นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

บทความธรรมะ

Tuesday, August 10, 2010

พระสูตรสำคัญของมหายาน

พระสูตรสำคัญของมหายาน

พระสูตรสำคัญของมหายานซึ่งมีมูลฐานมาจากพระพุทธวัจนะของพระ พุทธเจ้า นิกายทั้งสามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างบนได้นำมาดีความแยกย่อยให้ชัดเจนมากขึ้น และเป็นที่มาแห่งพระพุทธศาสนามหายานนิกายต่างๆในประเทศจีน และเป็นรากฐานของวัชรยาน มีพระสูตรสำคัญๆดังนี้

1 ปรัชญาปารมิตาสูตร
ปรัชญาปารมิตาสูตร จัดว่าเป็นพระสูตรดั้งเดิมที่สุด เป็นมูลฐานทฤษฎีว่าด้วยศูนยตา ปรัชญาปารมิตาสูตรนี้มีอยู่หลายคัมภีร์ด้วยกัน เช่น มหาปรัชญาปารมิตา อัษตสหัสริกปรัชญาปารมิตาหฤทยะ เป็นต้น พระสูตรนี้ได้แปลออกเป็นภาคจีนประมาณพ.ศ.713 ท่านกุมารชีพ แปลไว้หลายคัมภีร์ เช่นอัษตสหัสริกะ วัชรัจเฉทิกะอันเป็รคัมภีร์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดชาวจีนมากที่สุด
วัชรัจเฉทิกะปรัชญาปารมิตาสูตร สอนว่า "ทกๆสิ่ง ทุกๆอย่างเป็นเพียงมายา เป็นเพียงปรากฏการณ์ และเป็นเพียงผลิตกรรมของจิตของเราเองเท่านั้น" แล้วลงท้ายด้วยคำว่า "สิ่งประกอบทั้งมวลเหมือนความฝัน ฟองน้ำ เงาหยาดน้ำค้าง แสงฟ้าแลบ"
ส่วนในปรัชญาปารมิตาหฤทยะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สั้นที่สุด และเป็นหัวใจของพระสูตรชุดนี้ได้กล่าวถึงเรื่องของศูนยตาไว้โดยละเอียด อ่านดูได้จากลิงค์ในคำสอนมหายาน

2 อวตังสกะสูตร
อวตังสกะสูตร มหายานถือว่า เป็นพระสูตรที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเองเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ในขณะที่พระองค์เข้าสมาธิหรืออยู่ในสภาพธรรมกาย อวตังสกะสูตรนี้ ต้นฉบับแปลที่สมบูรณ์มีอยู่ 2 ฉบับคือ
2.1 ฉบับที่แปลโดย ท่านพุทธภัทระ เป็นหนังสือ 60 เล่ม แปลในราชวงศ์ชินตะวันออก ในระหว่างปี พ.ศ.961-1063
2.2 ฉบับแปลโดยท่านศึกษานันทะ ซึ่งได้แปลในสมัยราชวงศ์ถัง ระหว่างปี1238-1242 เป็นหนังสือ 80 เล่ม ในปี พ.ศ.1439-1440 ท่านปรัชญาได้แปลอีกฉบับหนึ่ง เป็นหนังสือ 40 เล่ม
ใจความสำคัญของพระสูตรนี้คือ "เมื่อเราพิจารณาโลกในแสงจิตภาพของไวโรจนพุทธ พุทธที่สูงสุดหรือธรรมกาย เราเห็นโลกเต็มไปด้วยความแจ่มใสเห็นโลกแห่งแสงบริสุทธิ์แท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนเป็นหนึ่ง หนึ่งนั้นคือสัจสุงสุด พุทธะ จิต สรรพสัตว์ เป็นหนึ่ง"

3 คัณฑวยุหสูตร
ในคัณฑวยุสูตรนี้ เป็นพระสูตรที่บรรยายการจาริกแสวงโมกษะธรรมของชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ สุธนะ ซึ่งมีเรื่องอยู่ว่า
สมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับ ณ เชตวนารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐีท่ามกลางหมู่พระโพธิสัตว์ 500 ซึ่งมีพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ และพระมัญชุศรีโพธิสัตว์เป็นหัวหน้าพระโพธิสัตว์เหล่านั้น กำลังคอยฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์อยู่ แต่พระพุทธเจ้าทรงเข้าสมาธิเสีย พร้อมกับได้ทรงเนรมิตพระเชตวนารามให้ใหญ่โตอย่างหาขอบเขตมิได้ พระโพธิสัตว์จากสิบทิศได้พร้อมกันมาเฝ้าพระองค์และได้แต่งโศลกสรรเสริญ พระองค์ พระพุทธเจ้าได้ทรงเปล่งรัศมีออกจากระหว่างขนตาส่องสว่านเห็นพระโพธิสัตว์ ทั้งหลายทั่วทศทิศ เป็นเหตุให้ดวงใจของพระโพธิสัตว์ทั้งมวลเต็มเปี่ยมไปด้วยความกรุณา เพื่อจะบำเพ็ญประโยชน์ต่อสรรพสัตว์
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ จึงได้ท่องเที่ยวสั่งสอนประชาชนในที่ต่างๆ ในสมัยหนึ่ง ในขณะที่กำลังสั่งสอนชาวประชาอยู่ในเมื่องหนึ่งของแคว้นธัญยการะ มีเด็กหนุ่มในตระกูลผู้มั่งคั่งคนหนึ่งชื่อ "สุธนะ" นั่งฟังธรรมอยู่ในที่ชุมนุนนั้นด้วย สุธนะฟังด้วยปรารถนาเพื่อศึกษา พระมัญชุศรีโพธิสัตว์จึงได้แนะนำแก่เขาว่า "ในการแสวงหาสัจธรรมนั้น เธอต้องแสวงหาเพื่อนที่แท้จริงคอยช่วยเหลือ จงไปทีภูเขามโยโฮประเทศโษรกุ ณ ที่นั้นเธอจะพบสครเมฆภิกษุ ท่านจะให้คำแนะนำที่ดีต่อเธอ
สุธนะจึงได้เดินทางไปพบสครเมฆภิกษุ ท่านก็ได้สั่งสอนแก่เขาอย่างกว้างขวางและแนะนำให้เขาไปหาเพื่อนคนอื่นๆต่อไป อีก โดยนั้นนี้ สุธนะจึงได้ไปเที่ยวหาสหายถึง 53 คน สุดท้ายได้ไปหาพระสมัตรภัทรโพธิสัตว์ อาศัยคำสั่งสอนของท่าน สุธนะจึงได้บรรลุธรรมธาตุสัจจะสูงสุด
เล่มสุดท้ายของคัณฑวยุหสูตร ได้กล่าวถึงคำปฏิญาณของสุธนะและความปรารถนาของเขาในการที่ประสงค์ไปเกิดใน สุขาวดียุหภพ คำสปฏิญาณของสุธนะมีดังนี้
1 ขอนับถือพระพุทธะ
2 ขอให้ได้สรรเสริญพระตถาคต
3 ขอให้ได้ถวายของแต่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์
4 ขอให้ได้ล้างบาปในอดีต
5 ขอให้จงยินดีในบุญกรรม และความสุขของบุคคลอื่น
6 ขอให้ได้อาราธนาพระพุทธเจ้าสั่งสอนธรรม
7 ขอให้ได้อาราธานาพระพุทธเจ้าดำรงพระชนม์ชีพอยู่ในโลก
8 ขอให้ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อสั่งสอนแก่บุคคลอื่น
9 ขอให้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสรรพสัตว์
10 ขอให้ได้บำเพ็ญต่อบุคคลอื่น

4 ทศภูมิกสูตร
พระสูตรนี้ต้นฉบับเดิมที่เป็นภาษาสันสกฤตยังอยู่ครบสมบูรณ์ และมีฉบับแปล 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งแปลโดยท่านธรรมรักษ์ ซึ่งแปลในปี พ.ศ.840 และฉบับที่แปลโดยกุมารชีพ พระสูตรนี้ได้กล่าวถึงวัชรครรภะโพธิสัตว์ ได้บรรยายถึงข้อปฏิบัติ ที่จะทำให้บุคคลบรรลุความเป็นพระโพธิสัตว์ 10 ประการ คือ
1 ปรมุทิตา ขั้นนี้พระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานบารมี เฉลี่ยความสุขให้สรรพสัตว์
2 วิมลา ขั้นนี้พระโพธิสัตว์บำเพ็ญศีลบารมี
3 ปรภากวี ขั้นนี้พระโพธิสัตว์พิจารณาถึงสภาพอันแท้จริงของสิ่งทั้งหลาย แสวงหาธรรมเพื่อ ช่วย สัตว์ผู้ประสบทุกข์ โดยปฏิบัติบันติบารมีธรรม
4 อริสมติ ขั้นนี้พระโพธิสัตว์ ขจัดความคิดอันผิดๆให้หมดสิ้นไป บำเพ็ญวิริยบารมี
5 สุทุรชย ขั้นนี้พระโพธิสัตว์มีความรู้สมบูรณ์ ด้วยการปฏิบัติธยานบารมี
6 อภิมุกต ขั้นนี้พระโพธิสัตว์ เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัดในทฤษฎีปฏิจจสมุปบาท เป็นขั้น
แห่งปรัชญาหรือปัญญาบารมี
7 ทุรงคม ขั้นนี้พระโพธิสัตว์ เกิดความชำนาญในอุบายวิธีต่างๆแห่งปัญญา
8 อจล ขั้นนี้พระโพธิสัตว์อยู่ในสภาพที่ไม่เกิดและไม่ตาย เกิดในพุทธศาสนา ยังภูมิแห่งพุทธ
ของตนให้บริสุทธิ์ ปฏิบัติปรินามนบารมี
9 ขั้นนี้พระโพธิสัตว์มีปรัชญาของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์เต็มที่สามารถสั่งสอน ธรรม และปลุกสัตว์
ให้ตื่นขึ้นจากอวิชชาเป็นขั้นที่บำเพ็ญพลบารมี
10 ขั้นนี้พระโพธิสัตว์บรรลุขั้นสุดท้าย พระโพธิสัตว์มีอำนาจและลักษณะของพระพุทธทุกประการ
เป็นขั้นที่บำเพ็ญญาณบารมีธรรม

5 วิมลเกียรตินิทเทศสูตร
พระสูตรนี้นิกายเซ็นชอบและนิยมเป็นที่สุด ในพากย์จีนมีอยู่หลายฉบับ แต่ปัจจุบันมีอยู่ 3 ฉบับ ในญี่ปุ่นมีอรรถกถาอธิบายความในพระสูตรนี้เกือบทุกนิกาย ความในพระสูตรนี้เล่าว่า
ครั้งหนึ่ง วิมลเกียรติโพธิสัตว์ มิได้ไปร่วมประชุมเพราะป่วย พระพุทธองค์จึงสั่งให้พระโพธิสัตว์ทั้งหลายไปถามข่าวเกี่ยวกับความเจ็บไข้ ของวิมลเกียรติโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายก็อิดเอื้อนไม่อยากไป โดยอ้างเหตุว่า ตนเองมีค่าไม่สมควรจะไปให้คำแนะนำแก่วิมลเกียรติโพธิสัตว์ ตกลงพระมัญชุศรีโพธิสัตว์เป็นผู้ไปและได้ถามถึงสุขภาพของวิมลเกียรติ โพธิสัตว์ ท่านได้ตอบด้วยคำพูดที่น่าจับใจว่า "ความเจ็บไข้ของพระโพธิสัตว์เกิดจากมหากรุณา และมีอยู่ในเวลาที่สรรพสัตว์ยังคงมีอวิชชา เมื่อใดความป่วยของสรรพสัตว์หมดสิ้นไปแล้ว เมื่อนั้นความป่วยไข้ของข้าพเจ้าจะหมดไปด้วย ข้าพเจ้าป่วยก็เพราะสรรพสัตว์ทั้งหลายป่วย
จุดเด่นของวิมลเกียรตินิทเทศสูตรอยู่ตรงที่ว่า การจะเป็นพระโพธิสัตว์และดำรงชีวิตตามแบบอย่างพระโพธิสัตว์นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นพระภิกษุ ใครๆก็อาจปฏิบัติได้เหมือนกันหมด พีชแห่งความเป็นพุทธอาจค้นพบได้ จนกระทั่งในชีวติแก่งตัณหา ความหมายอันแท้จริงของสูตรนี้ก็คือการค้นหาความเป็นพุทธในตัวเอง ซึ่งเต็มไปด้วยตัณหานานาประการให้พบแล้วทำตัวให้บริสุทธิ์

6 ศุรางคมสมาธิสูตร
พระสูตรนี้อ้างถึงความสำคัญของการบำเพ็ญสมาธิว่า เป็นมูลเหตุให้บรรลุการตรัสรู้ ความเป็นพระโพธิสัตว์และสัจธรรม ฉบับแปลมีถึง 9 ฉบับแต่สูญหายไปหมดแล้วเหลือเพียงฉบับเดียวที่กุมารชีพแปลเท่านั้น
สุรางคมสมาธิสูตรได้กล่าวว่า พระสถิรมติโพธิสัตว์ได้เป็นผู้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พระโพธิสัตว์ผุ้ปรารถนาชีวิตแห่งความเป็นพระโพธิสัตว์หากแต่ยังไม่ต้องการจะ เข้าสู่นิรวาณควรจะปฏิบัติอย่างไรดี พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ควรบำเพ็ญสมาธิ

7 สัทธรรมปุณฑริกสูตร
พระสูตรที่สำคัญพระสูตรหนึ่งซึ่งนิกายมหายานในจีนและญี่ปุ่นนับถือกันมาก ฉบับแปลภาษาจีนเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ 3 ฉบับ คือ
1 ฉบับแปลของท่านธรรมรักษ์ แปลในปี พ.ศ.829
2 ฉบับแปลของท่านกุมารชีพ แปลในปี พ.ศ.949
3 ฉบับแปลของท่าจิสันคุปตะและท่านคุปตะ แปลในปี พ.ศ.1144
ฉบับแปลทั้ง 3 ถือว่าฉบับที่ท่านกุมารชีพแปลเป็นฉบับที่ดีที่สุด ใจความของพระสูตรโดยย่อมีว่า
ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฎ ท่ามกลางพระภิกษุ พระโพธิสัตว์ เทวดาและสัตว์อื่นๆ เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมจบแล้วก็เข้าสมาธิและแผ่รัศมีไปยังโลกทางทิศ ตะวันออก เมื่อพระองค์ออกจากสมาธิ ได้ตรัสบอกแก่พระสารีบุตรว่า เหตุที่พระองค์ทรงสั่งสอนสรรพสัตว์ด้วยอุบายวิธีต่างๆกัน เนื่องด้วยพระมหากรุณาของพระองค์ที่มีต่อสรรพสัตว์ คำสั่งสอนอันแท้จริงของพระตถาคตนั้นมีเพื่อหนึ่งเดียวเท่านั้นคือเพื่อสรรพ สัตว์ แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องบิดาได้ช่วยบุตร 3 คนออกจากเรือนแล้ว ก็ได้พบรถอันสวยงามคันหนึ่ง เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า พระตถาคนได้ช่วยสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากไตรโลกอันเป็นเสมือนหนึ่งเรือนไฟไหม้ โดยอาศัยวิธีต่างๆสั่งสอน แต่จุดมุ่งหมายเป็นอันเดียวกันหมดคือเพื่อสรรพสัตว์
ในบทที่ 25 ที่เรียกว่าสมันตมุขนั้น ได้กล่าวสรรเสริญพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ กล่าวถึงว่า การที่พระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์มีกายถึง32 กาย ก็เพื่อประโยชน์ในการรับใช้สรรพสัตว์

8 ศรีมาลาเทสีสูตร
ผู้แปลพระสูตรนี้คือ ท่านคุณภัทระ พ.ศ.863-1022 และท่านโพธิรุจิ พ.ศ.1051-1078 พระสูตรมีใจความว่า
พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสพยากรณ์แห่งหญิงผู้หนึ่งคือ เจ้าหญิงศรีมาลาเทวีว่า "เมื่อเธอเข้าใจธรรมชาติอันแท้จริงของตถาคตแล้ว เธอจะตั้งบริสุทธิภูมิอันสูงสุดขึ้น" เมื่อได้ฟังคำพยากรณ์เช่นนี้ เจ้าหญิงศรีมาลาเทวีจึงได้ตั้งสัตย์ปฏิณาฯไว้ 10 ประการคือ
1 จะไม่ล่วงละเมิดพระวินัย
2 จะไม่เป็นคนหยิ่งยะโส
3 จะไม่ขอโกรธเคืองกับใคร
4 จะไม่เป็นคนอิจฉา
5 จะไม่เป็นคนริษยา
6 จะไม่รักใคร่สสารวัตถุใดๆ
7 ขอปฏิบัติคุณธรรม 8 คือ ให้ทาน ปิยวาจา กระทำประโยชน์และร่วมมือกับบุคคลอื่น กับทั้ง
ขอให้ได้ดำรงอยู่ในสภาพที่ไม่มีความเกาะเกี่ยวใดๆ
8 ขอให้ได้ปลดเปลื้องสัตว์ทั้งหลายออกจากความทุกข์
9 คัดค้านการล่วงละเมิดพระวินัย
10 รักษาธรรม
นอกจากนี้ เจ้าหญิงศรีมาลาเทวียังได้กล่าวอธิบายว่า มีบุคคล 3 ประเภทเท่านั้นที่เข้าสู่วิถีของมหายาน
1 บุคคลผู้บรรลุธรรมปัญญาอันลึกซึ้งโดยตนเอง
2 บุคคลผู้ยังธรรมแห่งความเชื่อฟังให้สมบูรณ์
3 บุคคลผู้ถึงแม้จะไม่เข้าใจปัญญาแต่เชื่อมั่นในพระตถาคต

9 พรหมชาลสูตร
พระสูตรนี้ ท่านกุมารชีพ ได้แปลไว้ในปี พ.ศ.949 เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยวินัยของมหายานทุกนิกาย
วินัยของมหายานนั้น มีอยู่ 10 ประการคือ
1 อย่าฆ่าสัตว์
2 อย่าลักทรัพย์
3 อย่าละเมิดบุตรภรรยาบุคคลอื่น
4 อย่าพูดคำเท็จ
5 อย่าดื่นน้ำเมา
6 อย่ากล่าวคำผิดของบุคคลอื่น
7 อย่าสรรเสริญตัวเอง
8 อย่าเป็นคนอิจฉาริษยา
9 อย่าเป็นคนอกตัญญู
10 จงสรรเสริญพระไตรรัตน์
พุทธบุตรต้องถือว่า ชายทุกคนเป็นเสมือนหนึ่งบิดาของเขา สตรีทุกคนเป็นมารดาของเขา เพราะว่าคนเหล่านี้ในอดีตเคยได้เป็นมารดาบิดาของตนมาแล้วถ้าหากว่าคนเหล่า นี้ ก็เท่ากับฆ่ามารดาบิดาของตนเอง

10 สุขาวดีวยุหสูตร
ในยุคของท่านคุรุนาคารชุน มีแนวคิดเรื่องภพหน้าปรากฏในนิกายบริสุทธิภูมิ หรือกายสุขาวดี 3 ประการด้วยกัน คือ
1 เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตของพระศรีอารย์
2 เกิดในภูมิตะวันออกของพระอักโษภยะ
3 เกิดในภูมิตะวันตกของพระอมิตาภะ
มหาสุขาวดีวยุหสูตรนี้ ชีเกา กับ โลกักเษมะ ได้เป็นผู้นำเข้าสู่ประเทศจีนในราวพุทธศตวรรษที่ 7 ต่อจากนั้นมา ก็ได้มีการแปลออกเป็นพากษ์จีนหลายครั้ง กุมารชีพได้แปลไว้เมื่อปี พ.ศ.1008 เรียกชื่อว่า อนุสุขาวดีวยุหสุตร ท่างสิงหวรมัน ได้แปลไว้อีกในปี พ.ศ.1565
ในคัมภีร์สุขาวดีวยุหสูตรเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้สนทนากับพระอานนท์ถึงเรื่องพระภิกษุธรรมการะว่า ต่อไปจะได้ตรัสรู้เป็นพระอมิตาภพุทธเจ้า พระภิกษุธรรมการะนี้ ได้ตั้งสัตย์ปฏิณาณไว้ว่า จะยังไม่ขอบรรลุความเป็นพระโพธิสัตว์ จนกว่าจะได้ช่วยเหลือสรรพสัตว์หมดแล้วจึงจะบรรลุ จึงได้ตั้งปริสุทธิภุมิหรือแดนสุขาวดีขึ้น เพื่อรับรองดวงวิญญาณของบุคคลผู้ที่จะไปเกิดในภพนี้ ผู้ที่จะไปเกิดในสุขาวดีภพได้ ต้องมีความเชื่อมั่นในพระอมิตาภพุทธเจ้า ในเวลาตายก็ให้ระลึกถึงชื่อของพระอมิตาภพุทธเจ้าไว้

11 ตถาคตครรภสูตร
พระสูตรนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า "มหาไพบูลยตถาคตครรภสูตร" มีผู้แปลออกสู่พากย์จีนเมื่อปี พ.ศ.893-974 คำว่า "ตถาคตครรภ" มีปรากฏอยู่ในทศภูมิกสูตรก่อน ในพระสูตรได้อธิบายไว้ว่าตถาคตครรภนั้นก็คือพุทธภาวะ กล่าวคือจิตของคนธรรมดานั้นแม้จะถูกหุ้มห่อด้วยกิเลส แต่ภายในก็ยังมีภาวะเท่ากับพระตถาคตเจ้า และทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับโลกนี้จะมีพระพุทธเจ้าเสด็จมาปรากฏให้เห็นนั้น ก็เพื่อจะให้สัตว์โลกทราบถึงข้อนี้ คือจะให้ทราบว่า สัตว์โลกมี "พีช"ของ "พุทธ"อยู่แล้ว
พระสูตรนี้แม้จะกล่าวว่า จิตมีความเป็นพุทธโดยกำเนิดแล้ว แต่ไม่ได้อธิบายถึงคุณลักษณะของตถาคตครรภ และตถาคตครรภนี้ มีความสัมพันธ์กับกิเลสอย่างไร รวมทั้งความสัมพันธ์กับการเวียนว่ายตายเกิดด้วย พระสูตรนี้จึงควรสันนิษฐานว่า เป็นพระสูตรแรก

12 อสมปูรณอนุสูตร
พระสูตรนี้ไม่ทราบผู้ใดแปลสู่พากย์จีน ความในพระสูตรนี้ถือว่า สัตว์โลกย่อมเกิดดับอยู่ใน "ธรรมธาตุ" ขณะที่สัตว์โลกมีความหลงผิดอยู่ ก็ไม่มีอะไรเป็นการเพิ่ม ในขณะที่สัตว์โลกนั้น เห็นแจ้ง แล้วก็ไม่มีอะไรทีได้ลดหย่อนไป นีคือความหมายของคำว่า ไม่เพิ่มไม่หย่อน คือไม่มีการเพิ่มเติมหรือลดหย่อนในทางจิตที่กำลังหลงผิดอยู่หรือเห็น แจ้งอยู่
พระสูตรนี้สรุปว่า สัตว์โลกธาตุ คือตถาคตครรภ และตถาคตครรภ คือธรรมกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สมบูรณ์โดยไม่มีอะไรเพิ่มและไม่มีอะไรหย่อนไป ฉะนั้นสัตว์โลกธาตุซึ่งมีธรรมกายนี้ เป็นภาวะแห่งปรมัถธรรม ไม่เกิด ไม่ดับ แต่เนื่องด้วยเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสัตว์โลกธาตุ จึงแสดงออกเป็นความหลงผิดหรือเป็นความเป็นแจ้งที่สัตว์โลกมีความหลงผิดหรือ เห็นแจ้งนั้น เนื่องจาก
1 ปรับจิตให้เข้ากับตถาคตครรภ ประกอบการที่เป็นวิสุทธิธรรม
2 ไม่ปรับจิตให้เข้ากับตถาคตครรภ ประกอบการที่เป็นกิเลส

13 มหาปรินิรวาณสูตร
พระสูตรนี้ท่านธรรมรักษ์ แปลไว้เมื่อปี พ.ศ.960 พระสูตรนี้ได้บรรยายถึงว่า แนวคิดของตถาคตครรภหรือพทธภาวะของพระสูตรต่างๆดังกล่าวล้วนแต่เป็นการค้นหา ความสำเร็จในความเป็นพุทธโดยสัญชาตญาณอันมีมาแต่เก่าก่อน ซึ่งเป็นการเริ่มจากตรรกวิทยาหรือจิตวิทยา ส่วนที่พระองค์ยังคงสถิตอยู่ ซึ่งถือว่าเอาพระธรรมของพระองค์เป็นการสถิตอยู่ของพระองค์นั้นทัศนะแบบนี้ เป็นแต่เพียงการนำเอาพระธรรมของพระองค์ มาเป็นจุดที่จะให้ระลึกถึงบุคลิคของพระองค์เท่านั้น ไม่เป็นการเพียงพอสำหรับศาสนา ฉะนั้นพระสูตรนี้จึงถือเอาพระองค์ในประวัติศาสตร์เป็นพระองค์ที่ยังทรงสถิต อยู่
พระสูตรนี้ ขยายความจากนิพพานของเถรวาทมารวมกับแนวคิดของมหายานที่แตกต่างกับพระสูตร อื่นนั้น ความจริงหลักธรรมเป็นแนวทางที่จะละความหลงไปสู่ความเห็นแจ้งเพื่อความหลุด พ้น แต่ความหลุดพ้นอันอาศัยการละความหลงไปสู่การเห็นแจ้งนั้น มีอยู่ทางเดี่ยว คือด้วยจิตของเรา ที่ว่าตถาคตครรภ พุทธจิต ธรรมกาย พุทธกายหรือนิพพานก็ตาม ล้วนเป็นการสังเกตุจากจิต
พระสูตรนี้ถือว่า การนิพพานของพระองค์ ไม่เป็นแง่ลบตามที่เคยเข้าใจกันแต่เป็นการแสดงออกของ "ความใหญ่ยิ่งของมหาอัตต" เป็นนิจจัง เป็นสุข เป็นวิสุทธิ แม้พระวรกายที่เราเห็นจะดับไปก็ตาม แต่พระวรกายที่แท้จริงยังคงมีอยู่ และพระวรกายที่แท้จริงนี้ มีอยู่เพื่อจะโปรดสัตว์ จึงได้บันดาลให้เกิดเป็นนิรมานกายและสัมโภคกาย
จากแนวคิดพระวรกายยังสถิตย์อยู่ ดำเนินมาถึงพระวรกายในประวัติศาสตร์ก็ยังคงสถิตย์อยู่นั้น เริ่มด้วยสัทธรรมปุณฑริกสูตร ต่อด้วยพระสูตรนี้แล้วถูกขยายไปอีกในสุวรรณประภาสูตร
พระสูตรนี้ เริ่มด้วยการถือว่า สัตว์โลกมีพุทธภาวะอยู่ทั้งสิ้น จบลงด้วยการถือว่า พระองค์ทรงสถิตย์อยู่เป็นนิตย์ เมื่อเช่นนี้ก็เป็นอันรับรองว่าสัตว์โลกจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ทั้งสิ้น ความจริงตามแนวคิดของสายตถาคตครรภ แม้จะยืนยันว่าสัตว์โลกบรรลุถึงพุทธภูมิได้ทั้งสิ้น แต่ก็มีข้อแม้ว่าประเภทอิจฉันติกะสำเร็จไม่ได้ แต่พระสูตรนี้รับรองว่าอิจฉันติกะก็จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในที่สุด เพราะว่า อิจฉันติกะแม้จะไม่ประกอบกุศลกรรม แต่พุทธภาวะที่มีอยู่เป็นกุศลกรรม เมื่อมีพุทธภาวะย่อมต้องบรรลุในพุทธภาวะถึงพุทธภูมิได้ในวันใดวันหนึ่งอย่าง แน่นอน
แนวคิดดังกล่าว แม้จะไม่ใช่สูตรนี้สร้างขึ้นทั้งหมด แต่เนื่องจากเป็นพระสูตรใหญ่จึงเป็นการสนับสนุนให้หลักธรรมเหล่านี้แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น และเป็นสาระสำคัญของพุทธศาสนาในอินเดีย รวมทั้งมีอิทธิพลมากในจีนด้วย

14 สันธินิรโมจนสูตร
พระสูตรนี้เป็นพระสูตรเก่าแก่พระสูตรหนึ่ง ซี่งท่านเฮี่ยงจัง(พระถังซัมจั่ง)ได้แปลออกมา เป็นคัมภีร์หลักของนิกายธรรมลักษณ์
พระสูตรนี้ถือว่า สรรพธรรมในโลกธาตุ ล้วนเกิดจากจิต แต่จิตนี้ได้ให้กำเนิดแก่โลกได้อย่างใด โลกจึงมีสภาพเช่นนี้ ต่างไม่ได้อธิบายให้ชัด คงถือว่าเนื่องมาจากอวิชชา โลกอันเป็นควางหลงนี้จึงเกิดขึ้น หากจิตบริสุทธิ์สุขาวดีก็จะเกิดขึ้นเช่นกัน
อวิชชานั้น ต่างถือว่าเป็น "มูลอวิชชา" ส่วนจิตที่บริสุทธิ์(สัทจิต) ต่างรับรองว่ามีพุทธภาวะอยู่และเป็นตถาคตครรภ เมื่อเช่นนี้ อวิชชากันสัทจิตมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และร่วมกันแสดงออกซึ่งโลกนี้ได้ด้วยประการใดยังไม่เป็นการอธิบายและที่สุด ก็เกิด "วิญญาณมาตรา"(ด้วยวิญญาณเท่านั้น) ขึ้น เพื่ออธิบายในเรื่องเหล่านี้
หลักธรรมวิญญาณมาตรา สำเร็จด้วยพระอสังคะ พระวสุพันธุและพระคณาจารย์อีกหลายท่าน แต่มีรากฐานมาจากพระสูตรนี้ทั้งสิ้น พระสูตรนี้เป็นหลักธรรมของนิกายธรรมลักษณ์ หรือที่เรียกว่า นิกายโยคาจาร
แนวคิดพิเศษของพระสูตรนี้ ได้แก่การเพิ่มวิญญาณ6 ให้เป็นวิญญาณ 8 คือเพิ่มอาลยวิญญาณ(วิญญาณที่ทำหน้าที่สะสม) หรืออทานวิญญาณเป็นวิญญาณที่ 7 แต่ต่อมาได้ถือเอาอาลยวิญญาณเป็นวิญญาณที่ 8 ส่วนอทานวิญญาณเป็นวิญญาณที่ 7 และเปลี่ยนชื่อว่า มนัสวิญญาณซึ่งทำหน้าที่ยึดมั่นในความมีตัวตน
พระสูตรนี้กล่าวคาถาในแรกเริ่มว่า "วิญญาณมีความละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง มีพีชะทั้งหลาย ไหลหลั่งอย่างกระแสน้ำเชี่ยว เราไม่แสดงต่อคนที่โง่เขลาเพราะเกรงว่าชนเหล่านั้น จะยึดวิญญาณนี้เป็นตัวตน(อัตตา) และได้อธิบายว่า ที่เรียกว่าอทานวิญญาณนั้น ก็เพราะวิญญาณนี้สามารถสะสมเก็บรักษาบรรดาพิชะได้ กล่าวคือ อาลยวิญญาณนั้น คือสภาพแห่งจิตอยู่ภายในมนัสวิญญาณ ไหลหลั่งเป็นกระแสเหมือนกระแสน้ำเป็นเหตุที่สร้างสรรพธรรมขึ้น และเก็บสะสมประสบการณ์ทั้งหลายไว้ เป็นหลักในการเวียนว่ายตายเกิดและก็เป็นหลักในการที่จะเห็นแจ้งด้วย
พระสูตรนี้ได้สร้าง "ไตรลักษณ์" ขึ้น เป็นการแยกสรรพธรรมทั้งหลายเป็น 3 ประเภท
ปริกัลปปิตะลักษณะ(ภาพที่เห็นตามความหลงผิด) คือความหลงผิด ความเผลอ หรือสัญญาวิปลาสเห็นผิดไปจากความจริง เช่นเห็นเชือกเป็นงู แล้วก็หวั่นกลัวไปเอง
ปรตันตรลักษณะ(ภาพที่เห็นตามที่เกิดขึ้น เป็นการเห็นในสิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย เป็นความรู้ทั่วไปหรือความรู้ทางวิทยศาสตร์ เช่นเห็นเชือกเป็นเชือกและรู้ว่าเชือกนั้นทำด้วยอะไร
ปรินิษปันลักษณะ(ความที่เห็นตามความสมบูรณ์ที่แท้จริง) เป็นการเห็นตามตถตา(เป็นเช่นนั้น) เป็นสมภาค(เสมอภาค)
การแยกประเภทดังนี้ ก็คือการเห็นที่เป็นความเท็จกับการเห็นที่เป็นความจริงเท่านั้น
ลักษณะทั้ง 3 นี้ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะใด ย่อมปราศจากจิตไม่ได้ ลักษณะอันเกิดจากการยึดผิด เป็นอาเวคภาค(ภาพภายนอก)ของจริง ไม่มีภาวะที่แท้จริงลักษณะที่เกิดจากการปรุงแต่งของเหตุปัจจัย ก็เป็นสิ่งที่เกิดจากจิต ไม่มีภาวะที่แท้จริง ส่วนลักษณะอันเป็นตถตา ก็เป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยอันเกิดจากสัทจิตปราศจากจิตแล้วต่างไม่มีภาวะแท้ จริงแห่งตน ฉะนั้น หลักธรรมของนิกายวิญญาณมาตรานี้ ก็มีสูญเป็นที่สุดเช่นกัน
อริยสัจ 4 ซึ่งพระองค์ตรัสไว้ในแรกเริ่มนั้น เป็นหลักธรรมของสาวกยาน เป็นสูตรประเภทปริยายธรรม คือการแสดงธรรมโดยทางอ้อม ยังไม่สิ้นเนื้อหาของธรรมต่อมาพระองค์ ได้แสดงถึงสรรพธรรมปราศจากภาวะแห่งตน ไม่มีการเกิดดับ มีความสงบแต่แรกเริ่ม เป็นนิพพานโดยภาวะแห่งตนเพื่อประทาน แก่บรรดาโพธิสัตว์ แต่ก็ยังไม่สิ้น ขอบเขตของพระธรรม สูตรนี้ได้ปรรยายถึงลักษณะ 3 และการปราศจากภาวะแห่งตน เป็นการแสดงธรรมแก่ยานทั้ง 3 เป็นเจตจำนงของพระองค์อย่างสมบูรณ์ สูตรนี้เป็นสูตรล่าสูตรของมหายาน และปรากฏขึ้นในฐานะเป็นวิญญาณมาตรานิกาย อันเป็นนิกายใหม่ ไม่รวม 3 ยาน อย่างที่ สัทธรรมปุณฑริกสูตร แต่กลับแยกเป็น 3 ยาน สูตรนี้มาในรูปที่ควรเป็นศาสตร์มากกว่าที่จะเป็นสูตร
สรุป ปรัชญาพุทธศาสนามหายานเป็นอรรถกถาภาคสมบูรณ์ของหลักการอนัตาและทางสายกลาง ของพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนามหายานทุกนิกายยืนอยู่บนรากฐานแห่งปรัชญาแห่ง "ศูนยตา" และ "เอกจิต"
ศูนยตา ภาวะที่ปราศจากขึ้วทั้ง 4 มีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ ไมใช่มีก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ ภาวะเหนือความคิด เหนือคำบรรยาย ความคิดที่เกิดขึ้นเป็นขั้วใดขั้วหนึ่งในสี่ขั้ว จึงไม่เป็นศูนยตา
เอกจิต สรรพสิ่งทั้งหมดเป็นมายามีเพียง "จิตเดียว" เท่านั้นที่เป็นจริง
แม้ว่าดูเผินๆแล้วปรัชญาทั้งสองจะขัดกัน แต่ก็ได้มีมานำปรัชญาทั้งสองมาประยุกต์รวมกันเป็นปรัชญาเดียวและปฏิบัติร่วม กันอย่างกลมกลืนนั่นคือปรัชญาของวัชรยาน ซึ่งเป็นส่วนต่อยอดของมหายาน หรือกล่าวได้ว่าวัชรยานคือส่วนหนึ่งของมหายาน

คัดลอกจากหนังสือซึ่งคณะสงฆ์จีนนิกายพิมพ์ออกเผยแพร่

No comments:

Post a Comment