นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

บทความธรรมะ

Wednesday, October 27, 2010

ดอกบัวสามเหล่ากับบุคคลสี่จำพวก



ดอกบัวสามเหล่ากับบุคคลสี่จำพวก


มีคนมาถามว่าการที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบบุคคลกับดอกบัวสี่เหล่านั้น มาจากพระไตรปิฎกเล่มไหน คำถามนี้ดูเหมือนกับว่าผู้ถามจะเชื่ออย่างสนิทใจว่าพระพุทธเจ้าทรงเปรียบ เทียบบุคคลกับดอกบัวสี่เหล่าจริง ความเชื่อนี้ส่วนหนึ่งคงได้มาจากหลักสูตรนักธรรมชั้นโทเป็นแน่ เมื่อตอบไปว่าดอกบัวมีเพียงสามเหล่า คนถามแสดงอาการว่าเริ่มจะไม่เห็นด้วยกับคำตอบที่ได้รับ  

เมื่อเห็นอาการจึงได้เปิดพระไตรปิฎกมาอ้างว่าที่มาของดอกบัวสามเหล่านั้นมาจากพระ วินัยไตรปิฎก มหาวรรค(4/9/11)ความว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆนั้น ทรงเกิดปริวิตกว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นมีความลึกซึ้งยากที่คนจะเข้าใจ จนกระทั่งท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมยังมีอยู่  

ในตอนนั้นพระพุทธเจ้าได้ ทรงพิจารณาสัตวโลกเปรียบด้วยดอกบัว ความว่า พระผู้มีพระภาค ทรงทราบคำทูลอาราธนาของพรหม และทรงอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์ จึงทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ เมื่อตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีคือกิเลส ในจักษุน้อยก็มี ที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุมากก็มี ที่มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี ที่มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่มีอาการดีก็มี ที่มีอาการทรามก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ยากก็มี ที่มีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยอยู่ก็มี  มีอุปมาเหมือนดอกอุบลในกออุบล ดอกปทุมในกอปทุม หรือดอกบุณฑริกในกอบุณฑริก ที่เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ งอกงามแล้วในน้ำ บางเหล่ายังจมในน้ำ อันน้ำเลี้ยงไว้ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่พ้นน้ำ อันน้ำไม่ติดแล้วจึงได้รับอาราธนาสหัมบดีพรหมเพื่อที่จะแสดงธรรมแก่สรรพ สัตว์  

ข้อความที่ปรากฎในพระวินัยตอนนี้ทรงเปรียบบุคคลด้วยดอกบัวสามเหล่าคือบางเหล่า จมน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่พ้นน้ำ แต่คนส่วนมากมักจะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าทรงเปรียบ เทียบบุคคลเหมือนกับดอกบัวสี่เหล่า เพราะในหลักสูตรนักธรรมชั้นโทได้แสดงว่าบุคคลสี่ประเภทไว้ซึ่งเป็นข้อความ ที่มาจากอังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต (2/133/183) ความว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลสี่จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลกคือ(1) อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมแต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง (2) วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น (3) เนยยะ ผู้พอแนะนำได้ (4) ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง  ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลสี่จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก” 

ในอุคฆฏิตัญญุสูตร  อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต (21/133/350) ก็ได้แสดงว่าด้วยบุคคลสี่จำพวกความว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลสี่จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลกคืออุคฆปฏิตัญญู บุคคล วิปจิตัญญูบุคคล เนยยบุคคล ปทปรมบุคคล"  

ต้องแยกประเด็นกันระหว่างดอกบัวกับบุคคล เนื้อหาในพระไตรปิฎกไม่ได้เปรียบเทียบกันแต่อย่างใด แยกกันแสดงคนละครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกัน ส่วนการเปรียบเทียบกันนั้นมีปรากฎในอรรถกถาหลายครั้ง หลายหน ดังที่แสดงในอรรถกถาพระ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 1 หน้าที่ 148 ได้เปรียบเทียบบุคคลสี่จำพวกกับดอกบัวสี่เหล่าความว่าบุคคลสี่จำพวกคืออุคฆฏิตัญญู  วิปจิตัญญู  เนยยะ   ปทปรมะ ก็เปรียบเหมือนดอกบัวสี่เหล่านั้นแล  ในบุคคลสี่จำพวกนั้น  (1) อุคฆฏิตัญญู  ได้แก่บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลาที่ท่านยกขึ้นแสดง   (2) วิปจิตัญญู ได้แก่บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกความแห่งคำย่อโดยพิสดาร  (3) เนยยะ ได้แก่บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมโดยลำดับด้วยความพากเพียรท่องจำ ด้วยการไต่ถาม ด้วยทำไว้ในใจโดยแยบคาย  ด้วยคบหาสมาคมกับกัลยาณมิตร   (4) ปทปรมะ ได้แก่บุคคลที่ไม่ตรัสรู้ธรรมได้ในชาตินั้นแม้เรียนมาก ทรงไว้มาก สอนเขามาก

 อรรถกถาได้อธิบายต่อไปว่า ในบทนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุเช่นกับ ดอกบัว ได้ทรงเห็นแล้วว่าบุคคลจำพวกอุคฆฏิตัญญู ดุจดอกบัวจะบานในวันนี้  บุคคลจำพวกวิปจิตัญญู ดุจดอกบัวจักบานในวันพรุ่งนี้  บุคคลจำพวกเนยยะดุจดอกบัวจักบานในวันที่สาม และบุคคลจำพวกปทปรมะดุจดอกบัวอันเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า

พระ ผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงตรวจดูได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงอย่างนี้ว่าสัตว์มี กิเลสเพียงดังธุลีในจักษุน้อย มีประมาณเท่านี้  สัตว์มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุมากมีประมาณเท่านี้ แม้ในสัตว์เหล่านั้นจำพวกที่เป็น อุคฆฏิตัญญู มีประมาณเท่านี้ ในสัตว์สี่จำพวกนั้น การแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่บุคคลสามจำพวกใน อัตภาพนี้แล พวกปทปรมะจะมีวาสนาเพื่อประโยชน์ในอนาคต" 

อีกแห่งหนึ่งมีคำอธิบายใน อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 2 หน้าที่ 452  ความว่า ในดอกอุบลเหล่านี้ เหล่าใดขึ้นพ้นน้ำรออยู่เหล่านั้น  คอยรับสัมผัสแสงอาทิตย์จะบานในวันนี้ เหล่าใดตั้งอยู่เสมอน้ำ เหล่านั้นก็จะ บานในวันพรุ่งนี้ เหล่าใดจมเหล่านั้นก็จักเป็นภักษาของปลาและเต่าอย่าง เดียว ดอกบัวเหล่านั้นท่านแสดงไว้ยังไม่ขึ้นสู่บาลีก็พึงแสดง    เหมือนอย่างว่า   ดอกไม้สี่อย่างเหล่านั้นฉันใด บุคคลสี่จำพวกคืออุคฆฏิตัญญู วิปัจจิตัญญู  เนยยะ  ปทปรมะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในบุคคล ๔ เหล่านั้น บุคคลใดตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลายกหัวข้อธรรม  บุคคลนี้ท่านเรียกว่า  อุคฆฏิตัญญู  บุคคลใดตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกอรรถแห่งภาษิตสังเขปได้โดยพิสดาร บุคคลนี้ท่านเรียกว่า  วิปัจจิตัญญู  บุคคลใดใส่ใจโดยแยบคายทั้งโดยอุเทศทั้งโดยปริปุจฉา ซ่องเสพคบหาเข้าใกล้กัลยาณมิตรจึงตรัสรู้ธรรมบุคคลนี้ท่านเรียกว่า เนยยะ บุคคลใด  ฟังมากก็ดี  กล่าวมากก็ดี ทรงจำมากก็ดี  สอนมากก็ดี  ก็ยังไม่ตรัสรู้ธรรมในชาตินั้น บุคคลนี้ท่านเรียกว่า  ปทปรมะ

บรรดาบุคคลเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุ   ซึ่งเป็นเสมือนดอกบัวเป็นต้น   ก็ได้ทรงเห็นว่าอุคฆฏิตัญญู เปรียบเหมือนดอกไม้บานในวันนี้  วิปัจจิตัญญู เปรียบดอกไม้บานในวันพรุ่งนี้ เนยยะเปรียบเหมือนดอกไม้บานในวันที่สาม ปทปร มะ เปรียบเหมือนดอกไม้ที่เป็นภักษาของปลาและเต่า  ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงเห็น ก็ทรงเห็นโดยอาการทุกอย่างอย่างนี้ว่า สัตว์มีประมาณเท่านี้ มีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุน้อย เหล่านี้มีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุมาก บรรดาสัตว์เหล่านั้น พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมให้สำเร็จประโยชน์ในอัตภาพนี้เท่า นั้นแก่บุคคลสามประเภท ในจำนวนบุคคลเหล่านั้นปทปมะ มีวาสนาเพื่อประโยชน์ในอนาคตกาล

ในอรรถกถาพระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย เอกนิบาตเล่ม 1 ภาค 1 หน้าที่ 373   พระโสณโกฬวิสเถระกระทำความเพียรอย่างหนักแต่ก็ยังไม่บรรลุธรรมะจึงได้คิดว่า เราไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคล หรือไม่ใช่วิปจิตัญญูบุคคล ไม่ไช่ไนยบุคคล  เราพึงเป็นปทปรมบุคคลแน่แท้  เราจะประโยชน์อะไรด้วยบรรพชา เราจะสึกออกไปบริโภคโภคะและกระทำบุญ    ในที่สุดพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสบอกกัมมัฏฐานแก่พระเถระเพื่อให้ประกอบความ เพียรเพลา ๆ ลงบ้าง  ฝ่ายพระโสณเถระได้พระโอวาทในที่ต่อพระพักตร์ของพระทศพล ไม่นานนักก็ตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล  ต่อมาภายหลังพระศาสดาทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ ปรารภความเพียร

ในพระไตรปิฎกกับอรรถกถาเนื้อหามิได้แตกต่างกัน แม้ในครั้งแรกพระพุทธเจ้าจะทรงแสดงดอกบัวไว้สามเหล่า แต่ได้แสดงบุคคลไว้สี่จำพวก เมื่อนำมาอธิบายเปรียบเทียบกับดอกบัว พระอรรถกถาจารย์ก็อาจจะเล็งเห็นว่าดอกบัวประเภทสุดท้ายคือประเเภทที่สี่ ยังไม่ได้ผุดขึ้นมาจากดิน พระพุทธเจ้าจึงมิได้ยกขึ้นมาแสดงไว้ พระอรรถกถาจารย์ท่านก็บอกไว้เหมือนกันจากหลักฐานมาจากคำว่า "ดอกบัวเหล่าใดจมก็จักเป็นภักษาของปลาและเต่าอย่างเดียว ดอกบัวเหล่านั้น ท่านแสดงไว้ยังไม่ขึ้นสู่บาลี" คำว่า "ไม่ยกขึ้นสู่บาลี"หมายถึงไม่ได้แสดงในพระไตรปิฎก ดังนั้นคนประเภทสุดท้ายคือผู้ที่สอนไม่ได้ก็เหมือนกับดอกบัวที่ยังไม่ได้เกิดนั่นแล ใครที่มีหลักฐานอื่นนอกไปจากนี้ขอเชิญวิพากย์วิจารณ์ได้ ยังมิได้สรุปความคิดและมิได้สงวนความเห็นแต่ประการใด 

          ตั้งใจว่าจะเขียนสั้นๆ แต่พอเขียนแล้วยาวขึ้นทุกที น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มเนยยะคือพอจะแนะนำได้ จึงได้รู้จักกับพระพุทธศาสนา แต่บุคคลประเภทปทปรมะนั้นสอนไม่ได้แนะนำไม่ได้ เกิดมาเป็นมนุษย์เสียเวลาไป โดยไร้ประโยชน์ 



พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
เรียบเรียง
02/03/53






No comments:

Post a Comment