นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

บทความธรรมะ

Tuesday, July 16, 2013

สลากภัต


สลากภัต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี



สลากภัต (บาลีสลากภตฺต) เป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎก เป็นชื่อเรียกวิธีถวายทานแก่พระสงฆ์วิธีหนึ่ง โดยการจับสลากเพื่อแจกภัตตาหารหรือปัจจัยวัตถุที่ได้รับจากผู้ศรัทธาถวาย เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธาที่มีปัจจัยวัตถุจำกัดและไม่สามารถถวายแก่พระสงฆ์ทั้งหมดได้[1]
โดยสลากภัตนับเนื่องในสังฆทานที่มีอานิสงส์มาก เพราะถือว่าแม้จะตั้งสลากถวายกับพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่จับสลากได้ ย่อมเท่ากับถวายกับพระสงฆ์ทั้งหมด เพราะสลากที่จับนั้นพระสงฆ์ทุกรูปในอารามนั้นมีสิทธิ์ได้ นอกจากนั้นสลากภัตยังเป็นหลักการในพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้เพื่อสร้างจิตสำนึกความเท่าเทียมกันและสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกันแก่คณะสงฆ์[2]
ในประเทศไทย มีประเพณีสลากภัต ภาคเหนือเรียกว่า ประเพณีทานก๋วยสลาก ตามวัดต่าง ๆ โดยจัดในช่วงเดือน 6 จนถึงเดือน 8 ซึ่งเป็นช่วงผลไม้อุดมสมบูรณ์[3] โดยมีการรวมตัวของคณะศรัทธาทั้งหมู่บ้านนำผลไม้และสำรับคาวหวานไปตั้งเป็นสลากถวายพระภิกษุที่นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ เป็นประเพณีใหญ่สำหรับหมู่บ้านและวัดนั้น ๆ โดยในแต่ละภูมิภาคมีรายละเอียดการจัดประเพณีแตกต่างกันไป

การถวายสลากภัตต์
สลากภัตต์ คือภัตตาหารที่ทายกทายิกาถวายตามสลาก นับเข้าในสังฆทาน พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุญาตไว้ในอนุศาสน์แผนกนิสสัยสี่ ว่าเป็นอดิเรกลาภส่วนหนึ่ง เมื่อครั้งพุทธกาล ถวายกันโดยไม่นิยมกาล สุดแต่ศรัทธาเมื่อใดก็ถวายเมื่อนั้น ในประเทศไทยปัจจุบันนิยมทำกันในเดือนที่มีผลไม้ต่าง ๆ บริบูรณ์มาก จัดถวายภัตตาหารพร้อมด้วยผลไม้นั้น ๆ ด้วยสลาก เช่นจัดถวายหน้ามะม่วงก็เรียกว่า สลากภัตต์มะม่วง ระยะถวายสลากภัตต์ ส่วนมากอยู่ระหว่างเดือนหกถึงเดือนเจ็ด ก่อนเข้าพรรษา สงเคราะห์เข้าในการถวายผลอันเป็นเลิศที่เกิดแต่พืชในสวนในไร่ของตน ซึ่งนิยมกันมาแต่ครั้งโบราณ แต่สลากภัตต์ส่วนมากเป็นสังฆทานหมู่ ซึ่งทายกทายิการ่วมกันทั้งหมู่บ้านถวาย จึงเป็นทานสามัคคีของชาวบ้าน

วิธีทำสลากภัตต์ ที่ทำกันเป็นประเพณีโดยมาก มีหัวหน้าทายกทายิกาป่าวร้องกัน แล้วกำหนดวันเวลาสถานที่ตามแต่สะดวก ส่วนมากจะถวายตามวัดในหมู่บ้านนั้น ๆ หรือตามศาลาโรงธรรมในละแวกบ้านนั้น เมื่อถึงวันกำหนด ผู้รับสลากภัตต์ก็จัดภัตตาหารกับไทยธรรม ซึ่งมักประกอบด้วยผลไม้ในฤดูนั้น ๆ นำไปยังสถานที่กำหนด บางรายทำอย่างครึกครื้นแห่แหนกันไป ครั้นประชุมพร้อมกันในสถานที่กำหนดแล้ว หัวหน้าทายกทายิกา ก็ให้ผู้รับสลากภัตต์ทุกคนจับฉลาก เมื่อจับได้ชื่อรูปใดก็ถวายรูปนั้น บางทีเขียนเป็นตัวเลข ให้เท่ากับจำนวนสงฆ์ที่จะรับ แล้วทำเป็นธงให้ทายกทายิกาจับ จับได้แล้วก็เสียบไว้ที่ทานวัตถุของตน แล้วทำเป็นธงให้ทายกทายิกาจับ จับได้แล้วก็เสียบไว้ที่ทานวัตถุของตน แล้วทำสลากอีกส่วนหนึ่งลงเลขจำนวนตรงกันกับที่ให้ทายกทายิกาจับไปแล้วม้วนเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ภิกษุสามเณรจับ ถ้ารูปใดจับได้ตรงกับเลขของใคร ก็ให้ผู้นั้นถวายแก่รูปนั้นโดยนำไปตั้งไว้ตรงหน้าผู้รับ

เมื่อเสร็จพิธีจับสลากของทายกทายิกาแล้ว จึงกล่าวถวายสลากภัตต์พร้อมกัน เมื่อจบคำถวายเป็นภาษาบาลีแล้วควรว่าคำแปลด้วย
คำถวายสลากภัตต์
เอตานิ มยํ ภนฺเต , สลากภตฺตานิ , สปริวารานิ , อสุกฏฺฐาเน , ฐปิตานิ , ภิกขุสงฺฆสฺส , โอโณชยาม , สาธุโน ภนฺเต , ภิกขุสงฺโฆ
เอตานิ , สลากภตฺตานิ , สปริวารานิ ปฏิคคณฺหาตุ , อมฺหากํ ฑีฆรตฺตํ , หิตาย , สุขาย.

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ภัตตาหารกับบริวารทั้งหลาย ซึ่งตั้งไว้ ณ ที่โน้นที่นั้น ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ซึ่งภัตตาหารกับทั้งบริวารเหล่านนั้น ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
ในขณะกล่าวคำถวาย ภิกษุสามเณรทั้งหมดพึงประนมมือ พอกล่าวคำถวายจบรับสาธุพร้อมกัน ถ้ากำหนดให้ฉันในที่ถวาย ก็ให้เจ้าของสลากประเคนภัตตาหาร ภิกษุสามเณรฉันเสร็จแล้วจึงประเคนไทยธรรม แล้วพระสงฆ์อนุโมทนา วิเสสอนุโมทนาใช้บทมงคลจักรวาลน้อย เช่นกัน
ระหว่างพระสงฆ์อนุโมทนา ทายกทายิกาทุกคน พึงกรวดน้ำตอนพระว่า ยถา... กรวดน้ำเสร็จแล้วประนมมือรับพรต่อไปจนจบ
การถวายสลากภัตต์ มักนิยมถวายเวลาภัตตาหารเช้าก็มี ภัตตาหารเพลก็มี บางแห่งพระฉันท์แล้วมีเทศน์อนุโมทนาอีก หนึ่งกัณฑ์ จบแล้วจึงกรวดน้ำ รับพร เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาแล้วเป็นอันเสร็จพิธี

No comments:

Post a Comment