นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

บทความธรรมะ

Sunday, October 3, 2010

มหายาน

มหายาน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อาจริยวาท หรือ มหายาน เป็นนิกายหนึ่งในพุทธศาสนาที่นับถือกันอยู่ประเทศแถบตอนเหนือของอินเดีย เนปาล จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม มองโกเลีย ไปจนถึงบางส่วนของรัสเซีย จุดเด่นของนิกายนี้อยู่ที่แนวคิดเรื่องการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมีเพื่อช่วยเหลือสรรพชีวิตในโลกไปสู่พระนิพพาน ด้วยเหตุที่มีผู้นับถืออยู่มากในประเทศแถบเหนือจึงเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า อุตตรนิกาย ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ของโลกเป็นผู้นับถือนิกายมหายาน

ความหมายของมหายาน
มหายาน (สันสกฤต : महायान, จีน: 大乘; ญี่ปุ่น: 大乗; เวียดนาม: Đại Thừa; เกาหลี :대승) มาจากธาตุศัพท์ภาษาบาลี-สันสกฤต มหา + ยาน แปลว่า พาหนะที่ใหญ่ เป็นคำเรียกที่อาศัยการเปรียบเทียบ จากคำว่า หีนยาน ซึ่งแปลว่า พาหนะที่เล็ก ๆ มหายานยังมีความหมายว่า “ยานที่สูงสุด” ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายาน คำว่ามหายาน ไม่เพียงแต่เป็นยานใหญ่และสูงสุดเท่านั้น หากเป็นยานที่รื้อขนสรรพสัตว์ได้ทุกประเภททุกวัย รวมทั้งสัตว์โลกทุกรูปนาม เพื่อไปสู่พระนิพพาน และยานนี้ยังหมายถึงยานที่จะไปถึงพุทธภูมิ แล้วสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คำว่า มหายาน จึงเป็นการเปรียบเทียบหมายถึงการขนสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฏสงสารได้มากกว่าสาวกยาน ในคัมภีร์มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ คุรุนาคารชุน ปราชญ์ฝ่ายมหายาน ได้อธิบายความหมายของมหายานไว้ว่า “พระ พุทธธรรมมีเอกรสเดียว คือ รสแห่งวิมุตติ ความรอดพ้นจากปวงทุกข์ แต่ชนิดของรสมี 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเพื่อตัวเอง ชนิดที่สองเพื่อตัวเองและสรรพสัตว์ด้วย” อันหมายความว่า ฝ่ายสาวกยานมุ่งเพียงความหลุดพ้นเป็นอรหันต์สิ้นกิเลสเฉพาะตน ไม่มีปณิธานในการโปรดสรรพสัตว์ให้ถึงความหลุดพ้นด้วย แต่ฝ่ายมหายานย่อมมีอุคมคติตรงกันข้าม กล่าวคือ ย่อมมุ่งพุทธภูมิมีปณิธานจะตรัสรู้เป็นพระพุทธะเพื่อขนสัตว์ให้พ้นทุกข์จน หมดสิ้น อธิบายว่า พุทธศาสนิกชนฝ่ายสาวกยานโดยทั่วไปมุ่งแต่อรหัตภูมิเป็นสำคัญ ฉะนั้น จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สาวกยาน ส่วนพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานย่อมมุ่งพุทธภูมิทั้งนั้น จึงมีอีกชื่อว่า โพธิสัตวยาน หรือ พุทธยาน

ในสัทธรรมปุณฑรีกสูตร ได้อธิบายความหมายของมหายานว่า “ถ้าสรรพสัตว์ได้สดับธรรมจาก พระผู้มีพระภาค แล้วบังเกิดศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส ได้วิริยะบำเพ็ญบารมีเพื่อสัพพัญญุตญาณอันเป็นธรรมชาติ ญาณอันปราศจากครูอาจารย์ ญาณแห่งพระตถาคต กำลังความกล้าหาญ มีความกรุณาปรารถนาต่อความสุขของสรรพสัตว์ บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์ต่อทวยเทพและมนุษย์ โปรดสรรพนิกรให้พ้นทุกข์ นั่นชื่อว่า มหายาน”

นอกจากนี้ พระนาคารชุนได้กล่าวไว้ในทวาทศนิกายศาสตร์อีกว่า “มหายานคือยานอันประเสริฐกว่ายานทั้ง 2 เหตุนั้น จึงชื่อว่า 'มหายาน' พระพุทธเจ้าทั้งหลายอันใหญ่ยิ่ง ทรงอาศัยซึ่งยานนี้ และยานนี้จะสามารถนำเราเข้าถึงพระองค์ได้ เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา' อนึ่ง ปวงพระพุทธเจ้าผู้มหาบุรุษได้อาศัยยานนี้ เหตุนั้น จึงชื่อว่า 'มหา' และอีกทั้งสามารถดับทุกข์อันไพศาลของสรรพสัตว์และประกอบประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ให้ถึงพร้อม เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา' อนึ่ง พระโพธิสัตว์ทั้งปวง มีพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ พระเมตไตรยโพธิสัตว์ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ และพระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์ เป็นต้น ปวงมหาบุรุษได้ทรงอาศัย เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา' อนึ่ง เมื่ออาศัยยานนี้แล้ว ก็ย่อมเข้าถึงที่สุดแห่งธรรมทั้งปวง เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา'”

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีข้อความที่ยกย่องมหายานอีกเป็นจำนวนมากในคัมภีร์ของมหายาน เช่นเรียกว่า อนุตรยาน (ยานอันสูงสุด) , โพธิสัตวยาน (ยานของพระโพธิสัตว์) , พุทธยาน (ยานของพระพุทธเจ้า) , เอกยาน (ยานอันเอก) เป็นต้น เพราะฉะนั้นคำว่า ยาน ในพระพุทธศาสนาจึงเป็นดั่งคำเปรียบเปรยของมรรควิถีอันจะนำไปสู่ความหลุดพ้นในรูปแบบที่แตกต่างกันนั่นเอง

กล่าวโดยสรุป ยานในพระพุทธศาสนาได้แบ่งออกเป็น 3 (ตามมติฝ่ายมหายาน) คือ

1. สาวกยาน คือยานของพระสาวก ที่มุ่งเพียงอรหัตภูมิ รู้แจ้งในอริยสัจ 4 ด้วยการสดับจากพระพุทธเจ้า
2. ปัจเจกยาน คือยานของพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้แก่ผู้รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาทด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์ให้บรรลุมรรคผลได้
3. โพธิสัตวยาน คือยานของพระโพธิสัตว์ ซึ่งได้แก่ผู้มีน้ำใจกว้างขวาง ประกอบด้วยมหากรุณาในสรรพสัตว์ ไม่ต้องการอรหัตภูมิ ปัจเจกภูมิ แต่ปรารถนาพุทธภูมิ เพื่อโปรดสัตว์ได้กว้างขวางกว่า 2 ยานแรก และเป็นผู้รู้แจ้งในศูนยตาธรรม

พัฒนาการของพุทธศาสนามหายาน
หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 3 เดือน พระสาวกผู้ได้เคยสดับสั่งสอนของพระองค์จำนวน 500 รูป ก็ประชุมทำสังคายนาครั้งแรก ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา ใกล้เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ใช้เวลาสอบทานอยู่ 7 เดือน จึงประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าได้สำเร็จเป็นครั้งแรก นับเป็นบ่อเกิดของคัมภีร์พระไตรปิฎก คำสอนที่ลงมติกันไว้ในครั้งปฐมสังคายนาและได้นับถือกันสืบมา เรียกว่า เถรวาท แปลว่า คำสอนที่วางไว้เป็นหลักการโดยพระเถระ คำว่า เถระ ในที่นี้ หมายถึงพระเถระผู้ประชุมทำสังคายนาครั้งแรก และพระพุทธศาสนาซึ่งถือตามหลักที่ได้สังคายนาครั้งแรกดังกล่าว เรียกว่า นิกายเถรวาท อันหมายถึง คณะสงฆ์กลุ่มที่ยึดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งถ้อยคำ และเนื้อความที่ท่านสังคายนาไว้โดยเคร่งครัด ตลอดจนรักษาแม้แต่ตัวภาษาดั้งเดิมคือภาษาบาลี

ในกาลต่อมาต่อมาเมื่อมีปัญหาขัดแย้ง พระเถระผู้ใหญ่ก็ประชุมขจัดข้อขัดแย้งกัน เกิดการสังคายนาต่อมาอีกหลายครั้ง จนได้พระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทดังที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ ซึ่งถือกันทั่วไปว่าเป็นคำสอนโดยตรงของพระพุทธเจ้าที่นับว่าใกล้เคียงที่สุด อย่างไรก็ตาม การสังคายนาแต่ละครั้งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางความคิดในหมู่สงฆ์ จนก่อให้เกิดการแยกฝ่ายที่มีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันในส่วนหลักธรรมและข้อวัตรปฏิบัติ

กล่าวกันว่า มูลเหตุของการแยกนิกายในพุทธศาสนามาจากในคราวใกล้เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า “ดูกรอานนท์ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ถ้าสงฆ์ต้องการก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ได้” (มหาปรินิพพานสูตร 10/141) พุทธดำรัสดังกล่าวไม่ชัดเจนเพียงพอ ทำให้เกิดมีปัญหาในการตีความว่า สิกขาบทไหนเรียกว่าเล็กน้อย เป็นเหตุให้พระภิกษุบางรูปไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับสังคายนามาตั้งแต่ครั้งแรก และเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับการสังคายนาครั้งหลัง ๆ อีกหลายครั้ง เป็นเหตุให้มีกลุ่มที่แยกตัวทำสังคายนาต่างหาก เป็นการแตกแยกทางลัทธิและนิกาย แต่ก็มิได้ถือว่าเป็นการแบ่งแยกศาสนาแต่ประการใด

หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ 100 ปี อันเป็นช่วงเวลาที่มีการสังคายนาครั้งที่ 2 ได้มีคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งเรียกว่า มหาสังฆิกะ ซึ่งมีจำนวนมาก ได้แยกตนออกไปต่างหากจากกลุ่มเถรวาทเดิม การแยกตัวของมหาสังฆิกะนี้มีมูลเหตุจากความเห็นที่แตกต่างเรื่องหลักปฏิบัติ ของภิกษุ หลังจากนั้นมหาสังฆิกะได้แยกกลุ่มนิกายย่อยออกไปอีก 18 นิกาย เนื่องจากมีทัศนะ อุดมคติ การตีความหลักธรรม และวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกัน หลังจากนั้นภิกษุบางรูปในนิกายทั้ง 18 นี้ ได้แยกตนออกมาตั้งคณะใหม่โดยถือปรัชญาและหลักจริยวัตรของตน กระทั่งในราวพุทธศตวรรษที่ 5 จึงได้เกิดกลุ่มคณะสงฆ์และคฤหัสถ์ที่เรียกตนเองว่า "มหายาน" ขึ้น แม้จะมีที่มาไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานได้ว่าพัฒนาจากนิกายมหาสังฆิกะ ผสมผสานกับปรัชญาของนิกายพุทธศาสนาอื่นทั้ง 18 นิกาย รวมทั้งนิกายเถรวาทด้วย ก่อกำเนิดเป็นลัทธิมหายาน

แม้ไม่อาจกำหนดให้แน่ชัดลงไปได้ว่า พระพุทธศาสนานิกายมหายานเริ่มถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ที่แน่ชัดคือ พระเจ้ากนิษกะมหาราช กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์กุษาณะ (ศตวรรษที่ 1 แห่งคริสต์ศักราช) ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกพระองค์แรกของนิกายมหายาน ได้ทรงปลูกฝังพระพุทธศาสนามหายานอย่างมั่นคงในราชอาณาจักรของพระองค์ และทรงส่งธรรมทูตออกเผยแพร่ยังนานาประเทศ เปรียบได้กับพระเจ้าอโศกมหาราชของฝ่ายเถรวาท

แนวคิดเรื่องตรีกาย
หลักการสำคัญประการหนึ่งของมหายานอยู่ที่หลักเรื่อง ตรีกาย อันหมายถึงพระกายทั้ง 3 ของพระพุทธเจ้า ในกายตรัยสูตรของมหายาน พระอานนท์ทูลถามถึงเรื่องพระกายของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ตถาคตมีกายเป็น 3 สภาวะคือตรีกาย อันได้แก่

* นิรมาณกาย หมายถึง กายที่เปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพของสังขารในฐานะที่เป็นมนุษย์ พระศากยมุนีผู้ท่องเที่ยวอยู่บนโลก สั่งสอนธรรมแก่สาวกของพระองค์ และดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา
* สัมโภคกาย หมายถึง กายแห่งความบันเทิง มีลักษณะเป็นทิพยภาวะรุ่งเรืองแผ่ซ่านปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย
* ธรรมกาย หมายถึง กายแท้จริงอันเป็นสภาวธรรม ในฐานะเป็นสภาพสูงสุด หลักแห่งความรู้ ความกรุณา และความสมบูรณ์

มหายานชั้นแรกดูเหมือนจะมีทัศนะตรงกับเถรวาทที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระกายเพียง 2 เท่านั้นคือ ธรรมกาย และ นิรมานกาย ธรรมกายนั้นมีพระพุทธวจนะที่ตรัสโดยตรงในบาลีอัคคัญญสูตรแห่งทีฆนิกาย ส่วนนิรมาณกายนั้นได้แก่พระกายของพระศาสดาที่ประกอบด้วยขันธ์ 5 ในคัมภีร์ฝ่ายมาธยมิกชั้นแรก ก็ยังไม่พบกายที่ 3 ธรรมกาย ตามนัยแห่งเถรวาทหมายถึงพระคุณทั้ง 3 ของพระพุทธเจ้า อันได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ มหายานได้สร้างแนวความคิดตรีกายขึ้นด้วยวิธีเพิ่มกายอีกกายหนึ่งเข้าไป คือ สัมโภคกาย ซึ่งเป็นกายของพระพุทธองค์อันสำแดงปรากฏให้เห็นเฉพาะหมู่ พระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ เป็นทิพยภาวะมีรัศมีรุ่งเรืองแผ่ซ่านทั่วไป เพราะฉะนั้น แม้จนกระทั่งบัดนี้ พระโพธิสัตว์ก็ยังอาจจะเห็นพระศากยมุนีพุทธเจ้าได้ในรูปสัมโภคกาย พระพุทธองค์ยังทรงอาจสดับคำสวดมนต์ต์ของเรา แม้พระองค์จะดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ดี ทั้งนี้ก็ด้วยการดับขันธปรินิพพานนั้นเป็นเพียงการสำแดงให้เห็นปรากฏในรูป นิรมานกายเท่านั้น ส่วน ธรรมกาย นั้น ก็เป็นสภาวะอมตะ ไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด แผ่คลุมอยู่ทั่วไป ความคิดเรื่องสัมโภคกายนี้ มหายานได้รับจากนิกายมหาสังฆิกะ และในหมู่คณาจารย์ของมหายานก็ไม่มีความเห็นพ้องกันในเรื่องนี้

อันที่จริง พระพุทธองค์มิใช่มีถึง 3 กาย คงมีแต่เพียงกายเดียว ตรีกายนั้นเป็นเพียงลักษณะของพระพุทธเท่านั้น ถ้ากล่าวตามทัศนะในแง่ความสมบูรณ์ ความเป็นสากล พระองค์ก็คือธรรมกายอันสูงล้ำ หรือถ้ามองจากทัศนะความเป็นอุดมคติ พระองค์ก็คือสัมโภคกายผู้สั่งสอนพระโพธิสัตว์ และช่วยเหลือพระโพธิสัตว์ในการทำงานปลดเปลื้องสรรพสัตว์จากกองทุกข์ อนึ่ง เมื่อพิจารณาตามทัศนะนิรมานกายพระองค์คือพระศากยมุนีผู้ประสูติ ณ สวนลุมพินี ได้ตรัสรู้สัจธรรม ภายใต้ต้นโพธิ์ และดับขันธปรินิพพาน เมื่อได้เผยแผ่พระพุทธธรรมตามพระปณิธานที่ได้ตั้งไว้ พระศากยมุนีนั้น มิใช่เป็นการสำแดงรูปของธรรมกายในรูปนิรมาณกายพุทธ เพราะการสำแดงรูปนิรมานกายนั้นมีมากหลาย ดุจมีบุคคลอุดมคติมากหลายของสัมโภคกาย แต่ธรรมกายพุทธที่สมบูรณ์นั้นมีอยู่เพียงหนึ่งเดียว

มหาปณิธาน 4
นอกจากดังที่กล่าวมาแล้ว พระโพธิสัตว์ยังต้องมีมหาปณิธานอีก 4 ซึ่งถือเป็นหลักการของผู้ดำเนินตามวิถีมหายาน ดังนี้

1. เราจะละกิเลสทั้งปวงให้สิ้น
2. เราจะศึกษาพระธรรมให้เจนจบ
3. เราจะโปรดสรรพสัตว์ให้ถึงความตรัสรู้
4. เราจะต้องบรรลุพุทธภูมิอันประเสริฐ

จุดมุ่งหมายของมหายาน
หลักสำคัญของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน คือหลักแห่งพระโพธิสัตวภูมิซึ่งเป็นหลักที่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแต่ละ นิกายยอมรับนับถือ มหายานทุกนิกายย่อมมุ่งหมายโพธิสัตวภูมิ ซึ่งเป็นเหตุที่ให้บรรลุพุทธภูมิ บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะบรรลุถึงพุทธภูมิได้ ต้องผ่านการบำเพ็ญจริยธรรมแห่งพระโพธิสัตว์มาก่อน เพราะฉะนั้น จึงถือว่าโพธิสัตวภูมิเป็นเหตุ พุทธภูมิเป็นผล เมื่อบรรลุพุทธภูมิเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมโปรดสัตว์ให้ถึงความหลุดพ้น ได้กว้างขวาง และขณะบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ยังสามารถช่วยเหลือสรรพสัตว์ที่ตกทุกข์ในสังสารวัฏได้มากมาย อุดมคติอันเป็นจุดหมายสูงสุดของมหายานจึงอยู่ที่การบำเพ็ญบารมีตามแนวทางพระ โพธิสัตว์ เพื่อนำพาสรรพสัตว์สู่ความหลุดพ้นจากวัฏสงสารให้หมดสิ้น

No comments:

Post a Comment