติตันตระไม่มีใครได้พูด ได้ศึกษา ได้ปฏิบัติโดยไม่มีอาจารย์และไม่ได้ รับการอภิเษกจากอาจารย์ก่อน แม้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้ปฏิบัติมามากเข้าใจเป็นอย่างดี ก็ไม่สามารถที่จะพูด ศึกษา หรือปฏิบัติตันตระเองได้โดยไม่ผ่านการอภิเษก จากคุรุ
การปฏิบัติตันตระเหมือนกับแพทย์ ที่มีความชำนาญมากสามารถที่จะเอาสารพิษ หรือ ยาพิษมาสกัดเพื่อเป็นยารักษาโรคใหม่ๆได้ มีประสิทธิภาพสูง ในการปฏิบัติตันตระจะมีการนำความรู้สึกที่เป็นลบมาแปลงให้เกิดเป็น พลังที่เป็นบวก ได้เป็นที่เข้าใจกันได้ว่าในสภาพของการรู้แจ้งจะไม่ถูกทำลายด้วยพลังที่เป็น ลบต่างๆ ไม่มีพิษใดๆที่จะทำให้สภาพการรู้แจ้งนี้เป็นพิษไปด้วย สภาพการรู้แจ้งนี้เป็นสภาพซึ่งไม่มีข้อแตกต่างระหว่างดีกับไม่ดีและอย่างไร คำสอนวัชระยานการปฏิบัติวัชระยานสามารถทำให้เราสามารถบรรลุถึงจุดนั้นได้ ด้วยเวลาอันสั้น แต่ คำถามก็มีอยู่ว่ามีมนุษย์สักกี่คนที่ต้อง การบรรลุรู้แจ้ง เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นทั้งหมด
คำสอนต่างๆในตันตระได้ถูกบันทึกไว้ ด้วย วิธีการซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งไว้ เราสามารถศึกษาตันตระได้จากคำสอนต่างๆที่พระอาจารย์ชาวอินเดียได้บันทึกไว้ และได้แปลทั้งหมดสู่ภาษาทิเบต เนื่องจาก คำสอนดั้งเดิมที่เป็นภาษาสันสฤตได้สูญหาย และถูกทำลายไปนานแล้ว ฉะนั้น เราสามารถศึกษาตันตระได้จากภาษาทิเบตเท่านั้น ในปัจจุบัน ภาษาทิเบตจึงมีความสำคัญมากเนื่องจากได้บันทึกและได้แปลคำสอนต่างๆที่เป็น สันสฤตดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วน
พุทธ ศาสนาได้เข้าสู่ทิเบตในสมัยกษัตริย์ ซองซันกัมโปเรืองอำนาจ ด้วยความสนพระทัยอันเป็นทุนเดิมอยู่แล้วพร้อมทั้งยังได้รับการแรงหนุนจากพระ มเหสีชาวจีน องค์หญิงเวนเชง ราชธิดากษัตริย์ไทซุงของราชวงศ์ถังและเจ้าหญิงภรูกุฎิแห่งเนปาล องค์หญิงทั้งสองเป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาและเคร่งครัดในการปฏิบัติ องค์เวนเชงได้อัญเชิญพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระพุทธรูปซึ่งสร้างในสมัยที่พระ พุทธองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่(ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน3องค์) พระพุทธรูปโจโวพระประธานแห่งวัดโจคัง กรุงลาซา ที่ประดิษฐานมาจนถึงวันนี้ ในยุคนั้นพุทธศาสนาถูกขัดขวางจากลัทธิบอนอันเป็นลัทธิดั้งเดิมอย่างรุนแรง แต่พระพุทธศาสนาก็ยังคงหลั่งไหลเข้าสู่ทิเบตทั้งจากอินเดียและจีน ได้มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของทิเบตว่า ได้มีการสังคายนาโต้วาที ณ กรุงลาซา เป็นการโต้วาทีพุทธศาสนาระหว่างนิกายเซ็นของจีนและวัชระยานจากอินเดีย ในรัชสมัยพระเจ้าฑิโซงเดเชน ผลออกมาชาวทิเบตเลื่อมใสในวัชระยานจากอินเดียมากกว่า ดังนั้น พระเจ้าฑิโซงเดเชนจึงเลือกที่จะให้พุทธศาสนาวัชระยานเป็นศาสนาประจำชาติต่อ ไป พระองค์จึงส่งอำมาตย์ไปนิมนต์ พระศานตรักษิตะภิกษุชาวอินเดียจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทาลันทาคุรุแห่งนิกายสวา ตันติกะมัธยมิกเข้ามาเพื่อสถาปนาพุทธศาสนาขึ้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยว่าเพียงหลักปรัชญาอย่างเดียวไม่ตรงกับอุปนิสัยชาวทิเบต ซึ่งนิยมในการเซ่นสังเวย สิ่งลี้ลับ อิทธิปราฏิหาริย์ ตามลัทธิบอนที่ตนได้เชื่อถือมาแต่โบราณ แม้จะพยายามปรับเปลี่ยนตั้งแต่ในรัชสมัยก่อนๆ ศานตรักษิตจึงได้ให้คำแนะนำแก่กษัตริย์ฑิโซงเดเชนขอให้อัญเชิญคุรุปัทมสมภพ มหาสิทธาจารย์แห่งแคว้นอุทิยาน ผู้บรรลุพุทธธรรมในสายต่างๆมากมายเช่น โยคาจารย์และตันตระแห่งนิกายมนตรายาน เมื่อคุรปัทมสมภพเข้ามาได้ใช้อิทธิและความสามารถจัดการกับผู้ขัดขวางทั้งมวล จากลัทธิเก่าก่อนมีผู้เปลี่ยนเข้าสู่พุทธศาสนาเกือบทั้งประเทศ ส่วนผุ้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนลัทธิความเชื่อก็ถูกย้ายให้ออกไปอยู่ในที่อื่น จนสถาปนาพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติทิเบตได้สำเร็จ คุรุปัทมสมภพได้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวทิเบตอย่างมากจนได้ยกย่องท่าน ว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 และขานนามท่านว่ากูรูริมโปเช หรือ แปลว่าพระอาจารย์ผู้ประเสริฐกูรูริมโปเช คุรุปัทมสมภพได้ร่วมกับศานตรักษิตสร้างวัดสัมเยขึ้นในปี ค.ศ.787 และ ได้เริ่มมีการอุปสมบทพระภิกษุชาวทิเบตขึ้นเป็นครั้งแรก ในความอุปถัมภ์ของพระเจ้าฑิโซงเดเชน ทั้งนี้ ยังได้จัดนักปราชญ์ ชาวทิเบตเข้าร่วมในการแปลพระพุทธธรรมเป็นภาษาทิเบตด้วยอย่างมากมาย
แนวปฏิบัติและหลักคำสอนของกูรูริมโปเช และ ศานตรักษิตได้ผสมผสานกัน และ ต่อมาได้เรียกหลักการนี้ว่า ณิงมา ซึ่งในปัจจุบัน ณิงมาได้มีความหมายเป็น 2 นัยยะ นัยยะหนึ่งคือ รากฐานของพุทธศาสนาของทิเบตทั้งหมดทุกสายทุกนิกาย อีกนัยยะหนึ่ง คือนิกายณิงมาปะ คือนิกาย 1 ใน 4 นิกายใหญ่ของทิเบต
พระพุทธศาสนาในทิเบตได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองจนเกิดวิกฤตการณ์ ขึ้นและจัดแบ่งจนเกิดคำว่าตันตระเก่า,ตันตระใหม่ ตันตระเก่าหรือพุทธศาสนาเก่าหรือที่เรียกว่า "ณิงมา" นับเริ่มตั้งแต่กษัตริย์ ฑิโซงเดเชน ซึ่งครองราชย์ในปี ค.ศ.755-797 พระองค์ได้อัญเชิญกูรูศานตรักษิ ตะ กูรูริมโปเช วิมลมิตรเข้ามา สถาปนาพระพุทธศาสนาจนมั่นคงอยู่หลายรัชกาล จนถึงสมัยกษัตริย์ รางทรามา ซึ่งครองราชย์ในปี ค.ศ.836-842 กษัตริย์รางทรามาได้ร่วมมือกันเสนาบดีซึ่งยังคงนับถือลัทธิเซ่นสังเวยดั้ง เดิมซึ่งมีชื่อเรียกว่า "บอนปะ" ได้ทำลายล้างพระพุทธศาสนาไปจากทิเบตเกือบหมดสิ้น เชื้อพระวงศ์ ภิกษุสงฆ์ ผู้ปฏิบัติพุทธธรรมส่วนใหญ่ต้องหลบหนีเอาชีวิตรอดไปอยู่ในบริเวณชายแดน โดยเฉพาะในแคว้นคามทิเบตตะวันออกเป็นแหล่งที่นักปราชญ์นักปฏิบัติที่หนีออก มาไปรวมอยู่กันมากที่สุด ทิเบตในยุคนั้นศาสนาลัทธิความเชื่อสับสนวุ่นวายไปหมด ผู้ไม่ใช่ชาวพุทธได้นำแนวปฏิบัติของพุทธไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขปฏิบัติเองตามใจ ชอบ เหตุการณ์ทั้งหลายในยุคนี้เป็นเหตุการณ์ที่กูรูริมโปเช่ท่านได้รู้ล่วงหน้า แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้น ท่านจึงได้เกิดสอนคำสอนของท่านไว้ในที่ต่างๆทั่วทิเบต เพื่อให้หลังจากกลียุคนี้ผ่านพ้นไปแล้วผู้ปฏิบัติชาวพุทธจะได้มีพระสูตรดั้ง เดิมไว้สอบทาน เพื่อมิให้การปฏิบัติผิดเพี้ยนไป พระธรรมคำสอนที่กูรูริมโปเช่ซ่อนไว้มีชื่อเรียกว่า"เตอร์โตน" หรือมหาสมบัติที่ซ่อนเร้น"
ต่อมาในปี ค.ศ.980 รินเชนสังโป กษัตริย์แห่งแคว้นหนึ่งในทิเบตตะวันตก ผู้ปฏิบัติพุทธธรรมจนบรรลุ ท่านเป็นทั้งผู้ปฏิบัติ และนักปราชญ์ผู้รอบรู้แห่งพุทธศาสนา ได้อัญเชิญอติษะ(ทีปังกรศรีญาณ ภิกษุแห่งมหาวิทยาลัยวิกรมศีลา อินเดีย เข้ามาเพื่อสะสางพุทธศาสนาในทิเบตให้มั่นคงถาวรขึ้นมาใหม่ ในยุคนี้มีกูรูอีกหลายท่านจากอินเดียเข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาจนพุทธศาสนามั่น คงถาวรมาถึงทุกวันนี้ ยุคนี้มีชื่อเรียกว่า "ซามา" หรือยุดตันตระใหม่ ในยุดนี้เองได้เกิดนิกายต่างๆขึ้น เช่น กาดัมปะ,กากจูปะ,สักเจียปะ เป็นต้น ครั้นต่อมา ในยุดนี้พุทธศาสนาก็ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิผลของการเมืองซึ่ง ข่านมงโกล ซึ่งปกครองจีนในขณะเข้าไปมีอิทธิผลเหนือทิเบต แต่พระพุทธศาสนาก็ยังดำรงอยู่ แต่ก็เกิดความสับสนวุ่นวายพอสมควร และในที่สุด กาดัมปะซึ่งก่อตั้งโดยอติษะก็ได้เป็นเป็น นิกายเกลุคปะ โดยโจงคาปา.ในปี ค.ศ.1357

พุทธศาสนาวัชรยานได้แบ่ง เป็นตันตระใหม่และตันตระเก่า

ตันตระใหม่พระศากยมุนีพุทธเจ้าเป็นผู้สอน โดยมาในปางสัมโภคกาย ได้แบ่งเป็น เก้ายาน สามกลุ่ม
กลุ่ม 1 คือสามยานแห่งเหตุ มี สาวกยาน(หีนยาน) ปัจเจกพุทธยาน((หีนยาน) และโพธิสัตว์ยาน(มหายาน)
กลุ่ม 2 คือ สี่มนตรายานแห่งผล กริยาตันตระ จริยาตันตระ โยคะตันตระ
กลุ่ม 3 คือ อนุตระตันตระ มี ตันตระพ่อ ตันตระแม่ และสหตันตระ
ในมุมมองของวัชรยานทุกประสบการณ์ทุกอารมณ์จะไม่มีการทำลายล้างหรือจ้องที่จะ บังคับตัดขาดมิให้บังเกิดขึ้น แต่จะแปรเปลี่ยนให้เป็นประสบการณ์ อารมณ์ในการบรรลุ ดังเช่นโทสะอันร้อนแรงประดุจเพลิง คอยเผาผลาญสติ ก็จะเปลี่ยนให้เป็นเพลิงอันทรงพลังแห่งพ่อ ถึงแม้ว่าแรงระเบิดเพลิงจะรุนแรงอย่างไรก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความรักลูก ต้องการให้ลูกบรรลุสู่จุดสูงสุดดีที่สุดในชีวิต กระตุ้นให้คิดค้นกลอุบายตามแรงเพลิงโทสะนั้นเพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังเช่นการปฏิบัติตันตระพ่อแรงเพลิงแห่งโทสะนำพาสู่อุบายในการเสริมสร้างสติ แห่งการบรรลุ ส่วนโลภะ ความอยากได้ ความต้องการ ความปารถนาในลาภ ยศ สรรเสริญ ก็แปรเปลี่ยนให้เป็นพลังรักแห่งแม่ ที่แสดงออกโดยตรงและยอมรับในทุกประสบการณ์ของลูกโดยไม่ต้องแสวงหาอุบายใดๆ ยอมรับและอยู่ร่วมกับประสบการณ์ของลูกโดยดุษฏี เพื่อความอยู่ดีมีสุขของลูก นั่นคือตันตระแม่ โลภะที่เกิดเปลี่ยนให้เป็นแรง ปารถนาในการบรรลุ ประดุจดังความรัก ความปารถนา และการกระทำของแม่ ตัวผู้ปฏิบัติเป็นแม่ สติคือลูก ผลการบรรลุ คือผลสูงสุดที่ต้องการให้ลูกได้รับ โมหะความลุ่มหลง เช่นการหลงในตนเองว่าเลิศสุดกว่าผู้ใดด้วยเหตุผลนานาประการ ทำให้เกิดการสร้างอาณาเขตแห่งตนขึ้นเกิดความคับแคบในมโนทัศน์และประสบการณ์ หน้าที่อันไม่แบ่งแยกของพ่อและแม่คือการพยายามสร้างอาณาจักรอันไม่มีขีด จำกัดแก่ลูก สหตันตระ มีแง่คิดอยู่ในมุมมองที่ว่าการเปลี่ยนโมหะบ่อเกิดความคับแคบเพื่อให้เป็น พื้นที่ว่างอันกว้างใหญ่ไพศาลเป็น อาณาเขตอันไร้ขอบเขตแห่งจักรวาลซี่งเป็นที่ตั้งแห่งพุทธภาวะ ความไม่แบ่งขั้ว ไม่แบ่งเพศ ไม่มีขีดจำกัดใดๆ

ตันตระเก่าได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันใน นิกายณิงมาปะ สอนโดย พระธรรมกายของพระพุทธเจ้าแบ่งเป็นเก้ายาน อันมี
ยานภายนอก 3 ยาน มี สาวกยาน ปัจเจกพุทธยาน(อันเป็นพุทธศาสนาหีนยานซี่งเน้นการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อบรรลุอรหันต์ผล) โพธิสัตว์ยานเน้นการปฏิบัติบารมีหก เพื่อเข้าสู่ภูมิที่สิบ อันเป็นภูมิแห่งพระโพธิสัตว์ และตันติกอีก 6 ยานซึ่งเป็นวัชรยานทั้งหมด ซึ่งได้มีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มตันตระภายนอก มี กริยาตันตระ จริยาตันตระ โยคะตันตระ กลุ่มตันตระภายใน มี มหาโยคะตันตระ อนุโยคะตันตระ อธิโยคะตันตระ กลุ่มตันตระภายใน เป็นยานพิเศษที่มีเฉพาะในนิกายณิงมา โดยเฉพาะอธิโยคะซึ่งทิเบตเรียก ซกปะเชนโป สันกฤตเรียก มหาสันติ อันถือเป็นยานหรือคำสอนสูงสุดของพุทธศาสนา การปฏิบัติอธิโยคะในหมู่ผู้มีปัญญาอันเลอเลิศและได้ปฏิบัติด้วยความวิริยะ อุตสาหะ สามารถเข้าถึงพุทธภาวะในเวลาอย่างช้าสามปี ในหมู่ผู้มีปัญญาสูงสามารถบรรลุผลในเวลาหกปี ในหมู่ผู้มีปัญญาระดับทั่วไปก็สามารถบรรลุผลได้ในเวลาสิบสองปี คำสอนการปฏิบัติตันตระที่ได้ปฏิบัติกันอยู่ มาจากหลายแหล่ง เช่นจากที่มีบันทึกอยู่ในพระสูตรกันจุร์ จากที่มีอยู่ในณิงมากิวบุมซึ่งได้แยกบันทึกไว้ต่างหากอีก ยี่สิบห้าฉบับ จากพระอาจารย์ตันตระที่บรรลุมรรคผลโดยเกิดขึ้นเองในจิตของท่าน ในคำสอนทั้งหมดที่สมบูรณ์ที่สุดและแพร่หลายที่สุดเป็นคำสอนที่ถ่ายทอดโดยกู รูรินโปเช่และธรรมศักติเยเซโชเกียว ซึ่งได้ถ่ายทอดโดยตรงและได้เก็บซ่อนไว้ในสถานที่ต่างๆกันซึ่งเรียกว่าเตอร์ มา เพื่อให้เปิดเผยในเวลาต่อมาโดยผู้ที่ได้ถูกกำหนดไว้ซึ่งเรียกว่าเตอร์โตน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 จนถึงปัจจุบัน
คำสอนอธิโยคะได้จัดระดับคำสอนไว้3ระดับ คือ เซมเด ลองเดและเมกาเด ท่านคุรุศรีสิงหะยังได้แบ่งเมกาเดออกเป็นอีก4ระดับคือระดับภายนอก ระดับภายใน ระดับลับ และระดับลับสุดยอด ได้แยกการปฏิบัติออกเป็นสองลักษณะ คือเตกโชและโทกัล เตกโชคือการฟันฝ่าทะลุทะลวงดิ่งตรงเข้าสู่พุทธภาวะและผสานจิตตนเข้ากับ สภาวะธรรมชาติแห่งจักรวาลอย่างฉับพลันทันใด เป็นการสำเร็จพุทธในชาติปัจจุบันนี้ เมื่อถึงกาลสิ้นชีพกายจะเกิดประกายแสงหลากหลายพวยพุ่งออกมาและร่างกายจะสลาย เข้ากับ แสงนั้นและหายไปเหลือเพียงผม เล็บมือเล็บเท้าปรากฏการณ์นี้เรียกว่าการเกิดกายรุ้ง ซึ่งเกิดในช่วงของการแตกสลายของธาตุทั้ง 4 เพื่อเข้าสู่แสงแห่งปัญญาของสัมโภคกาย ส่วนโทกัลคือการเดินดิ่งเข้าสู่พุทธภาวะ ผู้บรรลุเมื่อสิ้นชีพก็เกิดกายรุ้งเช่นกันแต่ กายรุ้งนั้นจะเห็นได้เฉพาะผู้บรรลุแล้วเท่านั้น วิธีปฏิบัติเมกาเดมีชื่อเรียกว่าณิงติก ได้เรียกชื่อตามพระอาจารย์ที่ค้นพบหรือถ่ายทอดเช่นเจดซุงณิง ติกถ่ายทอดโดย ท่ายเจดซุง คานโดณิงติกโดยท่านเปดมาเล เดเซล กามาณิงติกโดย กามาปะที่3 และรางชุงโดเจ โดเซมณิงติกโดยท่านไวโรจน ลองเชนณิงติกโดยจิกเมลิงปะและเซซุมโอเซลณิงติกโดยจัมยังเคนเซวังโป ในจำนวนณิงติกทั้งปวงที่แพร่หลายและสมบูรณ์ที่สุดคือวิมาณิงติกซึ่งท่านวิมล มิตรได้นำเข้าทิเบต คานโดณิงติกซึ่งท่านกูรูรินโปเช่นำเข้าทิเบต และได้ค้นพบ เรียบเรียงให้เป็นหมวดหมู่เป็นระเบียบโดยลองเชนรับจัมในราวศตวรรษที่13 ในศตวรรษที่17 ท่านจิกเมลิงปะได้รวมวิมาณิงติกและคานโดณิงติกเข้าด้วยกัน โดยให้ชื่อว่าลองเชนณิงติก

ยานที่4 กริยาตันตระ
เป็นการปฏิบัติภายนอกเพื่อนำไปสู่การชำระล้าง โดยการปฏิบัติพิธีกรรมด้วยกายและวาจา พลังทิพย์ที่ได้คือธาตุสูงสุดแห่งความเป็นพุทธ คือปัญญาสูงสุด ซึ่งปัญญาที่ได้มายังประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้ ในเชิงจิตวิทยา ตัวผู้ปฏิบัติเปรียบเสมือนผู้รับใช้ในพลังแห่งพุทธนั้น การบำเพ็ญปฏิบัติด้วยความวิริยะ เพื่อรับใช้พลังนั้นด้วยด้วยมั่นใจว่าด้วยความสัมพันธ์นี้จะนำพาผู้ปฏิบัติ เข้าสู่พลังทิพย์แห่งพุทธนั้น ความสำเร็จในการเข้าสู่พลังทิพย์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนโดยใช้เวลาในการ ปฏิบัตินี้ 16 ชาติมนุษย์ การปฏิบัติหีนยานและมหายานที่ได้ปฏิบัติมาเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของการเริ่ม ต้นปฏิบัติตันตระนี้

ยานที่5จริยาตันตระ
เป็นการปฏิบัติเพิ่มเติมต่อเนื่องจากกริยาตันตระซึ่งปฏิบัติพีธีกรรมด้วยกาย และวาจา จริยาตันตระเน้นการปฏิบัติสมาธิ คือการปฏิบัติจิต ควบคู่กันไปด้วย มุมมองของจริยาตันตระคือ ผู้ปฏิบัติและพลังทิพย์แห่งพุทธอยู่ในระดับเดียวกัน เปรียบเหมือนเพื่อน เหมือนพี่ เหมือนน้อง การปฏิบัติจะใช้การเพ่งนิมิตหรือการสร้างมโนทัศน์ ถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในมันดาลา ซึ่งประกอบด้วยองค์วัชรกาย องค์ยิดัม โพธิสัตว์ ธรรมบาล มโนทัศน์ในสมาธิจิตว่าตัวผู้ปฏิบัติก็คือองค์สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น เมื่อเราได้ปฏิบัติไปถึงระดับหนึ่ง เราจะพบว่าถึงแม้องค์สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพลังทิพย์นั้นแม้จะอยู่ในระดับ เดียวกับเรา แต่ก็ยังแยกต่างหากจากตัวเรา นี่คือจุดประสงค์ของการบรรลุสู่วัชรธารา การปฏิบัตินี้ด้วยความวิริยะสามารถบรรลุความเป็นพุทธในเวลา 7 ชาติมนุษย์

ยานที่6โยคะตันตระ
แบ่งออกเป็นสองส่วนคือส่วนนอกซึ่งเรียกว่าอุปโยคะตันตระและส่วนใน เรียกว่าอนุตรโยคะตันตระ อุปโยคะตันตระ ถือว่าพิธีกรรมที่ถูกต้องบริสุทธิ์และการปฏิบัติที่เคร่งคัด เป็นเพียงการช่วยเหลือไปสู่การบรรลุสู่พลังทิพย์แห่งพุทธภาวะ สิ่งสำคัญที่ต้องเพ่งคือ ในช่วงสมาธิจิตอันมั่นคงให้มองลึกเข้าไปในสมาธิจิตนั้นให้เห็นการมานะ ปฏิบัติเพื่อรับใช้พลังทิพย์ ได้เกิดพลังขึ้น นั่นคือพลังแห่งการปฏิบัติได้เข้าผสมรวมกับพลังทิพย์แห่งพุทธภาวะ เป็นการเข้ารวมกับปัญญาอันสูงสุด และเข้ากันโดยไม่เหลือร่องรอย คือไม่เหลือขั้วใดๆ คือการเข้าสู่การรู้แจ้งในศูนยตาสภาวะ การปฏิบัติเพื่อเข้าสู่ศูนยตาสภาวะหรือสภาวะอันไม่มีขั้ว เกิดจากการปฏิบัติมุทราทั้งสี่ คือมหามุทรา ธรรมมุทรา ซามายามุทรา กามามุทรา ขันธ์ 5 และอารมณ์ 5 ถูกแปรเปลี่ยนเป็นพระพุทธเจ้า5พระองค์หรือก็คือปัญญาอันสูงสุดทั้ง5 มหามุทราเป็นส่วนขยายความเพิ่มออกมาจากปรัชญาปารามิตา ซึ่งเน้นในการรู้แจ้งภายใน ในวัชรยานจุดเริ่มต้นของมหามุทราได้ต่อเชื่อมกับสมาธิราชาสุตตะซึ่งก็คือ ความหมายเบื้อง ลึกของปรัชญาปารามิตา พระอาจารย์ผู้บรรลุและเชี่ยวชาญในสายการปฏิบัติมหามุทราเรียกว่ามหาสิทธะ ส่วนใหญ่และจะไม่ใช่ภิกษุสงฆ์ แต่เป็นผู้ปฏิบัติสำเร็จมรรคผลในเบื้องลึกสุดยอดแห่งปรัชญา ปารามิตา อยู่ในศูนยตาสภาวะ อยู่ในความไม่มีขั้ว พระอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง อาทิ ซาราฮา ติโลปะ นาโรปะ มารปะ มิลาเรปะ อนุตรโยคะตันตระ ซึ่งเป็นตันตระในและถือเป็นส่วนที่คาบเกี่ยวกันระหว่างตันตระนอกและใน คัมภีร์หลักของอนุตระตันตระคือ กูเฮี้ยสมัชชา คำว่ากูเฮี้ยแปลว่าไม่ได้เปิดเผย ความหมายของกูเฮี้ยสมัชชา คือกายวาจาใจของพระพุทธเจ้าในส่วนที่ไม่ได้นำเสนอต่อสมัชชาสงฆ์ปัจเจกพุทธ และ ผู้ปฏิบัติทั่วไปในมหายานคำภีร์นี้ได้เปิดเผยในทิเบตตะวันออกโดยบัน ฑิตสัมฤทธิฌานะในศตวรรษที่ 11

ยานที่7 มหาโยคะ
มหาโยคะจัดอยู่ในตันตระภายในซึ่งจัดอยู่ในช่วงของการพัฒนา ในคำสอนของพุทธศาสนาทั่วไปได้จัดความจริงออกเป็นสองประเภทคือความจริงทางโล กียะ หรือสมมุติสัจและความจริงทางโลกุตระหรือปรมัตถ์สัจ แต่ในมหาโยคะจะพูดถึงความจริงที่3 ความจริงที่3สอนให้ใช้อารมณ์ทุกอารมณ์ ทุกสภาพแวดล้อม ทุกสถานการณ์ ให้เป็นยานพาหนะนำไปสู่สมาธิซึ่งคงที่และสูงยิ่งๆขึ้นเพื่อบรรลุมรรคผลใน ชาตินี้ ทุกสถานการณ์ ทุกอายตนะสามารถแปรเปลี่ยนเป็นมันดาลา องค์พุทธ ยิดัม ธรรมบาล ประทับอยู่มากมาย ซึ่งหลากหลายรูปลักษณ์ กระแส เสียงและสีสัน ทั้งปวงถือเป็นการแบ่งภาคมาจากตรีกาย ในการปฏิบัติศาทนะ(พีธีกรรม มุทรา มนตรา)จะทำให้จิตของผู้ปฏิบัติใสดังเช่นกระจก เป็นมันดาลาที่ใสบริสุทธิ์ มหาโยคะเน้นในการสร้างมโนทัศน์ในสมาธิจิต

ยานที่8 อนุตรโยคะ
อนุโยคะจัดอยู่ในช่วงของการบังเกิดผล โดยเน้นไปที่ความรู้สึกในศูนยตาของมันดาลา ภาพมันดาลาในมหาโยคะเปรียบดังภาพในมิติเดี่ยว แต่ภาพเดียวกันในมันดาลาเปรียบดังภาพหลายมิติสามารถบ่งบอกถึงอารมณ์ในศูนยตา ในอนุโยคะ รูป เสียง สัมผัส ในสรรพสิ่งที่เรารู้สึกได้ ให้มีความรู้สึกในอารมณ์แห่งศูนยตา ความรู้สึกเช่นนี้ถือเป็นลัญลักษณ์ความรู้สึกของธรรมกาย ซึ่งเรียกว่ากุนตูซังโม ภาพที่เห็นหรือสิ่งที่ปรากฏขี้นคือสัญลักษณ์ของธรรมกายเปรียบดังเพศชาย ส่วนความรู้สึกในศูนยตาของธรรมกายคือกุนตูซังโม เปรียบดังเพศหญิง การรวมกันของกุนตูซังโปและกุนตูซังโมเกิดสภาวะอิสระแห่งจักรวาลหรือพุทธภาวะ หรือสภาวะเหนือเหตุและผล การปฏิบัติอนุโยคะได้ด้วยการฝึกบังคับลมปราณต่างๆในร่างเพื่อนำพาร่างวัชร ของเรา คือกุนตูซังโปเข้ารวมกับความรู้สึกแห่งศูนยตาคือกุนตูซังโม เพื่อบังเกิดผลในสภาวะอิสระแห่งจักรวาล

ยานที่9 อธิโยคะ
อธิโยคะคือการแสดงออกที่สมดุลย์การเข้ากันได้อย่างดีที่ สุดของสิ่งที่ปรากฏและความรู้สึกแห่งศูนยตา ดังนั้นอธิโยคะจึงเน้นที่พุทธภาวะหรือสภาวะเหนือเหตุและผลดั้งเดิมซึ่งมี อยู่ประตัวในทุกสรรพสิ่ง สรรพสิ่งเกิดขึ้นพร้อมกับปัญญาดั้งเดิม ปัญญาดั้งเดิมนำพาเข้าสู่สภาวะอิสระแห่งจักรวาลดั้งเดิมนั่นคือพุทธภาวะ สภาวะอิสระแห่งจักรวาลจึงเป็นสภาวะอันปราศจากรูปแบบ ปราศจากมิติ การแตกแยกหรือการรวมกลุ่มใดๆ และสภาวะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องสร้างให้เกิดขึ้นเพราะว่ามันมีอยู่แล้ว ด้วยสภาวะจิตอิสระแห่งพุทธนั้น แม้แต่กายหยาบก็สามารถนำพาเข้าเอกภาวะนั้นได้ด้วย และกายนั้นก็ไม่ต้องถูกยึดติดด้วยเหตุผลใดๆหรือมิติใดๆ
ในคำสอนอธิโยคะ ซึ่งถือเป็นคำสอนสูงสุดของทุกยานที่มีอยู่ มีคำสอน หกล้านสี่แสนประโยด ซึ่งเปิดเผยและถ่ายทอดสู่โลกมนุษย์โดยวัชรสัตโต โดยการับโดเจเป็นผู้รับมอบ ซึ่งถือเป็นส่วนน้อยนิดที่ที่ได้ถ่ายทอดออกมา ยังมีอีกมากมายมหาศาลที่ไม่ได้ถ่ายทอดออกมา อธิโยคะมาจากองค์ธรรมกายสมันตรภัทร(กุนตูซังโป)ถ่ายทอดสู่วัชรสัตโตองค์ สัมโภคกาย ถ่ายทอดต่อยังการับโดเจองค์นิรมานกายซึ่งเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้รับถ่ายทอด จากนั้นสู่มัญชูศรีมิตตา ซึ่งมัญชูศรีมิตตาได้นำคำสอนหกล้านสี่แสนประโยคไปจัดกลุ่มเป็นเซมเด ลองเด เมกาเด และถ่ายทอดให้ศรีสิงหะ ศรีสิงหะได้แบ่งเมกาเดออกเป็นสี่ระดับ ระดับนอก ระดับใน ระดับลับ และระดับลับสุดยอดและได้ถ่ายทอดสู่ ฌานะสุตตะ กูรูรินโปเช่ และไวโรจนะ ฌานะสุตตะได้ถ่ายทอดให้วิมลมิตร และวิมลมิตรยังได้รับการถ่ายทอดจากการับโดเจโดยตรงในมิติแห่งนิมิตร ไวโรจนะ วิมลมิตร และกูรูรินโปเช่ได้นำคำสอนทั้งหมดเข้าสู่ทิเบตและได้ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้
วัชรยานคือชื่อ เรียกโดยรวมในแนวคิดทุกทางทั้งวินัย สุตันตระ และอภิธรรม ส่วนตันตระคือวิธีปฏิบัติคำว่าตันตระคือการต่อเนื่องซึ่งมีและไม่มีจุดเริ่ม ต้นและจุดที่จบในขณะเดียวกันดังเช่นการดำเนินไปบนเส้นรอบวง ด้วยว่าทุกจุดเป็นจุดเริ่มและจบได้ด้วยกันทั้งนั้น ในวัชระยาน สภาวะอิสระแห่งพุทธได้เกิดขึ้นพร้อมกับจักรวาล เกิดขึ้นด้วยศูนยตาสภาวะ การดำเนินไป การวิวัฒนาการ แห่งสรรพสิ่ง ดำเนินไปบนเส้นรอบวง ทุกจุดบนเส้นรอบวงไม่ใช่จุดเริ่มต้นและไม่ใช่จุดจบ เช่นกันทุกจุดบนเส้นรอบวงก็เป็นได้ทั้งจุดเริ่มต้นและจุดจบ ดังนั้น ทุกจุดจึงสามารถเป็นจุดแห่งสภาวะอิสระดังเดิมได้ทั้งนั้น ฉะนั้นการเดินทางของพุทธตันตระคือการเดินไปมองไปเพื่อให้จำให้ได้ว่านี่คือ จุดเริ่มต้นของเราอธิโยคะ ก็คือการชี้ตรงลงไปเลยว่าจุดนี้คือจุดแห่งสภาวะอิสระดั้งเดิมแห่งเรา และเราจะอยู่ในจุดนี้จุดที่อิสระจากการควบคุมใดๆจุดที่อยู่นอกเหนือจากมิติ เหตุและผลใดๆทั้งปวง


นิกายสำคัญ 4 นิกายในทิเบต

ในช่วงศตวรรษที่8-11 พุทธศาสนาของทิเบต มีชื่อเรียกว่า ณิงมา หรือพุทธศาสนาโบราณ ซึ่งเป็นรากฐานของพุทธศาสนาทิเบตทุกนิกาย ในยุคนี้ยังไม่มีนิกายอื่นๆ ดังนั้นคำว่าณิงมา ในนัยยะนี้เป็นพุทธศาสนาของทิเบต และเมื่อต่อมามีการนำหลักปฏิบัติในพุทธศาสนาในแนวอื่นๆจากอินเดียเข้ามาใหม่ ก็เกิดนิกายต่างๆขึ้น แต่ในทุกนิกายก็ต้องมีณิงมาเป็นส่วนหนี่งด้วย

ณิงมาปะ
ณิงมา เป็น นิกายแรกและเก่าแก่ดั้งเดิม และยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยถือ ว่ากำเนิดจากท่านคุรุปัทมสมภพ ณิงมาปะ ได้มีพัฒนาการ ครั้งใหญ่ๆ 3 ครั้ง คือ การเริ่มต้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นพุทธศาสนาของทิเบตด้วย และ เป็นนิกายเดียวที่มีอยู่ในช่วงนั้น คือศตวรรษที่ 8-11 คำว่า ณิงมา แปลว่าโบราณ สัญลักษณ์ของนิกายคือใส่หมวกสีแดง ชาวทิเบตเลื่อมใสศรัทธาท่านคุรุปัทมภพมาก เชื่อว่าท่านเป็นผู้ทรงพลานุภาพอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือ ขจัดอุปสรรค ต่างๆได้จนหมดสิ้น ณิงมาปะ ได้เน้นในด้านพุทธตันตระ คำว่าตันตระนั้นแปลว่า เชือกหรือเส้น ด้ายใหญ่ๆ หรือความต่อเนื่องซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการถ่ายทอดคำสอนจากอาจารย์ไปสู่ศิษย์ โดยไม่มีการขาดตอน โดยผ่านพิธีอภิเษกและเป็นการถ่ายทอดคำสอนปากเปล่าจาก อาจารย์ สู่ศิษย์ ในคำสอนของตันตระเน้นในการสวดมนตราธารณี การใช้สัญลักษณ์มุทรา สัญลักษณ์มันดาลา ในการประกอบพิธี เพื่อเข้าสู่การบรรลุพระโพธิญาณ หลังจากสมัย คุรุปัทมสมภพแล้วก็ได้มีการค้นพบคำสอนซึ่งถูกซ่อนไว้ โดยคุรุปัทมสมภพ ในทิเบตเรียกว่า เตอร์มา ซึ่งแปลว่าขุมทรัพย์อันล้ำค่า และได้ทำนายไว้ว่าในอนาคต ศิษย์ของท่านจะเป็นผู้ค้น พบและเปิดขุมทรัพย์ องค์คุรุปัทมสมภพได้ให้เหตุผลไว้ 3 ประการ 1เพื่อไม่ให้คำสอนผิดเพี้ยน ไปเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ 2 เพื่อให้พลังแห่งคำสอนนั้นอยู่ ครบถ้วนบริบูรณ์ 3 เพื่อเป็นการให้พร แก่คนรุ่นหลังที่ได้สัมผัสกับคำสอนดั้งเดิม

คำสอนณิงมาปะเน้นในเรื่องความไม่เป็นแก่นสารของจักรวาลและเน้นถึงความเป็นไป ได้ในการตรัสรู้ในเวลาอันสั้นหรือทันทีทันใด หลักการสอนและปฏิบัติณิงปา คือปฏิบัติควบคู่กันไปทั้งสูตระและตันตระ โดยประยุกต์รวมผสานปรัชญานิกายมัธยมิก โยคาจารย์และจิตอมตะเข้าด้วยการใช้หลักปฏิบัติของมนตรายาน (ดูรายละเอียดในนิกายของมหายานอินเดียในเพจปรัชญา มหายาน) ณิงมาปะ ได้แบ่งพุทธศาสนาออกเป็น9ยานคือ สาวกยาน ปัจเจกพุทธยาน และโพธิสัตว์ยาน คือสามยานขั้นต้น กริยาตันตระ จริยะตันตระ โยคะตันตระ เป็นสามยานในชั้นกลางหรือจัดเป็นตันตระต่ำและ มหาโยคะตันตระ อนุตรโยคะตันตระและอทิโยคะตันตระ สามยานสุดท้าย หรือจัดเป็นตันตระสูง อนุตรโยคะตันตระจัดเป็นตันตระสูงสุดของตันตระทุกระดับยกเว้น อทิโยคะตันตระ คุหยสมาช กาลจักร จักรสังวร ล้วนจัดอยู่ในอนุตรโยคะตันตระทั้งสิ้น ส่วน อทิโยคะตันตระหรือซกเชนถือเป็นตันตระพิเศษสูงสุดกว่าตันตระใดๆซึ่งเป็นวิธี ปฏิบัติของ สมัตรภัทรพุทธ เป็นวิธีการเจาะเข้าสู่พุทธะภาวะโดยตรงหกยานแรกเป็นพื้นฐานของพุทธ ตันตระทั่วไปทุกนิกายส่วนสามยานสุดแท้เป็นลักษณะพิเศษของณิงมา ท่านเชอเกียมตรุงปะ วัชราจารย์แห่งณิงมาผู้มีชื่อเสียงอย่างมากในโลกตะวันตกในศตวรรษที่20ได้ กล่าวไว้ว่า หีนยานได้กล่าวว่าตนเข้าถึงความจริงแท้และให้หนทางที่ดีที่สุดมหายานก็กล่าว ว่าพระโพธิ สัตว์ได้ให้หนทางที่ดีที่สุดในการเข้าสู่สัจจะธรรม ส่วนผู้ปฏิบัติวัชระยานก็ว่า มหาสิทธะผู้ทรง ฤทธิ์อำนาจวิเศษสามารถมอบ หนทางสู่การบรรลุได้อย่างวิเศษสุด คำถามและคำตอบมาก มายที่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับความสับสนต่างๆนาๆแล้วอะไรเล่าจึงเป็นสิ่งที่ ปรารถนาของศิษย์ ผู้ต้องการเข้าสู่พระพุทธธรรม อทิโยคะตันตระได้ให้คำตอบไว้ว่าการมองทุกสรรพสิ่งด้วยสาย ตาของเอกซ์เรย์ มองทุกสรรพสิ่งได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และ ปฏิบัติตนอย่างเปล่าเปลือยทะลุ ปรุโปร่งเช่นกัน นั่นจึงเป็นธรรมชาติแท้แห่งพุทธะภาวะ
อทิโยคะตันตระซึ่งจัดเป็นยานสูงสุดของพุทธศาสนา และถือว่าเป็นธรรมวิธีที่สูงสุด มีหลักการว่ารู้กระจ่างในธรรมกายตนและให้ธรรมกายตนออกหน้าในทุกภาวะ ผลที่ได้ตนก็คือพระพุทธเจ้า

นิกายกากยู
นิกายนิกายกากยูเป็นนิกายสำคัญนิกายหนึ่งในต้นศตวรรษที่ 11 นิกายกากยูแปลว่าการถ่ายทอดคำสอนด้วยการบอกกล่าวจากปากอาจารย์สู่หูของศิษย์ ผู้ก่อตั้งคือมาร์ปะผู้สืบสายคำสอนมาจากนาโรปะนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งมหา วิหารนาลันทาผู้รับสืบทอดคำสอนมาจากติโลปะผู้ถือว่ารู้แจ้งเองไม่ปรากฏว่า ท่านได้รับคำสอนจากพระอาจารย์ท่านใด แต่ได้มีบันทึกบอกกล่าวไว้ว่าท่านได้รับคำสอนโดย ตรงจากพุทธวัชระธารา
นาโรปะท่านเป็นคุรุผู้บรรลุและเชี่ยวชาญ ทั้งโยคะและปรัชญาทั้งมวลของโยคาจารย์แห่งมหาวิทยานาลันทา ท่านเป็นคุรุผู้ทดสอบคัดเลือกบุคคลซึ่งจะเข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัยนาลัน ทาทางทิศเหนือ (ช่วงนี้ท่านได้รับศิษย์ไว้ผู้หนึ่ง ชื่อศรีภัทร และต่อมาศรีภัทรได้เป็นอาจารย์ผู้หนึ่งของ อติษะ ผู้เดินทางไปทิเบตและได้ตั้งนิกายกาดัมปะและต่อมาพัฒนาเป็นเกลูปะ) ภูมิรู้ของท่านเต็มเปี่ยน แต่ท่านก็ไม่บรรลุโพธิญาน จนเมื่อท่านได้รับรู้ว่ามีคุรุผู้สามารถช่วยให้ท่านได้บรรลุโพธิญานอยู่ท่าน หนึ่ง ชื่อว่าติโลปะ นาโรปะจึงได้ละทิ้งภารกิจของท่านออกเสาะหา จนกระทั่งได้พบคุรุติโลปะ ขณะที่ท่านได้พบติโลปะ ติโลปะได้กำหนดสภาพตนเองให้นาโรปะพบด้วยฐานะของขอทานสกปรกมอมแมม เกรี้ยวกราด ดุร้ายไม่มีเหตุผล คุรุติโลปะได้เคี่ยวเข็ญทรมานนาโรปะมากมายหลายประการ เพื่อลดทอนทำลายทิฐิ ยึดมั่นในความเป็นมหาบัณฑิตผู้รอบรู้สรรพศาสตร์ จนเมื่อถึงที่สุดเมื่อกาลเวลาแห่งการบรรลุมาถึง ติโลปะได้ใช้รองเท้าของตนตบไปที่หัวของนาโรปะ นาโรปะก็ได้บรรลุโพธิญาณในบัดเดี๋ยวนั้น จากนั้นมานาโรปะก็ได้ท่องเที่ยวโปรดสรรพสัตว์ทั่วไปจนได้พบกับมารปะซึ่งเป็น ชาวทิเบตและได้ถ่ายทอดธรรมให้ เพื่อให้นำไปโปรดชาวทิเบตต่อไป
มาร์ปะโชจิโลดูซ์ เป็นลามะปราชญ์ผู้แปลพระธรรมที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่ง ของ ทิเบต ท่านได้เผยแพร่ธรรมที่ได้รับจากนาโรปะ จนมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่ว แนวคำสอนของท่านเป็นการถ่ายทอดปากเปล่าจากปากของคุรุสู่หูของศิษย์ จึงมีการเรียกแนวทางของท่านว่ากระซิบบอก ท่านมีศิษย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่านแต่ที่มีชื่อเลื่องลือที่สุดคือ มิลาเรปะ มหาโยคีผู้บรรลุความรู้แจ้งในชีวิตนี้ มาร์ปะและมิลาเรปะถือว่ามีความ สำคัญมากในพุทธตันตระของทิเบต ท่านได้ประพันธ์คำสอนไว้มากมาย บทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของท่านคือ “หนึ่งแสนธรรมคีตาของมิลาเรปะ” (มีการแปลออกเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก โดยอีวานแวน ผู้ช่วยคนสำคัญของโยคีเชนศิษย์ชาวจีนของนอราริมโปเช) มิลาเรปะ มีศิษย์ทั้งหมด21ท่าน ท่านที่มีชื่อเสียงที่สุดคือกัมโปปะ นิกายกากยูปะเป็นนิกายที่มีชื่อเสียงมากใน ศตวรรษที่13 เนื่องด้วยมิลาเรปะมีศิษย์หลายท่านกัมโปปะเองก็มีศิษย์หลายท่านทำให้นิกาย นิกายกากยูได้มีการพัฒนาไปตามแนวทางคำสอนของศิษย์แต่ละท่านได้รับ จึงเกิดนิกายกากยูในสายต่างๆขึ้นมาหลายสาย ในปัจจุบันสายกรรมะนิกายกากยูมีชื่อเสียงมากที่สุดด้วยความสามารถของกรรมะปะ องค์ที่16 คำสอนของนิกายกากยูก็ไม่ได้แตกต่างไปจากนิกายอื่น คือเน้นไปที่พุทธตันตระ ตันตระโยคะทั้ง 6 ของนาโรปะ การสืบทอดวิญญาณและ การปฏิบัติตันตระมหามุทรา
โยคะทั้ง 6 ของนาโรปะ ประกอบด้วย
1 คตุม.ม้. ตุม.โม การบรรลุด้วยธรรมวิธีเกี่ยวกับพลังความร้อนภายในกาย
2 q^.ลูซ. จู.ลูซ์. การบรรลุด้วยธรรมวิธีเกี่ยวกับกายมายา ปรากฏการณ์ทั้งมวลเป็นมายาดั่งผีหลอก
3 nj.ลม. มิ.ลัม. การบรรลุด้วยธรรมวิธีเกี่ยวกับความฝัน ฝึกฝนปฏิบัติในขณะฝันและจิตบรรลุดั่งฝัน
4 อ้ด.คซล. โอะ.ซัล. การบรรลุด้วยธรรมวิธีเกี่ยวกับแสงประภัสสร
5 บร.ด้. บัร.โด. การบรรลุด้วยธรรมวิธีเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย
6 อภ้.บ. โภ.วา. การบรรลุด้วยธรรมวิธีเกี่ยวกับเคลื่อนย้ายจิตวิญญาณ การย้ายจิตวิญญาณเข้าสู่สุขาวดีพุทธเกษตร เพื่อรับคำสอนและปฏิบัติเบื้องพระพักตร์ของพระอมิตาภะพุทธเจ้า
นิกายนิกายกากยูมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่านิกายขาว สืบเนื่องจากการครองผ้าของมิลาเรปะซึ่งท่านจะครองผ้าบางๆสีขาวตลอดเวลาหรือ อาจ จะมาจากสัญลักษณ์ของวัดในนิกายกากยูปะซึ่งจะทาสีขาวทั้งหมด
นิกายนิกายกากยูมีแนวปฏิบัติพื้นฐานมาจากแนวปฏิบัติ ณิงมาทั้งหมด แต่ที่ทำให้เป็นนิกายกากยูก็คือการปฏิบัติขั้นสุดท้ายของมารปะซึ่งรับถ่าย ทอดมาจากนาโรปะ ก็คือธรรมวิธีสูงสุดซึ่งจัดอยู่ในยานที่แปด คืออนุตรตันตระหรือมหามุทรา หลักการของอนุตรตันตระก็คือ ทุกขณะจิต จิตตนและจิตพระพุทธเจ้ารวมเป็นจิตเดียวกัน นั่นคือคำว่า เอกจิต

นิกายสักกยะ
นิกายนี้ได้มาจากชื่อของวัดสักกยะ คำว่าสักกยะหรือสำเนียงทิเบตว่าสักเจียแปลว่าดินชนิดหนึ่ง ในบริเวณจั้ง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำยาลุงซังโป วัดของสักกยะมีเอกลักษณ์คือทาสีเป็น3 แถบ คือแถบสีแดงสีขาวสีดำ สีทั้ง3เป็นสีแห่งพระโพธิสัตว์ 3 องค์ซึ่งนิกายสักกยะ ให้ความ สำคัญมาก คือ สีแดงสีแห่งพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ผู้ทรงปัญญาคุณ สีขาวสีแห่งพระอวโลติเก ศวรโพธิสัตว์ ผู้เมตตากรุณาคุณ สีดำสีแห่งพระวัชระปราณีโพธิสัตว์ ผู้ทรงพลาคุณ ในประเทศ ได้เรียกชื่อนิกายนี้ว่า นิกายหลายสี ซึ่งก็ได้เรียกมาจนถึง ทุกวันนี้นิกายสักกยะได้ตั้งขึ้นใน ศตวรรษที่ 11 ผู้ก่อตั้งนิกายคือผู้สืบเชื้อ สายขุนนางเก่าตระกูล คอน คอนโซก เกียวโป ท่านได้รับคำสอนตันตระกาลจักรจากบิดาซึ่งรับคำสอนมากจากวิรูปะโยคีชาว อินเดีย คอน คอน โซกเกียวโปได้เดินทางไปเรียนตันตระจากอาจารย์อีกท่านคือโยมิโลซาวา คอน คอน โซกเกียวโปได้สร้างวัดของนิกายสักกยะขึ้นใกล้แม่น้ำถอม เป็นบัญญัติของคอนคอนโซกเกียว โปว่าการสืบทอดในนิกายสักกยะจะสืบทอดเฉพาะคนในตระกูลคอนเท่านั้นตำแหน่งของ เจ้านิ กายสักกยะเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจทั้งในทางการเมืองและการศาสนาความสำคัญใน เชิงประวัติ ศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าผู้สืบสายนิกายสักกยะท่านที่4คือคุงก้าเกียวเจนหรือ สักกยะบันฑิตและ หลานของท่านที่ชื่อว่าพักปะโลดุปเกียวเจนทั้ง 2ท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงในการ เมืองของทิเบตมาก ทั้ง2ท่านได้รับการเชิญจากโดยข่านชาวมงโกลให้ไปแผ่แพร่พุทธตันตระในประเทศ จีนเป็นที่ เลื่อมใสแก่ข่านมงโกลอย่างมาก กุบไลข่านได้แต่งตั้งให้พักปะโลดุปเกียวเจนให้ปกครองทิเบต และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการที่พระสงฆ์นั้นปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนาจักร

นิกายกาดัมและเกลูปะ
จุดเริ่มของทั้ง 2 นิกายมาจากอติษะและศิษย์ของท่านชื่อดอมทอนปะ อติษะหลักการสอนของอติษะเน้นที่สูตระเป็นสำคัญและเน้นในการปฏิบัติพระธรรม วินัยที่เคร่งครัดก่อน(หลักการส่วนใหญ่จะคล้ายมหายานทั่วไป) แล้วจึงปฏิบัติตันตระได้ ศิษย์ของอติษะได้ก่อตั้งนิกายกาดัมปะขึ้นคำว่ากา ดัมแปลว่าคำสอนของพระพุทธ เจ้า เมื่อเวลาผ่านไปกาดัมปะได้สูญเอกลักษณ์ของตนเองไปบ้างด้วยแรงดึงดูดใจจาก ตันตระ ในศตวรรษที่14โจงคาปาพระภิกษุที่มีชื่อเสียงทรงความรู้ความสามารถในการ จัดการองค์กรได้ ศึกษาคำสอนของอติษะได้ปฏิวัตินิกายกาดัมปะขึ้นมาใหม่ให้คงเอกลักษณ์ เดิมและ ได้เปลี่ยน ชื่อใหม่เป็นนิกายเกลูปะ คำว่าเกลู แปลว่าความดีที่เป็นกุศล คำสอนของเกลูปะ เน้นที่การ ค่อยๆศึกษาจากต่ำขึ้นไปสูงเน้นในวินัยเน้นในด้านตรรกะเกลุปะจะบัญญัติให้ ภิกษุที่พรรษาไม่มากไม่ให้ศึกษาตันตระเอกลักษณ์ของนิกายคือสวมหมวกสีเหลือง หรือนิกายหมวกเหลืองซึ่ง เป็นนิกายในสังกัดของดาไลลามะ
ดูคำอธิบายเพิ่มเติมเรื่องนิกายทั้งสี่ในเพจคำ อธิบายหนังสือทุกย่างก้าวคือการเรียนรู้
มีนิทานพุทธที่เล่ากันทั่วไปในทิเบต เรื่องต้นไม้พิษ ต้นไม้พิษนี้เป็นต้นไม้ที่มีพิษร้ายแรงมากแม้ ใครหลงไป กินผลของมันเข้าจะทุรนทุรายสาหัสสากรรจ์ เนื่องจากทุกคนรู้ถึงพิษของต้นไม้นี้จึง คิดที่จะทำลายต้นไม้นี้เสีย คนกลุ่มหนึ่งก็ให้ความคิดว่าต้องถอนรากถอนโคนไม่ให้เหลือแม้แต่รากฝอยของ ต้นไม้ไว้ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มเสนอว่าเพียงตัดโคนหรือตัดส่วนสำคัญของมัน ต้นไม้ก็จะตายไปในที่สุด และยังมีอีกกลุ่มซึ่งมีภูมิความรู้ทางการแพทย์และเคมีมาบ้างเสนอว่าไม่จำ เป็นต้องไปทำลายต้นไม้ทิ้ง เพียงแต่นำพิษของมันไปปรุงเป็นยาวิเศษเพื่อเพิ่มพลังในการรักษาโรคได้ เป็นเพราะพวกคุณ 2 กลุ่มแรกไม่รู้ในวิธีปรุงยา ถ้าไม่มีพิษนี้ก็ไม่มีวัตถุดิบในการปรุงยา ในขณะที่กลุ่มคนทั้ง3กำลังให้ความเห็นกันอยู่นั้น ก็มีนกยูงตัวหนึ่งเข้ามาและกินผลไม้พิษนั้นเป็นอาหารโดยที่พิษไม่เป็น อันตรายต่อนกยูงแต่ประการใด อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสีสันความสวยสดงดงามของขนหางความแข็งแรงของร่างกายด้วย
จากนิทานต้นไม้พิษนี้พอจะเปรียบเทียบได้กับ การปฏิบัติในพุทธศาสนาที่เน้นวิธีการที่ไม่เหมือนกัน กลุ่มแรกเน้นในเรื่องการขุดรากถอนโคนโดยสิ้นเชิงในกิเลสทั้งปวงเพื่อป้องกัน มิให้มันเกิดขึ้นได้ใหม่ โดยการปฏิบัติศีลสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญาอันเป็นแนวทางของเถรวาท การปฏิบัติตามแนวนี้ต้องบวชเป็นภิกษุจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด การปฏิบัติศีล สมาธิ โดยการทำให้จิตว่าง เข้าไปสู่ปัญญา โดยการใช้สมถะ วิปัสสนา จะทำให้ผู้ปฏิบัติค่อยๆหลุดจากพิษของความโลภ โกรธ หลง
วิธีการที่2เป็นวิถีทางแห่งมหายาน ซึ่งถือว่าการตัดจุดสำคัญของต้นไม้พิษก็จะทำให้ต้นไม้พิษนั้นตายได้จุดสำคัญ สุดยอดก็คือ อาตมันการยึดติดกับอาตมันคือ ตัดตรงจุดนี้ก็ทำให้หลุดพ้น ได้การยึดในความเป็นแก่นสาร หรือความจีรังต่างๆเมื่อถูกตัดด้วยดาบแห่งศูนยตา ฟันแก่นของการยึดติด เข้าสู่ปัญญาแห่งความไม่มีแก่นสารของจักรวาล
กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มของแพทย์ และนักเคมีที่ต้องการแปรเปลี่ยนสภาพ คือวิถีแห่งวัชระยานแทนที่จะทำลายต้นไม้พิษทิ้ง แต่กลับนำพิษจากต้นไม้พิษ ใช้วิธีการพิเศษให้แปรสภาพพิษกลายเป็น ยาวิเศษ ยาวิเศษก็คือ ฌานให้เกิดปัญญาโดยวิธีการสร้างมโนจิตตัวเองให้ดำรงจิตอยู่ใน ฌาน ความรู้ตัวทุกขณะจิตไม่ว่าจะอยู่ในอารมณ์ชนิดใด ปัญญาแห่งการบรรลุก็บังเกิดขึ้น
ตัวนกยูงก็ คือวิถีทางแห่งการหลุดพ้นดั้งเดิม ซึ่งในทิเบตเรียกว่า อทิโยคะ หรือซกเชนหรือในสันสฤต เรียก มหาสันติ ในวิธีนี้คือการเข้าไปสู่การรู้แจ้งโดยการเจาะทะลวงเข้าไปเลย การเข้าสู่การรู้แจ้งโดยไม่ผ่านขั้นตอนต่างๆ เช่น การตัดขาด การขจัด ชำระล้าง หรือการแปรสภาพใดๆ เป็นการเข้าสู่การรู้แจ้งแบบตรงดิ่งเข้าไปเลย ไม่ต้องผ่านพิธีการใดๆซึ่งหนทางนี้ได้รับการ กล่าวขานว่า เป็นวิธีที่สูงที่สุดในวัชระยานในทิเบตได้มี การเก็บรักษาคำสอนต่างๆของพุทธศาสนา ไว้อย่างสมบูรณ์แบบทุกหนทางเพื่อเป็นหนทางแก่พุทธศาสนิกชนทุกแบบทุกประเภท ได้เลือกรูปแบบ และวิธีการที่เหมาะกับตนในการบรรลุสู่ความรู้แจ้งซึ่งบางรูปแบบก็ไม่เป็นที่ ยอมรับของพุทธศาสนิกชนในประเทศอื่น แต่ในประวัติศาสตร์ทางพุทธศาสนาวัชระยานมีพระ อาจารย์ในสายปฏิบัตินี้ มากมายที่บรรลุความรู้แจ้งในบริเวณประเทศแถบหิมาลัยและประเทศในสายปฏิบัติ วัชระยาน
พุทธศาสนาวัชระยานใน ประเทศไทย ตามหลักฐานที่ปรากฏแต่โบราณพุทธศาสนามหายานและวัชระยานได้เข้าสู่สุวรรณภูมิ ก่อนแต่ไม่ ปรากฏว่ามีการปฏิบัติวัชระยานในดินแดนแถบนี้ เป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่าการปฏิบัติวัชระยานในประเทศไทยได้เริ่มขึ้นประมาณ70ปี ที่แล้ว โดยพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร(โพธิ์แจ้ง) มหาอริยะสงฆ์แห่งช่วงกึ่งพุทธกาล ผู้ซึ่งท่านนอร่ารินโปเช่ สังฆราชาแห่งวัดริโวเช่ วัดซึ่งใหญ่ที่สุด มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดแห่งแคว้นคามในทิเบตตะวันออก ได้เคยกล่าวไว้ว่า ท่านเจ้าคุณโพธิ์แจ้งคือ “ตุลกู แห่ง คุรุนาครชุน” ผู้มาเพื่อสถาปนาความมั่นคงแห่งพุทธศาสนามหายานในภูมิภาคนี้ ในช่วงที่ท่านเจ้าคุณได้กลับจากการศึกษาวัชระยานในทิเบตในราวปี พ.ศ.2482ท่านได้รับศิษย์ปฏิบัติวัชระยานไว้หลายท่านท่านเจ้าคุณได้สร้างวัด โพธิ์เย็นขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็น ศูนย์กลางในการปฏิบัติวัชระยาน ในปีฉลองกึ่งพุทธกาลท่านได้สร้างองค์คุรุปัทมะสมภพขึ้น2องค์ประดิษฐาน ณ องค์พระปฐมเจดีย์จังหวัดนครปฐมหนึ่งองค์ และประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์เย็นหนึ่งองค์ ดังนั้นจึงอาจนับได้ว่า พุทธศาสนาวัชระยานได้เริ่มเข้ามาในประเทศไทยโดยการนำของท่านเจ้าคุณอาจารย์ โพธิ์แจ้ง